ต่อยอดงานวิจัย...หรือ... “โจรวรรณกรรม”


               การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้มีหน้าที่ถ่ายทอด จัดประสบการณ์ หรือจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครู” นับเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากประเทศชาติในการสร้าง “อนาคตของชาติ” ดังนั้นในทรรศนะของผู้เขียนครูเปรียบเสมือน “พรหมผู้สร้างโลก” ภารกิจหนึ่งของครู คือ การวิจัยเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้

  สำหรับครูการวิจัยเปรียบเสมือน “ยาขม” หม้อใหญ่ที่ครูหลาย ๆ ท่านขยาด เมื่อผู้บริหารเร่งรัด ติดตาม หรือกระตุ้นให้ครูทั้งหลายทำการวิจัยตามกรอบภาระหน้าที่ ครูหลาย ๆ ท่านได้พยายามวิจัยและจัดทำรายงานเสนอให้ผู้บริหารรับทราบ ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำทางวิชาการทำการตรวจรายงานวิจัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับครูในการวิจัยครั้งต่อไป ขณะที่ครูบางส่วนใช้ทักษะในการสืบค้นข้อมูลมาแก้ปัญหา คือ สืบค้นงานวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรายงานวิจัยฉบับเต็ม ฉบับย่อ และ หน้าเดียวมาศึกษาเป็นแนวทางในการวิจัยที่เรียกด้วยถ้อยคำอันสละสลวยว่า “ต่อยอดงานวิจัย”

  ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยของเพื่อนครูหลายเรื่องด้วยกัน พบว่า เพื่อนครูหลายท่านเพียรพยายามวิจัยอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาการศึกษา เมื่อได้อ่านข้อความต่าง ๆ ที่เรียบเรียงเป็นรายงานเชื่อมั่นได้ว่าครูได้ดำเนินการวิจัยอย่างแท้จริง ขณะที่เพื่อนครูอีกหลาย ๆ ท่านนำงานวิจัยที่สืบค้นได้มา “ตัดต่อ” เปลี่ยนข้อความบางข้อความ คำสันธานต่าง ๆ เช่น และ แต่ ต่อ กับ ฯลฯ หากผู้ที่มีวงศัพท์มากย่อมตัดต่อได้อย่างสละสลวยชวนให้เชื่อว่าครูผู้นั้นเป็น “ครูนักวิจัย” ชั้นยอด หลาย ๆ ครั้งที่ผู้เขียน
มีโอกาสอ่านงานวิจัยพบว่า งานวิจัยที่ผู้วิจัยกล่าวว่าเป็นการต่อยอดงานวิจัยของผู้อื่นนั้น “คล้าย” กับงานวิจัยที่เป็นต้นตอ งานวิจัยหลาย ๆ เรื่องที่อ่าน ผู้เขียนมีความคุ้นตาและคุ้นเคยกับรายงานดังกล่าว และหลาย ๆ ครั้งผู้เขียนรู้จักแม้กระทั่งผู้วิจัยที่เป็นต้นตอหรือต้นฉบับที่ถูกแอบอ้าง ทำให้ผู้เขียนนึกถึงผู้บริหารโรงเรียนท่านหนึ่งที่ผู้เขียนศรัทธาว่าเป็นนักวิชาการเคยกล่าวถึงความประพฤติดังกล่าวว่าเป็น “โจรวรรณกรรม”

บทส่งท้าย

  บทความนี้ผู้เขียนมุ่งหมายให้กำลังใจเพื่อนครูผู้ไม่ยอมแพ้ต่อยาขมหม้อใหญ่ พากเพียรพัฒนาตนเองให้เป็น “ครูนักวิจัย” และตีแผ่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของวงการการศึกษาอันเป็นสถานที่หล่อหลอมให้ “อนาคตของชาติ” มีคุณภาพตามผู้สร้าง หากผู้สร้างมีคุณลักษณะเยี่ยงไรอนาคตของชาติย่อมมีคุณลักษณะเยี่ยงนั้น จึงขอเชิญชวน “โจรวรรณกรรม” ช่วยกลับใจมาเป็นพรมผู้สร้างอนาคตของชาติให้มีคุณภาพกันเถิดครับ


หมายเลขบันทึก: 538836เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท