พี่สอนน้อง...“กลวิธีนิเทศ ๑๔ อย่า ๑๔ จง”



พี่สอนน้อง...“กลวิธีนิเทศ ๑๔ อย่า ๑๔ จง” 

คน ๒ กลุ่มในงานนิเทศ  ศึกษานิเทศก์อาวุโสที่เรียกว่า "รุ่นพี่" กับศึกษานิเทศก์รุ่นใหม่ ที่เรียกว่า "รุ่นน้อง" ระบบพี่น้องและความต่างที่หลากหลาย ทำให้การทำงานร่วมกันเกิดสีสัน  เดี๋ยวนี้ ศึกษานิเทศก์
รุ่นใหม่เกิดขึ้นกันพรึบ ทุกคนเข้ามาด้วยความสามารถ และไต่เต้ามาจากครูสอนดี ครูสอนเก่ง กันทั้งนั้น หลายคนยังมีดีกรี “ดอกเตอร์” รับประกันคุณภาพอีกด้วย

ถึงเวลาที่ต้องถ่ายเลือดใหม่แทนเลือดเก่าในงานนิเทศ... วัฒนธรรมการทำงานแบบพี่น้อง ก็ยังคงอยู่อย่างอบอุ่น  วันใดอยู่พร้อมหน้ากันก็พอได้ยินเสียงหยอกเย้า  ครูหรือผู้บริหารที่เข้ามาติดต่อปรึกษางาน ได้รับการต้อนรับเหมือนตอบแทนที่โรงเรียนได้เคยต้อนรับ จึงถือว่าอยู่กันได้ดีมีความสุข

ศึกษานิเทศก์น้องใหม่ไฟแรงหลายคนขยันออกนิเทศโรงเรียนในเครือข่ายที่รับผิดชอบ แต่พอเวลาผ่านไปไม่ถึงปีก็พากันนั่งบ่นถึงความไม่ราบรื่นในการนิเทศ  ออกอาการหงุดหงิดกับงานที่ไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจ
ทุ่มเทใจให้

บทบาทของรุ่นพี่ถูกกระตุ้นเสียแล้ว....

เมื่อถึงโอกาสที่น้องได้ปรับทุกข์กับพี่ในบรรยากาศอันรื่นรมย์  เพื่อให้ปัญญาผ่อง สมองเปิด ก็ต้องอภิปรายกันอย่างหนักหน่วงตามประสาศึกษานิเทศก์ผู้ไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ แต่ภายหลังที่เสียน้ำลายไปมากพอดู ก็พอได้ข้อสรุปว่า ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนิเทศกันใหม่  ศน.รุ่นพี่จึงเสนอ “กลวิธีนิเทศ ๑๔ อย่า ๑๔ จง” ซึ่งผู้เขียนก็แอบจำมาจาก ศน.รุ่นพี่ เมื่อแรกบรรจุเป็น ศน.ใหม่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน และได้ถือปฏิบัติมาตลอด  คิดว่ากลวิธีนิเทศนี้ยังประยุกต์ได้กับทศวรรษการปฏิรูปการเรียนรู้รอบสอง พ.ศ.นี้
ตกลง  ศน.รุ่นน้อง ขอให้สรุปไว้เป็นคัมภีร์ปฏิบัติการนิเทศ (ฉบับปฏิรูป)

ขยายความ
“กลวิธีนิเทศ ๑๔ อย่า ๑๔ จง”
 

๑.  อย่าสอน...จงชี้แนะอย่างชาญฉลาด ด้วยองค์ความรู้ที่แม่นยำ ถูกต้อง เชื่อมโยงได้ทุกมิติ

๒. อย่าขู่...จงยกอุทาหรณ์ให้เกิดความตระหนักว่า ทำแล้วเห็นทางสำเร็จ เกิดผลดีกับเด็ก

๓. อย่าทำรู้มาก... จงฟังให้มาก  และพูดให้น้อย

๔. อย่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก....จงทำเรื่องยาก ให้เป็นเรื่องง่าย 

๕. อย่ามอบงาน.... จงแบ่งงาน  กระจายงาน สร้างเครือข่าย สร้างต้นแบบพัฒนา

๖. อย่าน้ำท่วมทุ่ง ... จงสรุปให้สั้นกระชับ ชัดเจน ฉะฉาน ตรงประเด็น

๗. อย่าดูแคลนคนไม่รู้....จงเต็มใจแนะนำช่วยเหลือ ถือเป็นธุระในการช่วยเหลือ

๘. อย่าอยู่อย่างหลีกเร้น....จงกล้านำ  กล้ารุก กล้าแสดงให้เป็นตัวอย่าง อย่างสง่างาม

๙. อย่างเค้นเอางาน.... จงช่วยเหลือเป็นเพื่อนคู่คิด ให้เกิดผลสำเร็จ ให้เกิดผลงานที่น่าชื่นชม

๑๐.  อย่าอวดภูมิ....จงสร้างการยอมรับ เชื่อมั่น ศรัทธา ในวิธีคิด วิธีทำงาน

๑๑.  อย่าเอาดีใส่ตัว...จงยกความดีให้ทีมงาน คณะทำงาน ผู้ร่วมคิด ร่วมทำโดยทั่วหน้า

๑๒.  อย่าเก่งคนเดียว... จงให้โอกาส ให้ความสำคัญ ให้กำลังใจ เพื่อนผู้นิเทศที่เก่งคนละทาง

๑๓.  อย่าชี้ถูกชี้ผิด....จงให้เหตุผล ข้อมูลสารสนเทศอย่างรอบด้าน ประกอบการพิจารณา

๑๔.  อย่ายึดตนเองเป็นศูนย์กลาง....จงพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ  แล้วจะรู้ว่า ได้ในสิ่งที่ควรได้



หมายเลขบันทึก: 536644เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณแนวคิดดีๆเช่นนี้ ที่ควรใช้นำมาขับเคลื่อนสู่การปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอค่ะ..

                

..... แนวคิดดีดี ....นี้ดีจริงๆ นะคะ ..... ขอบคุณค่ะ 

เป็นแนวปฏิบัติที่ดีมาก ขอสำเนาแจกน้องน้องนะครับ

มาเรียนรู้“กลวิธีนิเทศ ๑๔ อย่า ๑๔ จง” 
ชอบอย่าสุดท้ายค่ะ....
อย่ายึดตนเองเป็นศูนย์กลาง....จงพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ  แล้วจะรู้ว่า ได้ในสิ่งที่ควรได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท