การพัฒนาทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ ด้วยกิจกรรมการทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม


 

ผลงาน/นวัตกรรมที่เป็นเลิศ  (Best Practice)

ชื่อนวัตกรรม / วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ  (Bast  Practices)

   การพัฒนาทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์  ด้วยกิจกรรมการทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม 

   จริยธรรม

   ชื่อผู้พัฒนา  นางสาวดอกลักษ์  วรยศ  ตำแหน่ง  ครู  วิทยฐานะครูชำนาญการ

   โรงเรียนวัดราษฎรบำรุง  อำเภอหนองเสือ  จังหวัดปทุมธานี

   สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี  เขต 2

E – mail [email protected]

1.  ความสำคัญของนวัตกรรม / วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ 

         พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2545  จึงได้กำหนดแนวทาง ในการจัดการศึกษาไว้ใน หมวด 4 มาตรา 23 และ มาตรา 24 ให้สถาบันการศึกษาจัดการศึกษา โดยเน้น “ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ฝึกทักษะกระบวนการคิด  การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา  จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิด  การใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง ” ( สุวัฒน์  วิวัฒนานนท์ 2550 : 2 )  และมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาได้กำหนดมาตรฐานด้านผู้เรียนมาตรฐานที่ 4 ไว้ว่า  “ ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์” สรุปได้ว่า แนวทางในการจัดการศึกษา และการประเมินคุณภาพในการจัดการศึกษาของชาติ เน้นการพัฒนาคนทั้งด้านการคิดวิเคราะห์ และการอ่าน

   ทักษะการอ่าน เป็นทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญช่วยให้เกิดความงอกงามทางสติปัญญาโดยเฉพาะในชีวิตคนในปัจจุบัน การอ่านมีความจำเป็นอย่างมาก ถ้าไม่อ่านเราก็ไม่สามารถทันต่อเหตุการณ์และความเป็นไปของโลก การอ่านทำให้เกิดความรอบรู้และเกิดความคิด การอ่านมีความสำคัญที่จะช่วยพัฒนาความเจริญก้าวหน้าให้แก่บุคคล ใครอ่านมากก็จะมีความรู้ มีประสบการณ์มาก  (เปรมจิต  ศรีสงคราม. 2527 : 1)  การอ่านเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญในการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการอ่านที่ฝึกให้ผู้อ่านรู้จักใช้ความคิด สติปัญญาและความรอบรู้ต่อสิ่งที่ได้อ่านฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล สามารถจับประเด็นสำคัญของเรื่องที่อ่าน รู้จักแสดงความคิดเห็น ซึ่งการแสดงความคิดเห็นจะช่วยให้ผู้อ่านรู้จักคิดเป็น มีความรู้กว้างขวาง และเป็น การเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการใช้ทักษะทางปัญญา เพื่อแสดงออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเองการถ่ายทอดความคิดเห็นของตนเองออกมาได้จำเป็นจะต้องแสวงหาความรู้ต่าง ๆ นำมาเปรียบเทียบ  คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และนำไปพัฒนาความสามารถของตน ทำให้เกิดความรอบรู้จริง สามารถนำความรู้จากสิ่งที่ได้อ่านมาใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงานและชีวิตครอบครัว (กรมวิชาการ. 2546 ข : 4 – 10)  การอ่านเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพราะเป็นกระบวนการในการแสวงหาความรู้และรับรู้ข่าวสารเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทันสมัย  ทันต่อเหตุการณ์และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ( ณัฐณิชา  บุญสม.2546 :2 )  

  การคิดวิเคราะห์ (Analytical thanking)  เป็นทักษะที่ส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งผู้เรียนจะต้อง  ฝึกและพัฒนาจนทำให้เป็นนิสัย เพื่อให้ผู้เรียนขยายความรู้ประสบการณ์และความคิดของตนเอง และลึกซึ้ง การคิดวิเคราะห์ (Analytical thinking) เป็นการคิดโดยใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลักเป็นการฝึก   ในเชิงลึก คิดอย่างละเอียดจากเหตุไปสู่ผลมีการคิดหาทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึงการ วิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อตัดสินใจเลือกกรณีที่จะมีความเหมาะสมและคุ้มค่าสูงสุดถือเป็นการคิด วิเคราะห์ที่มีทั้งความสมบูรณ์ ความสุขุมและตรวจความรอบคอบที่ทุกคนควรกระทา การคิดวิเคราะห์เป็นความสามารถในการจำแนกแยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งหนึ่งซึ่งอาจเป็นวัตถุ สิ่งของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ และการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาสภาพความเป็นจริงหรือสิ่งที่สำคัญของสิ่งที่กำหนดนั้น (สุวิทย์ มูลคำ. 2547 : 9)  ดังนั้นการพัฒนาทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน เป็นจุดเน้นประการหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา  และ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ( กระทรวงศึกษาธิการ, 2551, หน้า 6) ได้กำหนดสมรรถนะ เกณฑ์การผ่านและจบช่วงชั้นที่ต้องเกิดขึ้นกับผู้เรียน และมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ได้กำหนดมาตรฐานด้านผู้เรียนที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ดังนี้

  (1)  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดสมรรถนะสำคัญของ นักเรียน ซึ่งพัฒนานักเรียนให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดนั้น ในข้อ 2 คือความสามารถ ในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิด อย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศ การ ตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม

  (2)  เกณฑ์การผ่านช่วงชั้นและการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนต้องผ่าน  การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนให้ได้ตามที่สถานศึกษากำหนด

  (3)  มาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาได้กำหนดมาตรฐาน ด้านนักเรียน มาตรฐานที่ 4 ไว้ว่า “ผู้เรียนมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์ ”

   จากความสำคัญของทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ดังกล่าว การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ในวิชาภาษาไทย ควรเน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะการคิด คิดได้อย่างมีกระบวนการ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 ได้ระบุไว้ว่าให้สถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกทักษะกระบวนการคิด นำมาจัดในกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยสมอง ด้วยกายและใจ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดด้วยตนเอง โดยให้มีการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ จินตนาการ ความงาม ปัญญาและฐานความจริง ซึ่งรูปแบบและวิธีการที่สามารถพัฒนาผู้เรียนในเรื่องทักษะการอ่าน การคิดวิเคราะห์ พบว่า  กิจกรรมการทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมสติปัญญาด้านการคิด สร้างเสริมจินตนาการ  และความคิดสร้างสรรค์  เป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่ 1. การเรียนรู้เหตุการณ์ปัจจุบัน  (Present future oriented)  2.  การสร้างจริยธรรม  (Environmental ethies)  3. การบูรณาการเนื้อหาการเรียน (System approach)  4. การเรียนรู้ในเชิงระบบ (Interdiseiplinary approach)  นักเรียนสามารถนำข้อคิดที่ได้จากนิทานไปพัฒนาในเรื่องคุณธรรม  จริยธรรม อีกทั้งยังช่วยในเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์ เนื่องจากการทำหนังสือนิทานขึ้นมาสักเล่มนั้น นักเรียนต้องผ่านกระบวนการอ่าน   การคิดวิเคราะห์ก่อนจึงจะสามารถถ่ายโยงความคิดอย่างเป็นระบบ  ดังนั้นการจัดกิจกรรมทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม จึงเป็นรูปแบบและวิธีปฏิบัติที่สามารถพัฒนาทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนให้สูงขึ้น  นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่คงทน  ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

2.  วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน 

1.  เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 และ  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3

2.  เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากขั้นตอนการเรียนรู้การทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม มาจัดทำเป็นรูปเล่มหนังสือนิทานของตนได้อย่างสมบูรณ์

3.  เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนด้านการอ่าน การคิดวิเคราะห์ให้เพิ่มขึ้น

3.  ขั้นตอนการดำเนินงาน

3.1.1  ขั้นวางแผน ( ดำเนินการและวางแผนดำเนินการ ) : Plan

-  ศึกษาหลักสูตร ตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนาทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์
-  ศึกษาเนื้อหาขั้นตอนการสอนที่ต้องการพัฒนาทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ 

  ด้วยกิจกรรมการทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม
-  จัดลำดับขั้นตอนสอน จัดเตรียมสื่ออุปกรณ์  / วางแผนการสอน

3.1.2   ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ : Do

  1. ครูจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ ด้วยการฝึกให้นักเรียนอ่านหนังสือนิทานตามความสนใจ  กระตุ้นการคิดด้วยการจัดกิจกรรมให้นักเรียนวิเคราะห์คุณค่าและข้อคิดที่ได้จากนิทานด้วยเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น เทคนิคการถามด้วยหมวกความคิดหกใบ  การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน  การระดมพลังสมอง การใช้แผนที่ความคิด  เป็นต้น เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการคิด

 2. ครูให้นักเรียนศึกษารายละเอียด  หลักการและองค์ประกอบของการแต่งนิทาน ส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม พร้อมให้นักเรียนศึกษาจากตัวอย่างหนังสือนิทานหลากหลายเล่มหลายชนิด

  3. แบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 คน โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาเกณฑ์การประเมินในการจัดทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรมว่ามีอะไรบ้าง  จากนั้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่มลงมือปฏิบัติในการแต่งนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  โดยให้แต่ละกลุ่มเขียนแผนภาพโครงเรื่องนิทานออกมาเป็นแผนผังความคิด แล้วนำเสนอผลงานหน้าชั้น  ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยของนิทานแต่ละกลุ่มเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 4. ครูตรวจผลงานการแต่งนิทานของนักเรียนแต่ละกลุ่มอีกครั้ง  พร้อมเสนอแนะบอกจุดเด่น จุดที่ควรแก้ไขเพื่อให้นักเรียนนำไปปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำไปเขียนและจัดทำเป็นรูปเล่ม

 5. ครูอธิบายวิธีการทำหนังสือ  ส่วนประกอบของหนังสือ ขั้นตอนการเข้าเล่ม  และนำตัวอย่างรูปเล่มหนังสือนิทานที่ทำจากมือมาให้นักเรียนได้ศึกษา พร้อมสาธิตขั้นตอนการเข้ารูปเล่มให้นักเรียนดู

 6. นักเรียนนำนิทานที่แต่งขึ้นมาจัดวางหน้าตามโครงร่างหนังสือ  โดยเริ่มตั้งแต่ปกหน้า ปกใน  คำนำ  เนื้อหา ปกหลัง  และร่วมกันวางแผนการทำงานเพื่อจัดทำเป็นรูปเล่มหนังสือนิทาน

7. นักเรียนแต่ละกลุ่มลงมือปฏิบัติในการทำหนังสือนิทานซึ่งจะได้สร้างสรรค์ผลงานของตน

  3.1.3 การตรวจสอบ ประเมินผล : Check

-  นักเรียนนำผลงานที่ได้มาเปรียบเทียบกัน และปรับปรุงผลงานของตน

-  ครูตรวจผลงานและให้คำแนะนำในการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้หนังสือนิทานมีความสมบูรณ์

-  จัดแสดงผลงานไว้ในห้องสมุด / มุมผลงานนักเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงาน

-  นักเรียนทำแบบสอบถามความพึงพอใจ ครูวิเคราะห์สรุปผลจากแบบสอบถามความพึงพอใจ

   3.1.4  การรายงานผลเพื่อปรับปรุงพัฒนา : Action

- จากการสังเกตและจากแบบสอบถามความพึงพอใจ ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปผลการปฎิบัติงานในการทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พร้อมนำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงไปพัฒนางานในครั้งต่อไปให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

4.  ผลการดำเนินงาน / ประโยชน์ที่ได้รับ

 ผลการดำเนินงาน

1.  นักเรียนมีทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ที่สูงขึ้น

2.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนด้านการอ่าน การคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้น

3.  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 -3 โรงเรียนวัดราษฎรบำรุง สามารถจัดทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรมได้  อีกทั้งมีความสนใจ ใฝ่รู้ที่จะพัฒนาการทำหนังสือนิทานของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถขยายผลต่อให้กับผู้เรียนคนอื่น ๆ ได้ 

 ประโยชน์ที่ได้รับ

  การจัดกิจกรรมการทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม  สามารถพัฒนาทักษะการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ของนักเรียนให้เพิ่มสูงขึ้น  และเป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอน และผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ของนักเรียน

5.  ปัจจัยความสำเร็จ 

 1. ผู้บริหาร  ให้ความช่วยเหลือ  ส่งเสริม  สนับสนุนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเรียนรู้โดยการพัฒนาสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้  รวมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณ  สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของการทำงานในสถานศึกษาให้เป็นมิตร ให้ขวัญกำลังใจ  ทำให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครูไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้อันก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

  2. ครูผู้สอน มีความตระหนักและเน้นความสำคัญ ในการวิเคราะห์ผู้เรียนและนำผลการวิเคราะห์ มากำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ และธรรมชาติของผู้เรียน มีความตระหนักในความสำคัญของการเรียนที่จะเสริมสร้างศักยภาพนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้และเห็นความสำคัญของการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงาน  ให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน  ให้การยอมรับ  ให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้  ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อบกพร่องในการทำงาน และมีทัศนคติที่ดีต่อการสอน  โรงเรียน  และนักเรียน  มีความสุขที่จะพัฒนานักเรียนในทุกๆ ด้าน อีกทั้งยังให้กำลังจนนักเรียนสามารถทำหนังสือได้สำเร็จสมบูรณ์

  3. ผู้ปกครองให้ความสำคัญและมีเวลาให้กับบุตรหลานในการร่วมกันพัฒนาความสามารถทางด้านการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ไม่ปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว  อีกทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ให้ความร่วมมือ  ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ให้ความร่วมมือแก้ปัญหา ในทิศทางเดียวกัน  ทำให้ทราบถึงความคาดหวังของผู้ปกครอง  ชุมชน  ที่มีต่อโรงเรียนและครู  รวมถึงให้ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้  ทำให้นักเรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ

       4. มีระบบการทำงาน คือ มีการวางระบบที่ดี (P)  มีการดำเนินงานตามระบบทุกขั้นตอน (D)

มีการตรวจสอบระบบ (C)  และมีการปรับปรุงแก้ไขระบบ เพื่อนำไปวางระบบที่ดีกว่าเดิมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

6.  บทเรียนที่ได้รับ

 การจัดกิจกรรมการทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม สามารถพัฒนาความสามารถ

ด้านการอ่าน การคิดวิเคราะห์ให้สูงขึ้น  นักเรียนสามารถทำหนังสือนิทานที่เป็นรูปเล่มของตนได้และมีความภูมิใจในผลงานของตน  ซึ่งผลจากความพยายามพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน  และการดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ส่งผลต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

ถือเป็นบทเรียนที่ได้รับ  ดังนี้

-  นักเรียนมีความรู้  มีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีความสามารถด้านการอ่าน  การคิดวิเคราะห์  มีทักษะในการทำหนังสือนิทาน  และประสบผลสำเร็จในการศึกษาต่อ

-  ครูมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความภาคภูมิใจ และชื่นชมในผลที่เกิดแก่นักเรียน

-  โรงเรียนได้รับรางวัลต่าง ๆ ทางด้านการแข่งขันทักษะวิชาการในด้านการอ่านและการคิดวิเคราะห์ทั้งในระดับกลุ่มโรงเรียน และระดับเขตพื้นที่การศึกษา  ทำให้ได้รับการชื่นชมจากผู้ปกครอง และชุมชน

-  ผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาของโรงเรียน และภาคภูมิใจในตัวบุตรหลาน

-  ชุมชนมีความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน

ข้อเสนอแนะ

1. ครูผู้สอนควรแนะนำขั้นตอนการจัดทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ให้ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้และเข้าใจให้ถูกต้องครบถ้วน

2. การจัดทำหนังสือนิทานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ควรจัดให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มควรมีนักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน ทั้งการจัดทำเนื้อหาสาระ การออกแบบ วาดรูประบายสี

3.  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้อาจมีการปรับหรือลด หรือจะขยายเวลาในการจัดกิจกรรมให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความพร้อมของผู้เรียนแต่ละคน ทั้งนี้เนื่องจากการเรียนรู้ที่ดีควรมีความยืดหยุ่น  สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ  ตลอดจนสามารถนำประโยชน์ของการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

4.  หนังสือนิทานแต่ละเล่มที่นักเรียนแต่ละกลุ่มได้ทำสำเร็จแล้ว ครูควรจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานและร่วมกันวิเคราะห์ข้อคิด คุณค่าที่ได้จากนิทาน เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์

7.  การเผยแพร่ / การได้รับการยอมรับ / รางวัลที่ได้รับ

การเผยแพร่

1.  เผยแพร่ในการจัดนิทรรศการวิชาการของโรงเรียน

2.   เผยแพร่ในการจัดนิทรรศการวิชาการของกลุ่มเครือข่ายสถานศึกษา ฯ

3.  เผยแพร่ในการเป็นวิทยากรในการให้ความรู้ในการทำหนังสือนิทาน Pop – up 

ณ  โรงเรียนวัดโพสพผลเจริญ

4.   เผยแพร่ผลงานนักเรียนในกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทย

  ณ  ธนาคารแห่งประเทศไทย  ในการเข้ารับการต่อยอดมุมหนังสือ ธปท.  ของโรงเรียนในระดับ

  ภาคกลางที่มีผลงานจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านยอดเยี่ยม  เมื่อ ปี 2553

   5. เผยแพร่ผลงานทางเว็บไซด์ของโรงเรียนวัดราษฎรบำรุงhttp://www.rdb.ac.th/

   6. http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/538020 

   7.  https://www.facebook.com/profile.php?id=100000861506497&ref=tn_tnmn

     8.  เผยแพร่ให้คณะกรรมที่มาตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน

   ( โรงเรียนดีประจำอำเภอ )  รุ่นที่ 3   


หมายเลขบันทึก: 538020เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2013 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณสำหรับแนวทางค่ะ...จะนำไปปรับใช้กับลูกหลานน่ะค่ะ

กิจกรรมดีมีประโยชน์ขออนุญาตนำไปปรับใช้นะคะ

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำเสนอกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท