เรื่อง คำซ้อน


                                                                 เรื่อง คำซ้อน 

ความหมายของคำซ้อน

      คำซ้อน  เป็นการสร้างคำโดยนำคำมูลที่มีความหมายเหมือนกัน  ใกล้เคียงกันหรือตรงข้ามกันมารวมกัน เกิดคำใหม่  มีความหมายใหม่ โดยความหมายใหม่อาจกว้างขึ้น  หนักแน่นขึ้น  หรือเบาลงก็ได้เช่น บ้านเรือน  ชายหญิงเงินทอง เศร้าโศก  ขีดเขียน

ประเภทของคำซ้อน

คำซ้อน  สามารถจำแนกตามจุดประสงค์ของการซ้อนได้  ๒  ลักษณะดังนี้

๑. ซ้อนเพื่อความหมาย  คือ คำซ้อนที่เกิดจากคำมูลที่มีความหมายเหมือนกันใกล้เคียงกัน หรือตรงกันข้ามกันมารวมกัน  ดังนี้

๑.๑ ความหมายเหมือนกัน  เช่น  กักขัง ปิดบัง  เสื่อสาด  กู้ยืม พูดจา  เหาะเหิน  ดูแล  แก่เฒ่า  ล้างผลาญ ใหญ่โต  ค่ำมืด  ๑.๒ ความหมายใกล้เคียงกัน   เช่น   คัดเลือก  แนะนำ  เกรงกลัว  เหนื่อยหน่าย

๑.๓  ความหมายตรงกันข้ามกัน   เช่น   ผิดชอบ  ชั่วดี  ถูกแพง  หนักเบา  ได้เสีย

๒. ซ้อนเพื่อเสียง  คือ คำซ้อนที่เกิดจากการนำคำที่มีเสียงคล้องจองและมีความหมายสัมพันธ์กันมารวมกัน เพื่อให้ออกเสียงได้ง่าย  และไพเราะ มีลักษณะดังนี้

๒.๑ ซ้อนเสียงพยัญชนะต้น  เช่น  เร่อร่า  ท้อแท้  จริงจัง  ตูมตาม  ซุบซิบ 
๒.๒ ซ้อนเสียงสระ  เช่น  ราบคาบ  จิ้มลิ้ม  แร้นแค้น  เบ้อเร่อ  อ้างว้าง  
๒.๓ ซ้อนเสียงพยัญชนะต้นและสระ  เช่น   ออดอ้อน  อัดอั้น  รวบรวม 

๒.๔  ซ้อนด้วยพยางค์ที่ไม่มีความหมาย แต่มีเสียงสัมพันธ์กับคำที่มีความหมาย   เช่น  พยายงพยายาม กระดูกกระเดี้ยว 

๒.๕  ซ้อนด้วยคำที่มีความหมายใกล้เคียงแล้วเพิ่มพยางค์ให้เสียงสมดุลกัน  เช่น สะกิดสะเกา  ขโมยขโจร  

๒.๖  คำซ้อน ๔-๖ พยางค์มีเสียงสัมผัสภายในคำ   เช่น  ข้าเก่าเต่าเลี้ยง  ถ้วยโถโอชาม  ประเจิดประเจ้อ  ทรัพย์ในดินสินในน้ำ  ปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ 

ข้อสังเกตของคำซ้อน

คำซ้อน  มีข้อสังเกตและควรศึกษาดังนี้
๑. คำที่นำมาซ้อนกัน  อาจเป็นคำไทยซ้อนกับคำไทย  คำไทยซ้อนกับคำต่างประเทศหรือคำต่างประเทศซ้อนกับคำต่างประเทศ  เช่น  ชุก  ( ไทย) + ชุม (ไทย )  =  ชุกชุม  ข้า (ไทย)  +  ทาส (บาลี )   =  ข้าทาส

๒. จำนวนคำที่นำมาซ้อนอาจมี ๒ คำ ๔ คำ หรือ ๖ คำ  คำซ้อนจึงเรียกอีกอย่างว่า  คำคู่  เช่น  ยักษ์มาร  ปู่ย่าตายาย  

๓.  คำซ้อน ๔ คำ เป็นการนำคำซ้อน ๒ คู่  มาแยกซ้อนสลับกัน  เช่น  คล่องแคล่วว่องไว กู้หนี้ยืมสิน  หน้าอกหน้าใจ
๔.  คำซ้อน ๔ คำ  และ ๖ คำ มักมีเสียงสัมผัสตรงกลาง  เช่น  ไร้ญาติขาดมิตร  รวบรัดตัดตอน  อดตาหลับขับตานอน  
๕.  คำซ้อนบางคำใช้เป็นสำนวน  เช่น  ดูดดื่ม  หมายถึง  ความซาบซึ้ง
๖. ความหมายของคำซ้อน  มี ๒ ลักษณะ  คือ
  ๖.๑  ความหมายดั้งเดิม คำซ้อนบางคำมีความหมายคงตามความหมาย ของคำที่ซ้อน เช่น แก่ชรา  ซากศพ พัดวี  เสื่อสาด  

  ๖.๒  ความหมายใหม่ คำซ้อนที่มีความหมายใหม่มีลักษณะดังนี้

- ความหมายแคบลง  คือความหมายเน้นคำใดคำหนึ่งซึ่งจะเป็นคำหน้าหรือคำหลังก็ได้  เช่น  ปากคอ  หัวหู  ท้องไส้   

- ความหมายกว้างขึ้นคือมีความหมายรวมไปถึงอย่างอื่นที่มีลักษณะร่วมกันหรือจำพวกเดียวกันเช่น ปู่ย่าตายาย ตับไตไส้พุง  
- ความหมายเชิงอุปมา  คือความหมายเปลี่ยนไป  เป็นคำที่มีความหมายเชิงอุปมา  เช่น  ดูดดื่ม  ปากหอยปากปู  

กิจกรรมที่ ๑

คำชี้แจง  ให้นักเรียนพิจารณาคำซ้อนและประเภทของคำซ้อนต่อไปนี้แล้วเลือกข้อความที่มีความสัมพันธ์กัน  โดยนำตัวอักษรช้างล่างมาใส่ในวงเล็บด้านบนให้ถูกต้อง

๑.  ตูมตาม  (..........) 

๒.  แนะนำ  (..........)

๓.  แก่เฒ่า  (..........)

๔.  ดีชั่ว  (..........)

๕.  ออดอ้อน  (..........)

๖.  ปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ  (..........)

๗.  กระดูกกระเดี้ยว  (..........)

๘.  สะกิดสะเกา  (..........)

๙.  อ้างว้าง  (..........)

๑๐.เร่อร่า  (..........)

ก.  คำซ้อนความหมายเหมือนกัน

ข.  คำซ้อนความหมายใกล้เคียงกัน

ค.  คำซ้อนความหมายตรงกันข้าม

ง.  คำซ้อนเสียงพยัญชนะต้น

จ.  คำซ้อนเสียงสระ

ฉ.  คำซ้อนเสียงพยัญชนะต้นและสระ

ช.  คำซ้อนด้วยพยางค์ที่ไม่มีความหมาย

ซ.  คำซ้อนด้วยคำที่มีความหมายใกล้เคียงแล้วเพิ่มพยางค์ให้เสียงสมดุล

ฌ.  คำซ้อนด้วยคำ ๔-๖ พยางค์มีเสียงสัมผัสภายในคำ

กิจกรรมที่ ๒

คำชี้แจง  ให้พิจารณาข้อความต่อไปนี้  ข้อใดมีคำซ้อนให้กาเครื่องหมายถูก (/)  ข้อใดไม่มีคำซ้อนให้

กาเครื่องหมายผิด (X) 

(........)  ๑.  ฝากมาเป็นเสียงเพลงแทนคำพูดจา  (........)  ๒.  สักวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นปู่ย่าตายายเหมือนกัน

(........)  ๓.  วันนี้หรือวันไหนยังเหมือนเดิม    (........)  ๔.  เขาไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน

(........)  ๕.  พ่อแม่ยอมกู้หนี้ยืมสินมาก็เพื่อลูก    (........)  ๖.  ลูกทุกคนควรดูแลพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า

(........)  ๗.  นักเรียนต้องตั้งใจเรียนหนังสือให้มาก ๆ    (........)  ๘.  เธออยู่ไหนหัวใจก็ยังเป็นห่วง 

(........)  ๙.  เศรษฐกิจไม่ดีผู้ร้ายจึงชุกชุม    (........)  ๑๐. ลูกหลานต้องอ่อนน้อมต่อพี่ป้าน้าอา 

                                         

หมายเลขบันทึก: 537059เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ

คงได้มีโอกาสใช้ข้อมูลนี้สอนนักเรียนค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณครูอิงจันทร์    ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นด้วย

ขอเฉลยน่อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท