กรณีศึกษา : นายสมพงษ์ จอทอ เยาวชนชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งประสบปัญหาความไร้สัญชาติ และบุพการีอาจมีความรับผิดทางอาญา เนื่องจากการบันทึกชื่อบุพการีในสูติบัตรไม่ตรงกับความเป็นจริง


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีนายสมพงษ์ จอทอ เยาวชนชาติพันธุ์อาข่า ซึ่งประสบปัญหาความไร้สัญชาติ และบุพการีอาจมีความรับผิดทางอาญา เนื่องจากการบันทึกชื่อบุพการีในสูติบัตรไม่ตรงกับความเป็นจริง

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2556

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

กรณีศึกษานี้เป็นเรื่องจริงที่ได้จากการลงพื้นที่อบรมและรับฟังปัญหาความด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ของหมู่บ้านแม่น้ำโขง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

---------------------------------

นายสมพงษ์ จอทอ ปัจจุบันอายุ  21 ปี เยาวชน[1]ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นชาวเขาดั้งเดิมชาติพันธุ์อาข่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนางเบญจวรรณ อาโบ หญิงสัญชาติไทย มารดาของนายสมพงษ์ ได้เล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวของตนต่อนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความอาสาของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ดังนี้

ประการแรก นายสมพงษ์เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ที่บ้านห้วยน้ำกืน ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งแม้ว่าเกิดนอกโรงพยาบาลแต่ก็ได้รับการแจ้งเกิดที่อำเภอแม่ลาน้อย และได้รับการรับรองสถานะบุคคลทางทะเบียนราษฎร โดยมีเลขประจำตัวประชาชนเลขที่ 7-5710-00033-xx-x ซึ่งรายละเอียดปรากฏตามสูติบัตรประเภทบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะชั่วคราว (ท.ร. 1 ตอน 1)

ประการที่สอง สูติบัตรของนายสมพงษ์นั้นบันทึกชื่อบุพการีไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งสูติบัตรฉบับนี้ เป็นเอกสารพิสูจน์ตนฉบับเดียวที่นายสมพงษ์มีตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน แต่ปรากฏว่าการบันทึกชื่อบุพการีของนายสมพงษ์ในสูติบัตรนั้นกลับเป็นชื่อญาติทางบิดาของนายสมพงษ์ และนามสกุลของนายสมพงษ์นั้นก็ถูกบันทึกเป็นนามสกุลเดียวกับนามสกุลของญาติทางบิดา[2]

ทั้งนี้ สาเหตุของการบันทึกชื่อบุพการีของนายสมพงษ์ผิดพลาดนั้นเกิดจาก

สาเหตุที่หนึ่ง บุพการีของนายสมพงษ์นั้น อยู่อาศัยอยู่บนเขาซึ่งห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย และบุพการีเกรงกลัวต่อการเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปติดต่อกับเจ้าหน้า เนื่องจากขณะที่นายสมพงษ์เกิดนั้น บุพการีมีสถานะเป็นเพียงบุคคลซึ่งได้รับการสำรวจและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงโดยสำนักงานทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งแม้ว่าบุพการีของนายสมพงษ์จะเกิดในประเทศไทยและมีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ขณะนั้นบุพการีก็ยังไม่ได้รับการรับรองการใช้สิทธิในสัญชาติไทยตามกฎหมายทะเบียนราษฎร  เจ้าหน้าที่จึงปฏิบัติต่อบุพการีของนายสมพงษ์เสมือนเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาโดยตลอด บุพการีของนายสมพงษ์จึงไม่กล้าเดินทางไปติดต่ออำเภอเพื่อแจ้งเกิดบุตรโดยลำพัง

สาเหตุที่สอง บุพการีของนายสมพงษ์นั้น ไม่มีความรู้และไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนการเกิดของบุตร ว่าการจดทะเบียนการเกิดนั้นเป็นการบันทึกตามเอกสารมหาชนของรัฐ และเป็นหลักฐานรับรองจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบิดามารดากับบุตร และรับรองจุดเกาะเกี่ยวระหว่างประเทศไทยกับบุตร บุพการีของนายสมพงษ์จึงเข้าใจผิดว่าเพียงทำให้บุตรมีเอกสารซึ่งออกโดยรัฐไทยดังเช่นเด็กในครอบครัวอื่นก็น่าจะเพียงพอแล้ว เมื่อได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องจากนายอรรถชัย จอพอ ซึ่งเป็นญาติทางบิดาของนายสมพงษ์และเคยมีประสบการณ์การแจ้งเกิดบุตรที่อำเภอ บุพการีของนายสมพงษ์จึงร้องขอให้นายอรรถชัย ช่วยเหลือพาบุตรของตนไปแจ้งเกิดที่อำเภอแม่ลาน้อยด้วย

สาเหตุที่สาม บุพการีของนายสมพงษ์นั้น ไม่ทราบวิธีการแก้ไขรายการทางทะเบียนที่ผิดพลาด กล่าวคือ เมื่อนายอรรถชัยไปดำเนินการติดต่อแจ้งเกิดต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย ญาติของนายสมพงษ์กลับแจ้งชื่อตนและภรรยาเป็นบิดามารดาของนายสมพงษ์แทน และบันทึกชื่อสกุลของนายสมพงษ์ว่า “นายสมพงษ์ จอทอ” ตามชื่อสกุลของตน

เดิมนั้น บุพการีของนายสมพงษ์ไม่ทราบว่าสูติบัตรบันทึกผิดพลาด เนื่องจากอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่ภายหลังแม้ว่าบิดาและมารดาของสมพงษ์ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ไปดำเนินการแก้ไขทางทะเบียนให้ถูกต้อง เนื่องจากไม่ทราบวิธีการและขั้นตอน รวมถึงเกรงว่าตนกับญาติจะมีความผิดที่ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตามข้อเท็จจริง  

ประการที่สาม นายสมพงษ์ยังคงตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติ และถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ว่าบุพการีของนายสมพงษ์ซึ่งอดีตเคยเป็นคนตกหล่นจากการบันทึกทางทะเบียนราษฎร แต่ปัจจุบันได้รับการรับรองสัญชาติไทยโดยการเกิดแล้ว ซึ่งลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาของบุพการีนายสมพงษ์ตามช่วงเวลา ได้ดังนี้

ในปี พ.ศ. 2509 บิดาและมารดาของนายสมพงษ์ ชาวเขาชาติพันธ์อาข่าดั้งเดิม[3]ได้เกิดในประเทศไทย ที่บ้านแสนสนุก หมู่ที่ 9 ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ แม้ว่าบิดาและมารดาของนายสมพงษ์เกิดในประเทศไทยและมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ตกหล่นจากการบันทึกในทะเบียนราษฎร จึงตกอยู่ในสภาวะคนไร้รัฐไร้สัญชาติตั้งแต่เกิด

ในปี พ.ศ. 2528 บิดาและมารดาของนายสมพงษ์ อยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย และได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย โดยอาศัยอยู่บนภูเขาห่างไกล ซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อยประมาณ 40 – 50 กิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2534 บิดาและมารดาของนายสมพงษ์ได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง[4] จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงโดยสำนักงานทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงนับได้ว่าการจัดทำแบบพิมพ์ประวัติดังกล่าว เป็นการบันทึกรับรองตัวบุคคลทางทะเบียนของบิดาและมารดาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534

 ในปี พ.ศ. 2535 นายสุรพงษ์เกิดในประเทศไทย แต่สูติบัตรบันทึกชื่อสกุลของบุพการีผิดพลาดเป็นชื่อสกุลของญาติทางบิดา และบันทึกชื่อสกุลของนายสุรพงษ์เป็นชื่อสกุลตามญาติทางบิดาซึ่งไปดำเนินการแจ้งเกิดให้ตนที่อำเภอ

ในปี พ.ศ. 2554 บิดาและมารดาของนายสมพงษ์ไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อขอให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) เนื่องด้วยทราบข่าวจากป้าของนายสมพงษ์ว่ากลุ่มชาวเขาดั้งเดิมชาติพันธุ์อาข่ามีสิทธิไปยื่นคำร้องเพื่อขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านและทำบัตรประจำตัวประชาชนได้[5]

ในปี พ.ศ. 2555 นายอำเภอแม่ลาน้อยได้ตรวจสอบพยานหลักฐาน จึงฟังได้ว่าบิดามารดาของนายสมพงษ์เป็นคนบนพื้นที่สูงซึ่งมีชาติพันธ์อาข่า จึงมีคำสั่งอนุมัติให้ลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร จัดทำได้รับบัตรประจำตัวประชาชนให้บิดามารดาของนายสมพงษ์

แม้ว่า ปัจจุบันบุพการีของนายสมพงษ์จะได้ขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของตน และประสงค์จะขจัดความไร้สัญชาติให้กับนายสุรพงษ์ด้วย แต่ด้วยเอกสารของนายสมพงษ์ซึ่งมีสูติบัตรเป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวในการพิสูจน์ตัวบุคคล และเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างนายสมพงษ์กับบุพการีแต่อย่างใด และหลังจากการแจ้งเกิดนั้น บุพการีของนายสุรพงษ์ก็ไม่ได้ดำเนินการอื่นใดทางทะเบียนของนายสุรพงษ์ต่อเนื่องอีกเลย นายสุรพงษ์จึงยังตกอยู่ในสภาวะไร้สัญชาติ และยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวซึ่งถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

ประเด็นแรก : สิทธิในสัญชาติไทย

1.  นายสมพงษ์มีสิทธิในสัญชาติไทย หรือไม่ อย่างไร

2.  การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติของนายสมพงษ์นั้น ต้องดำเนินการอย่างไร

ประเด็นที่สอง : สิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยในประเทศไทย

3.  ระหว่างที่นายสมพงษ์ยังไม่สามารถพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทย เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมดำเนินคดีนายสมพงษ์ในความผิดฐานคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และความผิดฐานคนอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไร

4.  ระหว่างที่นายสมพงษ์ยังไม่สามารถพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทย เจ้าหน้าที่สามารถส่งนายสมพงษ์ออกนอกประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร?

ประเด็นที่สาม : สิทธิในกระบวนการยุติธรรม

5.  นายสมพงษ์อาจถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องกับสูติบัตรซึ่งบันทึกข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือไม่ อย่างไร

6.  ญาติของนายสมพงษ์ซึ่งไปดำเนินการแจ้งเกิดให้นายสมพงษ์ต่ออำเภออาจถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องกับสูติบัตรซึ่งบันทึกข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือไม่ อย่างไร

7.  บุพการีของนายสมพงษ์อาจถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องกับสูติบัตรซึ่งบันทึกข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือไม่ อย่างไร



[1]เยาวชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ถึง 25 ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550

[2] ตามข้อเท็จจริงแล้วบิดาของนายสมพงษ์ จอพอ ชื่อ นายอรรถชา อาโบ และมารดาของนายสมพงษ์ ชื่อ นางเบญจวรรณ อาโบ แต่ในสูติบัตรของนายสมพงษ์ระบุชื่อบิดาว่า นายอรรถชัย จอพอ และระบุชื่อมารดาว่า นางพอเพียง จอพอ

[3]ครอบครัวในรุ่นปู่ย่าตายายของนายสมพงษ์เป็นคนชาวเขาชาติพันธ์อาข่า ซึ่งอพยพเดินทางมาจากประเทศพม่าเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำสวนอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

[4] บิดาและมารดาของนายสมพงษ์ได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ตามเอกสารระบุว่าทั้งสองเกิดและเคยอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง เป็นเวลา 19 ปี จากนั้นจึงมาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย ขณะนั้นนับเป็นเวลาได้ 6 ปี โดยอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 9/พ หมู่ที่ 6 หมู่บ้านแสนสบาย ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านห้วยแก้ว

[5] ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543


หมายเลขบันทึก: 535541เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท