ถ้า ผอ.ผิด, สทศ.สอบ 2 วัน, อายุผู้มีสิทธิ์เรียน กศ.ต่อเนื่อง, โปรแกรม ITw, แยกตำบลละเครื่อง, ขรก.ครูไม่ปรับเงินเดือน ป.บัณฑิต, เงินเดือน ขรก.38ค.(2), สัมมนาเทียบระดับคนเดียว, ข้อสอบปลายภาค, ใช้ประกาศนียบัตรสมัคร, รบ.ภาษาอังกฤษ, รับแต่คนใน, พรบ.กศช.


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  13  เรื่องดังนี้


         1. วันที่ 28 พ.ค.56 คุณพิชญานิน ขรก.ครู กศน.อ.ระโนด โทร.มาถามผม ว่า  ทำไมรายงานสรุปการลงทะเบียนตามกลุ่ม โปรแกรม ITw จึงมีวิชาที่ลงทะเบียนไม่ครบทุกวิชา ( ม.ปลาย )

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้ คุณสุขุม  ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw เคยกำหนดให้โปรแกรมรายงานไม่เกิน 85 วิชา  ( เพราะไม่คิดว่า กศน.เราจะเปิดวิชาให้ลงทะเบียนภาคเรียนเดียวอำเภอเดียวระดับเดียวเกิน 85 วิชา )  ภายหลังก็แก้ไขโปรแกรมให้รายงานต่าง ๆ เกิน 85 วิชาได้แล้ว  แต่ลืมแก้เฉพาะรายงานสรุปการลงทะเบียนตามกลุ่มนี้  จะแก้ไขในโปรแกรมรุ่นต่อไป  ตอนนี้ถ้าจะให้รายงานนี้ครบทุกวิชา ให้ดูรายงานเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ดูรายงานทั้งอำเภอ  ( กลุ่มเดียวไม่น่าจะมีวิชาที่ลงทะเบียนระดับเดียวภาคเรียนเดียว เกิน 85 วิชา )


         2. วันเดียวกัน ( 28 พ.ค.) คุณภาสกร ขรก.ครู กศน.อ.โชคชัย โทร.มาถามผมเรื่องการปรับเงินเดือน ขรก.ครู ตามวุฒิ ป.บัณฑิต ( ป.ตรี 5 ปี )   ซึ่งเคยมีผู้ถามผมในเรื่องนี้ 2-3 ราย

             ผมตอบว่า  เข้าใจว่า  การปรับวุฒิ ( ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ได้ตามคุณวุฒิการศึกษา ) มี 2 กรณี คือ

             1)  การปรับเพิ่มตามสภาวะเศรษฐกิจ/ค่าของเงิน   กรณีนี้จะปรับเป็นครั้งคราว ประมาณ 5-6 ปี จึงจะปรับครั้งหนึ่ง  แต่ 3 ปีหลังนี้ ปรับทุกปี  การปรับลักษณะนี้มีเงื่อนไขเช่น
                  (1)  ได้รับวุฒิการศึกษานั้นก่อนวันบรรจุแต่งตั้ง
                  (2)  เป็นวุฒิการศึกษาที่ตรงตามประกาศรับสมัครสอบบรรจุ
                  ขรก.ครู กศน. ปรับวุฒิ ป.บัณฑิต ตามกรณีที่ 1. นี้ไม่ได้ เพราะ ประกาศรับสมัครสอบครูผู้ช่วยของ กศน. ไม่ได้ระบุว่ารับวุฒิ ป.ตรี 5 ปี

             2)  ศึกษาต่อได้วุฒิสูงขึ้น   กรณีนี้ปรับได้เรื่อย ๆ เป็นราย ๆ ไป  ใครเรียนจบเมื่อไรก็ยื่นเรื่องขอปรับวุฒิเฉพาะตัว  การปรับลักษณะนี้มีเงินไขเช่น
                  (1)  ต้องได้รับอนุญาตให้ศึกษาต่อ
                  (2)  ต้องศึกษาต่อในวุฒิตรงตามที่กำหนดใน “มาตรฐานสำหรับตำแหน่ง” เช่น ตำแหน่งบรรณารักษ์ ต้องศึกษาต่อทางบรรณารักษศาสตร์หรือสารนิเทศศาสตร์  ตำแน่งครูต้องศึกษาในคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองฯ ( ก.ค.ศ.รับรองวุฒิ ป.บัณฑิต ด้วย )
                  การปรับวุฒิกรณีศึกษาต่อได้วุฒิสูงขึ้นหลังบรรจุแต่งตั้งนี้ จะมีอัตราเงินเดือนกำหนดไว้ชัดเจน เช่น อัตราเงินเดือนสำหรับวุฒิ ป.บัณฑิตคือ 12,530 บาท  ถ้าปริญญาโททั่วไปคือ 15,430 บาท  ( อัตรานี้คือเงินเดือน ขรก.ครูเมื่อ 1 ม.ค.55   ส่วน 1 ม.ค.56 มีร่างกำหนดสูงกว่านี้แล้ว ผ่าน ก.ค.ศ.แล้ว แต่ ณ วันนี้ 29 พ.ค.56 ยังไม่เข้า ครม. ยังไม่มีผลบังคัญใช้ )
                 ถ้า วันที่เรียนจบ ป.บัณฑิต เงินเดือนถึง 12,530 บาทแล้ว ก็ไม่ต้องขอปรับวุฒิแล้ว   ถ้าวันที่เรียนจบปริญญาโท เงินเดือนถึง 15,430 บาทแล้ว ก็ไม่ต้องขอปรับแล้ว


         3. วันเดียวกัน ( 28 พ.ค.) คุณขนิษฐา นักวิชาการศึกษา หัวหน้างานบุคลากร กศน.จ.หนองบัวลำภู ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ไม่เข้าใจหลักคำนวนตรวจการปรับเพิ่มเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ของข้าราชการ ม.38 ค. (2)   ถามกจ. เค้าให้เทียบในตารางตามหนังสือเวียนของ สนง.กพ. ว20 ลว 27 ธค.55 แล้วยิ่งงง  

             ผมตอบว่า   ให้ดูตารางในหนังสือ ว20 นั่นแหละ ( ดูที่ http://203.172.142.88/webnfe/index.php?option=com_content&view=article&id=32153%3A--38-2&catid=110%3A2010-11-29-13-37-01&Itemid=205 )
             โดยดูตาม คุณวุฒิที่บรรจุเข้ารับราชการ เช่นถ้าคุณวุฒิที่บรรจุเข้ารับราชการเป็น "ปริญญาตรีที่ต้องใช้เวลาเรียนหลังจบ ม.ปลายอีก 4 ปี"  ก็ให้ดูตารางในลำดับที่ 21
             จากนั้นก็ดูในแถวที่ตรงกับเงินเดือนเรา  สมมุติว่าเงินเดือนเราอยู่ระหว่าง 11,680-13,400 ก็ให้ดูที่แถวแรก
             แถวแรกกำหนดว่า ให้ปรับเพิ่มอีก 1,620 บาท  แต่ถ้าเพิ่ม 1,620 บาทแล้วเกิน 14,810 บาท ก็ให้ได้แค่ 14,810 บาท


         4. วันที่ 29 พ.ค.56 อ.รานี ขรก.ครู กศน.อ.บางปะหัน โทร.มาถามผม เรื่องการแยกคอมพิวเตอร์ให้ครู กศน.ตำบล ต่างคนต่างบันทึกข้อมูลโปรแกรม ITw ตำบลละเครื่อง

             ผมตอบว่า มีขั้นตอนดังนี้
             1)  ควร BACKUP ข้อมูลจากเครื่องอำเภอ ไป RESTORE ในเครื่องตำบลเพื่อจะได้ไม่ต้องไปกำหนดในตารางรหัสใหม่ ซึ่งจะมีปัญหาถ้ากำหนดไม่ตรงกันเช่น กลุ่มเดียวกันแต่กำหนดรหัสกลุ่มหรือชื่อกลุ่มต่างกัน
                  ก่อน BACKUP ควรเปลี่ยนรหัสผ่านของเครื่องแม่ที่อำเภอ ( เครื่องที่นายทะเบียนมีสิทธิ์แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้ทุกเรื่อง ) เป็นรหัสผ่านที่ไม่มีใครรู้  แล้วกำหนดรหัสผู้ใช้-รหัสผ่านของเครื่องตำบลโดยกำหนดสิทธิ์ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้เพียงบางอย่าง เช่น เพิ่มประวัติ ลงทะเบียนเรียน   ตอนที่ BACKUP ข้อมูล ให้ติ๊กให้มีเครื่องหมายถูกหน้า "ข้อมูลผู้ใช้และสิทธิการใช้งาน" (ในหัวข้อ "ประเภทข้อมูล") ด้วย  เมื่อ RESTORE ลงเครื่องตำบลก็จะได้ user และ password เดิมทั้งหมดมาด้วย
             2)  จากนั้น ถ้าเป็นนักศึกษาเก่า  แต่ละตำบลก็คีย์ข้อมูลในเครื่องตำบลตามปกติ เพียงแต่ ตอนที่นำข้อมูลออกจากเครื่องฯตำบล ไปรวมที่เครื่องฯอำเภอ  ต้อง EXPORT ออกจากแต่ละเครื่อง ทางเมนู 4-3 ( บำรุงรักษาระบบ - นำข้อมูลออก )  แล้วนำข้อมูลไป IMPORT รวมในเครื่องของอำเภอ ทางเมนู 4-7 ( บำรุงรักษาระบบ - นำเข้าข้อมูล ) เท่านั้นเอง   ( ไม่ใช่ BACKUP ไป RESTORE )   การ IMPORT สามารถเลือกได้ว่าจะนำข้อมูลเข้าเครื่องอำเภอเฉพาะข้อมูลใด

             3)  แต่ถ้าเป็นนักศึกษาใหม่  เมื่อบันทึกข้อมูลเพิ่มประวัติแล้ว  ต้องเปลี่ยนรหัสนักศึกษาในแต่ละเครื่องก่อนจะ EXPORT   มิฉะนั้นรหัสนักศึกษาของแต่ละตำบลจะซ้ำกัน  วิธีเปลี่ยนก็ไม่ยากสั่งเปลี่ยนที่เดียวเป็นช่วงเลย โดยใช้เมนู 1-1-6 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน -บันทึกประวัตินักศึกษา - เปลี่ยนรหัสนักศึกษา )   เช่น ตำบลที่ 1 มี 18 คน (ตำบลที่ 1 ไม่ต้องเปลี่ยน ) ก็เปลี่ยนรหัสนักศึกษาตำบลที่ 2 ให้เริ่มต้นที่รหัส 19   และเปลี่ยนตำบลที่ 3, 4, 5, ... ไปตามลำดับ  ( เปลี่ยนรหัสได้เฉพาะคนที่ยังไม่ได้สั่งให้โปรแกรมพิมพ์บัตรนักศึกษานะ ฉะนั้นต้องระวังอย่าพิมพ์บัตรฯก่อนเปลี่ยน )  เสร็จแล้วก็ EXPORT ไป IMPORT เช่นเดียวกัน  ( ไม่ใช่ BACKUP ไป RESTORE )

            ( ใช้กรณีนักศึกษาทั้งอำเภอมีมาก คอมฯเครื่องเดียวทำไม่ทัน ส่วนจะกำหนดให้ กศน.ตำบลคีย์ข้อมูลอะไรได้บ้าง ก็แล้วแต่นายทะเบียนและ ผอ.จะกำหนดสิทธิ์ผู้ใช้ระบบงาน/กำหนดรหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน )


         5. วันเดียวกัน ( 29 พ.ค.) คุณ “หนึ่งกำลังใจ น๊ะ” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  นักศึกษาเทียบระดับ รุ่นที่ 1 /2555 มีคนเดียว ผ่านการประเมินแล้ว เหลืออย่างเดียวคือ การสัมมนา  เนื่องจากมีคนเดียวเลยต้องรอและประสานกับอำเภอใกล้เคียงเมื่อมีการสัมนาก็จะฝากสัมนาด้วย  แต่เมื่อถึงเวลา นักศึกษาติดธุระ ก็เลยทำให้จนป่านนี้ไม่จบ  ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรต่อ ยังไม่มีการสัมมนาอีกเลยมีปัญหาเรื่องการจบไม่ทันรุ่น

             ผมตอบว่า   การสัมมนาอาจใช้วิธีให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมของ กศน.อำเภอ อะไรก็ได้ครับ เช่น ทักษะชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ


         6. คืนวันที่ 30 พ.ค.56  เนื่องจาก ผมเห็นชาว กศน. ไปเขียนขอข้อสอบปลายภาค (ที่ให้ครูออกข้อสอบเอง ส่งไปให้จังหวัดเลือก ) กันในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบทุกภาคเรียน  ผมก็ได้แต่ดู ไม่อยากเขียนปรามให้เสียน้ำใจกัน  คืนวันที่ 30 พ.ค.ก็ขอกันอีก  ผมเห็นว่าปัญหามากแล้ว เช่น
             - ข้อสอบที่ส่งไปให้เลือก บางครั้งซ้ำกันทั้งคำถามและตัวเลือกทุกตัวเหมือนกันเป๊ะมากถึง 19 จังหวัด  ทำให้ข้อสอบไม่พอเลือกเข้าฉบับจริงและฉบับสำรองอีก 2 ฉบับ
             - บางครั้งเหมือนข้อสอบปลายภาคก่อนทั้งชุด  ทั้ง ๆ ที่ ระเบียบกำหนดว่าเมื่อสอบเสร็จให้ส่งข้อสอบให้จังหวัดทำลายแล้ว
             - ข้อสอบจะซ้ำกับภาคเรียนก่อนมากถึงประมาณ 75 %   มีข้อสอบที่ออกใหม่เพียงประมาณ 25 %
             - ฯลฯ

            ผมคิดว่าต้องปรามแล้ว  จึงร่วมโพสท์ว่า
            "ลองไปเป็นผู้คัดเลือกข้อสอบที่ กศน.ภาค และส่วนกลาง ดูบ้าง  ข้อสอบจะไปรวมกันที่นั่น วิจารณ์กันมากเรื่องข้อสอบเหมือนกันทั้งๆที่อยู่คนละจังหวัด  แล้วจะเลือกได้อย่างไรถ้ามันเหมือนกัน  ต้องเลือกไว้เป็นฉบับจริงและสำรองหลายฉบับ แต่ข้อสอบที่ต่างกันมีไม่พอ
             บางครั้งเขาก็ทำรายงานว่าที่ไหนเหมือนกับที่ไหน แจ้งให้จังหวัดพิจารณา   ถ้าเหมือนกันแล้วส่งเกิน 1 ชุดก็ไม่มีประโยชน์นะ
             เมื่อก่อนสถานศึกษาและครูบ่นกันว่า ข้อสอบออกไม่ตรงกับที่ครูสอน เขาเลยให้ครูออกข้อสอบเอง ก็มีปัญหานี้อีก"

            การวัดผลประเมินผล เป็น 1 ใน 9 มาตรฐานของการได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  ปัญหาของ กศน.คือ ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็เป็นครู กศน.ตำบล ครูอาสาฯ ได้  จึงทำให้ครู กศน.ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่เข้าใจความสำคัญของการวัดผลประเมินผล  ( งานของ "ครู" มาก สำคัญทุกอย่าง )
           ผู้จัดการศึกษาควรมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม  หลายจังหวัดมีการอบรมครูเรื่องการวัดผลประเมินผล การออกข้อสอบ   ช่วยเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้ "ครู"   การใช้ข้อสอบรวมก็มีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ แต่ละอำเภอไม่ต้องออกข้อสอบครบทุกวิชาทุกระดับซึ่งมีมากมาย  ( "การวัดผลประเมินผล" ใช้กับทุกเรื่อง ทั้งวิชาการ และการดำรงชีวิต  "การวัดผลประเมินผล" เป็นคำกลาง ๆ ไม่ว่าเราจะอ้างว่า กศน.แตกต่างจากในระบบอย่างไร ก็ต้องมีการวัดผลประเมินผลเพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่ได้สรุปเอาเองพูดเอาเอง   เราตำหนิหลักสูตรเก่าว่าบังคับให้เรียนเหมือนกันหมดทั่วประเทศ 8 หมวด ไม่ยืดหยุ่นตามบริบทสถานศึกษา  จึงเปลี่ยนหลักสูตรให้มีวิชาเลือกที่แต่ละสถานศึกษาคิดเองได้ ก็กลายเป็นมีวิชามาก   เรียนแล้วก็ต้องวัดผลประเมินผลที่เชื่อถือได้  การทดสอบต้องยากง่ายเหมาะสมกับกลุ่มผู้สอบ )


         7. เย็นวันที่ 31 พ.ค.56 คุณพัทธนันท์ ขรก.ครู กศน.อ.บางมูลนาก ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  วุฒิการศึกษาที่ใช้สมัครเรียน ม.6 8 เดือน สามารถใช้ใบประกาศนียบัตรสมัครได้หรือไม่  ศูนย์เทียบเค้าไม่ยอม

             ผมตอบว่า   ใช้ประกาศนียบัตรสมัครได้
             ตาม "คู่มือดำเนินงานการเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน (จบ ม.6 ใน 8 เดือน)" ปกสีม่วง หน้า 20 กำหนดหลักฐานที่ใช้ในการสมัครว่า "สำเนาวุฒิการศึกษา"   คำว่าวุฒิการศึกษาไม่ได้แปลว่าใบ รบ. หรือใบสุทธิ หรือใบทรานสคริป เท่านั้น   แต่ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรก็ใช่

         8. คืนวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย.56 คุณ ... ... ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ถ้า ผอ.อำเภอมีพฤติกรรมลุแก่อำนาจ ข่มขู่ครู กศน.และบุคลากร ยุยงให้เกิดความแตกแยกในองค์กร เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ... ...  จะต้องทำยังไง 

            ผมตอบว่า   ... ... ถ้า ผอ.กศน.อำเภอทำความผิด ไม่ได้รับความเป็นธรรมจริง  ให้แจ้งไปที่ ผอ.กศน.จังหวัดก่อน  และถ้าครบ 1 เดือนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้แจ้งไปที่ท่านเลขาธิการ กศน.


         9. วันที่ 3 มิ.ย.56 คุณนวลพรรณ พงศ์ศรีเจริญ ครูอาสาฯ จ.นครศรีธรรมราช ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การจัดการศึกษาต่อเนื่อง กศน.จัดให้เฉพาะผู้ที่มีอายุ 15 - 59 ปี วัยแรงาน  ถ้าต่ำกว่า 15 ปี ไม่ได้ใช่ไหม  เช่น เด็กในระบบ 10 - 12 ปี ไม่ได้ ถูกหรือเปล่า

             ผมตอบว่า   การจัดการศึกษาต่อเนื่องไม่ได้จำกัดอายุครับ อยู่ที่ลักษณะเนื้อหาวิชา   โดยการจัดการศึกษาต่อเนื่องแบ่งเป็นหลายประเภท คือ อาชีพ ทักษะชีวิต การพัฒนาสังคมและชุมชน การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
             บางเนื้อหาวิชามุ่งจัดสำหรับผู้สูงอายุก็มี  บางเนื้อหาวิชากลุ่มเป้าหมายอาจเป็นทั้งผู้ปกครองและเด็ก
             แต่ เนื่องจาก กศน.มีหน้าที่จัดการศึกษานอกระบบ จึงไม่ควรจัดการศึกษาต่อเนื่องที่ในโรงเรียนโดยที่กลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นนักเรียนในระบบทั้งหมด


        10. วันที่ 4 มิ.ย.56 ผมไปเข้าร่วมประชุมที่ สทศ.เรื่องการสอบภาคทฤษฎี จบ ม.6 ใน 8 เดือน ( ในส่วนของ สทศ. )  ปรากฏว่ามีแนวโน้มมาก ว่า ในส่วนของ สทศ.ก็จะเพิ่มการสอบเป็นครั้งละ 2 วัน เพราะวันเดียว 9 วิชา จะหนักหนาสำหรับผู้เข้าสอบเกินไป และเพื่อให้เวลาทำข้อละมากกว่า 1 นาที   โดยข้อสอบของ สทศ.จะไม่ถามความรู้ความจำ ความเข้าใจ  จะถามการนำไปใช้ขึ้นไป เพื่อให้แตกต่างจากข้อสอบของ กศน.  และถึงแม้จะ 20 คะแนนเท่ากันทุกวิชา แต่จำนวนข้อแต่ละวิชาอาจไม่ใช่ 20 ข้อเท่ากัน อาจเป็น 30 ข้อ


        11. วันเดียวกัน ( 4 มิ.ย.) คุณธงไชย กศน.อ.ตากฟ้า ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ใบระเบียนภาษาอังกฤษ หลักสูตร 2544 ไม่มีที่พิมพ์ ศาสนา สัญชาติ จะทำยังไง

              ผมตอบว่า   ไปเติม ศาสนา สัญชาติ ภาษาอังกฤษ ใน "ตารางรหัส" แล้วลองปริ้นท์ดู 


       12. คืนวันเดียวกัน ( 4 มิ.ย.56 ) คุณ “Monchaya Jittreengam” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การเปิดสอบพนักงานราชการ ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล นั้น  จังหวัดสามารถเปิดสอบโดยรับเฉพาะ ครู ศรช. บรรณารักษ์ ที่อยู่ในสังกัด กศน. ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ได้หรือไม่  ถ้าได้ มีกรณีใดบ้าง

            ผมตอบว่า 
            1)  ไม่ได้   ถ้าเป็นพนักงานราชการ ผู้ดูแลคือ ก.พ.ร. ( อยู่นอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  แม้แต่ รมว.ศธ.ก็ไม่มีอำนาจเหนือเขา )  เขากำหนดว่าต้องรับบุคคลทั่วไป
            2)  ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการคัดเลือก/สรรหาพนักงานราชการ คือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ( ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบอำนาจให้จังหวัดดำเนินการแทน )   ถ้าต้องการรับเฉพาะคนใน ต้องทำเรื่องให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการขออนุมัติ ก.พ.ร.ก่อน


        13. วันที่ 5 มิ.ย.56 คุณสำลี บรรณารักษ์ หสม.อ.ป่าติ้ว ถามผมในเฟซบุ๊คว่า  ถามความคืบหน้า พรบ.การศึกษาตลอดชีวิต  และถ้า พรบ.ผ่าน จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

             ผมตอบว่า   ตอนนี้ยังไม่เข้า ครม.  คาดว่าจะผ่าน ครม. เข้าสภาฯในปีงบประมาณ 2557   ถ้าผ่าน จะขยายงาน กศน.ให้ครอบคลุมการศึกษาตลอดชีวิต   การเปลี่ยนแปลงในระดับล่าง เช่น ตั้ง กศน.ตำบล เป็นสถานศึกษาชื่อ ศูนย์ กศช.ระดับตำบล   ข้าราชการ กศน.เก่าสอบไปเป็น ผอ.กศช.ตำบล  ส่วนพนักงานราชการ/ลูกจ้าง สอบเป็นข้าราชการ หลายพันตำแหน่ง


หมายเลขบันทึก: 538203เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มาเยี่ยมชมผลงานและให้กำลังใจในการทำงานสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาว กศน.ครับ อ.เอกชัย


ยอดเยี่ยม และเป็นกูรู รู้จริงงาน กศน.ทุกเรือง ได้รับความรู้จากท่านบ่อยๆ และเป็นที่พึ่งแก่ ครูและผู้บริหาร ตลอดจน ศน.แก่ๆอย่างพี่ ตลอดไป ขอบคุณครับ 

สุดยอดจริงๆ ครับ...ผมสนใจทุกเรื่อง...โดยเฉพาะ งานทะเบียนรายตำบล

อ.เอกชัย ค่ะ ป้าย บ้านหนังสืออัจฉริยะมีแล้วคะ

เปิดดูได้ที่เรื่อง ตรวจเยี่ยมบ้านอัจฉริ ยะ


ขอบคุณอาจารย์เอกชัย สำหรับสาระความรู้ดีๆที่นำมาแลกเปลี่ยนนะคะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกคนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท