พูดเก่งไม่สำคัญ สำคัญที่ต้องพูดเป็น ตอน รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


พูดเก่งไม่สำคัญ สำคัญที่ต้องพูดเป็น

ตอนที่ 2 รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

ในตอนที่ 1 ของบทความ ‘พูดเก่ง’ ไม่สำคัญ สำคัญที่ต้อง ‘พูดเป็น’ ท่านผู้อ่านก็คงพอจะเห็นภาพ และสามารถนำวิธีการพูดตามแนวทาง พูดน้อย แต่ได้มาก’ (Less is More) ไปใช้ในชีวิตประจำวันกันแล้ว ในตอนที่ 2 ผู้เขียนขอนำหลักการทำสงครามของซุนวูมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการวางยุทธศาสตร์การ ‘พูดเป็น’ เพื่อให้โดนใจผู้ฟังค่ะ

รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้งเป็นคำสอน 2 ข้อของซุนวูที่ถูกนำมารวมกัน

คำสอนข้อที่ 1 กล่าวว่า การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง"

คำสอนข้อที่ 2กล่าวว่า "หากรู้เขารู้เราแม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงตัวเราแพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลยก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล"

ในการพูดนั้น หลักการไม่ต่างกับการรบ เพียงแต่ ‘รู้เขา’ ในที่นี้คือ ‘รู้ใจผู้ฟัง’ ว่าผู้ฟังมีความต้องการ ความสนใจ ความชอบ หรือมีความกังวลใจเรื่องอะไรข้อมูลอะไรที่ผู้ฟังอยากรู้ อยากได้ยิน “การพูดด้วยคำพูดที่สวยงามล้วนไร้ความหมาย หากไม่เข้าถึงจิตใจผู้ฟัง” ส่วน ‘รู้เรา’ นั้นคือ การตระหนักรู้ในจุดแข็ง จุดอ่อนของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความชัดเจนในผลลัพธ์ที่ตนเองต้องการจะบรรลุจากการพูดนั้น หรือสิ่งที่ต้องการให้ผู้ฟังทำอันเป็นผลจากการพูดนั้น

เมื่อผู้พูดรู้ว่าตนเองต้องการบรรลุอะไร และผู้ฟังต้องการได้ยินอะไร เราก็นำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้มาตั้งเป็น ธงหรือ เป้าหมายเพื่อให้การพูดของเรามีทิศทาง หนักแน่น ทรงพลัง และได้ผลลัพธ์ตามที่เราคาดหวัง

การ’รู้เขา’นั้นสามารถทำได้โดยการวิเคราะห์ผู้ฟัง กรณีที่ผู้ฟังเป็นกลุ่ม เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ว่าผู้ฟังคนสำคัญในกลุ่มนั้นคือใคร ใครคือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ (Decision Maker) หรือเป็นผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) ในการพูดหรือการนำเสนอครั้งนั้น บทบาทของพวกเขาในการช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์เป็นอย่างไร เพราะในกรณีที่ผู้ฟังมีจำนวนมาก ผู้พูดหรือผู้นำเสนอย่อมไม่อาจตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ อย่างไรก็ตาม ผู้พูดควรคำนึงถึงความต้องการของผู้ฟังโดยภาพรวมประกอบด้วยเช่นกัน เพื่อให้การพูดนั้นดึงดูดและตรึงผู้ฟังทั้งหมดไว้ได้

การวิเคราะห์ผู้ฟังสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสอบถามจากตัวผู้ฟัง หรือผู้อื่น การศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต การพิจารณาจากโครงสร้างองค์กรของผู้ฟัง การสังเกตการณ์ ข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ฟัง หรือองค์กรของผู้ฟัง การประเมินจากตำแหน่ง ความรับผิดชอบ และบทบาทในการทำงานของผู้ฟัง

หลังจาก ‘รู้เขา รู้เรา’ แล้ว ผู้พูดย่อมสามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้วางยุทธศาสตร์การพูด หรือการนำเสนอให้สอดคล้องและเข้าถึงจิตใจผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังยอมรับ ให้การสนับสนุน ร่วมแรงร่วมใจ หรือตัดสินใจอนุมัติข้อเสนอของเรา

ดังนั้น ไม่สำคัญหรอกค่ะว่า ลีลาและสไตล์การพูดของเราจะโดดเด่นแค่ไหน หรือการนำเสนอจะวิจิตรอลังการเพียงใด หากเนื้อหาที่พูดนั้นไม่โดนใจผู้ฟัง การพูดนั้นย่อมไร้ความหมายใดๆค่ะ

เมื่อ ‘รู้เขา รู้เรา’ แล้ว ในตอนหน้าเราจะมาต่อยอดด้วยการวางยุทธศาสตร์การพูด หรือวางโครงสร้างการพูด การนำเสนออย่างหนักแน่น ทรงพลัง และโดนใจผู้ฟังนะคะ


หากมีคำถามหรือต้องการขอรับคำปรึกษา หรือพัฒนาทักษะด้านการพูด การนำเสนอ อีเมล์มาได้ที่ [email protected] ค่ะ



หมายเลขบันทึก: 541527เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2013 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท