เป็นหนอนต่างสี เป็นผีเสื้อเหมือนกัน MOTH


  สวัสดีทุกท่านครับ ลุงชาติเคยลงภาพชุด  วงจรชีวิตหนอนผีเสื้อกลางคืน MOTH  ให้ชมไปแล้วครั้งนึง ตามลิ้งค์นี้ครับ 

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/438272


หลายๆท่านที่ได้ชมไปแล้วบอกว่าละเอียดครบวงจร วันนี้ได้มีโอกาสบันทึกเพิ่มเติมส่วนขยาย ส่วนที่มีรายละเอียดที่แตกต่างจากชุดเดิมขึ้นมาอีก ผมจะนำเฉพาะส่วนที่เพิ่มเติมแตกต่างจากชุดแรกมาแสดง ส่วนที่ไม่ได้นำมาแสดงคือส่วนที่เหมือนกันกับชุดแรกครับ และเพื่อที่จะได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน จะขอเรียกชื่อหนอนผีเสื้อตามชื่อสมมุติที่ตั้งขึ้นตามนี้นะครับ

 มอธตัวที่หนึ่ง คือหนอนผีเสื้อตัวสีเขียวในกระทู้แรก ใช้ชื่อ หนอนชาเขียว

 มอธตัวที่สอง คือหนอนผีเสื้อตัวสีชาหรือน้ำตาลในกระทู้นี้ ใช้ชื่อ ช้อคโกแลต

 มอธตัวที่สาม คือหนอนผีเสื้อตัวสีเขียวในกระทู้นี้ ใช้ชื่อ ชาเขียวจูเนียร์ 

  ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ผมบันทึกตามสายตาที่เห็นวันต่อวัน เป็นเพียงเรื่องเล่าจากประสบการณ์  ข้อมูลบางส่วนอาจไม่ตรงกันกับข้อมูลอื่นๆ และภาพเหตุการณ์ของบางวันผมขอตัดออก ไม่นำมาแสดงเพราะกระทู้จะยาวเกินจำเป็น ไม่อยากให้ท่านต้องมาเสียเวลามากเกินไป

 เริ่มจากระยะวางไข่ฟักไข่กันก่อน ลุงชาติสังเกตุเห็นที่ใบชวนชมมีผีเสื้อมาไข่เอาไว้หลายฟอง ลองเดินนับดูเล่นๆได้สิบหกฟอง เท่าที่หาเจอนะ อาจมีหลงหูหลงตาไปบ้าง เพราะชวนชมที่บ้านมีหลายต้น ชมกันเลยครับ ไข่ผีเสื้อ เล็กจิ๋วนิดเดียว เขาไข่แปะเอาไว้ที่ใต้ใบ






 สามวันต่อมาหนอนผีเสื้อก็ฟักตัวออกจากไข่ เป็นหนอนตัวเล็กจิ๋ว สีออกทางเหลืองอ่อนๆ ความยาวประมาณครึ่งเซ็นติเมตร ทุกตัวมีลักษณะคล้ายกันหมด ยังสังเกตุความแตกต่างอะไรไม่ได้ ออกจากไข่มา สิ่งแรกที่หนอนกินก็คือเปลือกไข่ของตัวเอง พอหมดก็เริ่มกินใบชวนชมเพื่อเริ่มสะสมพลังงานต่อไป นับอายุเป็นวันแรกในวงจรชีวิตนี้





   ผ่านมาถึงวันที่แปด หนอนทุกตัวดำเนินชีวิตกันตามปกติเหมือนที่เคยนำมาให้ชมในกระทู้แรก บางตัวอาจถูกนกจับกินไปบ้าง ที่บ้านลุงชาติมีนกแวะวียนมาหากินบ่อยเหมือนกัน มีหนอนอยู่ตัวนึงแตกต่างจากตัวอื่นๆทั้งๆที่เกิดพร้อมกัน ออกจากไข่วันเดียวกัน หนอนตัวนี้มีสีอมเหลือง ออกไปทางสีชาหรือสีน้ำตาลอ่อน ต้วอื่นๆมีสีเขียวกันหมด






   มอธตัวที่สอง คือหนอนผีเสื้อตัวสีชาหรือน้ำตาลในกระทู้นี้ ใช้ชื่อ ช้อคโกแลต ลักษณะลำตัว ส่วนหัว ขาจริง ขาเทียม และลวดลาย ทุกอย่างมีเหมือนกับตัวอื่นๆทั้งหมด แตกต่างที่สีสันเท่านั้น กินเก่ง นอนเก่งเหมือนกัน






   วันนี้มีอายุได้เก้าวัน เจ้ามอธตัวที่สองก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตากิน ตัวใหญ่อ้วนพีขึ้นเรื่อยๆ สีสันของลำตัวก็ยังคงแตกต่างจากตัวอื่น






  วันรุ่งขึ้น เจ้ามอธตัวที่สองมีอายุได้สิบวัน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว เจ้าหนอนน้อยตัวนี้ได้ลอกคราบออกมา เป็นคราบสีขาวๆ โดยใช้ส่วนก้นแปะติดไว้กับใบชวนชม แล้วส่วนหัวก็ค่อยๆเคลื่อนตัวโผล่ออกมาจากคราบสีขาวนั้น






    เมื่อเคลื่อนตัวหลุดพ้นออกมาจากคราบแล้ว เจ้าหนอนน้อยก็กลับลำ หันด้านหัวกลับเข้ามา แล้วเริ่มกินคราบของตัวมันเองจนหมด






   เมื่อกินคราบตัวเองหมด เจ้าหนอนน้อยก็กลับลำ หันด้านหัวกลับออกไป แล้วก็เริ่มกัดกินใบชวนชมต่อไปอย่างเอร็ดอร่อย หลังจากลอกคราบแล้ว สีสันของตัวหนอนก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มขึ้นไปทางน้ำตาล คล้ายช้อคโกแลต เลยตั้งชื่อให้ว่า หนอนช้อคโกแลต






  วันนี้หนอนช้อคโกแลตมีอายุได้สิบเอ็ดวันแล้ว สีสันและลวดลายบนตัวเข้มขึ้น ชัดเจนขึ้น กินเก่งและตัวโตขึ้นมาก






   หนอนช้อคโกแลตไม่ได้กินเก่งอย่างเดียว นอนเก่งและนอนง่ายด้วย  เคี้ยวใบชวนชมกินอยู่แหง็บๆ หลับปุ๋ย หลับค้างอยู่ตรงนั้นเลย






 ลีลาการกินก็ไม่แพ้เจ้ามอธตัวแรกเลย กินแปลกแหวกแนวไปได้สารพัด กินแบบเรขาคณิตก็กินเป็น ไม่ใช่กินตั้งตัวหร๊อก....กินแบบตั้งฉาก



 



   ภาพนี้ขยายส่วนหัวส่วนปากมาให้ดู เห็นปากเล็กๆอย่างนี้ ขอโทษใบชวนชมหมดไปแล้วหนึ่งต้น ต้นนี้เป็นต้นที่สองแล้วที่เจ้าหนอนน้อยเลือกกิน






   เวลาผ่านมาอีกสามวัน หนอนน้อยก็ได้เข้าสู่ระยะดักแด้ในเวลาตีสองสิบห้านาที เวลาใกล้เคียงกันกับเจ้ามอธตัวแรกซึ่งเป็นเวลาตีสองเหมือนกัน เจ้ามอธตัวที่สองหรือหนอนช้อคโกแลตได้ใต่ลงจากต้นชวนชม ลงไปยังพื้นดิน มันออกเดิน..หรือคลานหว่า....วนไปรอบๆต้นชวนชม แล้วมันก็เลือกได้พื้นที่ที่จะเข้าสู่ระยะดักแด้






   เจ้าหนอนน้อยเริ่มขนเศษวัสดุที่อยู่บริเวณใกล้ๆต้นชวนชมมาห่อหุ้มร่างกายของมันเองจนมิดชิด มันใช้เวลาสร้างเกราะกำบังอยู่ประมาณชั่วโมงนึง เวลาตีสามกว่าๆจึงเห็นว่าภายในกองวัสดุนั้นนิ่งสงบ เจ้ามอธตัวที่สองได้เข้าสู่ระยะดักแด้เรียบร้อยแล้ว รวมเวลาในระยะที่เป็นตัวหนอนได้สิบสี่วัน ภาพนี้คือกองวัสดุที่หนอนขนมาสร้างเกราะกำบังดักแด้ครับ






  

 ขอพาท่านมาพบกับหนอนอีกตัวนึงซึ่งเกิดวันเดียวกันกับเจ้ามอธตัวที่สองเมื่อกี้นี้

  มอธตัวที่สาม คือหนอนผีเสื้อตัวสีเขียวในกระทู้นี้ ใช้ชื่อ ชาเขียวจูเนียร์ มีทุกอย่างเหมือนกันกับหนอนที่กล่าวมาแล้วทั้งสองตัว มีสีเขียวที่เหมือนกับตัวแรก กินเก่ง และอ้วนพี






  วันนี้เจ้ามอธตัวที่สามมีอายุได้สิบเจ็ดวัน กินเก่งมาก กินไม่ยอมหยุด ลีลาการกินไม่ยอมเป็นรองมอธสองตัวแรกเลยทีเดียว






   มาชมท่าตีลังกาหาอาหารของเจ้าหนอนชาเขียวจูเนียร์ซะก่อน ดอกชวนชมที่เห็นในภาพนั้นลอยอยู่กลางอากาศนะ ไม่ได้ติดนิ่งอยู่กับกิ่งชวนชม เจ้าหนอนใช้ขาเทียมของมันเกาะติดกับกิ่งชวนชม โน้มตัวโรยตัวลงมา ใช้ขาจริงจับดอกชวนชมเอาไว้ ใช้ปากกัดกินดอก ฉับฉับ... ฉึกฉึก....หร่อย...






   เจ้าหนอนกินดอกชวนชมต่อไปเรื่อยๆจนหมดดอก จึงหันไปกินใบอื่นแทน อายุสิบเจ็ดวันแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนเข้าสู่ระยะดักแด้เลย แต่สังเกตุที่หัวจะเริ่มมีสีเหลืองอ่อนๆเพิ่มมากขึ้นอีกนิดหน่อยเท่านั้น






   อีกสองวันต่อมาเจ้าหนอนน้อยก็กลายร่าง เปลี่ยนสีสันเข้มขึ้นอีก ใต่ลงจากต้นชวนชม หาทำเลที่เหมาะสม มันเลือกวิธีมุดดินลงไปใต้ต้นชวนชมในเวลาตีหนึ่งสิบห้านาที ทำไมมันเลือกเวลากันดึกๆยังงี้ว้า....ง่วงชิบ.....รวมระยะเวลาในการเป็นตัวหนอนได้สิบเก้าวัน นานกว่าสองตัวแรก






   ช่วงนี้ก็นับเวลารอคอยให้มอธทั้สองตัวออกจากระยะดักแด้ จนกระทั่งวันนี้ เจ้ามอธตัวที่สองหรือหนอนช้อคโกแลตก็ได้เวลาออกจากดักแด้ในเวลา สี่ทุ่มสี่สิบนาที






   มอธตัวที่สองออกมาแล้ว เป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีสีสันและขนาดเหมือนกับมอธตัวแรกทุกประการ ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกสามสี่ภาพ แล้วก็ปล่อยให้ผีเสื้อที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาดูโลกได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติตามวิถีชีวิตที่ตัวเองต้องการ






   ถ่ายผีเสื้อเสร็จก็หันมาถ่ายภาพคราบดักแด้ของเจ้ามอธตัวที่สองเก็บไว้ด้วย รวมระยะเวลาที่มอธตัวที่สองอยู่ในระยะดักแด้สิบสามวัน น้อยกว่ามอธตัวแรกหนึ่งวัน 






   ตอนนี้ก็เหลือแต่เจ้ามอธตัวที่สามหรือหนอนชาเขียวจูเนียร์ที่ยังอยู่ในดินใต้ต้นชวนชม นับวันนับเวลา สิบวันก็แล้ว สิบสี่วันก็ยังไม่โผล่ รอมาจนวันนี้ โผล่ออกมาจากดักแด้แล้วในเวลาตีสองกว่าๆ ช่างทรมานคนแก่กันจัง.....ง่วงซะมึนตึ้บ.....






   มอธตัวที่สามออกมาแล้ว เป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีสีสันและขนาดเหมือนกับมอธสองตัวแรกทุกประการ ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกสามสี่ภาพเช่นเคย แล้วก็ปล่อยให้ผีเสื้อที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาดูโลกได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติตามวิถีชีวิตที่ตัวเองต้องการ ตามสองตัวแรกไป






  

สุดท้ายก็ไม่ลืมที่จะขุดเปิดหน้าดินแล้วถ่ายภาพคราบดักแด้ของเจ้ามอธตัวที่สามเอาไว้ ซึ่งใช้เวลาในการเป็นดักแด้ทั้งหมดสิบห้าวัน และในตอนท้ายนี้จะขอสรุประยะเวลาในช่วงต่างๆของมอธทั้งสามตัวดังนี้ครับ

มอธตัวที่ 1 ระยะฟักไข่ 3 วัน ระยะหนอน 17 วัน ระยะดักแด้ 14 วัน  รวม 34 วัน

มอธตัวที่ ระยะฟักไข่ 3 วัน ระยะหนอน 14 วัน ระยะดักแด้ 13 วัน  รวม 30 วัน

มอธตัวที่ ระยะฟักไข่ 3 วัน ระยะหนอน 19 วัน ระยะดักแด้ 15 วัน  รวม 37 วัน

  .....ขอให้โชคดีนะเจ้ามอธ.........






  ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมเข้ามาให้กำลังใจ

ขอบคุณ GotoKnow 

ที่ให้พื้นที่ดีๆในการแบ่งปัน

 ขอบคุณครับ



หมายเลขบันทึก: 540608เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2013 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ยังไม่เคยอดทนถ่ายภาพพัฒนาการของสัตว์เลยค่ะ 

หนอนน้อยดูสวยดีนะคะ แต่ kunrapee ไม่ค่อยชอบสัตว์ประเภทนี้เท่าไร

ภาพสวยมากค่ะ

kunrapee สวัสดีครับ
ขอบคุณ kunrapee ที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
สบายดีนะครับ 
ยังหวังว่าจะได้ออกทริปถ่ายภาพด้วยกันบ้างนะครับ

ผมเจอแล้ว ใครว่าอ้วนแล้วไม่สวย นี่สิยิ่งอ้วนยิ่งสวย.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท