ข้อคิดจากการทำข้อมูลนักเรียนรายบุคคล



ผู้ใหญ่หลายท่านเคยพูดให้ฟังว่า ทำงานไปเถอะลูก งานได้เขา วิชาได้เรา ตั้งแต่บรรจุ ปี 2540 จนบัดนี้ 16 ปีของอายุราชการ ทำงานทุกงานในโรงเรียน และ เมื่อได้เรียนต่อปริญญาโท ทำให้มุมมองโลกงานอาชีพกว้างขึ้น รู้จักโลกการทำงานมากขึ้น จึงยอมรับได้ว่า คำที่ท่านว่าไว้เป็นจริงทีเดียว (หรือว่าเราเริ่มอาวุโส 5555)

ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center) ฉันรู้จักกับมันตั้งแต่ปี 2541 เริ่มจากยังเป็น OBEC อยู่เลย มีการพัฒนาทุกปี จนได้ชื่อสั้น ๆ ว่า "DMC"  ไม่ว่าจะชื่ออะไร แต่แปลเป็นไทยได้ว่า ข้อมูลนักเรียนรายบุคคล 10 กว่าปี ที่นั่งบันทึกข้อมูลนักเรียนรายบุคคล ของโรงเรียนขนาดใหญ่ระดับจังหวัด เริ่มตั้งแต่ข้อมูลเบื้องต้น เลขประจำตัวนักเรียน เลขประจำตัวประชาชนซึ่งเด็กบางคนยังไม่มีเลย ครูใหญ่ หรือ ผอ. โรงเรียนต้องไปแจ้งเกิดให้ เพื่อแก้ปัญหาเป็น G ซึ่งปัจจุบันนี้หมดไปแล้ว ต่อมาที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เด็กนอกเมือง ย้ายถิ่นมาเรียนในเมือง ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ต่างอำเภอ ที่อยู่ปัจจุบันอยู่ในตัวจังหวัด  รายละเอียดนักเรียน ไม่ว่าจะที่พักอาศัย การเดินทาง ระยะเวลาการเดินทาง ความขาดแคลน บันทึกประจำทุกปี  ได้รับงบประมาณบ้างบางส่วนน้อยมาก มาถึงสุขภาพ น้ำหนักส่วนสูง บันทึกภาคเรียนละ 1 ครั้ง อนามัยก็บันทึกซ้ำซ้อน อันที่จริงควรจะนำมาใช้ในงานอนามัยด้วย ไม่ต้องซ้ำซ้อนทำงานเดียวหลายครั้ง  สุดท้ายเป็นข้อมูลครอบครัวนักเรียน อันนี้น่าสลดสุด ๆ  เด็กที่เป็นบุตรคนที่ 1 ของพ่อแม่ที่อายุน้อย ๆ ไม่มีพี่น้องโดยมากครอบครัวหย่าร้าง พ่อแม่ไม่ได้เป็นผู้ปกครอง  ทำให้เกิดความเศร้าใจกับสภาพของสังคมไทย โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวน่าเป็นห่วงมาก  เด็กน้อยทั้งหลายที่เข้าสู่รั้วโรงเรียนประถมศึกษา อนุบาล มาจากครอบครัวน้อย ๆ ที่ พ่อ กับ แม่ อายุยังน้อย ศึกษาเล่าเรียนน้อย และผลักภาระการเลี้ยงดูเด็กน้อยให้กับญาติผู้ใหญ่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ป้า เด็กเริ่มไม่พร้อมตั้งแต่ครอบครัวมาแล้ว เมื่อมาโรงเรียนจะเอาแรงใจที่ไหนไขว่คว้าหาความรู้  นักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาของ สพฐ. โดยรวมแล้ว เป็นนักเรียนด้อยโอกาสมาก โดยเฉพาะโอกาสทางด้านความรักและความอบอุ่นทางใจ สงสารอนาคตของชาติ ลืมตาดูโลกได้เพียง 4 ขวบกว่า ๆ ครอบครัวหย่าร้าง พ่อแม่ไปคนละทาง ต้องอยู่ท่ามกลางญาติผู้ใหญ่ ได้รับกอด ก็ไม่เต็มกอด โหยหาความรักจากผู้บังเกิดเกล้า นักวิชาการในสังคมไทยเคยคิดถึงปัญหานี้บ้างไหมหนอ การคิดแก้ปัญหาครอบครัวเด็กน้อย ดีกว่าคิดเรื่องทรงผมนักเรียนไหม

ปัญหาเด็กน้อยเหล่านี้หากปล่อยไว้ไม่มีคนสนใจ อีก 10-20  ปีข้างหน้า คงเป็นปัญหาระดับชาติแน่ ควรแก้ที่ต้นเหตุ การสร้างแรงใจให้กับบุคคลสังคม ย่อมส่งผลให้สังคมเจริญก้าวหน้า เด็กน้อยวัย 4 ขวบ ปีนี้ ที่ย่างเข้าสู่รั้วโรงเรียนต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในโลกการศึกษาอีกยาวนาน ซึ่งรัฐต้องแบกภาระไว้เต็มที่ 


หมายเลขบันทึก: 539465เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท