การเขียนภาพคนเหมือนและสัตว์ด้วยเทคนิคสีไม้1(การเขียนภาพสัตว์)


หลังจากได้ผ่านการวาดรูปขาว-ดำมาแล้วทำให้เราเข้าใจเรื่องแสง และเงามาพอสมควร ต่อไปก็จะเป็นการวาดด้วยสี โดยเราจะใช้สีไม้ในการวาดในครั้งนี้

การวาดรูปด้วยสีนั้นก็ยังหลีกหนีไม่พ้นเรื่องของแสง-เงาอยู่ดี(น้ำหนัก5stepที่ฝึกมา) ถ้าหากเราวาดรูปที่มีแสงเงา และน้ำหนักที่ถูกต้องไม่ว่าจะใช้สีอะไร หรือกี่สีก็สามารถทำให้รูปที่ออกมานั้นมีความสวยงามได้ (ในทฤษฎีสีนั้นยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้สึกในแต่ละสี และเรื่องอื่นๆประกอบอีกเช่นเรื่องอุณหภูมิสี โทนสี อารมณ์ วงจรสี สกุลสี วรรณะ รวมถึงการใช้สี ฯลฯ แต่ผมจะขอข้ามในจุดเหล่านี้ไป ถ้าหากใครสนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับทฤษฎีสี ก็หาซื้อหนังสือ หรือค้นหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตได้ครับ ผมจะสอนแบบเน้นปฏิบัติจริงทำได้จริงไม่เน้นทฤษฎีนะครับ)

ต่อไปเป็นตัวอย่างการวาดภาพสีที่มีการเขียนด้วยสีเดียว แต่มีการวางน้ำหนักแสง-เงา


จะเห็นได้ว่าการเขียนรูปด้วยสีก็เหมือนการเขียนรูปขาว-ดำ เพียงแต่สีจะมีเรื่องของจิตวิทยาเกี่ยวกับความรู้สึกเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

ถ้าเราลองนำรูปถ่ายที่เป็นสี ไปปรับแต่ง หรือถ่ายเอกสารให้เป็นสีขาว-ดำ ก็จะเห็นเรื่องแสง-เงาได้อย่างชัดเจน

ขั้นตอนการเขียนภาพคนเหมือนและสัตว์ด้วยเทคนิคสีไม้

ก่อนอื่นเราต้องหาแบบที่จะวาดก่อน

</strong>


เมื่อได้แบบที่ต้องการจะวาดแล้วต่อไปก็เป็นการร่างแบบ


ในการร่างเราควรใช้ดินสอเกรดhb หรือ 2b ในการร่าง และร่างเบาๆไม่เข้ม หรือชัดเจนเกินไปเอาแค่พอเห็น ที่สำคัญควรร่างแบบให้เหมือน หรือใกล้เคียงที่สุดก่อนการลงสี(ที่ต้องร่างแบบให้เบาไม่เข้มมากนั้นเนื่องจากในการเขียนสีไม้นี้ผมจะไม้ใช้สีดำ หรือหลีกเลี่ยงสีดำ เพราะสีดำจะทำให้สีอื่นหมองไม่สดใส ลดค่าสีอื่นๆลง ทำให้ภาพดูสกปรกเลอะเทอะได้ครับ)

ต่อไปก็จะเป็นการลงสี ในขั้นตอนแรกนี้ ผมจะเริ่มจากการวาดสัตว์ก่อนนะครับ(สัตว์ในภาพที่จะวาดในที่นี้คือสุนัขซึ่งมีสีไปในโทนสีน้ำตาลแดง-ส้ม และเหลือง)

1.เราจะเริ่มจากการกำหนดน้ำหนักแสง-เงา บนตัวสุนัขก่อน(คือลงสีกลางในจุดที่มีน้ำหนัก แล้วเว้นกระดาษไว้ไม่ลงสีในจุดที่สว่าง)

</strong>


สีแรกที่เราใช้เป็นสีกลางเพื่อกำหนดแสง-เงา ในสุนัขรูปนี้คือสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลออกแดง(เพราะสุนัขในภาพนี้มีสีไปในโทนสีน้ำตาลแดง-ส้ม และเหลือง)


(ในการลงสีตัวสุนัขในรูปนี้ เราจะเห็นได้ว่าสุนัขในภาพที่เป็นแบบนั้น มีลักษณะขนที่ยาวเป็นชั้นๆ ดังนั้นการลงสีเราก็ควรลงสีไปตามลักษณะขนของสุนัขในแต่ละชั้นของขนด้วย โดยการใช้สีขีดเส้นแต่ละเส้นตามลักษณะขน เหมือนเราวาดเส้นผมของคน หรือการหวีผมที่ต้องหวีไปในทิศทางของเส้นผมนั้นเอง)

2.ลงสีถัดมาที่อ่อนกว่าสีแรกเพื่อเชื่อมต่อน้ำหนักเข้าหาจุดที่สว่าง และยังเป็นการผสมสีเพื่อให้เกิดความเหมือน หรือคล้ายกับสีของต้นแบบอีกด้วย

</strong>


สีที่ใช้ต่อมาคือสีส้มอ่อน


3.ลงสีในจุดที่มีความเข้มมาก โดยการผสมสีให้เกิดสีเข้ม


สีที่ใช้ต่อมาคือสีแดงเข้ม ใช้สีแดงเข้มลงพื้น ในจุดที่มีน้ำหนักมากเป็นสีแรก(สีแดงเป็นสีที่สำคัญมากในการเขียนคน หรือสัตว์ เพราะสีแดงทำให้ภาพคน และสัตว์ดูมีชีวิตแสดงถึงความมีเลือด เนื้อ ฯลฯ)


สีที่ใช้ถัดมาจากสีแดงเพื่อใช้เป็นสีกลางในการผสมกับสีตรงข้ามเพื่อให้เกิดความเข้มคือ


ม่วงเป็นสีต่อมาที่เราลงทับสีแดงในจุดที่จะผสมให้เกิดน้ำหนักที่เข้ม


เมื่อเราลงสีที่เป็นกลางในการผสม จะทำให้สีตรงข้ามเกิดความนุ่มนวล และเข้ากัน


สีต่อมาที่ใช้ผสม และเป็นสีตรงข้ามกับสีแดงคือสีเขียว ในจุดมืดนี้เราจะใช้สีเขียวเข้มในการผสม


สีคู่ตรงข้ามมีหน้าที่ที่สำคัญในการวาดภาพสี2ลักษณะคือ(1)ใช้ผสมเพื่อให้เกิดความมืด หรือน้ำหนักเข้ม(2)ใช้เพื่อเบรค หรือลดค่าสีที่มีมากจนเกินไปในรูปนั้นๆ(เช่น ถ้าเราวาดภาพเหมือนคน หรือสัตว์ที่จำเป็นต้องใช้สีแดงในภาพนั้นๆ ทำให้มีสีแดงในภาพมากเกินไป จนภาพมีความรู้สึกร้อน เราก็จะใช้สีตรงข้าม(สีขียว)มาเบรค หรือลดความแรงของสีนั้นลง ทำให้ภาพมีความรู้สึกที่นุ่มนวล และเป็นกลางขึ้นไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ภาพจะดูเหมือน สบายตา และสมจริงขึ้น) ( แต่ที่กล่าวมาเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางการวาดภาพเท่านั้นการเขียนภาพสียังมีอีกหลากหลาย และไม่มีความตายตัว ไม่มีถูก หรือผิดในงานศิลปะทั้งนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบ และรสนิยมของผู้วาดแต่ละบุคคล )

4.การผสมสีเพื่อให้เกิดสีดำ หรือสีเข้มที่มีความใกล้เคียงสีดำ


ชุดสีต่อมาที่ใช้ในการผสมเพื่อให้เกิดสีดำ หลังจากได้ลงสีแดง ม่วง และเขียว(แทนstepที่2) เป็นพื้นไว้ก่อนแล้วนั้นคือ สีน้ำเงินเข้ม กับสีน้ำตาลเข้ม(แทนstepที่1)


5.ลงน้ำหนักกลาง และสว่างในจุดมืด หลังจากลงน้ำหนักในจุดที่เข้มเสร็จแล้วนั้น เราก็จะลงน้ำหนักกลางเพื่อเชื่อมต่อน้ำหนักจากเข้มไปสู่จุดสว่าง


ชุดสีที่เราใช้วาดขนของสุนัขตรงจุดที่มีน้ำหนักกลาง ต่อจากจุดที่ขนมีน้ำหนักเข้ม เราใช้สีน้ำตาลออกแดง กับสีน้ำตาลออกเหลือง(แทนstepที่3)


และเราใช้ชุดสีต่อมาเพื่อแทนน้ำหนักสว่างเกือบที่สุด ซึ่งเป็นสีขนที่มีน้ำหนักต่อมาจากสีขนที่มีน้ำหนักกลาง และยังเป็นสีขนที่เชื่อมต่อกับจุดสีขนที่สว่างที่สุดอีกด้วย เราใช้สีเนื้ออมชมพูเข้ม กับสีเหลืองเข้ม(แทนstepที่4)


ขีดเป็นเส้นด้วยดินสอสีไม้ไปตามแนวขน เป็นชั้นๆของขนสุนัข

6.ลงสีขนที่สว่างที่สุด


ในจุดที่ขนสุนัขมีสีที่อ่อนที่สุดหรือเป็นจุดที่ตัวสุนัขโดนแสงสว่าง เราใช้ชุดสีถัดมาซึ่งประกอบไปด้วย สีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน สีเหลืองอ่อน และสีเนื้ออมชมพูอ่อน(แทนstepที่5)


ลงสีไปตามขั้นของชั้นขนสุนัขในจุดที่สว่าง โดยใช้ชุดสีที่แทนstep4 แล้วต่อด้วยชุดสีที่แทนstep5ในจุดสว่างที่สุด ส่วนจุดที่ต่อจากจุดที่ขนมีน้ำหนักเข้ม(step2) ก็ให้ลงชุดสีที่แทนstep3ก่อนที่จะลงstep4-5


เท่านี้เราก็จะลงตัวของสุนัขในส่วนที่เป็นขน จมูก ตา ปาก หู หนวด ฯลฯ และส่วนที่มีโทนสีน้ำตาลแดง ส้ม เหลือง และดำเป็นที่เรียบร้อย

7.การลงสีลิ้นสุนัขในจุดที่เป็นเงามืด

</strong>


เราก็จะใช้ชุดสีที่แทนstepที่1 และstepที่2 ของตัวสุนัขเช่นเดิม ซึ่งประกอบไปด้วยสีแดงเข้ม สีม่วง และสีเขียวเข้ม(แทนstepที่2) กับสีน้ำเงินเข้ม และสีน้ำตาลเข้ม(แทนstepที่1)


วิธีการลงคือ ให้ลงชุดสีที่แทนstepที่2ให้ทั่ว ในจุดที่เป็นเงามืดบนลิ้นของสุนัข จากนั้นให้ลงชุดสีที่แทนstepที่1เฉพาะจุดที่เข้มที่สุดบนลิ้นสุนัขเท่านั้น แต่ในการลงชุดสีทั้ง2บนลิ้นของสุนัขนั้น จะต่างกับการผสมสีที่ลงบนตัวของสุนัข เพราะสีลิ้นของสุนัขเป็นสีแดงออกม่วง กับสีชมพู ดังนั้นตอนลงให้เน้นลงสีแดง กับสีม่วงให้มากในชุดสีที่แทนstepที่2 มากกว่าตอนที่ลงสีบนตัวสุนัข

8.เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการวาดภาพสัตว์รูปนี้ คือการลงสีลิ้นของสุนัขในจุดที่สว่าง

</strong>


โดยการใช้สีม่วงอมชมพู กับสีแดงอ่อน(แทนstepที่3)เชื่อมต่อจากจุดเงามืดบนลิ้น มาหาจุดที่สว่างบนลิ้นสุนัข แล้วใช้สีชมพูอ่อน กับสีเนื้ออมชมพูอ่อน(แทนstepที่4)ต่อจากstep3ไปหาstep5 และใช้สีเนื้ออมชมพูอ่อน(แทนstepที่5)ในจุดที่สว่างที่สุดบนลิ้น


จากนั้นก็เก็บรายละเอียดต่างๆบนภาพสัตว์ เช่นเพิ่มความเข้ม ลดความเข้ม เพิ่มความสว่าง ลดความสว่าง ขีดเส้นตามลักษณะของขน ดูความนุ่มนวลในจุดเชื่อมน้ำหนักต่างๆของชั้นขน ฯลฯ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการวาดภาพสัตว์ด้วยเทคนิคสีไม้

และอย่าลืมว่าที่กล่าวมาเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางการวาดภาพเท่านั้นการเขียนภาพสียังมีอีกหลากหลาย และไม่มีความตายตัว ไม่มีถูก หรือผิดในงานศิลปะทั้งนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบ และรสนิยมของผู้วาดแต่ละบุคคล

</strong>

ลองฝึกทำกันดูนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #วาดรูป#วาดภาพ
หมายเลขบันทึก: 541199เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2013 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2016 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวยงามมากมาย  ขอบคุณค่ะ:)

                ...เยี่ยมจริงๆ ค่ะ  ... คนมีฝีมือ ..... คนมีความรู้ที่กระจ่าง จริงๆ ค่ะ





เก่งจังเลยค่ะ..ฝีมือสุดยอดเลยค่ะ

 

ขอบคุณมากค่ะ...จะพยายามเรียนรู้ตามบันทึกของอาจารย์ค่ะ...ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะฝึกวาดภาพด้วยสีน้ำเพราะชอบมาก...แต่พอมาอ่านบันทึกนี้ทำให้คิดว่าน่าจะเริ่มต้นด้วยสีไม้ก่อน...คงต้องออกไปเดินหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆก่อนนะคะ

อ้าวแล้วภาพสาวน้อยสดใสหายไปไหนล่ะค่ะ 

ฝีมือมากๆ ค่ะ

  • ฝีมือดีมากค่ะ
  • ชอบมากค่ะ

ผมก็ลองอยู่..แต่ไม่มีครูบาอาจารย์กะเขาหรอก ขีดเขียนๆไปตามใจชอบ

ใช้สีไม้ยี่ห้ออะไรค่ะ

ภาพนี้ใช้สีไม้ระบายน้ำของ Faber-Castell ครับ แต่จริงๆแล้วใช้สีไม้ของยี่ห้ออะไรก็ได้ครับ ถ้าเข้าใจเรื่องของแสง-เงาแล้ว และผสมหรือใช้สีเป็นครับ^^ (ปัจจุบันผมมีสีไม้ที่ใช้วาดอยู่ประกอบด้วยยี่ห้อดังนี้ 1.Faber-Castell 2.Colleen 3.MasterArt 4.Staedtler 5.House(ตราม้า) 28/07/2559)

เก่งสุดๆโลกันต์เลยง่ะ อยากจะเก่งแต่ผมงี้แม่งขี้เกียจสุดบรรลัย


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท