รหัสนัย....ในพระพุทธรูป


พระพุทธรูปหรือพระพุทธปฏิมากรตามหลักพุทธศิลป์ไทยนั้น จะมีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่นับถือพุทธศาสนา

 

อัตลักษณ์ที่โดดเด่นสำคัญคือ

พระเมาลีหรือปอยยอดผมที่แหลมเฉียบเหนือเศียรขึ้นไป พระเกศาหรือเส้นผมที่มีลักษณะคล้ายก้นหอยขมเป็นปุ่มปมเต็มบริเวณเศียร ขนาดของพระกรรณหรือหูก็ยาว และพร้อมกับมีพระเนตรที่มองแบบพริ้มๆ ไม่มองใคร

จากอัตลักษณ์ดังกล่าว จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ แล้ว ทำไมจึงเกิดอัตลักษณ์เช่นนั้นกับพุทธศิลป์แบบไทย

คงเป็นเพราะสาเหตุอะไรอื่นไม่ได้ นอกจากภูมิปัญญาที่ลึกซึ้งของบรรพบุรุษไทย ที่ดื่มด่ำลุ่มลึกกับหลักพุทธธรรมที่พระพุทธองค์ประกาศตั้งแต่ต้นพุทธกาล

การถ่ายทอดหลักคิดที่เป็นนามธรรมมากๆ โดยไม่อาศัยสิ่งที่เป็นรูปธรรมเลย เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง การสร้างพระพุทธรูปให้มีลักษณะพิเศษดังกล่าวคือ เทคโนโลยีหรือศิลปะแห่งการถ่ายทอดขั้นสูงในยุคโบราณของไทยนั่นเอง

นามธรรมคือหลักปฏิบัติทั้งหมดได้ถูกแปรเป็นรูปธรรม
และรูปธรรมคือพระพุทธรูปนั้นก็เป็นที่อยู่จำแห่งปัญญาอันเป็นนามธรรม โดยคนรุ่นก่อนหวังไว้ว่าในอนาคตกาลจักมีปราชญ์มาตีความถ่ายทอดสาระสำคัญแห่งหลักคำสอนที่ฝากฝังซ่อนไว้


หากพูดในเชิงหลักคิด พระพุทธรูปก็คือสื่อหรืออุปกรณ์แห่งการเข้าถึงหลักธรรมนั่นเอง

ซึ่งก็คล้ายๆกับพิธีกรรมแบบพุทธทั้งหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่แฝงไปด้วยนัยยะแห่งพระธรรมคำสอนทั้งสิ้น
ดังนั้นพระพุทธรูปที่เรากราบไหว้นั้น จึงเป็นเรื่องของการกราบเพื่อการเรียนรู้ศึกษาอย่างแท้จริง


มีคำๆ หนึ่งที่ชาวเมืองล้านนามักจะใช้เมื่อต้องสักการะบูชาพระพุทธรูป คือคำว่า “ไหว้สา
ไหว้สา มีนัยยะว่า ไหว้ คือ การกราบแสดงความเคารพนอบน้อม ส่วน สา คือ ศึกษาเรียนรู้ว่าสิ่งที่เราเคารพบูชานั้นให้ปัญญาหรือแง่คิดใดแก่เราบ้าง

ผู้เขียนขอสันนิษฐานว่า “ไหว้สา”
น่าจะเป็นประโยคแบบเต็มๆ ว่า “ไหว้แล้วศึกษา” นั่นเอง


มีรหัสนัยใดบ้างที่เราต้องถอดจากองค์พระที่เราไหว้สา

ท่านจะสังเกตเห็นว่า ยอดผมหรือพระเมาลีที่แหลมขององค์พระนั้นจะมีเพียงหนึ่งเดียว คนที่เข้าใจหลักพุทธศิลป์จริงๆ จะทำสีตรงพระเมาลีนั้นให้เป็นสีทอง
อันเป็นสีที่คล้ายกับเปลวเพลิงหรือเปลวสุริยะที่ส่องให้โลกสว่างไสว
พระเมาลีนั้นถูกตีความว่า หมายถึง แสงแห่งปัญญาที่แจ่มจรัสเจิดจ้านั่นเอง

เส้นพระเกศาก็ต้องทำเป็นสีดำ เพราะคล้ายดั่งปัญหาอันหลากหลายของมนุษย์ที่มันสุมหัวเต็มไปหมด
พระเกศามีลักษณะเป็นปุ่มปมกระจายไปทั่วบริเวณเศียรขององค์พระ

มองในเชิงปริมาณพบว่า มีเยอะกว่าปัญญา
แต่หากมองในแง่คุณภาพ ปัญญามีมากกว่า เพราะอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่า ทรงพลังกว่า

 

พระกรรณหรือใบหูนั้นจะมีลักษณะยาว
ความยาวจึงหมายถึงปริมาตรของน้ำหนัก นั่นก็หมายถึงว่า เมื่อหูได้ยินเสียงใดๆ
ไม่ว่าบวกหรือลบต้องหนักแน่นเข้าไว้ อย่าหูเบา
เมื่อเขาชมก็อย่าหูเบาจนตัวลอยติดเพดาน ลงมาไม่ได้ค้างเติ่งอยู่บนนั้น
หรือเมื่อถูกด่าก็อย่าเพิ่งหูเบาเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต้องหนักแน่นแล้วนิ่ง
จากนั้นก็ค่อยพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง นี่คือหนักแน่นในอารมณ์ด้วยปัญญา


พระเนตรขององค์พระจะไม่สบตากับใคร
แต่จะมองในระดับที่ต่ำกว่านั้น นั่นคือท่านกำลังบอกเราว่า ให้มองตนเข้าไว้ เพราะตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

ระเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบางครั้ง ๕๐ % เกิดจากเรา
ในส่วนที่เกิดจากเรา ก็พยายามแก้ที่เราเอง อีก ๕๐ % บางครั้งก็เกินกำลังเพราะมีสาเหตุมาจากข้างนอก

ส่วนที่มีมาจากข้างนอกนี้ ถ้าแก้ได้ก็ให้แก้ แต่หากพยายามแล้วมันไม่เป็นผล
ก็ต้องทำใจพร้อมกับถือคติว่า “เมื่อสุดสอยก็ต้องปล่อยมือ” อย่าดึงดันเอาไว้ เพราะมันไม่ใช่ของเรา
และอาจจะยังไม่ใช่โอกาสของเรา


ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านว่า
ทุกครั้งที่เรากราบพระพุทธรูปขอให้เรา “ไหว้สา” กันเถิด แล้วจะเกิดปัญญา
นำพาสิ่งดีๆ สู่ชีวิต ตลอดกาลนิรันดร์เทอญ

 

 

ด้วยจิตเมตตาปรารถนาดี

พระมหาอัมพร ชุตินฺธโร



หมายเลขบันทึก: 538024เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการพระคุณเจ้า...

ขอเสริมแนวคิดของพระคุณเจ้าด้วยอีกข้อหนึ่งครับ..

สมัยหนึ่งเมื่อยังรับราชการอยู่  มีรุ่นพี่ ที่ถูกความไม่เป็นธรรมกลั่นแกลง  พี่ผู้นั้น ชวนผมไปวัดเสมอ ๆ (ร้บราชการที่สกลนคร) กราบเสร็จ  พี่เขามองพระประธานอยู่นาน  นานมากจนอดความสงสัยไว้ไม่ได้  จึงเอ่ยถามพี่เขาว่า พระท่านบอกอะไรหรือ...(ฮา)....

พี่ตอบว่า  ท่านบอกให้อดทน อดทนอีกนิด...(ฮา..กว่า)....

สิ้นคำตอบ ผมก็คิดถึงคำของสมภารกร่าง ในบทประพันธ์ ไผ่แดง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทันที...


อันที่จริง การปั้นดิน เป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เกิดจาก่ความตั้งใจของผู้ปั้นเป็นหลัก  เมื่อปั้นแล้ว ผู้อื่นได้เห็น จึงติชม ตามข้อคิดเห็นและความพึงพอใจของผู้นั้น... ผู้ปั้น จึงปรับแต่งให้สอดคล้องกับข้อคิดติชมเหล่านั้น หรือไม่ก็ยืนยันที่จะปั้นตามใจตน ที่แตกต่าง...

เชื่อว่า ....พระพุทธรุูป ก็เป็นรูปดินที่ปั้นขึ้น ด้วยนัยยะเดียวกัน   

การเพ่งมองพระพุทธรูป เราจึงมองทะลุเห็นใจคนปั้น  เห็นใจคนชม และเห็นความนิยมของยุคสมัย ที่สะท้อนผ่านวัตถุ รูปแบบ และทาทางของพระพุทธรูป

ก่อนกราบพระพุทธรูป  

ขณะกราบ และหลังกราบแล้ว....ยากจะมีคนเพ่งมองในสิ่งที่พระคุณเจ้ากล่าวไว้

แต่ที่สุด ก็มีคนเห็น..



 



ใช่แล้วคุณโยม Han Min พระพุทธรูปเกิดเมื่อเจ็ดร้อยปีคล้อยหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ไม่มีใครเห็นองค์จริงของพระองค์ ทุกอย่างที่ปั้นเป็นเพียงจินตนาการ แต่เป็นจินตนาการในเชิงบวก จึงเป็นที่ยอมรับตลอดมา ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท