วงจรคุณภาพตามแนวพุทธศาสนา


                       การปฏิบัติงานในระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้มีคุณภาพและยั่งยืนได้นั้น วงจรคุณภาพ หรือ วงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) เป็นสิ่งที่นำมาอ้างถึงอย่างกว้างขวาง การกล่าวอ้างถึงวงจรคุณภาพนี้เปรียบเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิคุณในการปกป้องข้อโต้แย้งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

                       เมื่อกล่าวถึง วงจรคุณภาพ มักจะตามมาด้วย PDCA หากผู้กล่าวอ้างสามารถอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจและเห็นภาพวงจรคุณภาพได้อย่างชัดเจนย่อมเกิดความงอกงามในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ในทางกลับกันการกล่าวอ้างวงจรคุณภาพเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้ฟังยอมรับและหยุดโต้แย้ง
ผู้กล่าวความดังกล่าวในทรรศนะของผู้เขียนแล้วไม่เกิดความงอกงามใด ๆ ทั้งสิ้น จากประสบการณ์และความรู้ที่มีเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและวงจรคุณภาพของนำเสนอวงจรคุณภาพในทรรศนะของผู้เขียน ดังนี้

                        วงจรคุณภาพ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ วงจรเดมมิ่ง เป็นวงจรที่ Walter A. Shewhart พัฒนามาจากการควบคุมกระบวนการเชิงสถิติที่ Bell Laboratories มีขั้นตอน 4 ขั้น คือ PDSA ประกอบด้วย P (Plan) การวางแผนเพื่อปรับปรุงคุณภาพ D (Do) การลงมือปฏิบัติตามแผน S(Study)
การประเมินผลย้อนกลับเพื่อยืนยันแผนหรือปรับแผน A (Act) การทำเป็นแผนถาวร หรือการศึกษาเพื่อปรับปรุงแผน ต่อมา W. Edwards Deming ได้นำมาเผยแพร่และปรับเปลี่ยนเป็น PDCA ประกอบด้วย
P (Plan) การวางแผน D (Do) การปฏิบัติตามแผน C (Check) การตรวจสอบ A (Action) การดำเนินการให้เหมาะสม ดังแผนภาพที่ 1

  


แผนภาพที่ 1 วงจรคุณภาพ ก. วงจรคุณภาพตามแนวคิดของ Walter A. Shewhart ข. วงจรคุณภาพตามแนวคิดของ W. Edwards Deming

                        ในปี 2009 Ishikawa ได้เสนอวงจรคุณภาพที่มีความซับซ้อนขึ้นโดยเพิ่มวงจรคุณภาพย่อยในขั้น D ดังแผนภาพที่ 2

แผนภาพที่ 2 วงจรคุณภาพตามแนวคิดของ Ishikawa

                         หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมที่มุ่งการดับทุกข์ มีแนวทางและวิธีการต่าง ๆ มากมาย อิทธิบาท (บาทแห่งความสำเร็จ) เป็นหลักธรรมที่เป็นเครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ปรารถนา
ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใดต้องทำตนให้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ที่จำแนกไว้เป็น 4 ประการ คือ ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น วิริยะ พากเพียรในสิ่งนั้น จิตตะ เอาใจใส่ฝักใฝ่ วิมังสา หมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้นด้วยปัญญา หากพิจารณาอิทธิบาทจะพบว่าอิทธิบาทเป็นวงจรที่ใช้ในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ หรือเป็นไปเพื่อดับทุกข์คือนิพพานนั่นเอง

  อิทธิบาทกับวงจรคุณภาพมีความสอดคล้องกัน เป็นคู่ ๆ ดังตารางที่ 1

อิทธิบาท

วงจรคุณภาพ

ฉันทะ (พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น)

Plan (การวางแผน)

วิริยะ (พากเพียรในสิ่งนั้น)

Do (การปฏิบัติตามแผน)

จิตตะ (เอาใจใส่ฝักใฝ่)

Check (การตรวจสอบ)

วิมังสา (หมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้นด้วยปัญญา)

Act (การดำเนินการให้เหมาะสม)

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบความสอดคล้องระหว่างอิทธิบาทกับวงจรคุณภาพ

 

                        ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น เมื่อบุคคลมีความพอใจรักใคร่ในสิ่งที่สนใจหรืออยู่ในความรับผิดชอบย่อมคิดวิเคราะห์วางแผนการทำงานอย่างรอบคอบเพื่อให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงด้วยดี จึงมีความตรงกับ การวางแผน (Plan)

                         วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากในการดำเนินงานนั้น ตรงกับ การปฏิบัติตามแผน (Do)

                          จิตตะ การเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น หมั่นทบทวนตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามแผน ตรงกับ การตรวจสอบ (Check)

                          วิมังสา หมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้นด้วยปัญญา เพื่อนำเหตุแห่งความไม่สำเร็จไปใช้ในการพัฒนาแผนการปฏิบัติงานในครั้งต่อ ๆ ไป ตรงกับ การดำเนินการให้เหมาะสม (Act)

                          แม้ว่าอิทธิบาทมุ่งหมายให้ผู้ปฏิบัติถึงวิมุตติหลุดพ้น อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ขณะที่เรายังเป็นปุถุชนไม่สามารถปฏิบัติให้หลุดพ้นได้ในปัจจุบันนี้แต่สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้งานที่รับผิดชอบหรือชีวิตของตนเองประสบความสำเร็จที่มุ่งหมายไว้

บรรณานุกรม

กิติมา ปรีดีดิลก. (2540). ทฤษฎีการบริหารองค์การ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

ถาวร เงาศรี และคณะ. (2551). “พฤติกรรมการบริหารงานตามวงจรเดมมิ่งของผู้บริหารสถานศึกษาตามความคิดเห็นของครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหนองคาย เขต 3”. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1: มกราคม – เมษายน 2551. 137 – 147.

วีระพงษ์ ใจหงส์. (2555). “การพัฒนางานวิชาการโดยใช้วงจรเดมมิ่งของโรงเรียนวัดสมุหประดิษฐ์ (วันครู 2501)”. เข้าถึงได้ที่ http://www.weerapong.net/index.php?lite=article&qid=42051029. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556.


download : วงจรคุณภาพตามแนวพุทธศาสนา.pdf

หมายเลขบันทึก: 537563เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2013 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2013 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท