การพัฒนาสิทธิของนายสมพงษ์ จอทอ เยาวชนชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งประสบปัญหาความไร้สัญชาติ และบุพการีอาจมีความรับผิดทางอาญา เนื่องจากการบันทึกชื่อบุพการีในสูติบัตรไม่ตรงกับความเป็นจริง


---------------------------------

กรณีศึกษานี้จะใช้ในการนำเสนอในสัมมนาวิชาการเรื่อง“ข้อกฎหมายและแนวทางให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสถานะทางบุคคล : กรณีชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดดและหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย” ในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสะท้อนตัวอย่างปัญหาสถานะและสิทธิของเด็กด้อยโอกาสแห่งชุมชนบนพื้นที่สูง

---------------------------------

จากการสำรวจปัญหาสิทธิและสถานะของบุคคลบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิม ผ่านตัวอย่างกรณีศึกษาของนายสมพงษ์ จอทอ เยาวชนชาติพันธุ์อาข่า ไร้สัญชาติ และอาจมีความรับผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จ เพื่อพัฒนาสิทธิของนายสมพงษ์ จึงต้องพิจารณาเสนอแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ดังนี้ 

ดูข้อเท็จจริงของกรณีศึกษาได้ที่ : http://www.gotoknow.org/posts/535541

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

ประเด็นแรก : นายสมพงษ์มีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ อย่างไร

พิจารณาสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดของนายสมพงษ์จากจุดเกาะเกี่ยว 3 ประการสำคัญ คือ การมีบิดาเป็นคนสัญชาติไทย หรือการมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย หรือการเกิดในประเทศไทย กล่าวคือ

(ก)  สิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบุพการี

เมื่อปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2555 นายอรรถชัย และนางเบญจวรรณ อาโบ บิดาและมารดาของนายสมพงษ์ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยแล้วตามข้อ 11[1] แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 จึงเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าบุพการีเป็นชาวเขาชาติพันธุ์อาข่าดั้งเดิม ซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวไว้แล้ว และมีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

พิจารณาได้ว่า

§  ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 นายสมพงษ์จึงย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา 7[2] ประกอบมาตรา 10[3]แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และ

§  ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 นายสมพงษ์จึงย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 7(1)[4] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

อย่างไรก็ดี แม้ว่านายสมพงษ์จะมีสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบุพการี แต่ปัจจุบันนายสมพงษ์มีพยานหลักฐานเพียงสูติบัตรซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ และไม่มีถ้อยคำใดในเอกสารแสดงถึงความสัมพันธ์ของตนกับบุพการีเลยำ ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันความสัมพันธ์ทางสายโลหิตระหว่างตนกับมารดา หรือหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันความสัมพันธ์ทางสายโลหิตระหว่างตนกับบิดา (ต้องมีหนังสือรับรองการพิสูจน์ความเป็นบิดาประกอบด้วย) นายสมพงษ์ยังคงจึงถูกถือเป็นคนต่างด้าว และยังตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง

(ข)  สิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดน

นายสมพงษ์เกิดในประเทศไทย จึงย่อมมีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตามมาตรา มาตรา 7(2)[5] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะที่นายสุรพงษ์เกิด บุพการียังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติทางทะเบียนราษฎร บุพการีจึงถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยพลัดหลง ส่งผลให้นายสุรพงษ์ตกอยู่ภายใต้มาตรา 7 ทวิ[6] แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 โดยพลัดหลง กล่าวคือ นายสุรพงษ์ย่อมไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดน และถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยพลัดหลงเช่นกัน

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การไร้การศึกษา การอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากบริการของรัฐ การตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของบุพการี การไม่รู้กฎหมายและการไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบหาพยานหลักฐาน หรือสร้างพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของบุพการี จนบุพาการีต้องตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติกว่า 50 ปีนั้น ส่งผลกระทบร้ายแรงให้บุตรต้องตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งแม้ว่าภายหลังบุพการีจะสามารถขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของตนได้ แต่ปัญหาเอกสารพิสูจน์ตนอันเป็นเท็จก็เป็นอุปสรรคสำคัญให้บุพการีไม่อาจพิสูจน์สิทธิในสัญชาติของนายสมพงษ์ตามปกติไปพร้อมกับบุพการีได้

ทั้งนี้ หากนายสมพงษ์ เยาวชนผู้ด้อยโอกาส และครอบครัวต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาโดยลำพัง ระยะเวลาการเข้าไม่ถึงสิทธิกว่า 50 ปีของบุพการี ก็เป็นข้อพิสูจน์โดยชัดแจ้งแล้วว่าเจ้าของปัญหาซึ่งด้อยโอกาส ไร้การศึกษา และอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลนั้นไม่สามารถดำเนินการโดยลำพังได้ และอาจเป็นการปล่อยให้นายสมพงษ์ เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ต้องเข้าสู่วงจรแห่งการทุจริตคอรัปชั่นเพียงเพราะต้องการเข้าถึงสิทธิในสัญชาติไทยซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่เกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นที่สอง : นายสมพงษ์มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

โดยหลักการแล้ว เมื่อนายสมพงษ์มีสิทธิในสัญชาติไทย นายสมพงษ์ย่อมมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ซึ่งสิทธินี้ได้รับรองไว้ในมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แต่เนื่องจากในระหว่างที่นายสุรพงษ์ยังไม่สามารถพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยได้ นายสมพงษ์จึงถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม โดยพลัดหลง ซึ่งสถานะดังกล่าวย่อมนำไปสู่ความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งการกำหนดสถานะให้นายสมพงษ์กลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายดังกล่าว เป็นความผิดอันเนื่องมาจากสถานะ ไม่ใช่ความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำ เจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจหน้าที่จับกุมดำเนินคดีนายสมพงษ์ในความผิดฐานคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และความผิดฐานคนอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้[7] อย่างไรก็ดี เมื่อนายสมพงษ์ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม โดยพลัดหลง เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาส่งนายสมพงษ์ออกนอกประเทศไทยได้ ทั้งนี้ แม้ว่านายสมพงษ์ยังไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดี หรือถูกส่งออกนอกประเทศไทย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ปฏิบัติต่อนายสมพงษ์เฉกเช่นเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยจำกัดและควบคุมพื้นที่ในการเดินทางของนายสมพงษ์

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของบุพการี และปัญหาที่นายสมพงษ์ยังไม่อาจพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยตามบุพการีได้ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้นายสมพงษ์ตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติอย่างไร้จุดหมาย แต่ยังส่งผลให้นายสมพงษ์อาจถูกละเมิดสิทธิในเสรีภาพการอาศัยอยู่และการเดินทางในประเทศไทย สถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจึงส่งผลให้นายสมพงษ์ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยความหวาดกลัว และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายอื่น ๆ อาทิ การรักษาพยาบาล การเข้าโรงเรียน การทำงาน การประกอบธุรกิจ การนำคดีขึ้นสู่ศาล เป็นต้น

ประเด็นที่สาม : นายสมพงษ์อาจถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จในสูติบัตรหรือไม่ อย่างไร

เนื่องจากการแจ้งข้อความไม่ตรงความจริงต่อเจ้าหน้าที่อำเภอในสูติบัตรซึ่งเป็นเอกสารราชการสำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานรับรองการเกิดนั้น  ย่อมเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันความเท็จในเอกสารมหาชน ตามมาตรา 267 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องพิจารณาว่าการแจ้งเกิดในสูติบัตรของนายสมพงษ์นั้น ส่งผลให้นายสมพงษ์ต้องมีความผิดและรับโทษทางอาญาหรือไม่

ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2535 ขณะที่มีการจดแจ้งข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อยเพื่อแจ้งเกิดให้แก่นายสมพงษ์ นายอรรถชัย จอทอ ญาติทางบิดาของนายสมพงษ์ เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานว่าเป็นผู้แจ้งเกิด และในช่วงเวลาดังกล่าวนายสมพงษ์อายุได้เพียง 13 วัน จึงเป็นเพียงทารกแรกเกิด ย่อมไม่สามารถรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าวได้ นายสมพงษ์ย่อมไม่มีความรับผิดทางอาญาฐานแจ้งข้อความอันความเท็จในเอกสารมหาชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายอรรถชัย ญาติของนายสมพงษ์ผู้แจ้งเกิดนั้น ย่อมมีความรับผิดทางอาญาฐานแจ้งข้อความอันความเท็จในเอกสารมหาชน อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายเอกชัยนั้น ต้องคำนึงถึงอายุความอาญาด้วย ซึ่งความผิดฐานแจ้งข้อความอันความเท็จในเอกสารมหาชนมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 95(3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อนับตั้งแต่การแจ้งความเท็จจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 21 ปี นายอรรถชัยยังไม่เคยถูกฟ้องดำเนินคดีในความผิดดังกล่าวและถูกนำตัวไปยังศาล ดังนั้น ปัจจุบันการดำเนินคดีในความผิดฐานแจ้งข้อความอันความเท็จในเอกสารมหาชนต่อนายอรรถชัย จึงขาดอายุความแล้วตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

แม้ปรากฏว่า บุพการีของนายสมพงษ์จะมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็น หรือร่วมคิดร่วมตกลงใจกับนายอรรถชัยในการกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันความเท็จในเอกสารมหาชน แต่อายุความในการดำเนินคดีอาญาก็ขาดลงแล้วตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การแจ้งความเท็จในสูติบัตรซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่นายสมพงษ์เกิด ปัจจุบันความผิดอาญาดังกล่าวได้ขาดอายุความแล้ว อย่างไรก็ดี ทันทีที่นายสมพงษ์ หรือบุพการีนำสูติบัตรดังกล่าวมาอ้างหรือใช้ ความผิดฐานใช้เอกสารเท็จ ตามมาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ย่อมปรากฏขึ้นมาทันที ดังนั้น การที่นายสมพงษ์มีสูติบัตรฉบับดังกล่าวอยู่ในครอบครอง ความจำเป็นในการแสดงเอกสารพิสูจน์ตนเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับความไม่รู้กฎหมาย ย่อมทำให้นายสมพงษ์ตกอยู่ในความเสี่ยงอาจกระทำความผิดทางอาญาได้อยู่ตลอดเวลา

---------------------------------

แผนงานให้ความช่วยเหลือ

---------------------------------

เพื่อยับยั้งความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายของนายสมพงษ์ เยาวชนชาวเขาชาติพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย และเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิทธิตามกฎหมายของนายสมพงษ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การกำหนดและพัฒนาสิทธิของนายสมพงษ์จึงต้องนำมาพิจารณา และวางแผนงานให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

เนื่องจากนายสมพงษ์ มีสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต และตามหลักดินแดน ซึ่งการได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยนั้น เป็นปัญหาและสิทธิประการสำคัญของนายสมพงษ์อันนำไปสู่การขจัดความไร้สัญชาติ การเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายและการได้รับสวัสดิการสังคมโดยไร้การจำกัดสิทธิดังเช่นคนต่างด้าว จึงต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของข้อมูล ดังนี้

ประการแรก เนื่องด้วยปัจจุบันบุพการีของนายสมพงษ์ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยแล้ว และเมื่อพิจารณาได้ว่าการใช้สูติบัตรฉบับดังกล่าวเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติตามหลักดินแดน ย่อมนำไปสู่การกระทำความผิดทางอาญา การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากบุพการีจึงเป็นประโยชน์ต่อนายสมพงษ์มากกว่า

ประการที่สอง นายสมพงษ์มีสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากทั้งบิดาและมารดา จึงต้องพิจารณาว่าการค้นหาหรือสร้างพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์จากบุพการีฝ่ายใดจะเป็นประโยชน์ต่อนายสมพงษ์มากกว่า เมื่อบิดาของนายสมพงษ์นั้นเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การพิสูจน์สิทธิในสัญชาตินั้น นายสมพงษ์ต้องไปดำเนินการทำหนังสือรับรองการพิสูจน์ความเป็นบิดา แต่การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติตามหลักสืบสายโลหิตจากมารดาไม่ต้องดำเนินการทำหนังสือรับรองข้างต้น ดังนั้น การใช้สิทธิตามมาตราจึงพิจารณาได้ว่าสมประโยชน์ต่อนายสมพงษ์อย่างสูงสุด

ประการที่สาม เนื่องด้วยนายสมพงษ์ไม่มีพยานเอกสารใดยืนยันรับรองความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างตนกับมารดา จึงต้องพิจารณาถึงการนำพยานบุคคล หรือพยานวัตถุ มายืนยันความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันพยาน DNA ได้รับการยอมรับว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นเอกในการพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต

เมื่อพิจารณาข้อมูลข้างต้นแล้ว จึงกำหนดแนวทางในการพัฒนาสิทธิของนายสมพงษ์ตามลำดับ ดังนี้

(1)  การตรวจพิสูจน์ DNA ระหว่างนายสมพงษ์และมารดา

เนื่องจากครอบครัวของนายสมพงษ์นั้นมีฐานะยากจน ไม่มีเงินเพียงพอกับการไปตรวจ DNA จึงต้องขอเงินทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายการตรวจ DNA จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีกองทุนยุติธรรมสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนจนและผู้ด้อยโอกาส อย่างไรก็ดี ด้วยความไม่รู้กฎหมาย อ่านเขียนภาษาไทยไม่คล่อง และขาดความกล้าในการติดต่อหน่วยงานของรัฐด้วยตนเอง ย่อมคาดหมายได้ว่านายสมพงษ์และครอบครัวคงไม่สามารถติดต่อประสาน หรือทำหนังสือถึงกรมคุ้มสิทธิและเสรีภาพด้วยโดยลำพังได้

การให้พัฒนาสิทธิจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากโครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์ มูลนิธิดวงใจพ่อซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ และผู้นำชุมชน ดังนี้

(1.1) (โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์) ยื่นหนังสือร้องขอความอนุเคราะห์สนับสนุนค่าใช้จ่ายการตรวจ DNA ของนายสมพงษ์และมารดา ถึงกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จากนั้นติดตามผลของคำร้องเพื่อแจ้งต่อมูลนิธิดวงใจพ่อ/ผู้นำชุมชน และเจ้าของปัญหา

(1.2) (มูลนิธิดวงใจพ่อ/ผู้นำชุมชน/โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์) ติดต่อโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่[8]เพื่อส่งเรื่องจากกรมคุ้มครองสิทธิ และเพื่อส่งเนื้อเยื่อของนายสมพงษ์และมารดาตรวจพิสูจน์ DNA

(1.3) (โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์)ตรวจสอบความถูกต้องของผลตรวจ DNA

(2) การเตรียมพยานบุคคลรับรองนายสมพงษ์และมารดา

การเตรียมพยานบุคคลเพื่อยืนยันตัวนายสมพงษ์ และมารดา เป็นการสร้างพยานหลักฐานรองเพื่อสนับสนุนผลตรวจพิสูจน์ DNA[9] ของนายสมพงษ์ และมารดา เนื่องจากครอบครัวของนายสมพงษ์ไม่รู้กระบวนการทางกฎหมายซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และอ่านเขียนภาษาไทยได้ไม่คล่อง ร แม้ว่าจะมีผู้แนะนำวิธีให้ปฏิบัติตาม ย่อมคาดหมายได้ว่านายสมพงษ์และครอบครัวไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้

การให้พัฒนาสิทธิจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากโครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์ มูลนิธิดวงใจพ่อซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ และผู้นำชุมชน ดังนี้

(2.1) (มูลนิธิดวงใจพ่อ/ผู้นำชุมชน)สอบปากคำและจัดทำคำพยานของคนในครอบครัวอาโบ (นายสมพงษ์, มารดา, บิดา, พี่น้อง) เพื่อยืนยันว่านายสมพงษ์เป็นบุตรของมารดา คือ นางเบญจวรรณ อาโบ จริงบุคคลเดียวกับเจ้าของเนื้อเยื่อที่ตรวจพิสูจน์ DNA จริง

(2.2) (มูลนิธิดวงใจพ่อ/ผู้นำชุมชน)สอบปากคำและจัดทำคำพยานของคนซึ่งรู้เห็นการเก็บเนื้อเยื่อ DNA ประมาณ 2 คน เพื่อยืนยันว่านายสมพงษ์เป็นบุคคลเดียวกับเจ้าของเนื้อเยื่อที่ตรวจพิสูจน์ DNA จริง

(2.3) (โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์)ตรวจสอบความถูกต้องของคำพยานทั้งหมด

(3) การยื่นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์สิทธิของนายสมพงษ์ต่ออำเภอ

(3.1) (โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์) ทำคำร้องขอเพิ่มชื่อนายสมพงษ์ในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยพร้อมความเห็นทางกฎหมาย และแนบพยานหลักฐาน กล่าวคือ

- คำร้องขอเพิ่มชื่อนายสมพงษ์ในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย

- ความเห็นทางกฎหมาย

- ผลตรวจพิสูจน์ DNA

- คำพยานของครอบครัวอาโบ และพยานบุคคลอีก 2 คน

- บัตรประจำตัวประชาชนของนางเบญจวรรณ อาโบ

- ทะเบียนบ้านของบิดา คือ นายอรรถชา อาโบ

- บัตรประจำตัวประชาชนของนายอรรถชา อาโบ (เจ้าบ้าน)

ทั้งนี้ ทำสำเนาไว้ 1 ชุด เพื่อเป็นหลักฐานเก็บไว้กับผู้ร้อง

(3.2) (มูลนิธิดวงใจพ่อ/ผู้นำชุมชน/โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์) พานายสมพงษ์ มารดา และพยานบุคคล(เป็นบุคคลตามคำพยานที่จัดทำไว้แล้ว) ไปยื่นคำร้องพร้อมพยานหลักฐานตาม (3.1) และสำเนา 1 ชุดต่ออำเภอ จากนั้นขอให้อำเภอออกใบรับคำร้อง และเซ็นรับรองว่าได้รับพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วในฉบับสำเนาที่ทำไว้

ทั้งนี้ การที่มีตัวแทนจาก (มูลนิธิดวงใจพ่อ/ผู้นำชุมชน/โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์) ไปดำเนินการยื่นคำร้องร่วมกับนายสมพงษ์ ย่อมเป็นการป้องกันปัญหาการไม่ออกใบรับคำร้องของเจ้าหน้าที่อำเภอ การปฏิเสธไม่รับคำร้องของเจ้าหน้าที่อำเภอโดยไม่แจ้งเหตุผล ซึ่งสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับชาวบ้านอยู่เสมอ ดังเช่นกรณีคำร้องสูญหาย หรือการที่ชาวบ้านต้องยื่นคำร้องในเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งชาวบ้านเองไม่ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของตน จึงไม่โต้แย้งและไม่สามารถนับหนึ่งเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของตนได้

(3.3) หากอำเภอไม่แจ้งผลการพิจารณาภายใน 90 วัน (มูลนิธิดวงใจพ่อ/ผู้นำชุมชน/โครงการวิจัยสิทธิเด็กด้อยโอกาส ฯ คณะนิติศาสตร์) ยื่นหนังสือติดตามคำร้องของนายสมพงษ์ และเตรียมคำฟ้องหากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่อำเภอปฏิบัติงานล่าช้าโดยไม่มีเหตุกล่าวอ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ

กรณีการกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารของบุพการีนายสมพงษ์ และญาตินั้น แม้ว่าปัจจุบันไม่อาจฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้แล้ว เนื่องจากคดีขาดอายุความ แต่คาดหมายได้ว่าการตกอยู่ในสถานะผู้กระทำความผิดอาญาฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้น ย่อมเกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่อีกหลายครอบครัวเช่นเดียวกัน

เนื่องจากคนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความเสี่ยงสูงต่อการตกหล่นจากทะเบียนราษฎร การเข้าไม่ถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ เมื่อประกอบกับความไร้การศึกษา และมายาคติของสังคมที่มองว่าคนชาติพันธุ์ดั้งเดิมเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่งผลให้คนเหล่านี้ถูกปฏิบัติเสมือนคนชั้นที่สองของสังคม เมื่อการปฏิเสธสิทธิและการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นซ้ำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ได้รับการเยียวยา ชาวบ้านผู้ด้อยโอกาสจึงต้องหันไปหาหนทางอื่นเพื่อสร้างความยุติธรรมให้แก่ตนและครอบครัว แม้ความตระหนักรู้เรื่องการมีเอกสารประจำตัวบุคคลปรากฏขึ้นในชุมชน แต่อุปสรรคต่าง ๆ สะท้อนให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดว่าตนไม่มีสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวจึงต้องพึ่งพาผู้มีอำนาจ หรือกระบวนการทุจริตคอรัปชั่น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากรณีตัวอย่างของนายสมพงษ์นั้น ความผิดทางอาญาเกิดขึ้นจากความจำเป็นและความพยายามของบุพการีในการบันทึกแจ้งเกิดบุตรในทะเบียนราษฎร เพียงเพื่อให้บุตรได้มีเอกสารประจำตัวบุคคลสัก 1 ฉบับ โดยขาดความรู้ความเข้าใจว่าตนสามารถไปแจ้งเกิดบุตรด้วยตนเอง และเพิ่มชื่อบุตรเข้าในแบบพิมพ์ประวัติของตนได้ ประกอบกับความโชคร้ายที่ญาติซึ่งตนฝากความไว้วางจให้ช่วยดำเนินการก็ขาดความรู้ความเข้าใจเดียวกัน จนส่งผลให้การจดแจ้งข้อความในสูติบัตรนั้นเป็นเท็จ

สถานการณ์ข้างต้น จึงเป็นข้อพิจารณาอันสำคัญอย่างยิ่งว่า บุคคลซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับเอกสารประจำตัวบุคคลอันเกิดจากความจำเป็นและความด้อยโอกาสของตน ควรถูกดำเนินคดีและลงโทษทางอาญาหรือไม่ รวมถึงการดำเนินคดีและลงโทษบุคคลดังกล่าวจะเกิดคุณูประการต่อสังคมอย่างไร เพราะหากเรามุ่งพิจารณาถึงการลงโทษความผิดอาญาทางทะเบียนของบุคคลอย่างเคร่งครัด ย่อมผลักให้บุคคลไม่กล้าแสดงตนเพื่อพิสูจน์สถานะที่ถูกต้อง

การพิจารณาแยกแยะผู้ที่กระทำความผิดอันเนื่องมาจากความจำเป็นและด้อยโอกาส ออกจากผู้ที่กระทำความผิดโดยทุจริต ซึ่งเจตนาจะละเมิดต่อกฎหมายและสร้างความเสียหายต่อบุคคลอื่น อาทิ การสวมทะเบียน การปลอมเอกสาร เป็นต้น จากนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติสมควรต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมบุคคลซึ่งกระทำความผิดอาญาทางทะเบียนอันเนื่องมาจากความจำเป็นและด้อยโอกาสข้างต้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาส รวมถึงรักษาไว้ซึ่งประสิทธิภาพและคุณค่าของการบังคับใช้มาตรการทางอาญาต่อสังคมต่อไป



[1]ข้อ 11 แห่งแห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูงพ.ศ. 2543บัญญัติว่า “ชาวไทยภูเขาที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยโดยเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

สำหรับบุคคลบนพื้นที่สูงที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยโดยเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) จะต้องเป็นบุคคลที่ทางราชการได้จัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวไว้แล้วและจะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น

ความในวรรคสามให้สันนิษฐานจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ออกโดยส่วนราชการ หรือพยานหลักฐานแวดล้อมกรณีโดยอาศัยการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือชาติพันธุ์วรรณนา เป็นต้น”

[2] มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ  (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง”

[3]มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย”

[4]มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญ

หมายเลขบันทึก: 535646เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2013 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท