การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขั้นพื้นฐาน


     ความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องปกติ ในแง่หนึ่งมีการกล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญความขัดแย้งคือตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามได้นำไปสู่การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ การสื่อสารและการขนส่ง จึงมีการค้นคว้าวิจัยกันมากในเรื่องนี้ เมื่อสงครามสงบลงก็เกิดมีการใช้วิทยุสนามเพื่อการสื่อสารจนถึงการพัฒนาเครื่องบินรบมากลายเป็นเครื่องบินขนส่งและเครื่องบินโดยสาร เป็นต้น ความขัดแย้งในทางสังคมไปสู่การตรากฎหมาย กฎระเบียบ และการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและศาลในระดับต่างๆ แต่ในขณะที่มีด้านดีของเหรียญ ด้านที่เป็นด้านลบก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เพราะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่สำคัญคือต่อระเบียบการเมืองอันประกอบด้วยระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจและค่านิยม

     สังคมที่มีการพัฒนาแล้วจะต้องมีการจัดระเบียบการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและมีความชอบธรรมทางการเมือง สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เมื่อใดก็ตามที่ปัญหาความขัดแย้งไม่สามารจะแก้ไขได้โดยระเบียบการเมืองที่มีอยู่ ก็จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการปฏิรูประเบียบการเมืองนั้น มิฉะนั้นความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปในลักษณะคาราคาซัง ซึ่งจะทำให้ผืนใยของสังคมและเศรษฐกิจเปราะบางและขาดวิ่นเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงจุดที่ไม่สามารถจะนำมาปะผุหรือใช้ประโยชน์ได้ก็จะหมดทางเลือก อันตรายที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้เพราะมีตัวอย่างของประวัติศาสตร์หลายกรณีที่บ่งชี้ถึงการปล่อยปละละเลยในการแก้ไขปัญหา เครน บินตัน (Crane Brinton) ผู้ซึ่งเขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติ (The Anatomy ofRevolution) ได้กล่าวถึงลักษณะร่วมที่ประเทศที่มีการปฏิวัติมีก่อนการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน อันได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคม ความไม่ไว้วางใจกันในกลุ่มผู้นำ การที่ชนชั้นปัญญาชน นักปราชญ์ ราชบัณฑิต หันเหความภักดีจากระบบสังคมที่เป็นอยู่ และที่สำคัญเศรษฐกิจที่พัฒนาไปได้อย่างดีเกิดความชะงักงันและทรุดต่ำลง ปัญหาทั้งหมดนี้ถูกกระทำให้รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อกลไกของรัฐอันได้แก่ ระเบียบการเมือง ระบบการบริหาร ฯลฯ ขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่ง ตัวแปรต่างๆ นี้ได้มาจากการศึกษาเปรียบเทียบการปฏิวัติฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย อังกฤษ และเม็กซิโก

     ปฏิวัติจะหยุดยั้งได้ถ้ามีการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่ แต่การปฏิรูปนั้นต้องเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง เข้ากับรูปแบบการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการปฏิวัติทั่วไปก็คืออาจไม่ต้องใช้ความรุนแรง หากแต่ต้องใช้การกุมอำนาจรัฐและมีความมุ่งมั่นทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อให้ความขัดแย้งและปัญหาที่มีอยู่บรรเทาลงหรือสิ้นสุด จัดระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ที่เป็นระเบียบการเมืองอันเป็นที่ยอมรับของประชาชน มีความชอบธรรมทางการเมือง การจัดระเบียบทางการเมืองขึ้นใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องมีการทำลายระเบียบการเมืองเก่า หรือองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในอดีต หากแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานะและกิจกรรมในบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกาภิวัตน์ และที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมนั้นๆ อันมีผลมาจากกระบวนการ social mobilization ที่กล่าวโดยแซมมูเอล ฮันติงตัน ไว้อย่างมีนัยสำคัญตามที่ได้สาธยายมาแล้ว

          สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานในการไกล่เกลี่ยผู้ป่วยที่มารับบริการในการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยในการรับบริการและขั้นตอนการรักษา

                                                                                                              นางประทุมมา  ทาแดง


หมายเลขบันทึก: 538803เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2013 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท