ตามรอยวิทยากร : กระบวนการเดิมสู่การบูรณาการกับสถานการณ์ใหม่ การเรียนรู้ทั้งผู้ทำและผู้ร่วม


ผมเองก็ยังถือว่านี่เป็นความสำเร็จขั้นแรกของกิจกรรมที่ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองและเป็นการเปิดรับเอากระบวนการเพื่อนำไปสู่รูปแบบที่ลงตัวและเหมาะสมกับสถานภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยเซราะกราว อย่างเรา

               

                จากการเดินทาง และถูกไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาไม่เนิ่นนานนัก จนถึงปัจจุบัน ผมพยายามเก็บเอาประสบการณ์แต่ละครั้งเพื่อเป็นบทเรียนให้ตนเองอยู่เสมอ  ด้วยความศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมว่า “กระบวนการเก่า” ย่อมเป็นบทเรียนสู่การพัฒนา “แนวทางการเรียนรู้ใหม่” ที่ดี ผมคงไม่กล้าทะนงตนเองว่าเป็น วิทยากร (Trainer) หรือแม้กระทั่งผมเคยถูกให้ร่ำเรียนสู่การเป็นผู้จัดกระบวนกร(FA) กระนั้นผมก็ยังมิเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดเรียกตนเองว่าดังนั้น เพียงแต่พยายามใช้องค์ความรู้ที่เก็บสะสมด้วยการเป็นผู้ลงมือทำ (ปัญญาปฏิบัติ) มาปรับใช้ในการออกแบบกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมเพื่อนักศึกษาอย่างลองถูกตามภาวะการรับรู้ได้ของผุ้ร่วมกิจกรรม

                ระหว่างวันที่  21- 23 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ผมเองในฐานะที่ถูกยัดเยียดให้เป็นผู้ที่มีความสามารถเพียงพอในการออกแบบและดำเนินกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะการคิด วิเคราะห์ สำหรับนักศึกษา สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กว่า 200 ชีวิต ซึ่งผมถือว่านี่คือ ความท้าทายอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสอย่างเต็มตัวด้วยการปรับเอา “กระบวนการเก่า” สู่การบูรณาการ “กระบวนการแห่งการต่อยอด” ถือเป็นการทำงานด้วยประสบการที่สั่งสมมาและเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางกิจกรรมในรั้วของ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ให้เกิดการบูรณาการแบบเต็มตัวครั้งแรก

     

         เริ่มตั้งแต่กระบวนการแรกที่ผมพยายามหลุดกรอบแห่งกระบวนการเดิมด้วยการ พังโต๊ะ เก้าอี้ อันเป็นเสมือนกำแพงกั้นกลางความรู้สึกที่ดีแก่กันในการอบรมออกไปเสียก่อน สภาพที่เกิดคือ ความงุนงงของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ก่อนที่โจทย์ที่สองคือ คุณอยากได้อะไรจากการร่วมอบรมครั้งนี้ (BAR) คำถามง่ายๆ ที่กระตุ้นให้ทุกคนหันมาคิดว่า เรามาทำไม ? มากกว่าอาจารย์บังคับเราทำไม ? จึงได้คำตอบเหล่านี้ว่า 

1. ได้รับความรู้ความคิดอย่างมีระบบขั้นตอน                2. อ่านคิดวิเคราะห์และสรุปเรื่องราว

3. กระบวนการเขียนสรุปความ                                    4. เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองหลังจากได้เรียน

5. อยากเรียนรู้อย่างไรให้ฉลาด                                 6. วิธีคิดต่างๆ

7. ฝึกการคิดและใช้สมองมากขึ้น                               8. อยากได้ทักษะการเขียน และการพูดให้ดีขึ้น

9. อยากเขียนสรุปความเป็นและเข้าใจ    10.                   101สามารถนำความรู้ที่ได้ใน 3 วันนี้ไปสอนคนอื่นได้

         กระบวนการที่เน้นการวิเคราะห์แบบกลุ่ม ด้วยกิจกรรมที่เน้นให้ เฮฮาแบบมีสาระ ไม่อยากให้เคร่งเครียดเพราะองค์ความรู้เกิดขึ้นได้โดยการเปิดความคิดสู่การเรียนรู้ มากกว่ายัดเยียดความรู้ ผมไม่พยายามเน้นให้วิทยากรบรรยายมาก แต่ก็ใช่ว่าจะละทิ้งกระบวนการเดิมที่มีอยู่ดีแล้ว ครู-อาจารย์ทุกท่านมีองค์ความรู้ที่จะบรรยายได้อย่างละเอียด ถูกนำมาขยายผลต่อโดยการฝึกวิเคราะห์ทำผังความคิด และฝึกการทำงานเป็นทีม 


          ไม่ต่างอะไรกับการหัดเดิน เพราะแม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมง่ายๆพื้นฐาน อย่างเช่นการระดมความคิดเห็น การวาดผังความคิด การนำเสนอ เกม เพลง หรือแม้แต่การให้นักศึกษาทุกคนเช็คอิน ตนเองด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองแก่เพื่อนๆฟังก่อนเริ่มกิจกรรม ทั้งหมดนี้ก็ยังถือเป็นกระบวนการใหม่ที่น่าตื่นตาแก่ทุกคน อาจจะเป็นเพราะเดิมทีนั้นกิจกรรมพัฒนานักศึกษาเคยชินแต่การบรรยายอันเป็นการสื่อสารฝ่ายเดียวของวิทยากร เมื่อถูกปรับเปลี่ยนบางจุดจึงเป็นช่องทางในการปรับปรุงกระบวนการให้เป็นเสมือนหนึ่งนวัตกรรมใหม่


                 

              แน่นอนว่าการวางแผนทำกิจกรรมครั้งนี้ ผมมุ่งหวังเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมให้เข้ารูปเข้าทางเป็นประเด็นแรก แต่ที่ผมไม่ทิ้งประเด็นไปคือ “ทีมงานที่ทำกิจกรรมร่วมกันนั้น เราจะได้อะไรกลับมาเป็นบทเรียนให้ตนเองบ้าง ?”  สำหรับกิจกรรมเพื่อฝึกกระบวนการคิด วิเคราะห์และตัดสินใจ ครั้งนี้ผมรู้สึกได้ถึงความร่วมมือของ ทีมงานคณาจารย์ สาขาภาษาไทย ทั้งสิบกว่าชีวิต เพราะเชื่อว่าทุกคนไม่ได้มีพื้นฐานในการทำกิจกรรมที่ดีพอ แต่ว่าทุกท่านสามารถเรียนรู้ไปร่วมกันได้หากไม่ปิดกั้นตนเอง ดังนั้นหน้าที่ต่างๆจึงถูกแบ่งให้รับผิดชอบเป็นส่วนๆ โดยที่คณาจารย์ผู้ใหญ่เองก็ไฟเขียวให้เต็มที่ ตั้งแต่การกำหนดกิจกรรม การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ

             ครั้งนี้ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์บุณย์เสนอ  ตรีวิเศษ(หัวหน้า) ในครั้งนี้ก็ขอมาเป็นเพียงผู้รอรับหน้าที่เช่นเดียวกัน  การปล่อยให้ผู้ร่วมกิจกรรมฝึกคิดร่วมกัน ฝึกตัดสินใจด้วยตนเองโดยให้อาจารย์เป็นเพียงที่ปรึกษาอยู่รายรอบห้องประชุม ดำเนินไปด้วยความสนุกสนานท่ามกลางโจทย์การเรียนรู้เรื่อง “ข่าวสารบ้านเมือง กับสภาวะการตัดสินใจของปัญญาชนต่อทิศทางบ้านเมือง” จึงเป็นเรื่องถกเถียงกันอยากออกรสออกชาด ก่อนจะสรุปความมานำเสนอให้ทุกคนได้รับรู้ร่วมกัน


         

                อย่างไรก็ดี กิจกรรมครั้งนี้แม้ว่าจะประสบผลสำเร็จมากหรือน้อยก็ตาม ผมเองก็ยังถือว่านี่เป็นความสำเร็จขั้นแรกของกิจกรรมที่ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองและเป็นการเปิดรับเอากระบวนการเพื่อนำไปสู่รูปแบบที่ลงตัวและเหมาะสมกับสถานภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยเซราะกราว อย่างเรา เพราะกระบวนการแม้นว่าจะถูกคิดค้นขึ้นใหม่เอี่ยมล่าสุด หรือกระบวนการเดิมๆ หากเราสามารถประยุกต์ใช้เข้าด้วยกันก็คงเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นความหวังแก่สังคมในอนาคตได้เช่นเดียวกัน หากแต่ว่าผู้นำเองต้องเปิดใจที่จะรับเอารูปแบบกระบวนการใหม่ๆมาปรับใช้บ้างตามสมควร

                วันนี้ผมเป็นเพียงบุคคลตัวเล็กๆในรั้วมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่พยายามจะพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งของสังคมเซราะกราว (สังคมท้องถิ่น)  แต่การก้าวกระโดดนั้นคงไม่ประสบผลสำเร็จหากมหาวิทยาลัย และนักศึกษาไม่ทราบแนวทางร่วมกัน แล้วสิ่งใดเล่าจะสามารถหล่อหลอม และขยายแนวทางนี้ได้หากไม่เริ่มจากกระบวนการทางการจัดการตนเองและจัดการความรู้ในองกรของเราก่อน การก้าวเคลื่อนกับนักศึกษาตัวเล็กๆจึงเป็นเสมือนหนึ่งการเริ่มปูทางสู่การพัฒนา ไม่รู้ว่าจะ 5 ปี 10 ปี หรือนานแค่ไหน การที่ผมได้มีโอกาสเผยแพร่แนวทางกระบวนการทางกิจกรรมนิสิตลง ณ สถานที่แห่งนี้ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับคำว่า “กระบวนการพัฒนากิจกรรมนักศึกษา”......        

หมายเลขบันทึก: 536803เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีนักสันทนาการนันทนาการแล้วจะPlay & Learnใด้อย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท