ประเพณี วัฒนธรรมพื้นถิ่น คือ กาวประสานใจคนให้มารวมกันทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน


เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556  ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุ จังหวัดพิจิตร  ซึ่งจัดที่  สำนักงาน อบต.  คลองคูณ  อ.ตะพานหิน  จ. พิจิตร       เมื่อคณะเราเดินทางไปถึง   ทางเจ้าภาพเปิดฉากการต้อนรับด้วย  รำกลองยาว  โดยกลุ่มผู้สูงอายุ  เล่นเอง  รำเอง   ทำให้ผมรู้สึกว่า  ที่นี่เขามีของดีที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมประจำถิ่นของเขาแน่ๆ      

และเมื่อเราเข้าสู่ห้องประชุมของ อบต. คลองคูณ    มีการแสดงจากกลุ่มผู้สูงอายุอีกหลายชุด  นำเสนอด้วยความภูมิใจ   อันนี้ผมสังเกตดูจากสีหน้า แววตา ของผู้นำเสนอและคณะเจ้าภาพ      

การแสดงชุดแรกๆ   ผมก็ยังโอเค  แต่พอเริ่มหลายชุด  ใจผมชักเกิดความคิดกังวล  ว่าเอ๊ะเรามีเวลาน้อย  ที่จะมาคุยเรื่องราวที่นี้   แต่การแสดงก็ใช้เวลาไปพอสมควรแล้วนะ   ตอนแรกเกิดความคิดแบบนี้ผุดขึ้นมาในใจจริงๆ      แต่โชคดีที่พี่สุรเดช  เดชคุ้มวงศ์   หัวเรือใหญ่ของพื้นที่  ได้อธิบายให้ผมฟังว่า    เมื่อใดที่มีกิจกรรมมารวมตัวกัน  เขาจะต้องเริ่มด้วยความสนุก  ใช้เป็นตัวเปิดงาน   ด้วยเหตุผลที่ว่า    ชาวบ้านเขามีวิถีเรียบง่าย มีวิธีสื่อสารแบบตรงไป ตรงมา ไม่ซับซ้อน การทำอะไรที่เริ่มด้วยความสนุก บันเทิงใจ  ก็จะทำให้การทำกิจกรรมถัดๆ ไปราบรื่นและเป็นไปอย่างดีทุกครั้ง    การที่มารวมกันแล้วจู่โจมด้วยการพูดคุยกันเลย   ชาวบ้านจะรู้สึกเกร็ง  วางตัวไม่เป็นธรรมชาติ  ขาดความมั่นใจ  ความเป็นตัวเองหายไป  และทำให้ไม่กล้าแสดงออก    

นี่คือ กุศโลบายที่เรามักมองข้ามจริงๆ   คนทำงานชุมชน  ก็มักจะลืม  มัวมุ่งคิดจะเอาแต่งาน  ที่เราคาดหวังในแต่ละครั้ง   เราลืม   "ความสุนทรียะ"ที่มีอยู่โดยธรรมชาติในทุกที่  ทุกภูมิภาค  เรา จะมุ่งเอาแต่ "สาระ"  มากเกินไป  แล้วมันทำให้เราโง่แบบไม่รู้ตัวว่าโง่    คือ   มักคิดไปเองว่า  สิ่งบันเทิง  ประเพณีการละเล่น  การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น   มันเป็นคนละเรื่องกันสิ่งที่เราสนใจ        แต่พอเมื่อเราเปิดใจอกนิดหนึ่ง   ก็พบว่า    อ๋อ!   ในการละเล่น  การแสดง  ประเพณีต่างๆ เหล่านั้น   เราลืมมองเห็น  "ความสามารถ" ของผู้คน   ที่เขานำเสนออีกแบบหนึ่ง   ไม่ได้อธิบายเป็นคำพูด     เมื่อใดก็ตามที่ผู้คน  ได้ทำในสิ่งที่เขาถนัด  สิ่งที่เขาชอบ   เมื่อนั้น  ความเป็นตัวเอง  ภาวะผู้นำก็จะบังเกิดขึ้นในตัวตนคนเราโดยธรรมชาติ

และผมเพิ่งถึงบางอ้อ  คราวนี้ว่า   ประเพณี วัฒนธรรมประจำถิ่น  ยังสามารถใช้ประโยชน์จากมันในแง่ของการที่มันมีเสน่ห์ดึงความสนใจของผู้คนในชุมชนอยู่แล้ว  ยิ่งหากเขาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการแสดง การละเล่นนั้นอยู่ด้วยแล้วละก้อ  มันยิ่งมีพลังในการรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกัน

พลังอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมเรารอดพ้นจากการล่มสลายได้  นั่นคือ   "การมารวมตัวกัน  ทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน"

สิ่งนี้ได้กำหนดอยู่ในหลักศาสนาที่คนไทยเชื่อเอาไว้แล้วด้วย  มีมานานแล้ว   ศาสนาอิสลามของผม  ก็ยังย้ำนัก ย้ำหนาว่าให้มี  "ญุมอะห์"  ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน  อย่างเป็นนิจ  ซึ่งผลตอบแทนมากกว่าการปฏิบัติเพียงลำพัง    ศาสนาพุทธก็มีหลักฐานของธรรมว่าด้วยการพ้นจากความอัปรีย์   ซึ่งมีข้อสอนสั่งให้  รวมกันปฏิบัติกิจดีอย่างเป็นนิจ    

มาคราวนี้รู้สึกว่าคุ้มค่า  ได้เข้าใจสิ่งดีๆ ที่พบเห็นจนชินตา  แต่ไม่เคยเข้าใจมันเลย  ความโง่ปิดตา ปิดใจ ก็เป็นอย่างนี้เอง

หมายเลขบันทึก: 538356เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2013 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2013 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นานๆมาทีแต่มาแบบกระตุกความคิดได้ดีเสมอเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท