งานวิจัยและอาจารย์วิจารณ์ กับการเรียนรู้ต่อยอดของโรงเรียนเพลินพัฒนา (๑)


วันที่  ๓๐  พฤษภาคม ๕๖  เป็นวันสุดท้ายของการจัดแสดงนิทรรศการ KM “ก้าวพอดี ๑๐ ปีเพลินพัฒนา” ที่มีความหมายสำคัญตรงที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช ได้กรุณาเดินทางมาร่วมเรียนรู้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนาตั้งแต่เช้าตรู่ และใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนตลอดทั้งวัน


อาจารย์ขอมาถึงโรงเรียนตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐ น. เพื่อจะได้มีเวลามาสังเกตเด็กๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน เช้าวันนั้นตรงกับวันพฤหัสที่นักเรียนช่วงชั้นที่ ๑ จะมาทำกิจกรรม Sensory Integration (SI) ที่สนามใหญ่


ระหว่างที่ชมกิจกรรม SI ของนักเรียนอาจารย์ได้ให้คำแนะนำแก่ ครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์ ว่า กิจกรรม SI เป็นกิจกรรมที่ดี มีผลต่อการเติบโตของสมองด้าน Executive Function  ที่สร้างให้คนๆนั้นมีวินัย  รู้จักควบคุมตนเอง  มีความยืดหยุ่น  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของสมอง ๔ ประการที่มีผลต่อความสำเร็จในชีวิต ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีปัญหาการหย่าร้างสูง ทำให้แม่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว จึงไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ นักวิจัยที่สนใจในเรื่องนี้ได้นำเอาเด็กกลุ่มหนึ่งมาอุ้ม มากอด ให้เดินบนเชือก และทำกิจกรรม SI สัปดาห์ละ 2 วัน แล้วติดตามดูผลการวิจัย พบว่าเด็กกลุ่มนี้เกเรน้อย  ติดยาน้อย แต่งงานแล้วหย่าร้างน้อยกว่าเด็กในกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่ได้เข้าโครงการ


จากนั้นอาจารย์มาเข้าร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มครูคณิตศาสตร์ช่วงชั้นที่ ๒ ที่เริ่มกิจกรรมด้วยการให้ ณัฐ - ศุภณัฐ  ทองอยู่เรือน  ตัวแทนนักเรียนรุ่น ๑  (ปัจจุบันเป็นนิสิตชั้นปีที่ ๔ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) มานำเสนอว่า “เพลินพัฒนาให้อะไร” เพื่อให้คุณครูเห็นปลายทางของการสร้างนักเรียนเพลินพัฒนาอย่างชัดเจน





ณัฐสะท้อนคำตอบนี้โดยใช้ power point ความยาว ๑๙ แผ่น ที่เขาสร้างขึ้นเอง ค่อยๆ ลำดับความเข้าใจออกมาว่า...





“เป้าหมายของโรงเรียนทั่วไปคือ การสอนให้นักเรียน “เข้ามหาวิทยาลัย” แต่โรงเรียนเพลินพัฒนาให้ทั้ง ความรู้และกระบวนการหาความรู้ ซึ่งความรู้ที่ได้มานี้เป็นความรู้ที่ได้มาจากเครื่องมือที่เรียกว่าการลงมือปฏิบัติจริงที่มีโครงงานการประยุกต์ใช้จริงรองรับ ทำให้การได้มาซึ่งความรู้นั้นต้องผ่านกระบวนการแก้ปัญหา การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ผ่านการวิจารณ์เนื้อหาโดยการตั้งคำถาม และกระบวนการในการหาคำตอบผ่านการอ้างอิงและการให้เหตุผล ส่วนอีกเครื่องมือหนึ่งที่ได้ไปจากโรงเรียนก็คือการทำสมุดประมวลความรู้ 





ในการประมวลความรู้ต้องใช้เวลาในการทำนาน เพราะต้องจัดการความคิดและรวบรวมความรู้ที่ตัวเองมีทั้งภาคเรียน ต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ไป และต้องพยายามยกตัวอย่างเพื่ออธิบายความเข้าใจของตัวเองออกมาให้ชัด ซึ่งช่วยให้เกิดความคิดเชื่อมโยง และความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ได้แจ่มชัดขึ้นจริงๆ”



ครูใหม่ – วิมลศรี  ศุษิลวรณ์  หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๓ (ปีการศึกษา ๒๕๔๗) เล่าถึงการทำสมุดประมวลความรู้ว่า หลังจากที่เรียนไปแล้ว ๘ สัปดาห์ นักเรียนจะมีเวลา ๒ สัปดาห์ในการประมวลความรู้ (งานเดี่ยว) และร่วมกันทำโครงงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (งานกลุ่ม) ที่มีลักษณะเป็นการทดลองเพื่อตอบข้อสงสัย และการประยุกต์ใช้ความรู้ร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม ช่วงเวลา ๒ สัปดาห์สุดท้ายนี้มีขึ้นเพื่อให้นักเรียนประมวลความรู้เพื่อถ่ายทอดออกมาว่าตนได้เรียนรู้อะไร และ เกิดความเข้าใจอะไร ในลักษณะต่างๆ


ในส่วนของการทำสมุดประมวลความรู้จะมีคุณครูประจำวิชาคอยตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาตั้งแต่ฉบับร่างที่เขียนมาส่งด้วยลายมือ เพื่อดูว่าแต่ละคนสามารถจับแนวคิดหลักได้ครบถ้วนหรือไม่ สามารถยกตัวอย่างมาประกอบความเข้าใจได้ชัดเจนเพียงไร ซึ่งขั้นตอนของการตรวจแก้ร่างนี้ จะช่วยให้ครูสามารถแก้ไขความเข้าใจของนักเรียนได้เป็นรายคน


อาจารย์วิจารณ์  ได้เสริมในประเด็นนี้ว่า การแก้ความเข้าใจผิดของนักเรียนให้ถูกเป็นเรื่องสำคัญ และตรงกับที่หนังสือ How Learning Works : Seven Research - Based Principals for Smart Teaching ระบุไว้  เพราะปัจจุบันเด็กมีความรู้ที่ผิดๆ เยอะ  ผู้ที่เป็นครูต้องหาทางขจัดเรื่องนี้ออก  แม้ในผู้ใหญ่เองก็มีเรื่องที่เราเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อย


การทำสมุดประมวลความรู้มีผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำ คือ ตัวเอง ครู และเพื่อน ถ้าทุกคนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็จะเกิดประโยชน์มาก


ครูใหม่  ระหว่างที่ทำสมุดประมวลความรู้นักเรียนมักจะมาเดินดูกันว่าใครมีวิธีอธิบายเรื่องนั้นๆ อย่างไร และไม่มีใครที่จะอธิบายเหมือนกันเหมือนกันสักคนเดียว ในการทำสมุดประมวลความรู้นักเรียนจะรู้จักตัวเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ว่าเขาถนัดอะไร บางคนถนัดอธิบายเป็นภาพ บางคนเขียนเป็นการ์ตูนช่อง บางคนเขียนเป็นคำบรรยาย แต่ละคนใช้ภาษาที่แตกต่างกันออกไป


อาจารย์วิจารณ์  ถามศุภณัฐว่าถ้าโรงเรียนจะนำสมุดประมวลความรู้กลับมาทำใหม่ มีข้อแนะนำอย่างไร


ศุภณัฐ  ถ้าจะรื้อฟื้นสมุดประมวลความรู้ให้กลับมาใช้งานได้เหมือนในอดีตควรที่จะมีเวลาให้เด็กทำอย่างชัดเจน เพราะเด็กต้องทำการบ้านวิชาอื่นด้วย การทำสมุดประมวลความรู้ถ้าทำเพียงวิชาเดียว คือการประมวลความรู้ความเข้าใจในวิชานั้นแต่ถ้าประมวลหลายๆ วิชาเข้าด้วยกัน เป็นการเชื่อมโยงความรู้หลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน การกำหนดให้เขียนด้วยลายมือยังเป็นการลดการคัดลอกงานจากอินเตอร์เน็ตมาส่งครูได้ด้วย


อาจารย์วิจารณ์  ควรทำเป็นกลุ่มหรือทำเดี่ยว


ศุภณัฐ ควรทำเดี่ยว เพราะเป็นการประมวลความรู้ของแต่ละคน


อาจารย์วิจารณ์  ถ้าให้ทำเป็นมัลติมีเดียจะดีไหม


ศุภณัฐ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ ง่ายที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ข้อเสียคือ ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ได้ และยังมีแนวโน้มว่านักเรียนจะมาทำกันในช่วงไม่กี่วันก่อนส่ง เพราะเป็นงานที่ทำง่าย ต่างจากการทำสมุดประมวลที่ต้องใช้เวลา


แต่ไม่ควรเอาคะแนนเป็นตัวกำหนดในการทำงานของเด็ก เพราะเด็กจะกดดันมากเวลาทำงานที่ต้องมีค่าคะแนน







หมายเลขบันทึก: 539576เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2013 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เสียดายที่ไม่ได้เข้าร่วมฟังด้วย..

แต่การนำสมุดประมวลความรู้ มาพลิก เป็นมัลติมีเดีย ดังที่ อ.วิจารณ์  ถามนี้ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ (สำหรับตัวผมเอง)  

น่าจะช่วยฝึกฝนให้เกิดการประมวลความรู้ ๓ ระดับ ในฉับพลัน  ได้แก่

๑.ประมวลการเรียนรู้  (Learning)

๒.ประมวลความรู้ (Knowledge-T)

๓.ประมวลความคิด (Though)

อันจะก้าวไปสู่ขั้นตอนสำคัญคือ การประมวลการใช้ (Application) 

ซึงถือเป็นขั้นสุดยอดของ KM  (จาก Explicit  <<<>>> Tacit)


"ประมวลการใช้" น่าสนใจค่ะ  ขอบคุณสำหรับคำชี้แนะของคุณ Han Min ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท