ชีวิตที่พอเพียง ๑๙๑๐. จัดระบบ ไอซีที่ สไตล์ฝรั่งเศส



          นสพ. Financial Times วันที่ ๑๖ - ๑๗ มี.ค. ๕๖ ลงเรื่อง Screen grab ใน Section Technology โดยโปรยหัวข่าวว่า France has been accused of inhibiting the digital economy but it is not alone in its attempt to get web companies to pay their share for content and network services  สาระคือ รัฐบาลฝรั่งเศสมีท่าทีแข็งกร้าวต่อการทำธุรกิจ หรือใช้ อินเทอร์เน็ตแบบไร้ขื่อแป  ทั้งรัฐบาลที่แล้ว และรํฐบาลนี้ 

          เสียดายที่ นสพ. FT เขาไม่ยอมให้อ่านบทความฟรี จึงลิ้งค์บทความให้ไม่ได้   

          บทความบอกว่า พฤติกรรมของรัฐบาลฝรั่งเศส สะท้อนสัญชาตญาณฝรั่งเศส ต่ออุตสาหกรรมและตลาดที่ไร้วินัย 

          บทความบอกว่า ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลของ ปธน. ออลองด์ ได้ขอให้อัยการ หาทางฟ้องบริษัท สไก๊ฟ์ ที่ไม่จดทะเบียนเป็นบริษัทให้บริการเทเลคอม

          ก่อนหน้านี้ ในเดือนมกราคม ๕๖ รัฐบาลฝรั่งเศสเจรจากับ กูเกิ้ล จนกูเกิ้ลยอมจ่ายเงิน ๖๐ ล้าน ยูโร สนับสนุนกิจการของ นสพ. ฝรั่งเศส  เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ออกกฎหมายบังคับ ให้กูเกิ้ล จ่ายค่า ลิ้งค์ไปยังบทความใน นสพ. ฝรั่งเศส

          นอกจากนั้น หน่วยงาน CNIL ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังข้อมูล ของฝรั่งเศส  ยังเข้าไปตรวจสอบ นโยบายด้านเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ  โดยต้องเปิดเผยว่ามีการนำข้อมูลของผู้ใช้บริการไปทำอะไรบ้าง 

          ในตอนต้นปีนี้ ศาลฝรั่งเศสได้สั่งให้ Twitter  รายงานบุคคลที่ส่งข้อความแสดงความเกลียดชังทางเชื้อชาติ  

          การที่รัฐบาลฝรั่งเศสตั้งกฎเกณฑ์ และปฏิบัติการ ที่เข้มงวดต่อธุรกิจ อินเทอร์เน็ต เช่นนี้ มีข้อดีและข้อเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร 

          บทความ บอกว่า มีคนตำหนิรัฐบาลที่ทำเช่นนี้  ก่อผลเสียหายต่อธุรกิจ start-up ของฝรั่งเศส  และตำหนิว่า รัฐบาลฝรั่งเศส มองธุรกิจดอจิตัลในทางลบเกินไป 

          รมต. ไอซีที ของฝรั่งเศส ได้สั่งการให้บริษัท Free Mobile (ซึ่งเป็นบริษัทเทเลคอมของฝรั่งเศส) เลิกปิดกั้นการโฆษณาออนไลน์  ซึ่ง Free Mobile มีเจตนาปิดกั้น YouTube ของบริษัทกูเกิ้ล เพราะไม่จ่ายค่า network ที่ YouTube ใช้

          รมต. ท่านนี้ (เป็นผู้หญิง) กำลังจะใส่หลักการ “net neutrality” เข้าไปในกฎหมาย ไอซีที ของฝรั่งเศส  ซึ่งจะทำให้บริษัทบริษัทเทเลคอมต้องเก็บค่าบริการจากบริษัทให้บริการข้อมูลข่าวสารในอัตราเดียวกันหมด  ซึ่งบริษัทเทเลคอม ย่อมไม่ชอบ 

          รายละเอียดในบทความมีมาก และอ่านเข้าใจยากสำหรับผม  แต่ก็ให้ความประทับใจว่า ประเทศฝรั่งเศส เขามีจารีตของการที่ฝ่ายการเมืองทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่นักธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน  และอย่างรู้เท่าทัน  เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศในภาพรวม

          ทำให้อดย้อนมาคิดถึงประเทศไทยไม่ได้ ว่า เนื่องจากนักการเมืองที่ครอบงำการเมืองไทยในขณะนี้ เป็นคนที่เก่ง (แต่เอาเปรียบสังคม) ในด้านนี้  และมีพฤติกรรมใช้ความฉลาดหาประโยชน์เข้าตัวมาตลอด  การจัดระบบไอซีที โดยนักการเมืองไทย จะไว้ใจในความมุ่งมั่นรักษาประโยชน์ของส่วนรวมได้แค่ไหน

          น่าห่วงเรื่องคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ในการดูแลระบบ ไอซีที่ ไทย  


วิจารณ์ พานิช

๑๙ มี.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 536132เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งฟังอ.ยง ภู่วรวรรณ บรรยายเรื่องจริยธรรมในงานวิจัยไปเมื่อไม่นานมานี้ สิ่งที่คิดขึ้นมาทันทีก็คือจริยธรรมในหมู่นักการเมืองที่ใช้สิทธิบริหารบ้านเมืองเราอยู่ตอนนี้นะคะ กฎหมายเอาผิดอะไรไม่ได้ เราน่าจะมีกลไกในการเปิดเผยความผิดทางจริยธรรมกันบ้างนะคะ จะรอสื่อก็ท่าทางจะไม่ค่อยแม่นเรื่องนี้เหมือนกัน ตัวอย่างที่เห็นในบ้านเมืองอื่นก็เป็นแค่มาตรฐานของเขา ของเราก็จะทำแบบนี้แหละ...อ่านแล้วก็ได้แต่คิด...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท