ยุทธศาสตร์การพัฒนา-ตัวแบบทางความคิด(2)-ความหมายของยุทธศาสตร์ (ตามแนวความคิดเชิงระบบ)


        นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้ประเด็นสรุปความหมายของ “ยุทธศาสตร์” ตามกรอบความคิดเชิงระบบว่า ยุทธศาสตร์ หมายถึง แผนการหรือวิธีการ (P:Process) อันชาญฉลาด เพื่อบรรลุจุดหมายอย่างหนึ่งอย่างใด (O:Output) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีความยากเป็นพิเศษไม่อาจบรรลุได้โดยวิธีธรรมดาที่คนทั่วไปรู้อยู่แล้ว แผนการหรือวิธีการดังกล่าวย่อมต้องประกอบขึ้นจากหลักวิชาย่อยๆ หรือ “ศาสตร์” ย่อยๆ (I:Input) และเมื่อนำเอาศาสตร์ย่อยๆ เหล่านั้นมาประกอบเข้าด้วยกันจึงกลายเป็นแผนการ (Strategy) ซึ่งถือว่าเป็น “ศาสตร์” อีกข้อหนึ่ง (Outcome) เพราะสามารถนำไปผ่านการตรวจสอบโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยัน (Feedback) ว่าเป็นแผนการที่ใช้ปฏิบัติการเพื่อบรรลุจุดหมายของงานได้จริง

        นอกจากนี้ มีหลายท่านมีความสงสัยว่าจริงๆ แล้วต้นกำเนิดของยุทธศาสตร์นั้นมาจากไหน? ซึ่งท่าน ศ.ดร.เฉลียว บุรีภักดี (ประธานหลักสูตรยุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์) ได้กล่าวว่า “...คำยุทธศาสตร์เกิดขึ้นในกิจการทหารเป็นเบื้องแรก ทั้งนี้เพราะการรบเพื่อเอาชนะข้าศึกเป็นงานที่มีความยากเป็นพิเศษ เนื่องจากฝ่ายข้าศึกก็ต้องการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามเช่นเดียวกัน ดังนั้น วิธีการหรือแผนการที่นำไปใช้ต้องมีความชาญฉลาดเหนือฝ่ายข้าศึกเป็นแผนการที่ฝ่ายข้าศึกไม่รู้ทัน ต่อมาภายหลังกิจการงานลักษณะอื่นของฝ่ายพลเรือนที่มีความยากจนหรือต้องเอาชนะอุปสรรคเป็นพิเศษ จึงได้นำคำยุทธศาสตร์มาใช้ด้วยเพื่อแสดงว่าจำเป็นต้องใช้วิธีการหรือแผนการทำงานที่มีความชาญฉลาดเป็นพิเศษด้วย...

        ซึ่งจากข้อความข้างต้นจะพบว่า “ยุทธศาสตร์” ที่สร้างขึ้นนั้นมีหลายประเด็นที่น่าจะร่วมกันช่วยขยายความและทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับคำ “ยุทธศาสตร์” ดังนี้

            -  เป็นแผนการหรือวิธีการที่สร้างขึ้นนี้ต้องเป็นแผนการหรือวิธีการที่ไม่ใช่เป็นวิธีปกติธรรมดาที่รู้กันโดยทั่วไป เพราะวิธีการดังกล่าวได้เคยนำไปปฏิบัติแล้วแต่ปัญหาหรือเป้าหมายที่ต้องการบรรลุนั้นไม่ประสบความสำเร็จตามที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปัญหาและอุปสรรคในปัจจุบันนี้มีความซับซ้อนและถูกหมักหมมมานาน ยากที่จะแก้ไขได้ด้วยวิธีการธรรมดาๆ ต้องแก้ไขได้ด้วยวิธีการอันชาญฉลาด

            -  เป็นแผนการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชา ทฤษฎี แนวคิด และข้อมูลสภาพจริงที่ถูกต้องเหมาะสมกับเรื่องที่จะทำการพัฒนาในครั้งนั้น (บริบท ขอบเขต และ โครงสร้าง) ซึ่งต้องมีการศึกษาท้องถิ่นที่จะพัฒนาให้เข้าใจเสียก่อนโดยจะทราบบริบทหรือความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ เป็นอย่างไรเพื่อที่จะได้ปรับแนวปฏิบัติ การใช้หลักทฤษฎี หรือ แนวคิดให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นด้วย โดยที่เรามิอาจเชื่อได้ว่าการนำยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาจากท้องถิ่นหนึ่งสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาอีกท้องถิ่นหนึ่งได้โดยตรงหรือทันทีหรือนำมาใช้ได้โดยไม่มีการดัดแปลงยุทธศาสตร์ เนื่องจากความมีบริบทที่แตกต่างกัน อาทิ ท้องถิ่นประเทศไทย กับ ท้องถิ่นประเทศภูฎาน กับ ท้องถิ่นประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น

        ตัวอย่างต่อไปนี้ขอน้อมนำและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นเพื่อประกอบคำขยายความหมายยุทธศาสตร์ โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานวิธีการอันชาญฉลาดในการแก้ปัญหาของแต่ละเรื่องแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป ได้แก่ “การแกล้งดิน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินการศึกษา ทดลอง เพื่อหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา โดยผลการทดลองพบว่า การแกล้งดิน เป็นการเร่งทำให้ดินเปรี้ยวเป็นกรดจัดรุนแรงที่สุด จนไม่สามารถปลูกพืช เศรษฐกิจได้ จากนั้นหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดรุนแรงที่สุด ให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ เป็นต้น (http://www.pikunthong.com/index.php/project/krangdig) จากตามหลักทฤษฎีแล้ว ดิน​เปรี้ยวจัด ​เป็นดินที่มีดิน​เลนตะกอนทะ​เลอยู่ชั้นล่าง มีสารประกอบกำมะถันที่​เรียกว่า สาร​ไพ​ไรท์ (FeS2) อยู่ปริมาณสูง ​เมื่อดินอยู่​ในสภาพน้ำ​แช่ขังจะคงรูปดินมีสภาพ​เป็นกลาง​แต่​เมื่อน้ำ​แห้งอากาศ​แทรกซึมลง​ไป​ในดินออกซิ​เจนจะ​ทำปฏิกิริยากับสาร​ไพ​ไรท์ ​ทำ​ให้​เกิดกรดกำมะถัน (H2SO4) ​และสารประกอบจาก​โร​ไซท์ (KFe3 (SO4) 2 (OH) 6) มีสี​เหลืองซีดคล้ายสีของฟางข้าว ดิน​แปรสภาพ​เป็นกรดจัด ​เมื่อดิน​เปียกอีก กรดกำมะถันจะถูกพากระจาย​ไปทั่วหน้าตัดดิน ​การที่ดิน​แห้ง​และ​เปียกสลับกัน สาร​ไพ​ไรท์จะ​เกิดปฏิกิริยาปลดปล่อยกรดกำมะถันขึ้นมาอีก ​และรุน​แรงขึ้น​เรื่อยๆ (http://www.ryt9.com/s/bmnd/703066)  ซึ่งต้องมีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนโดยการแกล้งดิน ​มีวิธี​การทดลอง ​แบ่ง​เป็น 3 ช่วง คือ

               1. ขั้นตอน​การ​แกล้งดิน​ให้​เปรี้ยวจัด

               2. ขั้นตอน​การศึกษา​การ​เปลี่ยน​แปลง​ความ​เป็นกรดของดิน

               3. ขั้นตอน​การศึกษาวิธี​การปรับปรุงดิน ​เมื่อ​ได้ข้อสรุป​แนวทาง​และวิธี​การปรับปรุงดิน​เปรี้ยวจัด​เพื่อปลูกพืช​แล้ว ​การทดลองยังดำ​เนินต่อ​ไป​เพื่อติดตาม​การ​เปลี่ยน​แปลงของดิน​และผลผลิตพืช

          จากพระราชดำริให้ดำเนินโครงการ “แกล้งดิน” และจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว พบว่า “โครงการแกล้งดิน” เป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในประเทศเขตร้อน และยังไม่มีที่ใดในโลกที่ใช้วิธีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว และนำมาทำเป็นตำราเผยแพร่ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเป็น “นวัตกร” อย่างแท้จริง ทั้งนี้ แนวพระราชดำริดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงการประสมประสานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีควบคู่กับนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ จนได้วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขดินเปรี้ยวได้ (http://brainbank.sl.ac.th/brainbank/index.php/ฐานความรู้ที่_76_โครงการแกล้งดิน) และ นอกจากนี้ จะต้องมีการปรับจากนั้นหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดรุนแรงที่สุด ให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ ตามสภาพและเป้าหมายอีกด้วย เช่น การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกข้าว การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชไร่ พืชผัก และ การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกไม้ผล เป็นต้น

          จะเห็นได้ว่า “ยุทธศาสตร์” นั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีความใส่ใจต่อสภาพบริบทของท้องถิ่น พิจารณาอย่างถูกต้องบนฐานตามหลักวิชาการ และสามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงจะมีความแน่ใจได้ว่าเป็น “ยุทธศาสตร์”

สำหรับโอกาสถัดไปจะได้นำเสนอ คำ “การพัฒนา” และ การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้ทราบต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 538191เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2013 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท