คู่มือผู้กำกับลูกเสือ 1


     พี่น้องผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ยุวกาชาดที่เคารพรักทุกท่านครับ  ขอเชิญติดตามศึกษา  “ คู่มือผู้กำกับลูกเสือ ” ซึ่งเขียนโดย  ท่านลอร์ด  เบเดน  โพเอลล์  และสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้แปล  ความรู้ในหนังสือนี้มีประโยชน์อย่างสูงยิ่งสำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ในฉบับนี้ขอเสนอ  อารัมภบท  และมติที่ประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ครับผม

                                                     

                                                                  อารัมภบทของผู้เขียน

     อย่าเห็นเป็นเรื่องน่าหนักใจในความยาวของหนังสือเล่มนี้  วิชาลูกเสือไม่ใช่เป็นวิทยาการที่ยุ่งยากและลึกซึ้งอะไร  ถ้ามองในแง่ที่ถูกต้อง  จะเป็นเรื่องของการเล่นที่สนุกสนานมากกว่า  แต่ขณะเดียวกันเป็นการศึกษา  และ  (ทำนองเดียวกับความกรุณา)  มีคุณประโยชน์แก่ผู้ให้และผู้รับเท่าเทียมกัน

     คำว่า  “การลูกเสือ”  ได้มีความหมายถึงวิธีการฝึกอบรมการเป็นพลเมืองดีให้แก่เด็กทั้งชายและหญิง  โดยใช้การเล่นเป็นเครื่องมือ หญิงเป็นบุคคลสำคัญเพราะเมื่อแม่ของชาติ เป็นพลเมืองดี  มีลักษณะนิสัยดี  แม่เหล่านี้ก็จะดูแลลูกไม่ให้เป็นผู้มีความบกพร่องในเรื่องเหล่านี้  เท่าที่เหตุการณ์เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการฝึกหัดอบรมทั้งสองเพศ  และจะทำได้โดยกระบวนการลูกเสือหญิงและลูกเสือชาย  ซึ่งมีหลักการอย่างเดียวกันทั้งสองเหล่า  เพียงแต่รายละเอียดเท่านั้นที่อาจแตกต่างกันบ้าง

     รองผู้กำกับฮัทชินสัน  ได้เขียนไว้ในหนังสือนวนิยายเล่มหนึ่งว่า  สิ่งที่เด็กต้องการ คือ  ภูมิหลัง  (Background)  ในการลูกเสือนั้นเรามีภูมิหลังที่จะให้แก่เด็กแล้ว  และเป็นภูมิหลังที่พระเจ้าได้จัดไว้ให้สำหรับทุกคน  คือ  กลางแจ้ง  ความสุข  และประโยชน์ที่จะได้

     ท่านอาจจะพบความผิดหวังอยู่บ้าง  ถ้าหากท่านหวังว่า  ในหนังสือเล่มนี้ท่านจะได้พบวิธีสอนที่แน่นอนกำหนดไว้  เพื่อจะนำท่านไปสู่ความรู้อันสมบูรณ์ในเรื่องลูกเสือ ข้าพเจ้าเพียง แต่เสนอความคิดเห็น  เพื่อเป็นการแนะแนวทางซึ่งเคยได้รับความสำเร็จมาแล้ว  พร้อมด้วยเหตุผลประกอบเท่านั้น  เมื่อเข้าใจจุดประสงค์แล้ว  คนเราย่อมดำเนินการตามข้อเสนอแนะนั้นด้วยชีวิตจิตใจ

    ดังนั้น  ส่วนมากในหนังสือเล่มนี้  จึงได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของขั้นต่างๆ  มากกว่าที่จะกล่าวถึงรายละเอียดของขั้นนั้นๆ  รายละเอียดดังกล่าวอาจเพิ่มเติมได้ด้วยความรอบรู้และความเจนจัดของผู้กำกับลูกเสือเอง  เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของท้องถิ่นซึ่งเขากำลังดำเนินการอยู่

                                                                                                        เบเดน  โพเอลล์  แห่งกิลเวลล์

                 
                              มติที่ประชุมสมัชชาลูกเสือโลก  ณ  กรุงโคเปนเฮเกน  สิงหาคม  1924

     ที่ประชุมสมัชชาลูกเสือโลกขอประกาศว่า  กระบวนการลูกเสือเป็นกระบวนการที่มีลักษณะเป็นของชาติ  เป็นของระหว่างประเทศ  และเป็นของสากล  มีวัตถุประสงค์ที่จะให้แต่ละประเทศและโลกทั้งมวลมีเยาวชนที่มีกำลังกาย  กำลังใจ  และศีลธรรมมั่นคง

      เป็นกระบวนการของชาติ  ในข้อที่ว่า  มุ่งหวังจะปลูกฝังให้แต่ละชาติมีพลเมืองที่เป็นประโยชน์และมีสุขภาพดี  ทั้งนี้โดยอาศัยองค์การต่างๆของชาติ

      เป็นกระบวนการระหว่างประเทศ  ในข้อที่ว่า  นานาชาติยอมรับรู้ว่าจะไม่มีการ  กีดกันการผูกมิตรกันระหว่างเหล่าลูกเสือ

     เป็นขบวนการสากล  ในข้อที่ว่า  จะยืนยันในการเป็นพี่น้องกันระหว่างลูกเสือทุกประเทศ  ทุกชั้นและทุกศาสนา  กระบวนการลูกเสือมิได้มีเจตจำนงที่จะทำให้ศาสนาหนึ่งศาสนาใดอ่อนลง  แต่ตรงกันข้ามจะพยายามส่งเสริมความเชื่อมั่น  ความศรัทธาในเรื่องศาสนาของบุคคลแต่ละคน  กฎของลูกเสือกำหนดให้ลุกเสือปฏิบัติศาสนกิจของตนด้วยความเลื่อมใสและมีใจบริสุทธิ์อย่างแท้จริง  นโยบายของกระบวนการลูกเสือห้ามการโฆษณาใดๆ  อันเป็นเหตุให้มีการแตกแยกระหว่างลูกเสือที่มาร่วมชุมนุมกัน

       อารัมภบท สำหรับการพิมพ์ฉบับเพื่อภราดรภาพแห่งโลก  (The  World  Brotherhood  Edition)

     ก่อนมหายุทธสงครามโลกครั้งที่ 1  เล็กน้อย  เบเดน  โพเอลล์  ได้คิดและดำเนินการอบรมผู้กำกับลูกเสือขึ้น  เพื่อประโยชน์ของการปฏิบัติงานในการให้การอบรม  จึงได้เขียนเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการฝึกฝนเด็กด้วยวิธีการลูกเสือขึ้นไว้  เมื่อมหายุทธสงครามสิ้นสุดลงแล้ว มีผู้ให้คำแนะนำว่าบันทึกเหล่านี้ควรจะได้พิมพ์เป็นเล่ม  ท่านจึงได้นำเอามาตรวจทานแก้ไขเสียใหม่ จากประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มเติมในระยะหลัง  เพราะว่าสงครามได้ช่วยทดสอบการฝึกอบรมด้วยวิธีการลูกเสือหลายประการ  “ หนังสือคู่มือผู้กำกับลูกเสือ ” เล่มนี้  จึงได้พิมพ์ขึ้นเมื่อ  ค.ศ. 1920         (พ.ศ. 2463) ในปีเดียวกันนั้น  ได้จัดให้มีการชุมนุมลุกเสือโลกครั้งแรกขึ้นที่ลอนดอน  เพื่อเป็นการเสริมสร้างและขยายความเป็นพี่น้องร่วมโลกระหว่างนานาชาติให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ในการประชุมคราวนั้น  เบเดน  โพเอลล์       ได้รับการประกาศแต่งตั้งจากผู้มาร่วมชุมนุมทั้งหลายด้วยความสมัครใจ  ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะลูกเสือโลก  (Chief  Scout  of  World)  เป็นเกียรติที่ท่านถือว่าสูงยิ่งกว่าเกียรติใดๆ  ซึ่งท่านเคยได้รับมาแล้ว

     หนังสือคู่มือผู้กำกับลูกเสือ  ฉบับแก้ไขได้นำออกพิมพ์อีกครั้งหนึ่งภายหลังจากนั้นสิบปี  ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือ  เตรียมการเพื่อพิมพ์แก้ไขนี้  ประธานคณะลูกเสือได้ขอให้ข้าพเจ้าให้ความร่วมมือกับท่าน  ตั้งแต่นั้นมาในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการ  ศูนย์การฝึกลูกเสือนานาชาติแห่งกิลเวลล์พาร์ค  ย่อมเป็นหน้าที่และเป็นความยินดีของข้าพเจ้าที่จะได้ดำเนินตามข้อแนะนำและคำเสนอแนะต่างๆที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้  การปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ  ได้ทวีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างประธานคณะลูกเสือ  และศูนย์การฝึกลูกเสือนานาชาติแห่งกิลเวลล์พาร์คยิ่งขึ้น  ในปี ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472)  เป็นปีที่การลูกเสือบรรลุนิติภาวะและได้มีการชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 3 ขึ้น  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานฐานันดรศักดิ์ในตำแหน่งขุนนางแห่งราชสหราชอาณาจักร  ให้แก่ประธานคณะลูกเสือ  ด้วยคำเสนอแนะของคณะกรรมการลูกเสือนานาชาติ  (The  Boy  Scouts  International  Committee)  ท่านจึงได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์  เป็น  ลอร์ด  เบเดน  โพเอลล์  แห่งกิลเวลล์  เพราะว่า ได้มีการยอมรับนับถือกันว่า  กิลเวลล์พาร์ค เป็นศูนย์การฝึกลูกเสือนานาชาติ (An International  Scout Training  Centre)  แล้ว  และมวลสมาชิกแห่งคณะกรรมการนี้  รวมทั้งตัวท่านเองด้วย  ใคร่ที่จะเน้นให้เห็นว่า  เป็น  ราชานุมัติ  เรื่องภราดรภาพลูกเสือโลกด้วย

     ตอนต่างๆที่ปรากฏอยู่ในหนังสือในการพิมพ์ทั้งสองครั้งนี้  ได้อาศัยแผนภูมิที่ท่านประธานคณะลูกเสือได้วางไว้เดิมโดยแยกแยะคุณลักษณะต่างๆ  ในการที่จะเป็นพลเมืองดี  และวิธีการฝึกอบรมแบบลูกเสือ  เพื่อจะปลูกฝังให้เกิดสิ่งที่ต้องการเหล่านั้น  โดยนิสัยของท่านลอร์ด  เบเดน  โพเอลล์  มักจะตรวจสอบทบทวนข้อความที่ได้เขียนไว้นั้นเสมอๆ  เพื่อจะทำให้อ่านเข้าใจง่ายที่สุดที่สามารถจะทำได้  ผลแห่งการคอยแก้ไขเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเสมอนั้น  ทำให้มีแผนภูมิแยกแยะโครงการฝึกอบรมลูกเสือเกิดขึ้น  ซึ่งท่านได้เขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านเรื่อง  “บทเรียนจากมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต”  (Lessons  from  the  Varsity  of  Life)

     หนังสือคู่มือผู้กำกับลูกเสือฉบับภราดรภาพแห่งโลกฉบับนี้  ได้ดำเนินตามการวิเคราะห์ครั้งหลังที่สุดนี้  สาระสำคัญจากการพิมพ์ครั้งก่อน  ได้นำมาจัดลำดับใหม่เล็กน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ครั้งสุดท้าย  และได้นำเอาข้อเขียนอื่นๆของท่านเบเดน  โพเอลล์  มาต่อเติมเข้าเพื่อให้ได้ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เมื่อมาพิจารณาถึงจุดประสงค์ของการพิมพ์ครั้งใหม่นี้  เพื่อจะยกหนังสือเล่มนี้จากระดับชาติขึ้นเป็นระดับนานาชาติ  ข้ออ้างถึงระบบการศึกษาของอังกฤษต่างๆ  ที่ปรากฏอยู่ในศตวรรษที่ 20  แต่ปัจจุบันนี้มิได้ถือเป็นสาระสำคัญหรือจำเป็นนั้นได้ถูกตัดทอนออกไปทั้งหมด  งานในด้านการจัดพิมพ์  ได้อาศัยความสามารถของวิลเลี่ยม  ฮิลล์คอร์ท  แห่งคณะบรรณกรสมาคมลูกเสืออเมริกัน  ในชีวิตแห่งการลูกเสือของนายวิลเลี่ยม  ฮิลล์คอร์ท  เขาได้ใช้ความบากบั่นอย่างยิ่ง  และรู้สึกภาคภูมิใจที่สุด  ที่ได้ดำเนินตามแนวทางของท่านเบเดน  โพเอลล์ 

    ขอกล่าวคำสดุดี  เลดี้  เบเดน  โพเอลล์  ไว้  ณ  ที่นี้เป็นพิเศษ  ที่ได้อนุญาตและให้การสนับสนุนในการจัดพิมพ์หนังสือฉบับภราดรภาพของโลกนี้ ความเชื่อมั่นส่วนตัวของข้าพเจ้านั้น  มีว่า  การลูกเสือทั่วโลกต้องการที่จะกลับไปยึดหลักการเดิมที่ง่ายๆ  คือว่าการลูกเสือคือการเล่น  ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาการตัวเองโดยผู้ใหญ่ควบคุมน้อยที่สุด  เราผู้ได้นำตัวเองเข้ามาอยู่ในฐานะผู้นำของลูกเสือก็ดี  ถ้านึกถึงตัวเด็กเป็นหลัก เราจะปฏิบัติงานของเราได้ดีขึ้นและมีผลสัมฤทธิ์ยิ่งกว่า  ในกรณีนี้ภราดรภาพในด้านการลูกเสือเป็นพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ในการเสริมสร้างไมตรีจิตมิตรภาพ  และความเข้าใจโดยถ่องแท้ระหว่างมนุษยชน  ไม่ใช่เพียงแต่ชาติหนึ่งชาติใดแต่ระหว่างประเทศด้วย 

     ด้วยเหตุแห่งความเชื่ออันนี้  จึงได้จัดทำหนังสือ  “ คู่มือผู้กำกับลูกเสือ ” เล่มนี้ขึ้น  หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยดำรงไว้ซึ่งเจตนารมณ์อันแท้จริงของการลูกเสือ  ตามความมุ่งหมายของผู้ให้กำเนิด  ความปรารถนาของเราอีกประการหนึ่งก็คือ  เพื่อให้หนังสือเล่มนี้เป็นแนวทางช่วย  ผู้กำกับลูกเสือทั่วโลกให้มีความเข้าใจในจุดประสงค์และวิธีการของกระบวนการของเรา.

                                                                                      พันเอก  เจ.  เอส.  วิลสัน

                                                                          ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์  สำนักงานลูกเสือโลก


หมายเลขบันทึก: 541582เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมาฝากจ้ะ

ต่อไปคงได้อ่านเรื่องราว ของยุวกาชาด มากกว่านี้นะคะ

คือว่า ข้าพเจ้า  อยู่ฝ่ายุวกาชาดค่ะ ฝากเยี่ยมชมบันทึกนี้นะคะ สุขใจเมื่อได้บำเพ็ญ


ขอบคุณสำหรับความรู้เกี่ยวกับ“ คู่มือผู้กำกับลูกเสือ ”

สวัสดีค่ะศน.ต้น...แวะมาอ่านอารัมบท style ลูกเสือค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท