Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ของพนักงานบริษัท (1)


แพรภัทร ยอดแก้ว. 2556.นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ของพนักงานบริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัด The Relationship between Satisfaction of Dharmma Retreat with Organizational Citizenship Behavior of Employees in Summit Electronic Components Co., Ltd. " ในการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 23 วันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา"

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของพนักงานบริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัดมีวัตถุประสงค์ คือ  1. เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของพนักงานบริษัท  2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของพนักงานบริษัท 

กลุ่มตัวอย่าง คือ พนักงานบริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัดที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมของวัดป่าเจริญราช  จำนวน 189 คน

ผลการวิจัยพบว่า   พนักงานบริษัท ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับดี มีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ  อยู่ในระดับสูง  และพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ มีความสัมพันธ์กันทางบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01

คำสำคัญ:  ความพึงพอใจ,การปฏิบัติธรรม,พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ, พนักงาน

Abstract

The purposes of this research were to study  The Relationship between Satisfaction of  Dharma  Retreat with Organizational Citizenship Behavior  of Employees in Summit Electronic  Components Co., Ltd.

The sample group are  189 Employees . Level of statistical significance used in the analysis is 0.5.

  Major findings were as follows :

  1.The Satisfaction of  Dharma  Retreat were at good level  and the Organizational Citizenship Behavior was at high level at the 0.05 level.

  2.The Relationship between the Perceived Organization Supports and Organizational Citizenship Behavior were a positive correlation at the 0.01 level.

Keyword :  Satisfaction , Dharma  Retreat, Organizational Citizenship Behavior,Employees

1.   บทนำ

ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกปัจจุบัน ได้ตระหนักว่าการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา มุ่งสร้างความเจริญด้านวัตถุ โดยเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมายในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าด้านสุขภาพร่างกายหรือด้านจิตใจ ทั้งแก่สังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี พ .ศ. ๒๕๓๐ องค์การสหประชาชาติได้แนะนำให้ดำเนินการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยเน้นว่าจะต้องหันมาให้การพัฒนามนุษย์เป็นแกนกลางของการพัฒนาทุกอย่าง เช่นเดียวกับหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่าการพัฒนามนุษย์เป็นแกนกลาง เพราะหลักการในพระพุทธศาสนา ได้ช่วยพัฒนามนุษย์และสังคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงธรรมชาติ กับสภาพแวดล้อมที่แปลงเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

พระพุทธศาสนามีความผูกพันกับชนชาติไทยมายาวนานนับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยจนปัจจุบัน วัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติและจำนวนประชากรส่วนมากที่เป็นพุทธศาสนิกชน(คณะกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมวุฒิสภา,  2548 : 20) รวมทั้งการที่ชาวต่างชาติขนานนามชาติไทยว่าเป็น “ดินแดนแห่งผ้ากาสาวพัสตร์” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “The Kingdom of The Yellow Robe” อันหมายถึงดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา  เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนถึงความผูกพันของพระพุทธศาสนากับชนชาติไทย 

วัดป่าเจริญราช  อำเภอลำลูกกา  จังหวัดปทุมธานี  เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดปทุมธานี แห่งที่ 13 เป็นอีกสำนักปฏิบัติธรรมหนึ่งที่ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เชิงรุกเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่น คือ การจัดโครงการปฏิบัติธรรม เป็นประจำทุกเดือนในวันที่ 1-8 ของทุกเดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมา  โดยใช้ระยะเวลาครั้งละ 7 คืน  8  วัน ซึ่งได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ปีละประมาณ  1,200 คน  (วัดป่าเจริญราช, 2555) และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้กับพุทธศาสนิกชนในจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียง (ญาณภัทร, 2556: 104)

การเปลี่ยนแปลงของโลกในกระแสโลกาภิวัตน์  ส่งผลให้องค์การทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลก โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2558 ข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community- AEC) จะมีผลบังคับใช้  ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียน เมื่อมีการเปิดการค้าเสรี แรงงานฝีมือในประเทศต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน จะสามารถโยกย้ายกันได้อย่างเสรี นอกจากนี้การลงทุนข้ามประเทศก็จะเป็นไปได้ง่าย และนั่นหมายความว่า การแข่งขันระหว่างองค์กรก็จะสูงขึ้น เมื่อการแข่งขันมีสูงขึ้น ศักยภาพของคนในองค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องมีมากขึ้นเช่นกัน

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ประเทศไทยจะกลายเป็นรากฐานการผลิตสินค้าอุสาหกรรมและสินค้าเกษตรหลายรายการ ที่ตั้งของไทยยังเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมด้านต่าง ๆ มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วถึง จึงทำให้ระบบการขนส่งมีความสะดวก ผู้ประกอบการดำเนินงานได้รวดเร็ว อีกทั้งระบบธนาคารค่อนข้างเข้มแข็ง มีความปลอดภัยในธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนมีแรงงานจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกบุคลากรได้อย่างหลากหลาย

ความสำเร็จขององค์การ เกิดขึ้นจาก “คน” หรือ “บุคลากร”ในองค์การ เป็นส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์การไปสู่เป้าหมาย การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้องค์การในประเทศสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การให้มีความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ทุกองค์การต้องการบุคคลที่มีประสิทธิภาพเข้ามาร่วมงาน เพื่อให้องค์การสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในการบริหารงาน โดยเฉพาะองค์การที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้พนักงานจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันผู้วิจัยเห็นว่าลักษณะของพนักงานที่เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการมากที่สุด คือ พนักงานที่มีคุณลักษณะด้านจิตพิสัย  ได้แก่  เน้นการสร้างลักษณะนิสัย ซึ่งพนักงานที่มีลักษณะนิสัยดี ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่องาน ขยันหมั่นเพียร อดทน สู้งานโดยไม่ท้อถอย มีความคิดริเริ่ม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ รักความก้าวหน้าในงาน หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในงานของตนเองอยู่เสมอ ประการสุดท้ายคือมีคุณธรรมและจริยธรรมเพราะจริยธรรมเป็นคุณูปการที่สำคัญของการทำงาน ซึ่งเป็นผลดีต่อบุคคลในองค์การและบุคคลผู้ปฏิบัติงานเองมากกว่าพนักงานที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว ตามที่ Katz (1964 cited in Bolon, 1997: 124) ได้ชี้แนะว่า พฤติกรรมบทบาทพิเศษเป็นสิ่งสำคัญต่อการคงอยู่และประสิทธิภาพขององค์การ  Organ (1987, 1990, 1991) ได้ทำการศึกษาและบัญญัติศัพท์ “พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ(Organizational Citizenship Behavior – OCB)” โดยนิยามว่าเป็นพฤติกรรมที่องค์การไม่ได้กำหนดไว้เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติแต่พนักงานเต็มใจที่จะปฏิบัติให้องค์การขณะที่เป็นสมาชิกและสร้างประโยชน์ต่อองค์การ  พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างดีที่สุดประหยัดที่สุดและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดโดยไม่ต้องเพิ่มทุนเพราะเมื่อบุคคลมีพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การแล้วจะปฏิบัติงานด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่งขึ้นงานจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นให้เวลาปฏิบัติงานมากขึ้นและตั้งใจทำงานด้วยความกระตือรือร้นนอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาองค์การ เพื่อความอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจในที่สุด (กรกช, 2549: 2)

บริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิคส์ คอมโพเน้นท์ จำกัด (SEC) เป็นบริษัทที่ดำเนินการทางด้านประกอบอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ( PCBA) , ประกอบแผ่นวงจรลงกล่องสำเร็จรูปโดยทีมวิศวกรที่มีความชำนาญเฉพาะ ทางกระบวนการผลิตและด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยและมีการดูแลรักษาสภาพของเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอภายใต้การควบคุมกระบวนการผลิตและการให้บริการจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า ภายในโรงงานบนเนื้อที่ 27,000 ตารางเมตรในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้บริษัทได้รับการไว้วางใจจากลูกค้าหลาย ๆ รายซึ่งปัจจุบันลูกค้ามีทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่น SHARP , DELTA , KYORITSU, PANASONIC, DAIKIN, SONY, MACO, FUJITSU ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ๆ ที่บริษัท SEC ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ให้  นอกจากบริษัทจะผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์แล้วนั้น ยังทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ด้วยซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็ได้แก่ เสาอากาศวิทยุ,วิทยุติดรถยนต์,หน้าปัดมอเตอร์ไซด์ ส่งให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการยานยนต์อย่าง HONDA, TOYATA, MITSUBISHI เป็นต้น บริษัทมีพนักงานทั้งหมด 788 คนซึ่งเป็นพนักงานที่มีความชำนาญ และทักษะการปฏิบัติงานที่ดี รวมถึงมีทีมผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงแต่มีราคาที่ต่ำ และจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าตรงเวลาตามที่ลูกค้ากำหนด สิ่งที่กล่าวมาทั้งหลายเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยมาตรฐาน และกระบวนการที่ออกแบบไว้อย่างเหมาะสม บริษัทมีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าให้กับลูกค้า บริษัทจะพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีที่สุดโดย การรักษาคุณภาพในการผลิตและปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องและมีนโยบายในการที่จะพัฒนาและวิจัย เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนาและออกแบบ สินค้าใหม่ ๆ เพื่อก้าวไปสู่ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกต่อไปในอนาคต

บริษัทมีประสบการณ์ในการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่า 20 ปี ได้รับรางวัลจากลูกค้าต่าง ๆ มากมาย แสดงถึงความมีประสิทธิภาพและคุณภาพจากกระบวนการผลิต ทั้งนี้บริษัทยังมีพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถ  มีประสบการณ์ที่สามารถควบคุมปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาให้มีความสำเร็จลุล่วง  เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทคู่แข่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของบริษัทเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ภายในบริษัทโดยหันมาส่งเสริมกิจกรรม เพื่อสร้างจิตสำนักให้กับพนักงาน  เช่น กิจกรรมเพิ่มผลผลิต กิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน กิจกรรมสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญในการพัฒนาสังคมไปด้วย เช่น การบริจาคขาเทียม การบริจาคสิ่งของต่าง ๆ การบริจาคโลหิต ซึ่งบริษัทถือเป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อสังคม (บริษัท ซัมมิท ฯ, 2556: ออนไลน์)ที่สำคัญบริษัทสนับสนุนให้พนักงานบริษัทได้เข้าร่วมอบรมพัฒนาตนเองในโครงการปฏิบัติธรรม หลักสูตร 8 วัน 7 คืน ของวัดป่าเจริญราช เพื่อพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของพนักงานและส่งเสริมพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การให้แก่พนักงานบริษัท

  ผู้วิจัย จึงมีความสนใจในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ของพนักงานบริษัท ซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัดเพื่อส่งเสริมความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของพนักงานบริษัท และเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรต่อไป

2.  วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของพนักงานบริษัท 

2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การของพนักงานบริษัท 

 

3.  ระเบียบวิธีการวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ(Quantitative Research)  โดยผู้วิจัยได้ใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling)  จากพนักงานบริษัทซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัดที่เข้าร่วมปฏิบัติธรรมในโครงการปฏิบัติธรรมของวัดป่าเจริญราช  อำเภอลำลูกกา  จังหวัดปทุมธานี

3.1  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ พนักงานบริษัทซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ จำกัดที่เข้าร่วมปฏิบัติธรรมในโครงการปฏิบัติธรรมของวัดป่าเจริญราช  อำเภอลำลูกกา  จังหวัดปทุมธานี ในปี 2553-2555  จำนวน  360  คน  และการวิจัยครั้งนี้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง (Sample  size) โดยคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่น้อยที่สุดที่จะยอมรับได้ว่ามากพอที่จะใช้เป็นตัวแทนของประชากรได้ตามสูตรของ Taro  Yamaneดังนั้น  การวิจัยครั้งนี้  จำแนกตามระดับความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่าที่ระดับความเชื่อมั่นในการเลือกตัวอย่าง 95 %โดยยอมให้เกิดความผิดพลาดได้ไม่เกิน5%  จะได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง  จำนวนทั้งสิ้น 189 คน

3.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามชนิดปลายปิด (Close – ended  Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ซึ่งคณะผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเอง  เพื่อให้ได้ข้อคำถามครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษา แบ่งออกเป็น  ส่วน  ได้แก่

  ส่วนที่ 1  เป็นข้อคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม  ประกอบด้วย  เพศ อายุ การศึกษา สถานภาพ  รายได้ อายุที่สนใจเข้าวัดปฏิบัติธรรม  ประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าเจริญราช  และประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรม ณ วัดอื่นๆ  จำนวนทั้งหมด  8 ข้อ


ส่วนที่ 2  เป็นข้อคำถามวัดระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรม  เป็นแบบสอบถามที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจากการตรวจสอบเอกสาร  ตามกรอบแนวคิดหลักสัปปายะ 4[1]  คือ สิ่งที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรม 4 ประการ (สนิท ศรีสำแดง, 2534: 5-6) ซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1 - 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว  ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  34  ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ  เท่ากับ  .9563 ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรม  ดังนี้

1.  ด้านสถานที่   มีจำนวน  7 ข้อ  ได้แก่  ข้อ 1 7

2.  ด้านอาหาร   มีจำนวน  4 ข้อ  ได้แก่  ข้อ 8 11

3.  ด้านกิจกรรม   มีจำนวน  14 ข้อ  ได้แก่  ข้อ 12   25

4.  ด้านบุคลากร   มีจำนวน  9 ข้อ  ได้แก่  ข้อ 26 34


ส่วนที่ 3  เป็นข้อคำถามวัดระดับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองจากการตรวจสอบเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ซึ่งมี 5 องค์ประกอบมาตั้งเป็นข้อคำถาม มีลักษณะเป็นมาตราส่วน (Scale) ตามแบบการประเมินค่า (Rating Scale) โดยใช้การประเมินค่าของลิเคอร์ท  (Likert’s  Scale) ที่ให้ผู้ตอบประเมินค่า (1 – 5) ด้วยการเลือกเพียงคำตอบเดียว  ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน  35  ข้อ  มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ  เท่ากับ  .9017  ซึ่งครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ ดังนี้

1. ด้านพฤติกรรมการให้ความช่วยเหลือ  มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ 1 - 7

2. ด้านพฤติกรรมความสุภาพอ่อนน้อม    มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  8 – 14

3. ด้านพฤติกรรมความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา  มีจำนวน  7 ข้อ  ได้แก่  ข้อ  15 – 21

4. ด้านพฤติกรรมความสำนึกในหน้าที่  มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  22 – 28

5. ด้านพฤติกรรมการให้ความร่วมมือ  มีจำนวน  7  ข้อ  ได้แก่  ข้อ  29 – 35


การทดสอบความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่น

ผู้วิจัยได้ทดลองใช้แบบสอบถามกับผู้เข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการศึกษา  จำนวน 30 คน  เพื่อดูความเข้าใจในแบบสอบถาม  ความชัดเจนของเนื้อหา  และผู้ตอบสามารถตอบได้ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วจึงนำมาคำนวณหาความสัมพันธ์รายข้อกับคะแนนรวม (Item Total  Correlation ) และหาความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถาม  โดยใช้วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของคอนบาค( Cronbach’s Coefficient Alpha )  ก่อนนำไปปรับใช้ โดยจากการหาความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถามรายด้าน และทั้งฉบับโดยใช้วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของคอนบาค ( Cronbach’s Coefficient Alpha ) ได้ผลดังนี้


1)  แบบสอบถามความพึงพอใจในการปฏิบัติธรรมมีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ  .9563

เมื่อวิเคราะห์ตามองค์ประกอบรายด้านได้ค่าความเชื่อมั่น ดังนี้

1.  ด้านสถานที่   เท่ากับ  .8303

2.  ด้านอาหาร   เท่ากับ  .8941

3.  ด้านกิจกรรม   เท่ากับ  .9375

4.  ด้านบุคลากร   เท่ากับ  .9107


2)  แบบสอบถามพฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ  .9017  เมื่อวิเคราะห์ตามองค์ประกอบรายด้านได้ค่าความเชื่อมั่น ดังนี้

1. ด้านพฤติกรรมการให้ความช่วยเหลือ  เท่ากับ  .8323

2. ด้านพฤติกรรมความสุภาพอ่อนน้อม    เท่ากับ  .7983

3. ด้านพฤติกรรมความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา  เท่ากับ  .8089

4. ด้านพฤติกรรมความสำนึกในหน้าที่    เท่ากับ  .8413

5. ด้านพฤติกรรมการให้ความร่วมมือ  เท่ากับ  .7481


สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย  ค่าร้อยละ (Percentage) ใช้ในการเปรียบเทียบ เพื่อดูการกระจายของข้อมูลและเพื่อนำเสนอข้อมูลทั่วไปของกลุ่มประชากรในแต่ละหมวดหมู่ของตัวแปร  ค่าเฉลี่ย (Mean) ใช้ในการวัดค่าแนวโน้มเข้าสู่ศูนย์กลางของข้อมูล เพื่อทราบข้อมูลที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม  ใช้แปลความหมายของระดับและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  (Standard  Deviation)  ใช้คู่กับค่าเฉลี่ย  เพื่อแสดงการกระจายของข้อมูล สำหรับค่านัยสำคัญทางสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ครั้งนี้  กำหนดไว้ที่ระดับ  .05



  [1]สัปปายะ 4  คือ สิ่งที่เกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรมหรือปัจจัยสนับสนุนให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้าและบรรลุผล  4  ประการ  ได้แก่  1)  เสนาสนสัปปายะ  คือ  ที่อยู่อาศัยสะดวก  ปราศจากแหล่งเพาะเชื้อโรค, มีอากาศถ่ายเทได้ดี  ไม่มีพลุกพล่านด้วยผู้คน  2)  อาหารสัปปายะ  คือ มีอาหารที่สบาย บริโภคแล้วไม่เกิดโทษ ไม่เกิดโรคภัย  3) ปุคคลสัปปายะ  คือ อยู่ร่วมกับคนดี มีคุณธรรม มีครูอาจารย์ที่ดี  มีกัลยาณมิตร และ 4) ธรรมสัปปายะ  คือ มีวิธีปฏิบัติกรรมฐานที่สอดคล้องกับพื้นเพจริตของผู้ปฏิบัติ และมีกิจกรรมหรือกิจวัตรที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม



หมายเลขบันทึก: 537103เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท