บรรพที่ 2 ความสับสนอลหม่าน(1/2)


        จากประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรด้านการวางแผนกลยุทธ์นับ 10 ปี ที่ได้ทำหน้าที่บรรยายและเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้สามารถจัดทำแผนกลยุทธ์ของหน่วยงานตนเองได้นั้น  ผมพบว่าปัญหาหลักๆในการจัดทำแผนกลยุทธ์นั้นเป็นเรื่องของความสับสนต่อศัพท์แสงต่างๆ ที่ใช้แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในตำราที่ว่าด้วยการวางแผนกลยุทธ์ โดยเฉพาะตำราที่เขียนขึ้นโดยอาจารย์คนไทย หรือแม้แต่วิทยากรด้านการวางแผนกลยุทธ์เองก็ใช้คำศัพท์ต่างๆที่ไม่เหมือนกัน จึงส่งผลให้ผู้ที่เริ่มศึกษาเรื่องเหล่านี้มักท้อใจไปก่อนที่จะเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากพอที่จะสามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งตัวผมเองก็ไม่ได้มีสภาพที่แตกต่างจากท่านในตอนที่เริ่มเรียนรู้ศาสตร์ด้านนี้ใหม่ แต่อาศัยว่าสถานการณ์มันบีบบังคับบวกกับการมีความดันทุรังสูง จึงสามารถเอาตัวรอดมาได้ ดังนั้นในบทแรกนี้เราน่าจะเริ่มกันที่การทำสิ่งที่ทำให้เราสับสนเป็นสิ่งที่สดใสกันก่อน ด้วยการทำความเข้าใจคำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้บ่อยๆ ในวิชาที่ว่าด้วยการวางแผนกลยุทธ์

คำศัพท์ต่าง ๆ ที่สร้างความสับสน

        - กลยุทธ์ กับ ยุทธศาสตร์
        - การบริหารเชิงกลยุทธ์ การวางแผนกลยุทธ์ และกลยุทธ์
        - วิสัยทัศน์
        - บทบาทหน้าที่ ภารกิจ และพันธกิจ
        - เป้าประสงค์ เป้าหมาย(Goal) วัตถุประสงค์ และ เป้าหมาย(Target)
        - กลยุทธ์(Strategy)vs กลยุทธ์(Tactic) 

        รู้สึกคุ้นๆ คำเหล่านี้มั๊ยครับ ถ้าท่านก็เป็นคนหนึ่งที่สับสนและไม่แน่ใจในความหมายของคำเหล่านี้ ท่านอ่านหนังสือถูกเล่มแล้วครับ เรามาทำความรู้จักคำหรือกลุ่มคำเหล่านี้กันดีกว่า

กลยุทธ์กับยุทธศาสตร์ เหมือนกันหรือต่างกัน?

        เราคงเคยได้ยินการใช้คำทั้ง 2 คำนี้มาพอสมควร
        คำถามก็คือ ท่านคิดว่าคำ 2 คำนี้เหมือนกันหรือต่างกันครับ?

        บางคนอาจคิดว่าต่างกันเพราะถ้าเหมือนกันจะเขียนให้ต่างกันทำไม ส่วนบางคนก็อาจจะคิดว่า 2 คำนี้จริง ๆ แล้วความหมายน่าจะเหมือนกัน ก็แค่เขียนต่างกันเท่านั้นเอง ผมขอตอบอย่างนี้ก็แล้วกันครับ “ไม่ว่าท่านจะ เข้าใจว่าเหมือนกันหรือต่างกัน ก็มีส่วนถูกทั้งคู่

        “อ้าว..ไหงเป็นงั้นล่ะ” หลายท่านอาจจะคิดในใจดังๆแบบนี้ก็ได้

        => ถ้าท่านคิดว่า 2 คำนี้เหมือนกันท่านก็คิดถูก เพราะในท้องตลาดหนังสือนั้นตำราต่างๆด้านการวางแผนกลยุทธ์ประมาณร้อยละ 80 ใช้ในลักษณะที่เหมือนกัน ซึ่งผมมีหลักฐานยืนยันอยู่ 2 ประการ

        1. ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์” ถ้ามีคำภาษาอังกฤษต่อท้ายใช้คำว่า “Strategy” เหมือนกัน
        2. ถ้าตำราเล่มใดใช้คำว่า “กลยุทธ์” ก็มักใช้คำว่า “กลยุทธ์..กลยุทธ์..และกลยุทธ์” ตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้ายโดยไม่ใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” และถ้าตำราเล่มใดใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” ก็มักใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์.. ยุทธศาสตร์..และยุทธศาสตร์” ตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลังโดยไม่ใช้คำว่า “กลยุทธ์”เช่นกัน

        => ถ้าท่านคิดว่า 2 คำนี้ไม่เหมือนกัน ท่านก็ถูกอีกนั่นแหละ เพราะมีบางตำราหรือบางสถาบันใช้ 2 คำนี้ ในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยใช้ดังนี้

        1. บางกลุ่มอาจบอกว่า คำว่า “ยุทธศาสตร์” ต้องสงวนไว้ใช้ในหน่วยงานด้านการทหารเท่านั้น แต่ถ้าเป็นหน่วยงานประเภทอื่นให้เลี่ยงไปใช้คำว่า“กลยุทธ์”แทน(คงพอเดาได้ใช่ไหมครับว่ากลุ่มไหน)
        2. บางค่ายให้เหตุผลว่า“ยุทธศาสตร์”ใช้ในระดับองค์กรหรือเป็นแนวทางกว้างๆส่วนคำว่า “กลยุทธ์” ใช้ในระดับปฏิบัติ หรือเป็นแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งสามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติหรือกิจกรรมได้ง่าย 

        สำหรับประเด็นนี้ฝ่ายที่ใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีข้อโต้แย้งเหมือนกันครับ

        ฝ่ายที่ใช้คำว่า“ยุทธศาสตร์”เพียงอย่างเดียวให้เหตุผลว่าเขาใช้คำว่า“ยุทธศาสตร์”โดยไม่ใช้คำว่า“กลยุทธ์”เขาก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเขาใช้“ยุทธศาสตร์”สำหรับแนวทางในระดับองค์กร ส่วนแนวทางในระดับปฏิบัติเขาก็ไม่ต้องใช้คำว่า“กลยุทธ์” เพราะเขามีคำอื่นใช้ครับ เขาใช้คำว่า“ยุทธวิธี”ไงครับ

        ส่วนฝ่ายที่ใช้แต่คำว่า“กลยุทธ์”เพียงอย่างเดียว เขาก็ไม่ยอมแพ้ครับ เขาบอกว่าเขาใช้ “กลยุทธ์” สำหรับแนวทางในระดับองค์กรเหมือนกัน ส่วนแนวทางในระดับปฏิบัติเขาก็ไม่ต้องง้อคำว่า “ยุทธศาสตร์” เพราะเขามีคำอื่นใช้ครับ เขาใช้คำว่า “กลวิธี” ครับ

        เท่านั้นยังไม่พอครับ ยังมีสไตล์อื่นๆอีก เช่น...
        บางกระทรวงใช้คำว่า“ยุทธศาสตร์”สำหรับแนวทางในระดับองค์กร และใช้คำว่า“มาตรการ”สำหรับแนวทางในระดับที่ย่อยลงมา

        แต่ถ้าเป็นสไตล์แบบ“ผู้ว่าCEO”(กระทรวงมหาดไทย) จะใช้คำว่า“ประเด็นยุทธศาสตร์”สำหรับแนวทางในระดับองค์กร และใช้คำว่า“ยุทธศาสตร์”สำหรับแนวทางในระดับที่ย่อยลงมา

        เป็นไงครับ นี่ขนาดยังไม่เอาแบบที่ใช้แตกต่างกันมาทั้งหมดนะครับ ไม่งั้นคงจะต้องแยกเขียนเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียวเป็นหนังสือได้อีก 1 เล่มย่อมๆ เลยทีเดียว รู้เหตุผลแล้วใช่มั้ยครับว่าทำไมผู้คนถึงได้สับสนอลหม่านกันนัก เพราะทั้งคำว่า“ยุทธศาสตร์” และ“กลยุทธ์”ก็มีใช้ทั้งในระดับองค์กรและระดับปฏิบัติทั้งคู่(มันน่างงมั้ยล่ะครับ)

        แต่ในความแตกต่างทั้งหมดที่ได้ทราบกันไปแล้วนั้น ถ้าดูให้ดี ๆ มันมีส่วนที่เหมือนกันอยู่นะครับ ท่านสังเกตเห็นความเหมือนในความต่างมั้ยครับ

        ส่วนที่เหมือนกันก็คือ“ไม่ว่าเราจะใช้แบบใดก็ตาม ทุกแบบจะมีกลยุทธ์ 2 ระดับเสมอ นั่นคือ กลยุทธ์ระดับองค์กรกับกลยุทธ์ระดับปฏิบัตินั่นเอง”(นี่เราพูดถึงเฉพาะแบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเท่านั้นนะครับ เพราะถ้าเป็นแบบดั้งเดิมจริงๆนั้น มีถึง 3 ระดับ)

        โดยสรุปก็คือไม่ว่าท่านจะใช้คำว่าอะไรก็ตาม ถ้าใช้ด้วยความเข้าใจล้วนใช้ได้ทั้งสิ้น แต่ในหนังสือเล่มนี้ให้ถือเป็นข้อตกลงระหว่างท่านกับผมก็แล้วกันนะครับ ไม่ว่าผมจะใช้คำว่า“ยุทธศาสตร์”หรือ“กลยุทธ์”ก็ตาม ให้เข้าใจว่ามัน“เหมือนกัน

        ไปดูคำที่สร้างความสับสนชุดต่อไปดีกว่าครับ...

ภาพที่ 2.1 องค์ประกอบต่าง ๆ ของการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management)

การบริหารเชิงกลยุทธ์ การวางแผนกลยุทธ์ และกลยุทธ์

        คำ 3 คำนี้เป็นคำอีกชุดหนึ่งที่สร้างความสับสนไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไปเพราะเราจะได้ยินการใช้คำทั้ง 3 ในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย จนไม่รู้ว่ามันใช้เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ผมขออธิบาย อย่างนี้ก็แล้วกัน

        ถ้าเราจะใช้คำว่า“การบริหารเชิงกลยุทธ์”หรือคำว่า“การบริหารเชิงยุทธศาสตร์”แล้วล่ะก็ มันจะต้องมีองค์ประกอบทุกอย่างครบตามภาพที่ 2.1 ซึ่งสามารถแยกได้เป็น 3 องค์ประกอบใหญ่ ๆ คือ

        1. การวางแผน (Planning)
        2. การแปลงแผนสู่การปฏิบัติ (Implementing)
        3. การติดตามและประเมินผล (Monitoring & Evaluating)

        หากขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไป ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “การบริหารเชิงกลยุทธ์” และเมื่อเราดูลึกเข้าไปในส่วนของ “การวางแผน (Planning)” เราจะพบว่า ประกอบด้วยส่วนที่ย่อยลงไป 2 ส่วน(ดูภาพที่ 2.1 ประกอบ) คือ

  1. การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)
  2. การจัดทำแผนปฏิบัติการ (Operating Planning)

        เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วสินะครับว่า“การบริหารเชิงกลยุทธ์”กับ“การวางแผนกลยุทธ์”นั้นไม่เหมือนกัน แต่“การวางแผนกลยุทธ์”เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ“การบริหารเชิงกลยุทธ์”เท่านั้น

        และถ้าเราดูเข้าไปในรายละเอียดของ “การวางแผนกลยุทธ์” เราจะพบว่ามีส่วนประกอบต่าง ๆ ต่อไปนี้

        - การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร (SWOT Analysis)
        - วิสัยทัศน์ (Vision)
        - พันธกิจ (Mission)
        - เป้าประสงค์ (Goals)
        - วัตถุประสงค์ (Objectives)
        - กลยุทธ์ หรือ ยุทธศาสตร์ (Strategies)

        ดังนั้น“การวางแผนกลยุทธ์”และ“กลยุทธ์”ก็แตกต่างกันเช่นกัน โดย“กลยุทธ์”เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ“การวางแผนกลยุทธ์”นั่นเอง

        คงชัดเจนแล้วนะครับ! 

        ตอนนี้ก็ได้เวลาที่เราจะเข้าไปดูส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ข้างใน “การวางแผนกลยุทธ์” กันแล้วล่ะครับ

        ก่อนอื่น ผมต้องขออนุญาตข้ามส่วนของ “SWOT Analysis” ไปก่อนนะครับ แค่รู้จักกันในเบื้องต้นก่อนว่า “SWOT Analysis” ก็คือเครื่องมือที่เราใช้ค้นหาคำตอบของคำถามข้อที่ 1 (ยังจำได้ไหมครับ? คำถาม 3 ข้อที่เรา ต้องตอบให้ได้ ถ้าลืมไปแล้ว ให้ท่านพลิกกลับไปดูบทที่ 1 อีกครั้งนึงครับ) เราจะคุยเรื่องนี้กันอีกครั้งในบทที่ 4 ตอนนี้ผมขอเริ่มที่คำว่า “วิสัยทัศน์” ก่อนก็แล้วกันครับ

วิสัยทัศน์ (Vision)

        ผมมั่นใจว่าท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำๆนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 238 ครั้งอย่างแน่นอน นั่นคือสิ่งที่ผมมั่นใจ แต่สิ่งที่ผมไม่มั่นใจเลย ก็คือ ผมไม่มั่นใจว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจคำๆนี้อย่างลึกซึ้งมากพอหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าผมจะดูถูกภูมิปัญญาของทุกท่านหรอกนะครับ ผมเพียงแค่คิดเปรียบเทียบกับตัวเองในวันที่ผมเริ่มเรียนรู้เรื่องนี้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ขนาดผมมีความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก หรือจะพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ เพราะการที่ผมไม่เข้าใจคำๆนี้และไม่มีใครสามารถอธิบายให้ผมเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้ ผมจึงต้องพึ่งตัวเองด้วยการ ทุ่มเทเวลาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยอ่านหนังสือนับสิบเล่มทั้งตำราภาษาไทยและตำราต่างประเทศ ค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ฯลฯ  ผมยังต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะเข้าใจคำ นี้ ในขณะที่ท่านผู้อ่านเอง ส่วนใหญ่มีภารกิจด้านอื่นๆล้นมืออยู่แล้ว โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นเมื่อพูดเรื่องการทำแผนกลยุทธ์ จึงเป็นอะไรที่ไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไร ถ้าเลือกได้ผมเชื่อว่าหน่วยงานส่วนใหญ่คงเลือกที่จะไม่ทำมัน ดังนั้นส่วนใหญ่ที่ต้องทำก็เพราะเป็นภาคบังคับ มิเช่นนั้นอาจไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง เพราะฉะนั้นการจัดทำแผนกลยุทธ์สำหรับหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ จึงเปรียบเสมือนการทำการบ้านส่งคุณครูเท่านั้น บางท่านอาจจะโชคดี(หรือโชคร้ายก็ไม่ทราบ)ที่ได้ฟังการบรรยายเรื่องการวางแผนกลยุทธ์จากครูบาอาจารย์หลายคน แต่ผมก็ยังเชื่อว่าในใจลึกๆแล้ว ท่านก็คงไม่มั่นใจว่าจะเข้าใจคำๆนี้อย่างลึกซึ้งเพียงพอหรือเปล่า

        โดยส่วนตัวแล้วบรรดาองค์ประกอบต่างๆในเรื่อง“การวางแผนกลยุทธ์” นั้นผมรู้สึกว่า“วิสัยทัศน์”เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าท่านไม่ชัดเจนในเรื่อง“วิสัยทัศน์” หรือไม่สามารถทำให้ข้อความ“วิสัยทัศน์” ชัดเจนแล้วล่ะก็ ส่วนต่างๆที่เหลือก็จะเบลอไปหมด 

         เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ ผมมีวิธีทดสอบง่ายๆ ว่าท่านเข้าใจคำๆนี้ลึกซึ้งมากพอหรือเปล่า ด้วยการให้ท่านตอบคำถามข้อนี้

        ทุกท่านคงเคยรู้จักชื่อของคนๆนี้นะครับ “นอสตราดามุส” ถึงแม้ว่าบ้านของเขาไม่ได้อยู่ข้างบ้านเราก็ตาม แต่ผมคิดว่าท่านคงทราบเรื่องราวและวีรกรรมต่างๆของ“นอสตราดามุส” ที่ทำให้เรารู้จักเขาและทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจนทุกวันนี้

        คำถาม ก็คือ จากข้อมูลต่างๆที่ท่านทราบเกี่ยวกับนอสตราดามุส ท่านคิดว่าพอจะสรุปได้หรือไม่ว่า นอสตราดามุสเป็น“ผู้มีวิสัยทัศน์?
        ก.ได้   ข.ไม่ได้

        ท่านจะตอบข้อ ก.ไก่ หรือ ข.ไข่ ?  เพราะอะไร ?

        อะไรนะครับ “ข.ไก่” ห้ามแทงกั๊กครับ ท่านต้องเลือกตอบข้อใดข้อหนึ่ง พร้อมเหตุผลที่ทำให้ท่านเลือกข้อนั้นด้วย

        ผมเชื่อว่าจะมีบางท่านที่เลือกตอบ ข้อ “ก.ไก่” โดยให้เหตุผลว่า“เพราะเขาสามารถคาดการณ์อนาคตได้ อย่างแม่นยำ” ส่วนบางท่านก็อาจจะเลือกตอบ ข้อ “ข.ไข่” ด้วยเหตุผลที่ว่า “มันก็แค่เหตุบังเอิญหรือหมอดูคู่ หมอเดา” ถ้าท่านบอกผมว่า นอสตราดามุสเดา สิ่งที่เราสามารถสรุปได้ ณ ขณะนี้ก็คือ ท่านนั่นแหละที่ “เดา” เดาว่านอสตราดามุสเดา เพราะอันที่จริงแล้วเราก็ไม่รู้ว่านอสตราดามุส เดาหรือเปล่า ถ้าท่านเลือกข้อ ข.ไข่ เพราะเหตุผลนี้แล้วละก็ ผมจะลองตั้งสมมติฐานใหม่ว่า “ถ้านอสตราดามุสไม่ได้เดา แต่เขาใช้ข้อมูลต่างๆและวิธีการบางอย่างวิเคราะห์ จนได้คำตอบออกมาอย่างแม่นยำทุกครั้ง และไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ก็ จะสามารถทำนายได้อย่างแม่นยำเหมือนนอสตราดามุสทุกประการ  ถ้าเป็นเช่นนี้ท่านจะเลือกตอบข้อ ก.ไก่ ใช่หรือไม่ ?

        ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ การที่เราจะบอกว่าใครเป็น “ผู้มีวิสัยทัศน์” หรือไม่ ก็ให้ดูว่าเขามีคุณสมบัติ อย่างน้อย 2 ข้อนี้หรือเปล่า คือ

        1. ความสามารถในการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ไม่ต้องแม่นเหมือนนอสตราดามุสก็ได้ แค่บอกได้ว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม เมื่อวานทำมาอย่างไร วันนี้ก็ทำอย่างนั้น และกะว่าพรุ่งนี้จะทำให้เหมือนวันนี้เปี๊ยบเลย  อีก 3-5 ปีข้างหน้าตัวเราหรือองค์กรของเราจะมีสภาพเป็นอย่างไร แต่เขามักจะไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวสักเท่าไร ดังนั้นเขาจึงต้องมีคุณสมบัติข้อที่ 2

        2. ความสามารถในการใช้จินตนาการสร้างภาพขององค์กรในอนาคตที่เขาต้องการซึ่งต้องเป็นภาพที่ดีกว่าเดิมเสมอ ลองเดาซิครับว่า“ภาพของสิ่งที่เราต้องการในอนาคต”นั้น เราน่าจะเรียกมันว่าอะไร? บางท่านอาจจะนึกคำตอบได้แล้ว แต่บางท่านก็อาจจะยังลังเลใจอยู่ เอ้า...เฉลยเลยละกัน ก็“วิสัยทัศน์”ไงล่ะครับ เพราะถ้าเราดูคำนิยามของคำว่า“วิสัยทัศน์”ในหนังสือหรือตำราต่างๆ แม้จะแตกต่างหลากหลาย พอสมควร แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่าไม่ว่าคำนิยามจะแตกต่างกันอย่างไร สิ่งที่เหมือนกันก็คือ มันจะมีคำเหล่านี้อยู่ในนิยามนั้นๆด้วยเสมอ นั่นก็คือคำว่า “ต้องการ ประสงค์ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง คาดหมาย คาดหวัง...” ซึ่งคำทั้งหมดนี้สามารถแปลเป็นภาษาไทยคำเดียวสั้นได้ว่า...“อยาก!” เริ่มชัดขึ้นอีกหน่อยมั้ยครับ

       “วิสัยทัศน์” ก็คือข้อความที่สะท้อนถึงความอยากขององค์กรนั่นเอง

       ถ้าวันนี้เรากำลังจินตนาการถึงภาพของตัวเราในอนาคตที่เรา‘อยาก’เป็น แสดงว่า ท่านกำลังมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับตัวท่านเอง(ถ้าเป็นภาษาชาวบ้าน เขามักจะเรียกว่า “ฝันที่ยิ่งใหญ่”)

       แต่ถ้าท่านกำลังจินตนาการถึงภาพของครอบครัวของท่านที่ท่าน‘อยาก’มีในอนาคตก็แสดงว่าท่านกำลังมีวิสัยทัศน์ครอบครัว(ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังหาแฟนไม่ได้ก็ตาม)

       และในทำนองเดียวกัน ถ้าท่านกำลังจินตนาการถึงภาพของท่านที่ท่าน‘อยาก’ได้ในอนาคต หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่าเป็น “องค์กรในฝัน” แสดงว่าท่านกำลังมีวิสัยทัศน์องค์กรครับ

       โดยสรุปก็คือ บุคคลที่จะถือได้ว่า เป็น“ผู้มีวิสัยทัศน์”จะต้องมีคุณสมบัติทั้ง 2 ข้อนี้ครบ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้

       - บุคคลใดที่มีคุณสมบัติข้อ 1 เพียงข้อเดียวโดยไม่มีข้อ 2 เราจะเรียกเขาว่า “นักพยากรณ์
       - บุคคลใดที่มีคุณสมบัติข้อ 2 เพียงข้อเดียวโดยไม่มีข้อ 1 เขาก็เป็นแค่ “พวกเพ้อฝัน”เท่านั้น

       คราวนี้ เรากลับมาดูกันที่คำถามของเราดีกว่าครับ ผมจะให้โอกาสท่านเลือกอีกครั้ง

       “ใช่แล้วครับ คำตอบที่ถูกต้องก็คือข้อ ข.ไข่ นั่นเอง” เหตุผลก็เพราะว่า นอสตราดามุสเพียงแค่บอกสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว (ถึงไม่บอกก็เกิดขึ้นอยู่ดี) ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการให้มันเป็น ซึ่งเป็นเพียงหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า“เขา”มีคุณสมบัติข้อที่ 1 เท่านั้น และไม่มีข้อมูลใดใดที่แสดงให้เห็นว่าเขามีคุณสมบัติข้อที่ 2 ดังนั้น เราจึงไม่สามารถสรุปได้ว่านอสตราดามุสเป็นผู้มีวิสัยทัศน์หรือไม่ คำตอบจึงเป็น ข้อ ข. แต่สิ่งที่เราพอจะสรุปได้เกี่ยวกับนอสตราดามุสก็คือ เขาเป็น “ศาสดาพยากรณ์” ซึ่งปัจจุบันอาจมีลูกหลานของเขาหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นได้โดยเฉพาะในเมืองไทย เพราะผมเคยได้ยินชื่อ “เทพธิดาพยากรณ์” 1900-1900 …แล้วต่อด้วยเลขอะไรอีกผมก็จำไม่ได้ซะแล้ว ไม่งั้นจะลองโทรไปถามดูซะหน่อย..อิ..อิ

        โดยสรุปก็คือ “วิสัยทัศน์”จะต้องเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นภาพกว้างของสิ่งที่เราต้องการ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นนามธรรมและเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่จะต้องเกิดจากการใช้จินตนาการของใครบางคนหรือหลายคนร่วมกันสร้างขึ้น หลังจากนั้นจึงค่อยหาองค์ประกอบอื่นๆมาช่วยทำให้มันเป็นจริงในภายหลัง

        เป็นอย่างไรบ้างครับ เข้าใจคำว่า“วิสัยทัศน์”ดีขึ้นแล้วนะครับ แต่อย่างไรก็ตาม...ผมคิดว่าท่านก็คงยังไม่เข้าใจคำ ๆ นี้ลึกซึ้งมากพออยู่ดี อีกสักครู่ผมจะทำให้ท่านเข้าใจคำๆนี้อย่างลึกซึ้ง“ชนิดที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน” โปรดติดตามตอนต่อไป เอาเป็นว่าตอนนี้เรารู้จักคำ ๆ นี้แค่นี้ก่อนพอหอมปากหอมคอครับ

        ไปดูคำศัพท์ชุดต่อไปดีกว่าครับ...

         ***โปรดติดตามตอนต่อไปในบรรพที่ 2 ความสับสนอลหม่าน(2/2)

หมายเลขบันทึก: 538673เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2013 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2019 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท