โรงเรียนหนองบัว กับอาจารย์เขจร เปรมจิตต์


                                                      

 

13 ปีในตำแหน่งครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนหนองบัว


           13 ปี ในที่นี้หมายถึงความหลังระหว่างปี พ.ศ.2503 ถึง ปี พ.ศ. 2517 อันเป็นสิบสามปีแห่งความทรงจำที่มิอาจลบเลือนไปจากการดำรงชีวิตของข้าพเจ้าได้  ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์จากชีวิตหลายแง่หลายมุมจากบุคคลที่ชื่อ นายอรุณ วิไลรัตน์ นายอำเภอหนองบัว ในขณะนั้น   ท่านเป็นทั้งผู้บังคับบัญชา เป็นพี่    เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยพบมา สำหรับผลงานต่างๆ ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึง เพราะได้มีผู้รู้เห็นและสัมผัสกับท่านนายอำเภอผู้นี้ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่นนี้อย่างมากมาย    ข้าพเจ้าจะกล่าวเฉพาะที่ได้เห็นและเพิ่มเติมจากทุกท่านที่เขียนไว้แล้ว

            ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการครูโรงเรียนประจำจังหวัดนครสวรรค์ (ในสมัยนั้น) ประวัติรับราชการได้แนบไว้ด้านหลัง ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ข้าพเจ้าตื่นเต้น คิดว่าจะไปอยู่อย่างไร เพราะอำเภอหนองบัว  กับอำเภอไพศาลี สมัยนั้นกันดารและห่างไกล
ไม่รู้จักใครเลย เมื่อเดินทางไปถึงรายงานตัวก็พบปลัดสัญชัย สวิตชาต ปลัดหนุ่มที่เคยรู้จักมาก่อนก็ชวนไปอยู่ด้วยที่บ้านพักปลัดอำเภออยู่หลังอำเภอนั่นเอง  และได้พบกับคุณลออ หมู่พยัคฆ์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรอำเภอ
เพื่อนเรียนหนังสือชั้นมัธยมด้วยกัน ต่อมาได้มีโอกาสได้มีได้กินข้าวเย็นด้วยกันทุกวัน โอกาสนี้จึงได้สนิทสนมกับท่านนายอำเภออรุณ เพราะต้องมากินข้าวเย็นด้วยกัน 4 คน คือ นายอำเภอ ปลัดสัญชัย คุณลออ และข้าพเจ้า ระยะนั้นพอค่ำจะไม่มีร้านอาหารขาย เพราะไฟฟ้าไม่มีต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุ น้ำประปาก็ไม่มี มีแต่น้ำสระหลวงพ่ออ๋อย
ทั้งดื่มและใช้

              วันไปรับงานและดูโรงเรียนก็เพิ่งทราบว่าโรงเรียนก่อสร้างขึ้นในรูปของการพัฒนาท้องถิ่น โดยพ่อค้าประชาชนบริจาควัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง อาทิเช่น ไม้ เสา สังกะสี ตะปู ตลอดจนแรงงานจากชาวบ้านมาช่วยกันคนละไม้ละมือ ก่อสร้างเป็นโรงเรียนขึ้น เรื่องความสวยงาม ประณีตไม่ต้องพูดถึง เพราะต้องการสร้างให้เสร็จก่อนเปิดเรียนให้ทันปีการศึกษา 2503 ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูงประมาณ 1 เมตร หลังคามุงสังกะสี ตัวอาคารกว้าง 10 เมตร ยาว 24 เมตร แบ่งเป็นห้องเรียนได้ 3 ห้อง ห้องพักครู 1 ห้อง สร้างภายในโรงเรียนเดียวกับโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)  คิดเป็นค่าซื้อวัสดุและค่าสละแรงงานเป็นเงิน 71,655 บาท และก็ได้เปิดเรียนในวันที่
17 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 ตามเป้าหมาย

                ข้าพเจ้าต้องว้าวุ่นสับสนจนบอกไม่ถูก เพราะโรงเรียนมีแต่ตัวอาคารอย่างเดียว วัสดุอุปกรณ์ เช่น โต๊ะเรียน ม้านั่ง ไม่มีซักชิ้นเดียว ข้าพเจ้าต้องทำหน้าที่ครูใหญ่ ครูน้อย ภารโรง เบ็ดเสร็จ โชคดีที่มีครูวิบูลย์ พลไพรินทร์ ครูใหญ่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันได้อนุเคราะห์ให้ยืมวัสดุ อุปกรณ์และครูชื่อเสนาะ
จันทร์ดี เป็นลูกศิษย์ของข้าพเจ้า สมัยเมื่อเป็นครูอยู่อำเภอท่าตะโก มาช่วยสอน 1 คน จึงพอแก้ปัญหาต่างๆ ได้บ้าง

                 ปีแรก 17 พฤษภาคม 2503 เปิดเรียนชั้นเดียว คือ มัธยมปีที่ 4 (ม.4) มีนักเรียนชาย-หญิง ประมาณ 20 คน เป็นเด็กในตลาดและบริเวณใกล้เคียงอีกประมาณ 2 เดือน กรมสามัญศึกษาจึงบรรจุครูมาใหม่ 2 คน คือ

                 1.ครูสังวาลย์  ขวัญเมือง                   2.ครูเสาวนีย์  เหมือนขวัญ

                ปี พ.ศ. 2504 กรมสามัญศึกษา บรรจุครูมาใหม่อีก 1 คน คือ   ครูสุนทร  สันคามิน

                ต่อมาข้าพเจ้าได้ไปขอร้องจังหวัดให้ย้ายแม่บ้านของข้าพเจ้า  คือ ครูระวีวรรณ เปรมจิตต์  ซึ่งสอนอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดนครสวรรค์มาร่วม 10 ปี มีความถนัดในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
เป็นอย่างดีให้มารับผิดชอบสอนวิชาที่ถนัดและเอาจริงเอาจัง เคร่งครัดการสอนมาก ในเรื่องการบ้าน การตรวจงานเป็นที่ร่ำลือในหมู่ศิษย์ ผู้ปกครองได้ยินกิติศัพท์จึงส่งบุตรหลานมาเข้าเรียนเพิ่มขึ้น

                 ปีการศึกษา 2504 วันที่ 17 พฤษภาคม 2504  เปิดเรียน 2ชั้น คือ ชั้นมัธยมปีที่ 5 (ม.5) และ ม.ศ. 1

                 ปีการศึกษา  2505 วันที่ 17 พฤษภาคม 2505 มีชั้นมัธยมปีที่ 6 (ม.6) ม.ศ.1 และ ม.ศ.2

                 ปีต่อๆ  มาจึงมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ข้าพเจ้าจึงได้ปรึกษาหารือกับท่านนายอำเภออรุณ
เรื่องอาคารเรียนคับแคบ สนามก็ไม่มี นักเรียนก็เพิ่มขึ้นทุกปี  ท่านนายอำเภออรุณ ได้เชิญกำนันแหวน บุญบาง
กำนันตำบลหนองบัว กำนันเทียน ท้วมเทศ กำนันตำบลหนองกลับ และคุณสนิท รอดบำรุง ที่ดินอำเภอหนองบัว มาปรึกษาหารือและสำรวจเอกสารหลักฐานต่างๆ ปรากฏว่าทางราชการได้สงวนที่ดินไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์อยู่คาบเกี่ยวระหว่างตำบลหนองบัวกับตำบลหนองกลับ จำนวนหลายร้อยไร่ จากนั้นคุณสนิท รอดบำรุง ก็หาหลักฐานได้เนื้อที่ทั้งหมด 237 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา หลายท่านบอกว่าเนื้อที่ไม่มากไปหรือ จะดูแลไม่ไหว ท่านนายอำเภอบอกว่า
 “ขึ้นทะเบียนเป็นของโรงเรียนไว้ก่อน  อนาคตหน่วยงานไหนจะมาใช้ประโยชน์ก็แบ่งไปได้”

                   สมจริงดังที่ท่านคิด ต่อมาทางแขวงการทางได้มาขอแบ่งไปใช้เป็นสำนักงาน และเก็บวัตถุดิบต่างๆ จำนวน 25 ไร่ ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

                   เมื่อได้ที่ดินเป็นที่แน่นอนแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้วิ่งเต้นของบประมาณ จากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อย้ายโรงเรียนไปยังที่ดินแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับหนองคอกเป็นแนวยาวไป ซึ่งต่อมานายอำเภออรุณก็ให้รถแทรกเตอร์ ดี 8 ที่ซื้อมาไปลอกให้ใหม่ด้วย งบประมาณที่ได้มา 170,000 บาท(หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาท)
สร้างเป็นอาคารเรียนไม้สองชั้น (ดังรูปที่ 1 มีเสาธงด้านหน้า และรูปที่ 2 ด้านข้าง) นับเป็นอาคารหลังแรกในที่ดินแปลงใหม่ และต่อมาทางราชการได้จัดสรรงบประมาณมาสร้างบ้านพักครู อาคารเรียน อาคารหอประชุม อาคารประกอบอื่นๆ อีกมากมาย จำนวนนักเรียน ครู เพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังที่ประจักษ์แก่สายตาชาวหนองบัว และชาวมัธยมศึกษาในนครสวรรค์ นับเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่มีที่ดินมากที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์ ข้าพเจ้าอดที่จะระลึกนึกถึงความดี นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ คุณสนิท รอดบำรุง กำนันแหวน บุญบาง และกำนันเทียน ท้วมเทศ ท่านทั้งสี่ถือเป็นปูชนียบุคคลที่ควรเคารพและสรรเสริญยิ่ง นับเป็นแบบอย่างที่ดีของข้าราชการและผู้บริหารที่มีสายตาอันยาวไกล

                  งานที่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของท่านนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ สรุปสั้นๆ ที่พอจำได้ดังนี้

       1.สร้างความสามัคคีในทุกหน่วยงาน โดยชักจูงให้ข้าราชการใช้เวลาว่างออกกำลังกาย เช่น เล่นฟุตบอล
ชักชวนพ่อค้า(เด็กหนุ่มๆ) มาร่วมทีมสร้างสนามเทนนิสขึ้นด้านซ้ายของบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวท่านนายอำเภออรุณลงเล่นด้วย จำได้ว่ามีครูหญิง-ชาย ตลอดจนข้าราชการลงซ้อมมือกันเกือบทุกวัน

        2.ท่านนายอำเภออรุณไปตรวจงาน ประชุมตามท้องที่ต่างๆ มักจะไปกับคนขับรถจิ๊ปเพียง 2 คน เพราะท่านประสงค์ให้ข้าราชการอยู่ประจำที่ทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนให้เต็มที่ ท้องที่กันดารห่างไกล มาไม่พบเจ้าหน้าที่ก็จะเสียเวลาทำมาหากิน ท่านายอำเภออรุณ มักจะให้คนขับรถมารับข้าพเจ้าไปด้วย ข้าพเจ้าก็เลยทำหน้าที่เลขานุการท่านไปในตัว ผู้ใหญ่มาตรวจงาน นายอำเภออรุณ ก็ใช้ข้าพเจ้าเขียนรายงาน กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุป โดยให้ข้อมูลของเรื่องต่างๆ มาให้ดู ข้าพเจ้ารูสึกมีความสุขมาก ภูมิใจมากที่ได้รับใช้ท่าน ตลอดจนได้รับรู้เรื่องของมหาดไทยมากขึ้น

          3.สนับสนุนงานสำคัญต่างๆ ทั้งงานทางพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวันสำคัญของทางราชการ โดยนำคณะครู นักเรียนช่วยงาน เข้าร่วมงานดังนี้ เช่น

          -วันส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่  วันสงกรานต์

          -วันมาฆบูชา วิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา

          -วันฉัตรมงคล วันพืชมงคล

          -วันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

          -วันปิยมหาราช

         4.ด้านการส่งเสริมชื่อเสียงให้อำเภอหนองบัว และร่วมมือกับทางจังหวัดนครสวรรค์

           -งานกาชาดจังหวัดนครสวรรค์ ได้ออกร้านของอำเภอทุกครั้งที่มีงานกาชาด นางงามกาชาดเคยเป็นของอำเภอหนองบัวจำไม่ได้ว่า ปี พ.ศ.ใด

           -งานด้านส่งเสริมทั้งด้านประชาชน-นักเรียน ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการแข่งขันระดับอำเภอ    และจังหวัด โดยเฉพาะกีฬานักเรียน ได้ส่งเข้าแข่งขันทั้งกรีฑาและกีฬาต่างๆ เป็นประจำทุกปี

         ท้ายแห่งความทางจำนี้ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณนายสมหมาย ฉัตรทอง อดีตนายอำเภอหนองบัว ที่ท่านพยายามศึกษาค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง 60 ปี (2491-2550) จารึกไว้บนแผ่นดินหนองบัว
จังหวัดนครสวรรค์ ระลึกถึงคนดีในอดีตเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่ชนรุ่นหลัง ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่มิได้มาร่วมงานเปิดอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ เพราะข้าพเจ้าไปรับราชการอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย ไม่มีใครแจ้งแม้แต่โทรศัพท์
มาพบบันทึกของท่านนายอำเภอสมหมาย ที่เขียนถึงข้าพเจ้าท้ายสารบัญ เมื่อ 25 กันยายน2526 ที่ส่งถึงข้าพเจ้าในปีที่จะรวบรวมหนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ. 2554นี้เอง จึงถึงบางอ้อได้

                                                                                            

                                                                                         (นายเขจร  เปรมจิตต์)

                                                                                              22  มีนาคม  2554


                                    

 

บันทึกท้ายสารบัญเรื่องต้นฉบับประวัตินายอรุณ วิไลรัตน์ ซึ่ง นายสมหมาย ฉัตรทอง ส่งไปให้ข้าพเจ้าตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2526


                                                           ประวัติของนายเขจร เปรมจิตต์

 กำเนิด  13 สิงหาคม  2471

 การศึกษา  จบ ชั้นมัธยมปีที่ 6  จากโรงเรียนนครสวรรค์

                      จบ ชั้นฝึกหัดครูประถมสามัญ  จาก โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

                      จบ  ครูพิเศษมัธยม(พ.ม.)  จาก การสมัครสอบ

                      จบ การศึกษาบัณฑิต(กศ.บ.)  จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินรวิโรฒ ประสานมิตร

ประวัติรับราชการ   

      เริ่มรับราชการที่ โรงเรียนประจำอำเภอท่าตะโก ตำแหน่งครู ครั้งแรก  เมื่อวันที่ 10    มิถุนายน พ.ศ. 2493

      -พ.ศ. 2494  ครูโรงเรียนประจำจังหวัดนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์

      -พ.ศ. 2503  ครูใหญ่โรงเรียนหนองบัว  อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

      -พ.ศ. 2508  รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอหนองบัว อำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์

                  (อีกตำแหน่งหนึ่ง)

      - พ.ศ. 2517  อาจารย์ใหญ่โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ อำเภอตาคลี  จังหวัดนครสวรรค์

      - พ.ศ. 2521  ผู้อำนวยการโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ อำเภอตาคลี  จังหวันครสวรรค์

      - พ.ศ. 2526  ผู้อำนวยการโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา อำเภอสวรรคโลก  จังหวัดสุโขทัย

      - พ.ศ. 2529  ผู้อำนวยการโรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม  อำเภอเมืองนครสวรรค์    จังหวัดนครสวรรค์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

      - พ.ศ. 2518  จักรพรรดิมาลา

      - พ.ศ. 2521  ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)

      - พ.ศ. 2526  ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)

การงานพิเศษ

       -ประธานกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดนครสวรรค (กลุ่ม 2) พ.ศ. 2519 – 2525

       -ประธานกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดสุโขทัย (กลุ่ม 2) พ.ศ. 2526 – 2529

       -ประธานกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจังหวัดนครสวรรค์ (กลุ่ม 3) พ.ศ. 2530

       -อดีต อุปนายก “สมาคมนักเรียนเก่าสวรรค์อนันต์วิทยา” จังหวัดสุโขทัย

       -อดีต อุปนายก “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา”จังหวัดสุโขทัย

       -อุปนายก “สโมสรลูกเสือจังหวัดนครสวรรค์”

       -ประธานมูลนิธิเมตตาธรรม “โรงเรียนจิรประวัติวิทยาคม”

       -กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเทศบาลนครนครสวรรค์

       -สมาชิกสามัญ “สโมสรโรตารี่นครสวรรค์แห่งประเทศไทย”

       -นายกสโมสรโรตารี่นครสวรรค์ ปี พ.ศ. 2539 – 2540

       -ผู้ช่วยผู้ว่าการภาค 3350 โรตารี่สากล ปี 2540 – 2541 ปี 2544 – 2545 ปี 2545 – 2546 

          ปี 2547 – 2548 ปี 2549 – 2550

       -เป็นผู้ก่อตั้งสโมสรโรตารี่หนองบัว ปี ค.ศ. 2540 – 2541

       -ปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดนครสวรรค์

อบรมดูงาน

        -อบรมเตรียมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา (รุ่นที่ 2) พ.ศ. 2506 ณ คุรุสภา และ มศว. ประสานมิตร

        -อบรมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับสูง (รุ่นที่ 4) พ.ศ. 2523 ณ จุฬาลงกรณ     มหาวิทยาลัย

        -ดูงานการศึกษาและวิชาชีพ(Education Program) โดยทุนองค์การ A.F.S. ระหว่างชาติ/ประเทศไทย   

          ณ ประเทศนิวซีแลนด์

       -ศึกษาดูงานร่วมกับเทศบาลนครนครสวรรค์ ณ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์   อิตาลี และจีน


                                       ------------------------------------

หมายเหตุ : ขอบคุณนายสุนทร สันคามิน อดีต ผอ. รร.ราชวินิตนนท์ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม




หมายเลขบันทึก: 540839เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2013 06:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท