การเรียนรู้ที่แท้



          อ่านหนังสือเล่มเล็ก ชุดธรรมะใกล้มือ ลำดับที่ ๒ ปี ๒๕๕๖ เรื่อง ความเป็นไปของจิต แล้วสะดุดใจเรื่องการเรียนรู้ที่แท้ในการตีความของท่านพุทธทาส 

          ท่านบอกว่า (หน้า ๕) “ทีนี้สำหรับผมเองผู้พูดนี่ ก็มีอยู่ไม่น้อยที่พูดไปตามบันทึก ยิ่งสมัยก่อนๆ โน้นแล้วก็มันรู้เรื่องจิตของตนเองน้อยมาก  ฉะนั้นมันจึงพูดไปตามที่ได้ยินได้ฟัง ได้เล่าได้เรียนมา เคยเป็นครูสอนนักธรรม มันก็สอนตามที่จำได้และตามที่เข้าใจ  ที่สรุปออกมาจากความรู้ตามที่จำได้   ต่อมาเมื่อได้เปลี่ยนไอ้ความรู้ตามที่จำได้ ให้มาเป็นการปฏิบัติตามที่จะทำได้  มันก็เกิดความรู้ธรรมะจากพฤติของจิต  ก่อนโน้นมีแต่ความรู้ที่มาจากการเล่าเรียน การจำ การคิดคำนวณแม้การคิดคำนวณนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ออกมาโดยตรงจากไอ้พฤติในจิต  ต่อเมื่อมาทำการปฏิบัติ มันจึงเกิดความรู้สึกโดยตรงออกมาจากความรู้สึกของจิต  เมื่อมันมีความรู้สึกที่ถูกต้อง เข้ารูปเข้ารอยกันดี มันก็มีความเห็นแจ้ง  แต่ก็มีน้อยเต็มที  ที่ผมพูดไปตั้งมากมายนั้น มันก็มีส่วนที่พูดไปโดยความรู้สึกภายในจิต

          ท่านสรุปว่า “เรามีความรู้ แล้วเรามีความรู้สึก แล้วเรามีความเห็นแจ้ง”  ซึ่งผมตีความว่านี่คือการเรียนรู้ ๓ ระดับ

๑.  เรียนจากการได้รับถ่ายทอดต่อๆกันมาได้ความรู้

๒.  เรียนจากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองได้ความรู้สึก

๓.  หลังจากได้ประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองเกิดความรู้สึกจากสัมผัสตรงและมีการไตร่ตรองทบทวนด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นจนถึงจุดหนึ่งได้ความรู้แจ้งแทงตลอด(enlightening)ข้อ ๓ นี้ผมขยายความเองและเชื่อมไปสู่สภาพของการเรียนรู้ที่สมัยใหม่เรียกว่า mastery learning - เรียนแล้วรู้จริง


          โปรดสังเกตว่าความรู้ที่ได้รับจากการอ่านหรือรับถ่ายทอดต่อๆกันมาเป็นความรู้แบบผิวเผินยังไม่ถึงรู้จริงต้องเอาความรู้นั้นไปปฏิบัติก็จะรู้สึกได้ด้วยตนเองแต่ก็ยังไม่ถึงกับรู้จริงจะรู้จริงต้องปฏิบัติแล้วโยนิโสมนสิการคือไตร่ตรองทบทวน


          ผมตีความอย่างนี้ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ



วิจารณ์  พานิช

๒๖ พ.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 540666เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2013 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2013 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเรียนรู้ที่แท้คือการเรียนรู้ที่นำความรู้ไปใช้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

ผมมีข้อสังเกตหนึ่งครับอาจารย์ว่า
แต่โบราณนานมา การศึกษาสร้างคุณค่า เรามี "ครู" และ "การเรียนรู้"

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านจนมาถึงยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่
โลกเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ทุนนิยม...  
และมีการปฏิรูปการศึกษาพัฒนากันให้ทันสมัย

แต่กลับเกิดคำถาม หรือประเด็นที่น่าสนใจทางการศึกษาว่า...
การศึกษาคุณค่าแท้ หรือคุณค่าเทียม?
มีครูเพื่อศิษย์ มีครูฟา หรือนักธุรกิจครู?
การเรียนรู้แท้ เรียนแล้วรู้จริง หรือการเรียนรู้แบบสร้างภาพ?

ทั้งที่คำว่า "การศึกษา"  "ครู" และ "การเรียนรู้" น่าจะมีคุณค่าแท้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว
ไม่ต้องสงสัยครับ

หรือเพราะการพัฒนาปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาของเรานั้น มันผิดทิศผิดทาง..
เป็น มิจฉาทิฏฐิ ทำให้ยิ่งพัฒนา แต่กลับยิ่งเสื่อมลงๆ ...มีแต่การสร้างภาพครับ

เป็นข้อสังเกตของผู้มีความรู้น้อยด้อยปัญญาคนหนึ่งครับ
ด้วยความเคารพครับอาจารย์
ขอบพระคุณครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท