'พูดเก่ง' ไม่สำคัญ สำคัญที่ต้อง 'พูดเป็น' ตอนที่ 1 โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


พูดน้อยแต่ได้มาก ย่อมดีกว่าพูดมากแต่ได้น้อย

เป็นที่ทราบกันดีว่า การสื่อสารเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารทุกระดับ ผู้บริหารใช้เวลากว่า 80% ของเวลาทั้งหมดในการสื่อสาร การสื่อสารที่ทรงพลังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล ทักษะการสื่อสารให้เข้าถึงจิตใจ สร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้คนเกิดความต้องการ มีความรู้สึกร่วม และให้การสนับสนุน เป็นทักษะที่ผู้บริหารทุกคน ทุกระดับจำเป็นต้องมี

ผู้บริหารหลายท่านพูดเก่งราวกับนักพูด แต่การพูดเก่งนั้นไม่สำคัญหากพูดแล้วไม่ได้ใจผู้ฟังไม่สามารถทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมด้วยได้ บางคนพูดน้อย แต่สร้างผลกระทบมาก ดังนั้น คำพูดเป็น 1000 คำ แต่ไม่มีแก่นสารสำหรับผู้ฟัง ย่อมไร้ความหมายเมื่อเทียบกับการพูดเพียง 10 คำที่ชัดเจน เฉพาะเจาะจง และเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟัง


พูดเก่งไม่สำคัญ สำคัญที่ต้องพูดเป็น

การพูดเป็นคือการ พูดน้อย แต่ได้มาก’ (Less is More)หมายถึง ทุกคำพูดที่ออกมาต้องมีความหมาย ส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึก และสร้างผลกระทบแก่ผู้ฟัง ทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วม และให้การสนับสนุน การพูดน้อย แต่ได้มาก มีแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. พูดให้กระชับ เฉพาะเจาะจง และใส่ใจผู้ฟัง

ผลการศึกษาด้านสมองชี้ให้เห็นว่าสมองส่วนการคิด และการตัดสินใจของมนุษย์มีปริมาตรเล็กมากเมื่อเทียบกับสมองทั้งหมด ในการทำงานต้องใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมหาศาล การให้ข้อมูลที่มากเกินไปทำให้สมองของผู้ฟังทำงานหนัก และประสิทธิภาพการทำงานลดลง ผู้ฟังไม่สามารถจดจำข้อมูลที่มีปริมาณมากได้ ผู้พูดให้ข้อมูลไปมาก แต่กลับสร้างผลกระทบได้เพียงเล็กน้อย (More is Less) ไม่เกิดประโยชน์อะไร

การพูดที่มีประสิทธิผลจึงต้องจำกัดปริมาณข้อมูลให้เหมาะสมกับผู้ฟัง หรือกลุ่มผู้ฟัง รวมถึงระยะเวลาในการพูด เน้นไปที่ประเด็น และสาระสำคัญที่มีความเฉพาะเจาะจง ตรงกับความต้องการและความสนใจของผู้ฟัง ผู้พูดจำเป็นต้องวิเคราะห์ก่อนว่าผู้ฟังต้องการได้ยินอะไร ข้อมูลอะไรจึงจะตรงกับความชอบ และสอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ คำพูดที่ออกมาต้องผ่านการกลั่นกรอง รักษาหน้าและความมั่นใจในตนเองของผู้ฟัง ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับผู้ฟัง

2.  การพูดโดยใช้คำถามที่ทรงพลัง

การพูดไม่จำเป็นต้องทำโดยการบอกเล่าเท่านั้น การพูดสามารถทำโดยวิธีการตั้งคำถาม การตั้งคำถามที่ทรงพลังสามารถตรึงผู้ฟังให้ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องไม่แตกต่างจากการบอกเล่า หรืออาจทรงพลังมากกว่า เพราะคำถามที่ทรงพลังจะกระตุ้นการใช้สมองของผู้ฟังให้คิด สำรวจ และทำความเข้าใจด้วยตนเอง โดยผู้พูดไม่ต้องใช้คำพูดโน้มน้าว คำถามที่ทรงพลังยังกระตุ้นผู้ฟังให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และแสวงหาทางออกใหม่ๆ ทำให้การสนทนามีความเข้มข้น สร้างการมีส่วนร่วม และบรรยากาศการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจได้ดี ผู้พูดยังสามารถใช้คำถามที่น่าสนใจเพื่อเปิดประเด็นการสนทนาได้

3.  การพูดโดยยกตัวอย่างประกอบ การเล่าเรื่องที่น่าสนใจ การเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย

ปกติแล้ว ผู้ฟังมักจดจำสิ่งที่รับฟังไปไม่ได้มากนัก เหมือนตอนไปชมภาพยนตร์ เราออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความประทับใจ แต่ถามว่า จดจำคำพูดอะไรในภาพยนตร์ได้บ้าง เรากลับนึกคำพูดจริงๆไม่ออก แต่เราจะจดจำสีหน้า ท่าทาง การแสดงของนักแสดงได้ การยกระดับคำพูดให้น่าจดจำ และเข้าถึงจิตใจผู้ฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็น การพูดด้วยการยกตัวอย่าง การเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปไมยจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่พูดได้ชัดเจนขึ้น และจดจำได้มากกว่า หรือการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการจะสื่อสาร อาจเป็นเรื่องจริง เรื่องเล่า หรือนิทาน จะช่วยดึงความสนใจของผู้ฟังได้ดี

การฝึกฝนตนเองให้พูดน้อย แต่สร้างผลกระทบได้มากไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่ความมุ่งมั่น ตั้งใจ คำพูดมักออกจากความคิด ผู้พูดจึงควรระมัดระวังความคิดของตนเองไม่ให้ฟุ้งซ่าน หรือกระจัดกระจายเกินไป ค่อยๆคิดทีละเรื่อง ให้ความต้องการของผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง จัดระบบความคิด โดยเขียนความคิดลงบนกระดาษ อาจใช้เครื่องมือช่วยเช่น Mind Map ในการสร้างความเชื่อมโยง หากท่านสามารถจัดระบบความคิดของท่านให้ง่ายได้ การพูดของท่านย่อมจะกระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย และเข้าถึงจิตใจผู้ฟังมากขึ้นค่ะ

สำหรับในตอนหน้า บทความ ‘พูดเก่ง’ ไม่สำคัญ สำคัญที่ต้อง ‘พูดเป็น’ ตอนที่ 2 เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ผู้ฟัง อย่าลืมติดตามอ่านกันนะคะ



หมายเลขบันทึก: 541070เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ประมาณว่า  เอาแต่เนื้อ น้ำไม่ต้อง หรือเปล่าคะ ^___^

ขอบคุณนะคะนับเป็นการทบทวนหลักการพูดที่ดีมากคะ 

....คนพูดเก่ง หาทางลงจอดไม่ค่อยได้...แต่ถ้าพูดเป็นจะลงจอดได้เหมาะเจาะ...และตรงเวลานะคะ

คิดก่อนทำ กับคิดแล้วทำ อย่างไหนดีกว่ากันและดีที่สุด สำหรับโลกยุคปัจจุบัน เหมือนกับการพูดได้กับการพูดเป็น

ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท