ชีวิตที่พอเพียง ๑๙๑๕. วิ่งออกกำลังกายที่ มอ. หาดใหญ่



          คืนวันที่ ๒๔ มี.ค. ๕๖ ผมนอนค้างคืนที่ห้องพักรับรอง บี ๒๐๑  อาคารประสานใจ ๑  ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยการร้องขอ  ไม่ไปนอนโรงแรมตามที่ท่านรองอธิการบดี รศ. ดร. จุฑามาศ ศตสุข เตรียมจัดให้  เพราะต้องการไปวิ่งออกกำลังกายตอนเช้าเพื่อรำลึกถึงบรรยากาศเก่าๆ สมัยทำงานที่ มอ. หาดใหญ่  ที่ผมเริ่มวิ่งออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกเช้ามืด ตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี

          เช้าวันที่ ๒๕ ผมตื่นโดยเสียงปลุกของนกกางเขนบ้าน  มาร้องเจื้อยแจ้วอยู่ข้างห้องนอน  เป็นบรรยากาศที่สดชื่นด้วยธรรมชาติที่ผมชอบ  ไปนอนโรงแรมในเมืองไม่มีธรรมชาติน่าชื่นชมเช่นนี้

          ระหว่างนั่งพิมพ์บันทึกนี้ ก็ได้ยินเสียงนกปรอดหน้าขาวร้องโต้ตอบกัน สลับกับเสียงนกกางเขนบ้าน  และนกเขาเล็ก   ให้ความสดชื่นยิ่งนัก

          เวลา ๖.๐๐ น. ฟ้าสาง ผมออกไปวิ่ง ไปทางถนนรอบอ่างน้ำ  และเข้าไปในหมู่บ้านเก่า ไปดูบ้าน ๓/๓ และ ๓/๔ ที่ผมเคยอยู่  พบว่าบ้านพักรุ่นแรกที่เป็นบ้านพักชั้นเดียวทรุดโทรมมาก  บางหลังถูกทิ้งร้าง บางหลังกำลังซ่อมแซมใหญ่ 

          บ้านพักกลุ่ม ๓/ ถือเป็นบ้านที่ดีที่สุด มีอยู่ ๑๐ หลัง  สมัยที่ผมไปอยู่ใหม่ๆ ปี ๒๕๑๗ เขาหวงมาก  เรียกว่าบ้านพักศาสตราจารย์  แต่เขาก็จัดสรรให้ผมซึ่งตอนนั้นเป็นแค่ ผศ. และอายุแค่ ๓๒ เข้าพักที่บ้าน ๓/๓ ซึ่งทำเลที่ที่สุดหลังหนึ่ง  เพราะด้านหนึ่งติดป่า อีกด้านหนึ่งติดกับบ้าน ๓/๔ ซึ่งสมัยนั้น ศ. ดร. ประดิษฐ์ เชยจิตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พักอยู่  และต่อมา ผศ. นพ. ไสว ลิมปิเสฐียร กับพี่พิมล มาพักอยู่นานหลายปี แล้วย้ายออกไป  เพราะท่านย้ายกลับไปอยู่กระทรวงสาธารณสุข และได้ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ไหนจำไม่ได้  จำได้ว่า ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผอ. รพศ. ราชบุรี  เมื่อท่านย้ายออกไป เขาก็ปรับปรุงบ้าน ๓/๔ แล้วให้ผมย้ายไปอยู่ เพื่อปรับปรุงบ้าน ๓/๓ ซึ่งโดนปลวกกินอย่างรุนแรง  ในช่วงเวลา ๒๐ ปี ที่ครอบครัวผมทำงานที่ มอ. หาดใหญ่ เราจึงพักอยู่ที่บ้าน ๒ หลังนี้ 

         ทั้งบ้าน ๓/๓ และ ๓/๔ ยังอยู่ดี  แต่บ้าน ๓/๖ กำลังซ่อมใหญ่  บ้านหลังนี้สมัยโน้น ศ. นพ. อาทร์ อาทรธุระสุข พักอยู่  ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โทปิดิกส์  ท่านเป็นโสด และจบแพทย์ศิริราชก่อนผม ๑๒ รุ่น   ท่านเป็นคนหนึ่งที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ  บางวันออกวิ่งดึกๆ ก็มี  สมัยนั้นผมเห็นเป็นของแปลก  แต่มารู้ตอนนี้ว่าท่านทันสมัยมาก ท่านรู้ว่าการวิ่งออกกำลังแบบ แอโรบิก ทำให้ร่างกายแข็งแรง  ท่านเพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่กี่เดือนมานี้

          บ้าน ๓/๕ สมัยโน้นผู้พักอาศัยคือ รศ. นพ. จงดี - ศ. พญ. วิมล สุขถมยา และลูกสาว ๒ คน  อ. หมอจงดีเป็นหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา และเคยเป็นรองคณบดี  ท่านจบแพทย์จากศิริราชก่อนผม ๖ รุ่น  ในปลายปี ๒๕๒๔ เมื่อตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ว่าง ท่านไม่ยอมเป็นคณบดี  ผมจึงได้รับตำแหน่ง  สมัยโน้นคณะเพิ่งตั้งใหม่ๆ และคณบดีไม่ได้มาอยู่ประจำอย่างสมัยนี้  คนที่มาอยู่ประจำเป็นมือรองๆ จึงมีเรื่องระหองระแหงกันมาก  ผมเป็นคนรุ่นอายุน้อย แต่รับผิดชอบเท่าคนอื่น  คงจะมีคนหมั่นไส้ไม่น้อย  ต่อมา อ. หมอจงดี และวิมลย้ายกับไปอยู่เชียงใหม่อย่างเดิม  ท่านวางแผนซื้อไม้อย่างดีไว้สร้างบ้านที่เชียงใหม่

          บ้าน ๓/๗ ผศ. นพ. ดิลก - ผศ. พญ. นพรัตน์ (ตู้จินดา) เปรมัษเฐียร กับลูกสาว (ผศ. พญ. นลินี เปรมัษเฐียร เป็นอาจารย์ที่ศิริราช) และลูกชาย นล เปรมัษเฐียร พักอยู่   ทั้ง ๒ ท่านย้ายมาจากคณะแพทยศาสตร์ มช.  พี่ดิลกเป็นอีกคนหนึ่งที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ   และชอบขี่รถมอเตอร์ไซคล์  ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์  และต่อมาย้ายไปทำงาน รพ. เอกชนที่กรุงเทพ

          ผมระลึกชาติกลับไปเกือบ ๔๐ ปี  หวนกลับมาตอนนี้ สภาพลำธารที่หน้าฝนมีน้ำไหลมาจากเขาคอหงษ์ มาลงอ่างเก็บน้ำ ยังอยู่ในสภาพเดิม  เวลานี้เป็นหน้าแล้งอ่างเก็บน้ำ และลำธารแห้งขอดเหมือนสมัยก่อน  ผมวิ่งวนหมู่บ้านเก่า ๑ รอบ  พบคนรู้จัก ๒ คน  แล้ววนมาที่ถนนรอบอ่างน้ำทางทิศตะวันออก  ไปพบบริเวณอนุรักษ์ป่าอยู่บริเวณทิศตะวันออกของอ่างน้ำ  ผมชอบมากที่มีการอนุรักษ์พื้นที่ตรงนั้นไว้  วิ่งไปหน้าหมู่บ้านพักแพทย์ ซึ่งถือว่าเพิ่งสร้างใหม่ ประมาณปี ๒๕๒๓  แต่ไม่ได้วิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน  วิ่งออกลู่วิ่งรอบอ่างน้ำด้านทิศใต้  มีคนจากหาดใหญ่มาทัก ว่าผมแก่ขนาดนี้แล้วยังวิ่งได้  และถามว่าทำไมไม่เห็นนานแล้ว 

          ผมวิ่งไปหยุดถ่ายรูปไป  รวมแล้วใช้เวลา ๑ ชั่วโมง เหงื่อโชกทีเดียว  ไม่ได้วิ่งจนเหงื่อโชกเช่นนี้นานแล้ว  ทำให้คิดถึงสมัยอยู่หาดใหญ่ ผมวิ่ง ๔๐ นาที ด้วยความเร็วมากกว่าที่วิ่งสมัยนี้  วิ่งเสร็จเหงื่อโทรมตัว และรู้สึกตัวตึงๆ ตลอดวัน

          ตอนวิ่งผ่านด้านหลังคณะวิทยาศาสตร์  และตอนไปวิ่งในหมู่บ้านเก่า ผมได้กลิ่นดอกไม้หอม  สดชื่นยิ่งนัก  ตอนเช้ามืดที่ มอ. หาดใหญ่มีคนมาเดิน/วิ่ง มากกว่าสมัยผมอยู่หลายเท่าตัว  ทั้งคนแก่และหนุ่มสาว  สมัยผมอยู่ที่นี่คนวิ่ง/เดิน ตอนเช้ามีน้อย  แต่ตอนเย็นก็มีความมากพอๆ กับตอนเช้าที่ผมเห็นวันนี้  สมัยโน้นลู่วิ่งไม่ดีอย่างสมัยนี้  ตอนนี้มีลู่วิ่งอย่างดีรอบอ่าง  แยกจากถนนสำหรับรถ   สภาพทั้งหมดนี้ บอกผมว่า สังคมที่นี่ผู้คนสนใจออกกำลังกายมากกว่าสมัยก่อน  น่าดีใจ  เพราะเป็นวิธีสร้างเสริมสุขภาพที่ง่ายและได้ผลดีที่สุด  หากทำจนเป็นนิสัย ก็จะมีคุณต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง   


วิจารณ์ พานิช

๒๕ มี.ค. ๕๖

ห้องพักรับรอง บี ๒๐๑  อาคารประสานใจ  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์





                                           บริเวณอ่างน้ำ



                                           ลู่วิ่งรอบอ่างน้ำ



                            ทางขึ้นบ้าน ๓๓ และ ๓๔ ที่ผมเคยพักอยู่



                      ถ่ายให้เห็นตัวบ้าน ลักษณะเป็นเพิงหมาแหงน



                         ลานไทร ด้านทิศตะวันออกของอ่างน้ำ



                                                ลู่วิ่งริมอ่าง



           อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์นี้ผมเคยมาอาศัยใช้เป็นสำนักงาน

            ของคณะแพทยศาสตร์อยู่หลายปี ในช่วงปี ๒๕๒๑ - ๒๕๒๔










หมายเลขบันทึก: 536863เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่านแล้วมีความสุขไปด้วยค่ะอาจารย์ :)

บรรยากาศ ที่ มอ ยังร่มรื่น ที่ มข ตึกเริ่มสับสน ครับ

ถ้าโอกาสเอื้ออำนวย เวลาไปทำธุระที่ม.อ.หาดใหญ่ อดไม่ได้ที่จะไปฆ่าเวลาด้วยการไปนั่งเล่น ริมอ่าง ผมชอบกลิ่นของดอกจำปี ซึ่งแถวนั้นปลูกไว้เยอะมาก  แอบอิจฉาคนที่ได้พักแถวนั้น 

บรรยากาศดีจังเลยค่ะอาจารย์ 

เมื่อสิบปีก่อนโน้น ดิฉันยังอยู่ที่หาดใหญ่ ไม่ใกล้ไม่ไกลจาก มอ.มากนักค่ะ

มอ. มีความหมายสำหรับดิฉันหลายๆ อย่าง

หิว....ที่นี่มีอาหารสุขภาพมากมายให้เลือกค่ะ มีแต่ของอร่อย ดีต่อสุขภาพ และสะอาดให้ทาน

เหนื่อยล้า ...... มาเดินเล่นรับลม และอากาศดีๆ ที่นี่ีค่ะ

เพื่อน ......... มีเพื่อนรักและกัลยาณมิตรหลายคนทำงานที่นี่ค่ะ

เจ็บป่วย ...............ดิฉันไม่ค่อยจะเป็น .....แต่หากสักครั้งที่ป่วย .........ก็เชื่อมั่นคุณหมอที่นี่ค่ะ

เห็นภาพแล้วก็คิดถึงค่ะ ......ทุกภาพ .....ทุกมุม .........คือ บ้านที่ดิฉันคุ้นตา คุ้นใจค่ะ

ขอบคุณค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์ที่บันทึกประวัติศาสตร์ให้พวกเราได้อ่านครับ ผมค้นหาประวัติภาควิชาศัลยศาสตร์ จนมาพบบทความของอาจารย์​ได้มีโอกาสเห็นรูปถ่ายในปี พศ.2556 ผมย้ายเข้ามาอยู่หมู่บ้านเก่าในปี พศ.2558 พยายามนึกว่าบ้านเลขที่ 3/3 คือบ้านหลังไหน ยังนึกไม่ออก ต้องหาโอกาสเดินสำรวจหมู่บ้านอีกครั้ง อ่านเรื่องเล่าของอาจารย์แล้ว นึกอยากเห็นรูป ในช่วงที่อาจารย์เขียนถึง ผมคิดว่า สงขลานครินทร์เองมีบันทึกประวัติศาสตร์เหล่านี้ไว้น้อยเกินไป หรือ ที่บันทึกไว้ก็เข้าถึงยาก ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมอย่างที่อาจารย์เล่าให้ฟัง กราบขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท