แนวโน้มหลักสูตรในศตวรรษที่ 21


แนวโน้มหลักสูตรในศตวรรษที่  21

  ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology :ICT) ทำให้ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนใน  ยุคศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างไปจากยุคศตวรรษที่ 20  เหตุเนื่องจากงานที่เคยใช้คนทำงานกับเครื่องจักรกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโทรคมนาคมได้ขยายขีดความสามารถจนสามารถทำงานแทนที่คนได้  ทำให้สัดส่วนแรงงานลดลงเกิดขึ้นในงานที่ใช้สัมผัสรับรู้อย่างจำเจและงานที่ใช้แรงงานแบบซ้ำๆซากๆ ซึ่งเป็นงานที่ป้อนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำแทน แต่สัดส่วนแรงงานระดับชาติบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในงานที่เน้นการคิดอย่างผู้เชี่ยวชาญและต้องใช้  การสื่อสารที่ซับซ้อนซึ่งเป็นงานที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำแทนได้

  องค์ประกอบของการคิดอย่างเชี่ยวชาญคือ การเชื่อมโยงแบบแผนหรือระบบอย่างมีประสิทธิผลโดยใช้ความรู้อย่างละเอียดและการรู้เท่าทันความคิด (metacognition) ซึ่งการค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองโดยที่วิธีการมาตรฐานทั่วไปใช้ไม่ได้ผลคือทักษะที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ในโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีการสื่อสารอันซับซ้อน โดยในแต่ละวินาทีมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากมายทั้งแบบวัจนภาษา (verbal) และแบบอวัจนภาษา  (nonverbal) โดยที่ทิศทางของข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะการสื่อสารจะพัฒนาไปอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นคนจึงต้องมีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารที่ซับซ้อนขึ้นจากยุคเดิม ต้องมีไหวพริบในการตอบคำถามเฉพาะหน้าอย่างฉับพลัน และควบคุมการเจรจา ถกเถียง ที่ไม่เป็นระเบียบได้อย่างราบรื่น หรือถ้าเป็นครูก็ต้องเป็นครูที่เชี่ยวชาญในการสื่อสารและมีไหวพริบในการจัดการและควบคุมห้องเรียนที่วุ่นวายให้เป็นห้องเรียนที่มีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ราบรื่น และสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ที่ชัดเจน

  ทักษะการร่วมมือทำงานนับว่าเป็นอีกทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อคนในศตวรรษที่ 21 มากเพราะความสำเร็จของงานในระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมมากขึ้น โดยที่ความเชี่ยวชาญและบทบาทของสมาชิกในทีมต่างช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งพนักงานในศตวรรษที่ 21 จะสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้โดยใช้ปฏิสัมพันธ์ผ่านสื่อ (mediated interaction) กับเพื่อนร่วมงานในอีกเมือง อีกประเทศ หรืออีกซีกโลกได้โดยไม่เคยพบปะกันเลย ดังนั้นทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อร่วมทำงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและทักษะนี้น่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นในความเจริญที่มีอย่างไม่หยุดยั้ง

  จากความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนี้ทำให้เราได้รับข้อมูลข่าวสารมากมายที่ไหล่บ่าเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในศตวรรษที่ 21 เราคงไม่ค้นหาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุดอย่างในศตวรรษที่ 20  แต่เราสามารถค้นหาข้อมูลจากโปรแกรมค้นหาสมัยใหม่ซึ่งอาจได้ข้อมูลหลายหมื่นหลายแสนชิ้นภายในไม่กี่วินาที แต่ข้อมูลเหล่านั้นคงมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  หรืออาจพบข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ดังนั้นความสามารถในการกรองข้อมูลข่าวสารจึงเป็นอีกทักษะหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้คนสามารถเลือก แยกแยะ และสกัดเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่สำคัญต่อการตัดสินใจ เพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

  เมื่อพิจารณาถึงการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา  ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2552: 25) ที่ได้นำเสนอแนวทางการจัด  การเรียนรู้โดยเน้น “การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเป็นเครื่องมือที่จะนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายของหลักสูตร ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน ได้แก่ กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการทางสังคม กระบวนการเผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กระบวนการปฏิบัติ ลงมือทำจริง กระบวนการจัดการ กระบวนการวิจัย กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง และกระบวนการพัฒนาลักษณะนิสัย ซึ่งผู้สอนจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  เมื่อนำมาเทียบเคียงกับทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ที่ควรได้รับการพัฒนาแล้วนับว่าเป็นหลักสูตรที่มีความพยายามให้ครูผู้สอนได้พัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น แต่ยังไม่เน้นย้ำที่ชัดเจนในเรื่องของทักษะสำคัญในการใช้เทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโรงเรียนในปัจจุบันนี้ยังถือว่าเป็นแนวทางเดิมแบบศตวรรษที่ 20 ซึ่งใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิผลของการสอนแบบเก่า เช่น การใช้โปรแกรมประมวลผลคำเพื่อเพิ่มผลงาน การใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน การใช้โปรแกรมช่วยคำนวณข้อมูล ซึ่งเป็นการเพิ่มความสะดวกในการทำงาน แต่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากไอซีทีได้อย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตีความ ตัดสินใจ และใช้สารสนเทศในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานและการใช้ชีวิตของคนในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นแนวโน้มการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาครูและผู้เรียนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

กรอบความคิดหลักสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

  เพื่อให้เห็นฐานความคิดและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 ที่ชัดเจน จึงได้นำเสนอกรอบความคิดเชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ขององค์กรและบุคคลต่างๆ ไว้ดังต่อไปนี้ (วรพจน์  วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์, 2554: 118-137)

  1. กรอบความคิดของภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills, 2007) ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21ที่ถูกนำไปใช้อ้างอิง  อย่างกว้างขวาง ดังนี้

    1.1 วิชาแกน (core subject) พระราชบัญญัติการศึกษาพื้นฐานถ้วนหน้า ค.ศ. 2001  (No Child Left Behind Act of 2001) ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดวิชาแกนที่จำเป็นต้องเรียนรู้ไว้ คือ วิชาภาษาอังกฤษ การอ่าน ศิลปะการใช้ภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ หน้าที่พลเมือง การปกครอง เศรษฐศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์

    1.2 เนื้อหาสำหรับศตวรรษที่ 21 เนื้อหาในสาขาใหม่ๆ ที่สำคัญต่อความสำเร็จในที่ทำงานและชุมชน แต่โรงเรียนต่างๆในทุกวันนี้ไม่ได้เน้นในการนำไปสอน ได้แก่ จิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง และความตระหนักในสุขภาพและสวัสดิภาพ

    1.3 ทักษะการเรียนรู้และการคิด นอกจากการเรียนรู้เนื้อหาวิชาการแล้ว นักเรียนจำเป็นต้องรู้จักวิธีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รู้จักใช้สิ่งที่เรียนมาอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ ทักษะการเรียนรู้และการคิด ประกอบด้วย การคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการสร้างสรรค์และผลิตนวัตกรรม ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการเรียนรู้ตามบริบท และทักษะพื้นฐานด้านข้อมูลและสื่อ

    1.4 ความรู้พื้นฐานไอซีที (ICT literacy) ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในบริบทของการเรียนรู้วิชาแกน นักเรียนต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นเพื่อเรียนรู้เนื้อหาและทักษะ และจะได้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ไขปัญหา การใช้ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การผลิตนวัตกรรม และการร่วมมือทำงาน

    1.5 ทักษะชีวิต ทักษะชีวิตที่สำคัญที่ควรส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้แก่ ความเป็นผู้นำ ความมีจริยธรรม การรู้จักรับผิดชอบ ความสามารถในการปรับตัว การรู้จักเพิ่มพูนประสิทธิผลของตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ทักษะในการเข้าถึงคน ความสามารถในการชี้นำตนเอง และความรับผิดชอบต่อสังคม

  2. กรอบความคิด enGauge ของ NCREL/Metiri Group (2003)

    ห้องวิจัยการศึกษาเขตภาคกลางตอนเหนือ (NCREL) และกลุ่มเมทิรี (Metiri Group) ได้เสนอกรอบความคิดสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในปี ค.ศ. 2003 ไว้โดยกรอบความคิด enGauge ได้เพิ่ม “ความรู้พื้นฐานเชิงทัศนาการ” (visual literacy) ลงไปว่าเกี่ยวข้องกับความรู้พื้นฐานทางข้อมูลข่าวสารและรวม “ความอยากรู้”“ความกล้าเสี่ยง” และ “การจัดการความซับซ้อน” เข้าไว้ในทักษะหลักด้วย กรอบความคิดนี้เน้น “การจัดลำดับความสำคัญ” การวางแผน และการจัดการเพื่อมุ่งผลลัพธ์”  และเห็นว่า “ความรู้พื้นฐานทางพหุวัฒนธรรม”(multicultural literacy) เป็นองค์ประกอบที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้เสนอกรอบความคิดที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21ไว้อีกดังนี้

    2.1 ความรู้พื้นฐานในยุคดิจิตอล ได้แก่

-ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยี

-ความรู้พื้นฐานเชิงทัศนาการและข้อมูล

-ความรู้พื้นฐานทางพหุวัฒนธรรมและจิตสำนึกต่อโลก

    2.2 การคิดเชิงประดิษฐ์ ได้แก่

-ความสามารถในการปรับตัว

-การจัดการความซับซ้อน

-ความสามารถในการชี้นำตนเอง

-ความอยากรู้ ความสร้างสรรค์

-ความกล้าเสี่ยง

-การคิดระดับสูง

-การใช้เหตุผลที่ดี

    2.3 การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

-การทำงานเป็นทีม ความร่วมมือ

-ทักษะด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

-ความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม และความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง

-การสื่อสารแบบโต้ตอบ

    2.4 การเพิ่มผลิตผลระดับสูง  ได้แก่

-การจัดลำดับความสำคัญ

-การวางแผน

-การจัดการเพื่อมุ่งผลลัพธ์

-การใช้เครื่องมือจริงอย่างมีประสิทธิภาพ

-ความสามารถในการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและเหมาะสม

  3. กรอบความคิด องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD, 2005)

  องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ไว้ในปี ค.ศ. 2005 ดังนี้

  3.1 ความสามารถในการใช้เครื่องมืออย่างมีปฏิสัมพันธ์ รู้จักใช้ภาษา สัญลักษณ์ และเนื้อหาข้อความอย่างมีปฏิสัมพันธ์ ใช้ความรู้และข้อมูลข่าวสารอย่างมีปฏิสัมพันธ์ และใช้เทคโนโลยีอย่างมีปฏิสัมพันธ์

  3.2 ความสามารถด้านปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มที่หลากหลาย โดยมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น ให้ความร่วมมือและทำงานเป็นทีม จัดการและแก้ไขความขัดแย้ง

    3.3  ความสามารถในการโต้ตอบโดยอิสระ โดยคำนึงถึงภาพรวม วางแผนชีวิตและดำเนินตามโครงการส่วนตัวที่วางไว้ ปกป้องและยืนยันสิทธิ ผลประโยชน์ ข้อจำกัด และความต้องการ

  4. สภาผู้นำแห่งชาติเพื่อการศึกษาเสรีและสัญญาของอเมริกา (LEAP, 2007)

  สภาผู้นำแห่งชาติเพื่อการศึกษาเสรีและสัญญาของอเมริกาได้เสนอกรอบความคิดเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนและต่อเนื่องไปถึงการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

  4.1 ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมมนุษย์และโลกทางกายภาพและโลกธรรมชาติ ได้แก่ในเรื่อง วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา และศิลปะ โดยเน้นการศึกษาเพื่อตอบคำถามสำคัญ ทั้งในยุคนี้และที่คงอยู่ทุกยุคทุกสมัย

  4.2 ทักษะทางปัญญาและเชิงปฏิบัติ ได้แก่ การตั้งคำถามและการวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ การสื่อสารด้วยการเขียนและพูด ความรู้พื้นฐานในเรื่องปริมาณ ความรู้พื้นฐานในข้อมูลข่าวสาร การทำงานเป็นทีมและการแก้ไขปัญหา โดยมีการฝึกปฏิบัติให้ทั่วทุกหลักสูตร ในลักษณะที่มีความท้าทายของปัญหา โครงการและมาตรฐานการปฏิบัติ และประเมินผล

  4.3 ความรับผิดชอบส่วนตัวและต่อสังคม ได้แก่ ความรู้และการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

    4.4 การเรียนรู้แบบบูรณาการ ได้แก่ การสังเคราะห์และความสำคัญขั้นสูงในการศึกษาทั่วไปและเฉพาะทาง โดยสาธิตผ่านการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และความรับผิดชอบในสภาพแวดล้อมใหม่และปัญหาที่ซับซ้อน

  5. กรอบความคิด สมาคมเทคโนโลยีการศึกษานานาชาติ (ISTE, 2007) 

  สมาคมเทคโนโลยีการศึกษานานาชาติ (ISTE)  ได้เสนอมาตรฐานทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความสำคัญต่อนักเรียนในศตวรรษที่ 21ไว้ในปี ค.ศ. 2007 ดังนี้

    5.1 ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยนักเรียนสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ ผลิตความรู้ และพัฒนานวัตกรรมที่เป็นผลลิตและกระบวนการโดยใช้เทคโนโลยี ในด้าน

  -การประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีเพื่อสร้างแนวคิดใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือกระบวนการใหม่

  -การสร้างงานที่เป็นต้นแบบเพื่อสื่อถึงตัวตนหรือกลุ่ม

  -การใช้โมเดลและการจำลองเพื่อสำรวจระบบและปัญหาที่ซับซ้อน

  -การหาแนวโน้มและคาดการณ์ความเป็นไปได้

    5.2 การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน โดยนักเรียนสามารถใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลและสภาพแวดล้อมทางดิจิตอลเพื่อสื่อสารและทำงานร่วมกัน รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทางไกลสำหรับตนเองและผู้อื่น ด้วยการกระทำต่อไปนี้

  -การมีปฏิสัมพันธ์ ให้ความร่วมมือ และเผยแพร่งานร่วมกับเพื่อน ผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลอื่นๆ โดยใช้สื่อดิจิตอลและสภาพแวดล้อมทางดิจิตอลต่างๆ

  -การสื่อสารข้อมูลและความคิดไปสู่ผู้รับจำนวนมากอย่างมีประสิทธิผล โดยใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ

  -การพัฒนาความเข้าใจทางวัฒนธรรมและจิตสำนึกต่อโลกด้วยการคลุกคลีกับผู้เรียนจากวัฒนธรรมอื่น

  -การช่วยเหลือสมาชิกในโครงการให้ผลิตผลงานที่เป็นต้นแบบและช่วยแก้ไขปัญหา

    5.3 ความเชี่ยวชาญในการค้นคว้าหาข้อมูล โดยนักเรียนสามารถใช้เครื่องมือดิจิตอลเพื่อรวบรวม ประเมิน และใช้ข้อมูล ในด้าน

  -การวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางในการสืบค้น

  -การค้นหา จัดระเบียบ วิเคราะห์ ประเมิน สังเคราะห์ และใช้ข้อมูลอย่างมีจริยธรรม จากแหล่งข้อมูลและสื่อต่างๆ

  -การประเมินและคัดเลือกแหล่งข้อมูลและเครื่องมือดิจิตอลตามความเหมาะสมกับภารกิจนั้นๆ

  -การประมวลข้อมูลและรายงานผล

    5.4 การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ โดยนักเรียนสามารถแสดงทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อวางแผนและวิจัย บริหารโครงการ แก้ปัญหา และตัดสินใจจากข้อมูล โดยใช้เครื่องมือดิจิตอลและแหล่งข้อมูลดิจิตอลที่เหมาะสม ในด้าน

  -การกำหนดและนิยามปัญหาที่แท้จริงและกำหนดคำถามสำคัญเพื่อการค้นคว้า

  -การวางแผนและบริหารกิจกรรมเพื่อหาคำตอบหรือทำโครงการให้ลุล่วง

  -การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคำตอบ และ/หรือเพื่อตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูล

  -การใช้กระบวนการต่างๆ และแนวทางที่หลากหลายเพื่อสำรวจทางเลือกอื่นๆ

    5.5 ความเป็นพลเมืองดิจิตอล (digital citizenship) โดยนักเรียนสามารถแสดงความเข้าใจประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม และความเป็นมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และปฏิบัติตนอย่างมีจริยธรรมและตามครรลองกฎหมาย ด้วยการ

  -การสนับสนุนและฝึกใช้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย ถูกกฎหมาย และอย่างรับผิดชอบ

  -การแสดงทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือ การเรียนรู้ และการเพิ่มผลผลิต

  -การแสดงให้เห็นว่าตนเองรู้จักรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  -การแสดงความเป็นผู้นำในฐานะพลเมืองดิจิตอล

    5.6 การใช้งานเทคโนโลยีและแนวคิด โดยนักเรียนสามารถแสดงให้เห็นว่าเขาเข้าใจแนวคิด ระบบ และการทำงานของเทคโนโลยี ในด้าน

  -ความเข้าใจและการใช้ระบบเทคโนโลยี

  -การเลือกและใช้โปรแกรมประยุกต์อย่างมีประสิทธิผล

  -การแก้ไขปัญหาของระบบและโปรแกรมประยุกต์ได้

  -การรู้จักใช้ความรู้ที่มีในปัจจุบันเพื่อเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ

  6. กรอบความคิด ศูนย์บริการทดสอบการศึกษา (ETS, 2007)  ได้เสนอกรอบความคิดสำหรับความรู้พื้นฐานทางดิจิตอลและไอซีทีไว้ในปี ค.ศ. 2007 เช่นกันดังนี้

    6.1 ความสามารถในการรู้คิด ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ การอ่านออกเขียนได้ การคำนวณพื้นฐาน การแก้ไขปัญหา และความรู้พื้นฐานทางมิติสัมพันธ์/ทัศนาการ

    6.2 ความสามารถทางเทคนิค เป็นองค์ประกอบของความรู้พื้นฐานทางดิจิตอล ได้แก่ ความรู้พื้นฐานด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โปรแกรม เครือข่าย และองค์ประกอบของเทคโนโลยีดิจิตอล

    6.3 ความสามารถด้านไอซีที เป็นการหลอมรวมและการประยุกต์ใช้ทั้งทักษะในการรู้คิดและทักษะทางเทคนิค ซึ่งถูกมองว่าเป็นใบเบิกทาง ซึ่งความสมรรถนี้ทำให้คนเราใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และอาจถึงกับทำให้เกิดนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งความรู้พื้นฐานด้านไอซีทีนี้มี 5 ระดับคือ

  -ระดับเข้าถึง เช่น รู้จักเลือกเปิดอีเมลในกล่องจดหมายที่ควรอ่าน

  -ระดับจัดการ เช่น ระบุและจัดระเบียบข้อมูลในกล่องจดหมาย

  -ระดับบูรณาการ เช่น สรุปประโยชน์ของหลักสูตรอบรมที่บริษัทจัดขึ้น

  -ประเมิน เช่น ตัดสินใจได้ว่าควรจัดหลักสูตรใดต่อในปีหน้า โดยพิจารณาจากข้อมูลการเข้าเรียนปีก่อน

  -สร้างสรรค์ เช่น เขียนอีเมลข้อเสนอแนะส่งให้รองประธานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์

  7. กรอบความคิด ของ เฮนี เจงกินส์ และคณะ (Jenkins et al., 2009) ซึ่งได้เสนอรายการความรู้พื้นฐานทางดิจิตอล ดังนี้

    7.1 การเล่น เป็นความสามารถในการลองสิ่งที่อยู่รอบตัวซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ  การแก้ปัญหา

    7.2 การแสดงบทบาท เป็นความสามารถในการใช้อัตลักษณ์อื่นเพื่อพลิกแพลงเฉพาะหน้าและเพื่อการค้นพบ

    7.3 การจำลอง เป็นความสามารถในการตีความและสร้างโมเดลที่สะท้อนกระบวนการจริง

    7.4 การหยิบฉวย เป็นความสามารถในการเลือกตัวอย่างที่น่าสนใจและผสมเนื้อหาสื่อขึ้นมาใหม่

    7.5 การทำงานหลายอย่าง เป็นความสามารถในการสำรวจสิ่งรอบตัวอย่างรวดเร็ว แล้วเบนความสนใจไปที่รายละเอียดสำคัญได้ตามต้องการ

    7.6 การรู้คิดแบบกระจาย เป็นความสามารถในการใช้เครื่องมือแบบโต้ตอบเพื่อขยายศักยภาพทางความคิด

    7.7 การใช้ปัญญาแบบหมู่คณะ เป็นความสามารถในการรวมพลังความรู้และเปรียบเทียบข้อคิดเห็นกับผู้อื่นเพื่อเป้าหมายร่วมกัน

    7.8 การใช้ดุลพินิจ เป็นความสามารถในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน

    7.9 การกำกับทิศทางผ่านสื่อ เป็นความสามารถในการติดตามทิศทางของเรื่องราวและข้อมูลไปมาระหว่างสื่อกลางต่างๆ

    7.10 การสร้างเครือข่าย เป็นความสามารถในการค้นหา สังเคราะห์ และกระจายข้อมูลข่าวสาร

    7.11 การเจรจา เป็นความสามารถในการเดินทางไปในหลากหลายพื้นที่ ตระหนักถึงความแตกต่างและเคารพมุมมองอันหลากหลาย รวมถึงทำความเข้าใจและเฝ้าติดตามบรรทัดฐานทางเลือก

  8. กรอบความคิด ของ ดีดี้ (Dede, 2005) ซึ่งได้เสนอรูปแบบการเรียนรู้ในศตวรรษ  ที่ 21 ไว้ดังนี้

    8.1 ความคล่องแคล่วในการใช้สื่อหลายรูปแบบ  เป็นการประเมินค่าสื่อแต่ละแบบตามประเภทของการสื่อสาร กิจกรรม ประสบการณ์ และการแสดงออก

    8.2 การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นการแสวงหา กลั่นกรอง และสังเคราะห์ประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น แทนที่จะค้นหาและดูดซับข้อมูลจากแหล่งที่ดีที่สุดเพียงแหล่งเดียวด้วยตามลำพัง

    8.3 การแสดงออกผ่านการนำเสนอที่ไม่เป็นลำดับเชิงเส้น เป็นการจำลองเรื่องราวและสร้างเว็บเพื่อบรรยายความเข้าใจแทนที่จะเขียนเป็นรายงาน

    8.4 การร่วมออกแบบโดยครูและนักเรียน เป็นการปรับรูปแบบประสบการณ์การเรียนรู้ให้เข้ากับความต้องการและความชอบของแต่ละคน

9.  กรอบความคิด 5 จิตเพื่ออนาคต (Five minds for the Future) ของ Howard Gardner

  Five minds for the Future เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ Howard Gardner  นักวิชาการด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนเรื่อง Frame of  Minds และ Changing Minds ที่เคยจุดประเด็นความสำคัญของ ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) จนโด่งดังไปทั่วทั้งวงการศึกษา ในหนังสือ เรื่อง Five minds for the Future นี้ได้ชี้ให้เห็นและเน้นความสำคัญของ “ความฉลาดหรือทักษะ” ซึ่ง Gardner ใช้แทนด้วยคำว่า “จิต” (Mind) ทั้ง 5 ประการ ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้านในโลกยุคศตวรรษที่ 21 (Gardner.2006:1-20) ซึ่งจิตทั้ง 5 นั้นประกอบไปด้วย

  9.1 จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น ทำเป็น ปรับปรุง ประยุกต์ สิ่งที่เล่าเรียนมา และพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  9.2 จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) เป็นการสั่งสม ต่อยอด และสร้างนวัตกรรมความรู้  โดยการเลือกสรรข้อมูลที่สำคัญจากแหล่งข้อมูลที่มากมายหลากหลาย แล้วจัดกระทำข้อมูล ทำความเข้าใจกับข้อมูลและประเมินข้อมูล โดยปราศจากอคติ แล้วผสมผสาน(สังเคราะห์) ข้อมูลนั้นให้เป็นข้อมูลใหม่ที่มีความหมายต่อตนเองและผู้อื่น

  9.3 จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creating Mind) เป็นการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่แตกต่างไปจากเดิม

  9.4 จิตแห่งความเคารพ (Respectful Mind) เป็นการเปิดใจกว้างพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ทั้งของบุคคลและกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย อย่างเห็นอกเห็นใจ และเป็นไปในทางสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างกัน

  9.5 จิตแห่งจริยธรรม (Ethical Mind) เป็นการมีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตอบสนองประโยชน์ส่วนตน

Gardner ได้กล่าวว่า “บุคคลจะสามารถเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จทั้งในด้าน  การทำงาน และการดำเนินชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ได้จะต้องมีจิตทั้ง 5 ประการ ประกอบรวมอยู่ในตัวของคนๆนั้น นอกจากนี้จิตทั้ง 5 ยังจะช่วยจรรโลงให้สังคมโลกในอนาคตเป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น”  แสดงให้เห็นว่า Gardner เน้นว่าจิตทั้ง 5 นั้นมีความสำคัญเป็น อย่างมากต่อมนุษย์ในโลกยุคใหม่ โดยที่บุคคลจะต้องมีครบทั้ง 5 จิต จะขาดจิตใดจิตหนึ่งไปเสียไม่ได้ เพราะจิตทั้ง 5 มีผลต่อการพัฒนาตัวบุคคลทั้งในแง่การทำงาน การดำเนินชีวิต และสังคมโดยรวม ซึ่งจิตทั้ง 5 จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนชุมชน สังคม และประเทศชาติให้ก้าวไปสู่จุดหมายของชาติ และยืนหยัดในกระแสของการแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

  จากกรอบแนวคิดของทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าโดยทั่วไปมีความสอดคล้องกัน แต่กรอบความคิดทางเลือกอื่นได้เพิ่มเติมหรือเน้นย้ำทักษะบางประการที่อยู่นอกเหนือจากกรอบความคิดของภาคี โดยสิ่งที่เพิ่มเติมนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการคือ

สิ่งที่เพิ่มเติมประการแรกคือ กลุ่มอื่นๆที่ชี้ให้เห็นว่าทักษะย่อยในกรอบความคิดของภาคี นั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ทักษะย่อย “การแก้ไขปัญหาของระบบและโปรแกรมประยุกต์”  ที่ ISTE เสนอนั้นสามารถจัดอยู่ในกลุ่มความรู้พื้นฐานไอซีทีภายในกรอบความคิดของภาคีได้ด้วย ซึ่งก็ต้องใช้ทักษะพื้นฐานที่เป็น “ความสามารถทางเทคนิค ความรู้พื้นฐานด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โปรแกรม เครือข่าย และองค์ประกอบของเทคโนโลยีดิจิตอล”  ที่สนับสนุนโดย ETS การเน้นย้ำทักษะย่อยเหล่านี้ช่วยให้เราสังเกตเห็นวิธีประเมินทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ครูส่วนใหญ่มักมองข้ามในวัฒนธรรมการเรียนการสอนในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น นักเรียนแทบไม่มีโอกาสเรียนรู้ การหาทางแก้ปัญหา” เพราะสัญชาตญาณแล้วครูย่อมไม่ต้องการให้มีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ ในระหว่างการสอน

สิ่งที่เพิ่มเติมประการที่สอง คือ กลุ่มอื่นๆ เน้นประเด็นที่ตนรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญเพียงพอในกรอบความคิดของภาคี เช่น กรอบความคิดของ OECD เน้นการที่ “นักเรียนลงมือปฏิบัติโดยอิสระ” โดยจัดเป็นความสามารถหลัก ซึ่งตรงกับวัฒนธรรมในโรงเรียนอเมริกันปัจจุบัน ในทำนองเดียวกันกรอบความคิดของ NCREL/Metiri เน้น “ความกล้าเสี่ยง” ของนักเรียน แต่คุณสมบัตินี้แทบไม่มีทางได้รับการสนับสนุนจากครูในสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะตอกย้ำเป็นพิเศษว่าทักษะเหล่านี้สำคัญต่อการทำงานและการเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21

คุณลักษณะที่สำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

  จากแนวคิดขององค์กร ผู้ที่เกี่ยวข้อง และนักการศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ที่ควรจะได้รับการพัฒนามี 3 องค์ประกอบหลักดังนี้

  1. ด้านความรู้ ความรู้ที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21  ประกอบด้วย จิตสำนึกต่อโลก  การเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ  ความเป็นพลเมือง วัฒนธรรมมนุษย์และโลกทางกายภาพและโลกธรรมชาติ สุขภาพและสวัสดิภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความรู้พื้นฐานเชิงทัศนาการ” (visual literacy)  ความรู้พื้นฐานทางข้อมูลข่าวสาร ความรู้พื้นฐานทางพหุวัฒนธรรม (multicultural literacy) และความรู้พื้นฐานในเรื่องปริมาณ

2. ด้านทักษะการเรียนรู้และการคิด ทักษะการเรียนรู้และการคิดที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21  ประกอบด้วย  ความอยากรู้/จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) การคิดระดับสูง การคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการแก้ปัญหา จัดการและแก้ไขความขัดแย้ง ทักษะการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์และผลิตนวัตกรรม ทักษะการทำงานเป็นทีม/การทำงานร่วมกัน/การสร้างเครือข่าย ทักษะปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล/การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทักษะการเรียนรู้ตามบริบท ทักษะด้านไอซีที ทักษะการใช้วิธีการเรียนรู้ ทักษะการใช้ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร  ทักษะการผลิตนวัตกรรม ทักษะการจัดลำดับความสำคัญ ทักษะการวางแผนและการจัดการเพื่อมุ่งผลลัพธ์ ทักษะการใช้เครื่องมือจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและเหมาะสม ทักษะการตั้งคำถามและการวิเคราะห์ ทักษะการหาแนวโน้มและคาดการณ์ความเป็นไปได้ และทักษะการรู้คิด

3. ด้านทักษะชีวิต ทักษะชีวิตที่สำคัญที่ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21  ประกอบด้วย ความเป็นผู้นำ  ความสามารถในการปรับตัว การใช้เหตุผลที่ดี ความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และในฐานะพลเมือง  การเข้าถึงคน/การเจรจา การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น  ความสามารถในการชี้นำตนเอง ความกล้าเสี่ยง การจัดการความซับซ้อน การรู้จักเพิ่มพูนประสิทธิผลของตนเอง  ความสามารถในการสื่อสารแบบโต้ตอบ/การโต้ตอบโดยอิสระ การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง ในระดับท้องถิ่นและโลก ความเป็นพลเมืองดิจิตอล (digital citizenship)  จิตแห่งความเคารพ(Respectful Mind)และจิตแห่งจริยธรรม (Ethical  Mind) 

แนวโน้มหลักสูตรในศตวรรษที่ 21

จากข้อสรุปว่าคุณลักษณะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ควรจะได้รับการพัฒนามีสามด้านคือ  ด้านความรู้  ด้านทักษะการเรียนรู้และการคิดและด้านทักษะชีวิต ผู้เขียนได้นำมาแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

1. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร

  เนื่องจากโลกมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ  การสื่อสาร จนเรียกได้ว่าโลกนี้เกิดความเป็นพลเมืองดิจิตอล (digital citizenship)  เราจึงได้รับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายที่เข้ามาอย่างไร้ระเบียบ รวดเร็ว ซึ่งอาจตรงกับความต้องการของเราบ้าง ไม่ตรงกับความต้องการบ้าง หรืออาจมีทั้งความจริง และความเท็จที่ต้องมีการกลั่นกรองใหม่ ดังนั้นหลักสูตรในศตวรรษที่ 21 จึงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้

หมายเลขบันทึก: 535839เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท