โรงเรียนแห่งความสุขแบบยั่งยืน


เรื่อง “โรงเรียนแห่งความสุข” ที่ผู้เขียนไม่ได้คิดจะเขียนมาแต่แรก แต่เพิ่งจะมาตัดสินใจเขียนในโค้งสุดท้ายนี้ ก็เพราะ เกิดแนวคิด “โรงเรียนแห่งความสุขแบบยั่งยืน” ขึ้นมา

 

        เพื่อนสนิท 3 คนของผู้เขียน ซึ่งเป็นนักศึกษาประเภทเรียนดีในวิชาเอกภาษาอังกฤษ  วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (วุฒิ ป.กศ.สูง) และวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม (วุฒิ กศ.บ.) มาด้วยกัน และเกษียณอายุราชการไปตั้งแต่ปี 2553, 2554 ทั้ง 3 คนยังคงทำงานสอนในมหาวิทยาลัยต่อไป (มีรายได้สองทาง ทั้งเงินบำนาญรายเดือน และเงินตอบแทนการสอน) แต่ผู้เขียนเองที่เกษียณอายุราชการในปี 2555 (อายุน้อยสุดในรุ่นเพราะเรียนก่อนเกณฑ์) คิดว่า กว่า 35 ปีที่ตนเองได้อุทิศแรงกาย แรงใจ สติปัญญา และสละทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อจัดการศึกษาให้มีคุณภาพนั้น นับเป็นการเพียงพอแล้ว (ลาคลอดเพียง 1 สัปดาห์เพราะเป็นห่วงการเรียนการสอน และอดหลับอดนอนมาตลอดชีวิตราชการ)

        ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่นั้น ผู้เขียนอยากจะตอบแทนคุณประเทศชาติที่ชุบเลี้ยงมาจนเกษียณอายุราชการ (และยังชุบเลี้ยงต่อไป) ด้วยการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยการเขียนบันทึกใน GotoKnow เพื่อนำประสบการณ์กว่า 35 ปีในสถานภาพ “ครูของครู” มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูอาจารย์ นักการศึกษา ผู้ปกครอง และผู้สนใจทั่วไป เพราะเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของไทยได้บ้าง

        เรื่อง “โรงเรียนแห่งความสุข” ที่ผู้เขียนไม่ได้คิดจะเขียนมาแต่แรก แต่เพิ่งจะมาตัดสินใจเขียนในโค้งสุดท้ายนี้ ก็เพราะ เกิดแนวคิด “โรงเรียนแห่งความสุขแบบยั่งยืน” ขึ้นมา

 

 

 

      "TEACHER MODEL"  เป็นความคิดของผู้เขียนเอง โดยการนำเอาตัวอักษรแต่ละตัวที่ประกอบกันเป็นคำว่า "TEACHER" มาแจกแจงหน้าที่ของครู ซึ่งเคยมีแนวคิดทางตะวันตกที่แจกแจงไว้ แต่นั่นเป็นการแจกแจงให้ครบถ้วน ตามบทบาทหน้าที่ของครูโดยรวม (มีตรงกันอยู่ตัวเดียว คือ T = Teach หรือ Teaching) สำหรับการแจกแจงของผู้เขียน จะมุ่งเน้นไปที่หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ "ปฏิสัมพันธ์  (Interaction) ระหว่างครูอาจารย์กับผู้เรียน" ซึ่งจะเสริมสร้างให้โรงเรียน (หรือสถานศึกษาที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น) ให้เป็น "โรงเรียนแห่งความสุขแบบยั่งยืน"

 

 

       Empathy ซึ่งอาจจะเป็นคำศัพท์ที่บางท่านไม่คุ้นเคย หมายถึง ความเข้าใจในความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของผู้อื่น เสมือนว่า ตนมีประสบการณ์เช่นเดียวกับคนผู้นั้น

       และคำว่า "ยอมรับใน ความเป็นคน" หมายถึง การยอมรับในเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของผู้เรียนทุกคน (นักเรียนในภาพ คือ นักเรียนในห้องเรียนที่ผู้เขียนนิเทศการสอน)

 

คำว่า "Counsel" ณ ที่นี้ แปลว่า ให้คำปรึกษา "Counselor" คือ ผู้ให้คำปรึกษา และ "Counselee" คือ ผู้ขอรับการปรึกษา เป็นศัพท์ในสาขาวิชาจิตวิทยาการแนะแนว เมื่อผู้เรียนมีความสับสนทำให้ไม่สามารถตัดสินใจเลือกทางเลือกได้ ครูควรช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดได้ด้วยตนเอง

 

       ในสัปดาห์วันแม่ ปี 2555 ซึ่งโครงการสรอ.ขอความรู้ครั้งที่ 6 ได้เชิญชวนให้สมาชิก GotoKnow เขียนบันทึก "เรื่องเล่าดีๆ ของแม่กับลูก" ผู้เขียนได้ปลูกฝังความกตัญญุและเชิญชวนให้นักศึกษากว่าร้อยคน (3 Sections) ที่เรียนรู้ผ่าน Weblog "GotoKnow.org" กลับไปทำสิ่งดีๆ กับแม่ในวันแม่แห่งชาติ แล้วเขียนบันทึกกิจกรรมที่ได้ทำและความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ใน GotoKnow นักศึกษาในภาพขวาสุด คือผู้ที่ได้รับรางวัลจากโครงการ

  

      กิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของผู้เรียน ในรายวิชา "พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน" คือ การให้นักศึกษากลุ่มละ 3-4 คน ที่ได้รับการเตรียมความพร้อมในชั้นเรียนแล้ว ออกไปสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวตะวันตก ที่ไปร่วมกิจกรรมงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานีในปี 2555 แล้วถ่ายคลิป VDO ไปแสดงในชั้นเรียนให้เพื่อนๆ และอาจารย์ดู เมื่อพวกเขาทำได้สำเร็จ ผู้เขียนก็ได้กล่าวเสริมพลังว่า "Excellent! Congratulations, you did it! (เยี่ยมจริงๆ ดีใจด้วยนะ พวกเราทำสำเร็จแล้ว) และได้เขียนบันทึกใน GotoKnow เรื่อง "Congratulations You Did It" เพื่อเสริมสร้างพลังใจในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา

        ...มีการตั้งข้อสังเกตว่า ครูอาจารย์ชาวไทยส่วนใหญ่ เวลานักเรียนนักศึกษาทำดีแล้วก็ไม่ค่อยจะชมกัน แต่พอทำในสิ่งที่ครูอาจารย์ไม่พอใจเมื่อไหร่ละก็ เป็นถูกดุถูกตำหนิทันที...ครูอาจารย์เราก็น่าจะย้อนดูตัวเองนะคะ ว่าคำกล่าวนั้นเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าจริงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็ยังไม่สายเกินไปนะคะ เพื่อเป็นการสร้างโรงเรียนแห่งความสุขให้เกิดขึ้น

        ขอขยายความเรื่อง "สอนดี ให้เรียนดี" เพราะการสอนคืองานหลักของครูอาจารย์... ในอดีตนั้น การสอน คือ การถ่ายทอดความรู้จากครูไปยังผู้เรียน แต่ในปัจจุบันจะเปลี่ยนจากการสอนเป็นการจัดการเรียนรู้ (Learning Management) โดยครูอาจารย์ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (Learning Facilotator) ให้กับผู้เรียน  ดังตัวอย่างบางส่วนของการจัดการเรียนรู้ของผู้เขียนเอง

       ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างการเขียนสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ของนักศึกษาที่เรียนรายวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" (4 คาบต่อสัปดาห์) จำนวน 96 คน (2 Sections) ในปีการศึกษา 2554 หลังจากได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เขียนจัดให้ในสัปดาห์แรก (เกือบทั้งหมดเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เกือบ 90 % เป็นนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์)

       ข้าพเจ้าประทับใจในกิจกรรมที่ทำวันนี้มาก ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และฝึกความมีระเบียบ ความรอบคอบในการทำสิ่งต่างๆ และที่สำคัญได้ฝึกคิดอย่างลึกซึ้งและได้รู้จักตัวตนของเพื่อนๆค่ะ.

       สนุกกับการเรียนวันนี้ค่ะ เพราะอาจารย์มีวิธีการสอนที่หลากหลาย มีอัธยาศัยดีกับนักศึกษา สามารถทำให้นักศึกษารู้จักกันในห้อง มีการบูรณาการไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย มีความคิดสร้างสรรค์

      ข้าพเจ้าไม่ชอบการบีบบังคับ แต่เรียนวิชานี้แล้วรู้สึกว่าข้าพเจ้ามีวินัยมากขึ้น แม้จะเป็นการเรียนเพียงเริ่มต้นเท่านั้น วิชานี้ทำให้ข้าพเจ้ารอบคอบขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จากที่เคยทำงานอย่างสุกเอาเผากิน ชื่นชอบอาจารย์อีกอย่างหนึ่ง คือ อาจารย์จัดกฎควบคุมมาก แต่อาจารย์ก็สามารถทำให้นักศึกษารู้สึกผ่อนคลายและสนุกสนานได้ ซึ่งนั่นเป็นหลักอย่างหนึ่งที่ผู้เป็นครูต้องมีในจิตวิญญาณ

     เพียงคาบแรกก็ทำให้รู้สึกประทับใจในรายวิชาและอาจารย์ผู้สอน ทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักเพื่อนๆ รู้ว่าตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ และอาจารย์ก็เอาใจใส่นักศึกษาทุกคน

      อาจารย์มีแบบการสอนที่แตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ นักศึกษาได้พูด อ่าน เขียน ฟัง และคิดวิเคราะห์ในเวลาเดียวกัน ไม่ได้นั่งเรียนตลอด ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อ แม้จะเรียนหลายชั่วโมงก็ตาม

      รู้สึกว่า วิชานี้มีความท้าทาย สนุกสนานกับการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นความคิดเป็นอย่างมาก มีความสุขในการเรียนวิชานี้

     ในการเรียนครั้งนี้ รู้สึกว่าได้เรียนอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่จำเจ ได้ฝึกทักษะในการฟัง การอ่าน การวิเคราะห์ในรูปแบบที่แตกต่างจากที่เคยเรียนมา

      การเข้าเรียนครั้งนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกอยากเรียนไม่น่าเบื่อ เพราะวิชานี้น่าจะมีประสบการณ์จากอาจารย์อีกมากมาย ที่จะสอนให้ดิฉันนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน และในการประกอบวิชาชีพครู

      ก่อนเรียนวิชานี้ ข้าพเจ้าคิดว่าต้องเป็นวิชาที่น่าเบื่อและเนื้อหาเยอะแต่พอได้เรียนในครั้งนี้สนุกดีค่ะ
อาจารย์ได้นำกิจกรรมมาช่วย ทำให้ไม่น่าเบื่อ
     เป็นการสอนในแบบเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ทำให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้นทำให้เรารู้ว่าสิ่งเล็กๆ เราก็ไม่ควรที่จะมองข้ามไป ทำให้เรารักวิชาชีพครูมากขึ้น

     อาจารย์เดินเข้ามาตอนแรกเหมือนจะใจร้าย แต่จริงๆ แล้วอาจารย์ใจดีมากๆ มีความกระตือรือร้นกับวิชานี้มาก เพราะอาจารย์มีสิ่งกระตุ้นตลอด ทำให้ไม่ง่วงนอนเลย
     อาจารย์ผู้สอนเป็นกันเองดี ได้เรียนในรูปแบบที่แปลกใหม่ เรียนสนุก และมีความท้าทาย ฝึกให้กล้าแสดงออก

     รู้สึกประทับใจที่อาจารย์พูดสื่อสารกับนักศึกษาด้วยรอยยิ้ม เป็นวิชาที่สอนเราจริงๆ เกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวเราและคนรอบข้าง

     อาจารย์สอนให้รู้ถึงเหตุการณ์ปัจจุบันทำให้เป็นคนทันเหตุการณ์ และได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

     วิชานี้สอนให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด กล้าแสดงออกซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก

     ได้เรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ สนุกสนานดี และอาจารย์เป็นคนที่เอาใจใส่ในทุกเรื่องแบบจริงจัง

     รู้สึกตื่นเต้นท้าทายในการเรียนอยู่ตลอดเวลาเพราะอาจารย์สอนสนุกมาก มีเนื้อหาสาระปนในกิจกรรมตลอด ไม่เครียด

     เรียนวิชานี้ข้าพเจ้ารู้สึกสนุกสนานมากๆ เป็นวิชาที่ทำให้เรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นวิชาที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเป็นครู...

      

ขอบคุณเจ้าของภาพกราฟิกทุกภาพจาก Internet ขอบคุณน้องพอเพียงลูกสาวคนโตของคุณอักขณิชและคุณพิกุลที่เป็นนางแบบ (ขออภัยที่ในภาพ เขียนชื่อผิดเป็น เพียงพอ) สำหรับภาพอื่นๆ ผู้เขียนถ่ายเอง และมีคนช่วยถ่ายจากห้องสอน ห้องอบรม ห้องพักครู และห้องเรียนที่นิเทศการสอน

  ขอบคุณ กัลยาณมิตร GotoKnow ทุกท่าน ที่กรุณาเข้ามาอ่าน มอบดอกไม้ และหรือร่วมแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้

           



 

 

หมายเลขบันทึก: 539358เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2013 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

 

สวัสดีค่ะพี่ผศ.วิไล ...แน่นอนนะคะที่โรงเรียนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีครู มีนักเรียน มีหลักสูตร มีสื่อ มีแผนการจัดกิจกรรม ...แต่การที่จะเกิดโรงเรียนแห่งความสุขได้นั้น...สำคัญที่สุดคือตัวครูผู้สอนที่จะเป็นผู้หนึ่งที่จะนำพา...ซึ่งก็สามารถวัดและประเมินได้จากTEACHER MODEL...นะคะ...โดยมีเกณฑ์การวัดและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรม...ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ "น้อง ดร.พจนา แย้มนัยนา" มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้กำลังใจ และติดตามอ่านบันทึกของพี่ ตามที่ได้บอกไว้ในอนุทินว่า จะลุ้นติดตามอ่าน

ด้วยความที่เคยเป็นครูและผู้บริหารสถานศึกษามานานพอสมควร ก่อนที่จะ Early Retired ทำให้น้อง ดร.นัยนามองภาพ "โรงเรียน" ได้อย่างแจ่มชัด และพิจารณาเห็นว่า "TEACHER MODEL" สามารถใช้เป็นเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม ในการประเมินปฏิสัมพันธ์ของครูที่แสดงออกต่อผู้เรียน เพื่อทำให้เกิดโรงเรียนแห่งความสุข ได้...ขอบคุณมากนะคะ ที่ได้ให้คุณค่า แก่ "TEACHER MODEL" ในฐานะที่เป็นเกณฑ์การวัดและประเมินผลโรงเรียนแห่งความสุขที่เป็นรูปธรรม

เห็นบันทึกของน้องหลายเรื่องในหน้าแรก และยังมีอีกหลายเรื่องที่พี่ยังไม่ได้ติดตามอ่าน เพราะสองสามวันที่ผ่านมา ยุ่งอยู่กับการเตรียมลงบันทึกนี้ค่ะ ...เป็นการลงบันทึกที่ฟาร์ม ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งการสืบค้น การ Upload ภาพแต่ละภาพนานหลายชั่วโมงมาก จึงต้อง Upload ภาพไป และทำงานบ้านไปด้วยในขณะที่รอค่ะ 


 

ขอบคุณหนู "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์" มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้กำลังใจให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" 

ลงบันทึกเกือบวันสุดท้ายเลยค่ะ เพราะไม่ได้ตั้งใจจะเขียนบันทึกใน Theme "โรงเรียนแห่งความสุข" มาแต่แรกดังที่ได้บอกไว้ในบันทึก

เมื่อวานตกใจมากค่ะ ที่คลิกตรงข้อความ "เพิ่มบันทึก" ท้ายชื่อสมุด ในหน้าแผงจัดการ แล้วเข้าไปยังหน้าเพิ่มบันทึกไม่ได้ นึกว่าจะลงบันทึกในกำหนดเวลาไม่ทันแล้วนะคะ ตอนนี้ก็ยังตามหาไม่เจอว่า เพิ่มบันทึกได้โดยไปที่หน้าใด คนลงบันทึกเดือนละ 2-3 เรื่องก็ไม่ชำนาญในขั้นตอนอย่างนี้แหละนะคะ 

ขอบคุณ ดอกไม้กำลังใจจาก "คุณมะเดื่อ" นะคะ

สายๆ วันนี้ ไปอ่านเมนูจากถั่วงอกหัวโตของคุณมะเดื่อมา แต่ยังไม่ได้ทิ้งร่องรอย เพราะตอนนั้นไม่ได้เข้าระบบค่ะ

เป็นความรู้ใหม่สำหรับไอดินฯ นะคะ ว่าถั่วงอกหัวโตมาจากถั่วลิสง รู้แล้วก็อยากลองเพาะกินเองค่ะ เพราะชอบกินถั่วงอกหัวโต 

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจจาก "อ.เสือ Watsawat Deemarn" นะคะ

ช่วงนี้ดูจะเล่นบันทึกจาก "บล็อกเฮีย เฮีย กระแดะแลนด์" นะคะ ที่ชอบมาก คือ เรื่องเกี่ยวกับ "การใช้คะ ค่ะ ให้ถูกต้อง" ค่ะ  


 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "คุณ tawandin"

เพิ่งทราบว่า คุณ tawandin ทำสวนด้วย ดอกมะลิที่มอบไว้ในบันทึกก่อน สวยมากค่ะ...การได้เห็นต้นไม้ที่เราปลูกด้วยตนเอง ออกดอกให้ชื่นชมเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขมากนะคะ ...(ลืมพูดถึงในบันทึกนั้นค่ะ)

ขอบคุณ "ดร.โอ๋-อโณ" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ

จำได้ไหมคะว่า งานข้างล่างมาจากแรงบันดาลใจที่ "ดร.โอ๋-อโณ" ได้เขียนแนะนำเว็บฯ ทำปฏิทินด้วยตนเอง

ขอบคุณอีกครั้งนะคะ ที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้ให้ "ไอดินฯ" ในหลายๆ ครั้ง 


ขอบคุณ "คุณอานนท์ : หมอแดง" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ

เนื่องจาก "ไอดินฯ" เป็นผู้สูงวัย ก็เลยเลือกอ่านบันทึกของคุณหมอแดง ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการดูแลสุขภาพของตนและคนใกล้ชิด ได้ อย่างเช่น เรื่องเมล็ดทานตะวันงอก และ เรื่องเกี่ยวกับการเดินเพื่อสุขภาพ เป็นต้น อ่านแล้วก็ save ไว้ศึกษา ใน Folder สุขภาพ ค่ะ ขอบคุณมากนะคะ ที่เขียนบันทึกที่ผู้อ่านสามารนำไปปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพของตนเองได้ ไม่ยาก

ขออนุญาต ชื่นชมบันทึกของอาจารย์ไอดิน ครับ

มากความรู้ และประสบการณ์ เหมาะสมกับบันทึกนี้มาก ๆ ครับ

..

ขอบคุณอาจารย์ไอดินมากนะครับ

บันทึกของผม..เมื่อเทียบชั้นกับอาจารย์แล้ว  มองเด็กเหลือเกินครับ

..

เป็นกำลังใจให้อาจารย์เขียนบันทึกคุณภาพแบบนี้ เรื่อยไปเลยนะครับ


..


เช้านี้ ได้รับกล้วยไม้สีเหลืองนวลงามละมุนพร้อมด้วย "การเสริมแรง (Reinforcement)" ด้วยถ้อยวาจาที่มาจากจิตเมตตาของ "คุณแสงแห่งความดี" ..."มากความรู้และประสบการณ์
เหมาะกับบันทึกนี้มากๆ ครับ"
...ขอบคุณมากนะคะ ที่มอบสิ่งจรรโลงใจให้ไอดินฯ ในเช้าวันหยุดของคนทำงานประจำ แต่ไม่ใช่วันหยุดของคนวัยเกษียณอย่างไอดินฯค่ะ

พยายามเข้าระบบตั้งแต่ตีห้าเศษพร้อมด้วยการทำงานบ้านงาน สวนรอบบ้านไปด้วย ตามสภาพการใช้งาน internet ที่ฟาร์มซึ่งต้องรอนานมากทุกขั้นตอน แต่เพิ่งเข้าได้เวลาประมาณ 08.35 น. ค่ะ แต่ก็ตอบความเห็นคุณแสงแล้วจัดเก็บข้อมูลไม่ได้ ต้องย้อนไปเริ่มใหม่หลายรอบ ถ้าได้เที่ยวนี้ก็คือเวลาประมาณ 10.48 น. ค่ะ ต้องมองในแง่ดีว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ฝึกขันติ วิริยะ อุตสาหะ เพื่อไม่ให้เสียอารมณ์

เห็นคุณแสงถ่อมตัวว่า "บันทึกของผม...เมื่อเทียบชั้นกับอาจารย์แล้ว มองเด็กเหลือเกินครับ" (ถ้าเทียบวัยแล้วใช่เลยนะคะ แต่ถ้าเทียบงานเขียนแล้ว...มิได้เป็นเช่นนั้นเลยค่ะ)...ทำให้ไอดินนึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี
2514 ในช่วงเวลาที่กำลังเรียนปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ...ขณะนั่งรถสองแถวเพื่อเข้าเมือง รถยังไม่ออกเพราะคนยังไม่เต็ม เพื่อนร่วมสถาบันที่อยู่บนรถยิ้มให้และถามว่า "เรียนเอกอะไรคะ" ไอดินฯ ตอบว่า "เอกภาษาอังกฤษค่ะ" เพื่อนบอกว่า "เก่งเนาะ เราไม่เก่งเลยเรียนเอกสังคมฯ" ไอดินฯ
ตอบกลับไปตามความรู้สึกนึกคิดว่า "สรุปไม่ได้หรอกค่ะว่า คนที่เรียนเอกอังกฤษจะเก่งกว่าคนเรียนเอกสังคม มันเป็นเรื่องของความถนัดต่างหาก ถ้าให้เราไปเรียนเอกสังคมก็คงเรียนได้ไม่ดี เพราะอ่อนภูมิศาสตร์ อาจารย์ให้ลงภูเขาแม่น้ำในแผนที่ประเทศไทย แทบจะทำไม่ได้เลย" ตอบไปแล้วดูสีหน้าเพื่อนแสดงความพอใจ แล้วเราก็ยิ้มให้กันและกันด้วยไมตรีอีกครั้งก่อนที่รถจะออกไป

กรณีคุณแสงฯ ก็ทำนองเดียวกันค่ะ คุณแสงมี "พรสวรรค์ (Gift)" ในด้านการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก
ผ่านถ้อยคำที่งดงาม อ่านแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งใจ สะเทือนอารมณ์ ดังที่กัลยาณมิตรทั้งหลายรู้สึกและนำบันทึกของคุณแสงไปถอดบทเรียน ในงาน Happy Ba e-book ซึ่งไอดินฯ เองไม่สามารถทำได้เช่นนั้น นะคะ




ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "คุณอักขณิช" และขอบคุณที่ลงภาพน้องพอเพียงเป็นตัวแทนเพื่อนๆ ถือพานไหว้ครู ให้ยายวิได้นำมาประกอบบันทึกนี้

      

อ่านบันทึกที่มีคุณค่ามากนี้ด้วยความสุข... นี่คือแบบอย่างของ "ครูเพื่อศิษย์" อย่างแท้จริง...สะท้อนจิตวิญญาณของหัวใจครูที่ปฏิบัติจริงๆมาตลอดชีวิตไม่มีคำว่าเกษียณอายุ....ชื่นชมอย่างยิ่งค่ะ...


สุดยอดของโรงเรียนแห่งความสุขค่ะ ขอบคุณมากที่ให้สาระในการนำไปใช้ในการทำงานค่ะ


สอนอย่างไร โรงเรียนจึงจะเป็นโรงเรียนแห่งความสุข........????

....ลูกสาวมาเล่าให้ฟังว่า      ปีนี้ รู้สึกว่าเรียนฟิสิกส์อย่างมีความสุขมากขึ้น

มีคนเลือกน้อย ในกลุ่มนั้นมี 4 คน 2 ใน 4 เป็นนักเรียนรุ้นพี่ที่เคยเข้าค่ายโอลิมปิคของประเทศมาแล้ว

เป็นนักเรียนทุนแลกเปลี่ยน.....

เวลาที่เห็นเพื่อน(รุ่นน้อง) มีสีหน้าไม่เข้าใจ จะยกมือบอกคุณครูให้สอนช้าลง

พร้อมที่จะอธิบาย....เวลาที่เพื่อน(น้อง2คน) ถาม.......ด้วยวิธีการที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าน้องด้อยกว่า

ลูกสาวบอกว่า พี่เขาทั้งเก่งและมีน้ำใจจริงๆ นะแม่


ลูกสาวเคยถามคุณครุว่ามีคนเลือกแค่นี้ อาจารย์จะยกเลิกหรือไม่

คุณครูบอกว่า มีคนเดียวก็จะสอน.....

เด็กทั้ง 4 เลยเรียนวิชาฟิสิกส์ ด้วยความสบายใจค่ะ



ท่านเป็นคลังแห่งประสบการณ์ เป็นครูของครูเนื้อแท้ ขออนุญาตนำบันทึกของท่านไปฝากคุณครูที่โรงเรียนนะครับ

ขอบพระคุณมากค่ะ "พี่ใหญ่" แค่คำพูดของพี่ "...นี่คือแบบอย่างของ "ครูเพื่อศิษย์"
อย่างแท้จริง...สะท้อนจิตวิญญาณของหัวใจครูที่ปฏิบัติจริงๆ มาตลอดชีวิตไม่มีคำว่าเกษียณอายุ..."

ก็เหมือนเป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้น้องมีพลังใจที่จะเขียนบันทึกที่หวังว่า จะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาบ้านเราได้บ้าง ต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำกิจกรรมเล็กๆ เพื่อบ้านเพื่อเมืองนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากพี่ใหญ่เป็นสำคัญค่ะ

ช่วงที่น้องยังทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่มีใครรู้หรอกค่ะว่า น้องทุ่มเทเวลาให้กับการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพแค่ไหน เพราะการผลิตสื่อ การเตรียมการสอน การตรวจงาน ทุกอย่างน้องทำที่บ้าน เพราะใช้เงินส่วนตัวซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดเอง และใช้บ้านเป็นที่ทำงาน เพราะที่ทำงานจริงๆ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์เอกสารสืบค้นที่ต้องการ สถานที่ก็คับแคบ ทุกคนก็จะมองว่า ไม่รู้น้องหายไปไหน ทั้งที่น้องเป็นคนติดต่อสะดวกที่สุด ที่ทำงานก็ให้โทรฯ ติดต่อเรียกตัวได้ตลอดเวลา สำหรับนักศึกษา โทรฯ ติดต่อได้ระหว่าง 05.00-07.00 น. และ 21.00-24.00 น. ค่ะ หรือติดต่อทาง e-mail ทั้งหลายทั้งปวงน้องไม่เคยประชาสัมพันธ์ตนเองในหน่วยงาน เลยไม่มีใครทราบค่ะ


 

 




ขอบคุณ "krutoom" มากนะคะ ที่ช่วยให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" มีความหวังว่า งานเขียนของตนจะมีประโยชน์ต่อวงการศึกษาบ้านเราบ้าง จากที่หนูบอกว่าจะนำแนวคิด "โรงเรียนแห่งความสุขตาม TEACHER MODEL" ไปใช้ เพราะถ้าเขียนเฉยๆ ไม่มีการนำไปใช้ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร

ช่วงนี้ รับแขกกันบ่อยนะคะ ล่าสุดอ่านจากบันทึกน้องกานดา ทราบว่าหนูทำเมนูเห็ดเลี้ยงต้อนรับ "คุณหนูรี อยากทานฝีมือจังค่ะ เพราะเมนูเห็ดเป็นหนึ่งในเมนูโปรดเลยแหละค่ะ

ขอบคุณ "หนูกระติก" มากนะคะ ที่เข้ามาคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์แม่ พอให้คนแก่หายเหงา

ลูกสาวเรียนม.ปลายหรือเปล่าคะ อยากจะเห็นหน้าหลานนะคะ คงจะสวยน่ารักเหมือนแม่ มีลูกสาวคนเดียวหรือเปล่าคะ

ตอนอาจารย์แม่เรียนวิชาโทวิทยาศาสตร์ในหลักสูตร ป.กศ.สูง ต้องเรียนทั้งเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา อาจารย์แม่ชอบวิชาฟิสิกส์มากที่สุด เพราะชอบเรียนเรื่องที่เป็นกฎเกณฑ์และการคำนวณ ไม่ชอบเคมีเพราะต้องท่องสูตรธาตุต่างๆ และไม่ชอบเรียนชีววิทยาเพราะต้องท่อง Phylums, Spicies ของสัตว์และพืช ชอบเฉพาะรายวิชาที่มีทดลองค่ะ

จริงๆ แล้ว การที่เราจะชอบหรือไม่ชอบเรียนวิชาอะไร นอกจากจะเกิดจากความถนัดของตัวเองแล้ว ครูอาจารย์มีส่วนมากเลยแหละค่ะ อย่างอาจารย์ที่สอนวิชาฟิสิกส์ให้อาจารย์แม่ ท่านก็สอนสนุก หน้าตาท่าทางกระตือรือร้นกระฉับกระเฉง แม้จะสอนเกี่ยวกับการคำนวณ เช่น เรื่อง "แรง" ท่านก็ทำให้สนุกได้ ยังจำคำพูดของอาจารย์ได้เวลาคำนวณโดยการหารท่านก็จะบอกว่า "แล้วมันก็จะตัดกันอย่างสนุกสนาน" อาจารย์ฟิสิกส์ของลูกสาวหนูกระติก
ท่านคงเป็นครูที่มุ่งมั่นในคุณภาพของการสอนมากกว่าปริมาณของผู้เรียนนะคะ และลูกสาวหนูกระติกก็โชคดีมาก
ที่มีรุ่นพี่ที่ร่วมเรียน เป็นคนเก่งที่จิตใจดี หลายๆ คนที่เรียนเก่งมักชอบแข่งขันมากกว่าแบ่งปัน เพราะอยากได้คะแนนเหนือเพื่อนๆ



ขอบคุณ "คุณสมาน เขียวเขว้า" ศึกษานิเทศก์ สพป.ชัยภูมิ เขต 3 มากนะคะ ที่จะกรุณานำแนวคิด "โรงเรียนแห่งความสุขแบบยั่งยืน" ในบันทึกนี้ ไปฝากคุณครูในโรงเรียน

"ไอดิน-กลิ่นไม้" เกษียณแล้ว ไม่มีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับคุณครูโดยตรง ก็ต้องรบกวนอาศัยท่านที่ทำงานกับครูนี่แหละค่ะ ช่วยจัดการความรู้จากบันทึกส่งต่อไปยังคุณครูทั้งหลาย ซึ่งนอกจากจะได้อานิสงส์ด้านการเพิ่มคุณภาพในการจัดการศึกษาแล้ว ยังจะช่วยให้ครูเกษียณคนหนึ่ง รู้สึกว่าตนยังพอมีคุณค่า ยังสามารถทำประโยชน์ให้กับวงการศึกษาไทยได้บ้าง ขอบคุณจริงๆ ค่ะ

 ขอบใจ  "โจ " มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้ให้กำลังใจอาจารย์

อาจารย์อยากให้โจ เขียนบันทึกเล่ากิจกรรมโปรดที่ทำให้มีความสุข (ดูรายละเอียดที่ประชาสัมพันธ์ในหน้าแรก) มีการสุ่มจับรางวัลด้วย เป็นเรื่องที่เขียนได้ง่ายๆ ไม่ต้องสืบค้นอะไร เผื่อโชคดีก็จะได้รางวัล ที่สำคัญ คือ ได้พัฒนาทักษะการเขียนด้วยนะคะ เขียนแนวนี้โจสบายอยู่แล้วนี่




ุหายไปนาน....กลับมาแล้วครันท่านอาจารย์แม่...ที่บ้านเราฝนตกใหม คงจะตกดีทำให้ฟาร์มไอดินชุ่มชื้นโดยเฉพาะสวนยางของพ่อใหญ่สอ....

พบพี่หัวหน้าลำดวนจะแจ้งให้นะครับอาจารย์แม่


ขอบคุณ "ป๋าเด" มากนะคะ ที่แวะมาทักทาย

กลับมาคราวนี้ สงสัยจิตใจจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัวนะคะ ไปทำหล่นไว้ที่เมืองเหนือหรือเมืองตะวันออกน้อ เห็นพิมพ์ผิดพิมพ์ถูก "กลับมาแล้วครัน (ครับ) ท่านอาจารย์แม่...ที่บ้านเราฝนตกใหม (ไหม) "

คงเป็นเพราะท่านหายไปนานนี่แหละค่ะ ที่ทำให้ฝนทิ้งช่วง เป็นภาระให้ยายไอดินต้องรดน้ำต้นไม้รอบบ้านทุกวัน

จนป่านนี้ป๋าเดยังไม่ได้ลงบันทึกที่เข้ามาบอกกับชาว GotoKnow เมื่อ 16 วันก่อน  ว่าจะเขียนเลยนะคะ

ที่สำคัญอีกอย่าง อย่าเพียงเข้ามาทักทายเฉยๆ นะคะ อ่านเนื้อหาที่ยายไอดินฯ เขียนหรือเปล่า เวลาท่านไปประเมินโรงเรียน ช่วยเผยแพร่ "TEACHER MODEL เพื่อสรรค์สร้างโรงรียนแห่งความสุขแบบยั่งยืน" ให้หน่อยซีคะ ขอบคุณมากค่า 

ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้ให้กำลังใจ และตอบคำถามที่อาจารย์แม่ถามไว้ในบันทึกของลูกขจิต

โอ้โห! ลูกขจิตไปเป็นวิทยากรการจัดการความรู้ของกรมอนามัย ในวันที่ 2-3 กันยายน 2551 ที่อุบลบุรีรีสอร์ท จังหวัดอุบลราชธานี ก็เกือบ 5 ปีมาแล้วสิคะ แต่อาจารย์แม่เป็นสมาชิก GotoKnow เพิ่ง 2 ปี 2 เดือนเศษ ขอบคุณมากนะคะ อุตส่าห์ไปตามหาบันทึกมาให้ อาจารย์แม่เข้าไปอ่านตั้งหลายบันทึก ถึงได้รูปที่มีลูกขจิตมา 2 รูป ...รูปลักษณ์ตั้งแต่ตอนนั้นกับตอนนี้ไม่เปลี่ยนเลยนะคะ 

    

ไปแอบอ่านพบลูกขจิตโดน "คุณมนัญญา" แซวในบันทึกเรื่อง "ตลาดนัดการจัดการความรู้ สู่คนไทยสุขภาพดี (41) ห้อง KM on Weblog" ...."รู้มั๊ย (มั้ย) คะว่า ตอนปิดท้ายรายการ ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน หลังการปิดตลาด ปรากฎว่า ... มีได้ผล อ.ขจิต โดนสาวๆ ชาวอุบลฯ รุมกันหญ่าย ...ถามอะไรบ้างนั้น อ.ขจิต มาตอบหน่อยค่า งานนี้ เจ๊เขี้ยว มนัญญา promote ขนาดนี้ อ.ขจิต เตรียมร่อน card ได้แล้วนะค๊า (ค้า)"

แต่นี่ เกือบ 5 ปีผ่านไปยังไม่เห็นร่อน Card...เห็นเขาบอกว่า ใครข้ามสะพานเสรีประชาธิปไตยไปฝั่งเมืองอุบลฯ จะไม่เหลือรอดกลับไป สงสัยว่า ลูกขจิตจะอยู่แต่ที่อุบลบุรีรีสอร์ท ซึ่งอยู่ฝั่งอำเภอวารินชำราบ (ที่ตั้งฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้) ไม่ได้ข้ามไปฝั่งอุบลฯ เลยรอดกลับไป นะคะ

ที่เดียวกันนี้ อาจารย์แม่เคยไปเป็นวิทยากรจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ให้กับบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ที่เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการเป็นวิทยากรยาเสพติด นานมากแล้วค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ ที่จะช่วยฝากความระลึกถึงของอาจารย์แม่ไปยังท่านศน.ลำดวน ถ้าไม่เป็นการรบกวนมากไป ขอฝาก "TEACHER MODEL" ให้ท่านนำไปพิจารณาด้วยนะคะว่าเหมาะที่จะนำไป KM สู่ครูในโรงเรียนไหม...ขอบคุณมากค่ะ (อาจารย์แม่ไม่เห็นท่านใน GotoKnow นานมากแล้ว)  





ชอบอ่านการตอบ ของอาจารย์แม่จังค่ะ

ดูมีความตั้งใจมาก เก็บรายละเอียดของแต่ละคนมาเขียนต่อได้ อ่านแล้วเพลิน

กระติกก็รู้สึกอายอาจารย์แม่เหมือนกัน เพราะหลายครั้งหลายครา ที่นึกไม่ออกว่าจะตอบกลับอย่างไรดี



ลูกสาวอยู่ชั้น ม. 6 แล้ว ค่ะ

ลูกชายอยู่ ปี 3 เรียนธรณีวิทยา ที่ มข. ค่ะ

ขอบคุณ "หนูกระติก" มากนะคะ ที่นำภาพหลานทั้งสองมาให้อาจารย์แม่ดู

ดูแล้วก็มีความสุขค่ะ...หลานชายก็หน้าตาดี (Good Looking) หลานสาวก็หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู (Pretty) น้องสาวเรียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) พี่ชายเีรียนธรณีวิทยาซึ่งก็ออกไปทางฟิสิกส์เหมือนกันเลยนะคะ

ส่วนประกอบบนใบหน้าทั้งสองคนดูคล้ายกันนะคะ คงจะออกไปทางคุณพ่อ แววตาหลานๆ ดูอ่อนโยนมีความสุข ความรักความอบอุ่นความเอาใจใส่ที่คุณพ่อคุณแม่มีให้ ต้องเป็นเหตุปัจจัยสำคัญแน่นอนค่ะ (อาจารย์แม่ย้อนไปอ่านบันทึกของหนูเรื่อง "เมื่อลูกติด 0" จึงได้เห็นความรัก ห่วงใย เอาใจใส่ลูก ทั้งของคุณพ่อและคุณแม่ในการติดตามเรื่องราว สุดท้าย Happy Ending เพราะจริงๆ แล้วลูกได้ผลการเรียน 4 ...เพราะความประมาทเลินเล่อของผู้เกี่ยวข้องทำให้กรอกผลการเรียนผิด)

อาจารย์แม่เอง ถือว่า ผลประโยชน์ของนักศึกษาสำคัญมากค่ะ วิชาที่อาจารย์แม่สอน จะตกลงกับนักศึกษาไว้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่พบกันเลยค่ะว่า จะประเมินผลการเรียนเป็น A, B+, B, C+, C (4, 3.5, 3, 2.5, 2) แล้วแต่คะแนนรวมของใครจะตกอยู่ในช่วงไหน (ประเมินแบบอิงกลุ่ม Group-referenced Grading) เมื่อรวมคะแนนถึงขั้นสุดท้าย ถ้าพบว่าใครมีคะแนนต่ำมาก ก็จะให้ทำงานเพิ่มเพื่อพัฒนาตนเองให้ได้ผลการเรียนขั้นต่ำถึง C ถึงจะถือว่าผ่านตามเกณฑ์ของอาจารย์แม่ คนที่ส่งงานไม่ครบอาจารย์แม่ก็จะโทรติดตามเพราะมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือของทุกคนรวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ อยู่ในมืออยู่แล้วซึ่งให้กรอกให้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่พบกัน เวลากรอกผลการเรียนซึ่งปัจจุบัน กรอกแบบ Online ก็จะกรอกช้าๆ ด้วยความประณีตบรรจง กรอกเสร็จก็ Print ออกมาตรวจสอบกับต้นฉบับอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถูกต้องตรงกันจึงจะกดยืนยันผลการเรียนก่อนที่จะ Print ส่งคณะเป็นเอกสารหลักฐานอีกทีค่ะ ทุกขั้นตอนของการตรวจประเมินผลและส่งผลการเรียนอาจารย์แม่ทำด้วยตนเองทั้งหมด เพราะเรื่องสำคัญเช่นนี้จะไว้ใจให้คนอื่นทำแทนได้อย่างไร แต่อาจารย์แม่ก็เห็นอาจารย์หลายท่าน ให้นักศึกษาทำให้ ตั้งแต่การกรอก รวมคะแนน และพิมพ์-Print ส่งผลการเรียน อาจารย์แค่ตัดเกรดและลงลายมือชื่อในใบส่งผลการเรียนเท่านั้น

อาจารย์แม่มีความสุขนะคะ ที่ได้รับรู้เรื่องราวดีๆ จากครอบครัวหนูกระติก ภายในวันนี้ตั้งใจจะลงบันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมที่นำไปสู่ความสุข 5 ประการ จะขอนำความสุขที่ได้รับจากครอบครัวหนูกระติก ไปใส่ไว้ในบันทึกนั้นด้วยนะคะ   

 

ขอบคุณ "คุณ Yanyong-P" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจที่มอบให้กับ "ไอดิน-กลิ่นไม้"

"ชุมชน GotoKnow" ได้ต้อนรับ "คุณ Yanyong-P" มาครบ 15 วันแล้วนะคะ ได้ฤกษ์ดี "ลงภาพประจำตัว และเขียนบันทึก" แล้วยังคะ เรื่องเล่าเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผู้เขียนชอบทำ 5 อย่างเพื่อสร้างความสุข น่านำมาเป็นบันทึกแรกนะคะ จะได้เริ่มด้วยความสุข เห็นชาว GotoKnow ร่วมเขียนกันค่อนข้างมาก วันนี้ไอดินฯ ยังคิดจะเขียนบ้างเลยค่ะ

    

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท