ชีวิตที่พอเพียง ๑๙๐๗. พลังข้อมูล



          บทความเรื่อง When More Trumps Better โดย Evgeny  Morozov ใน นสพ. The Wall Street Journal ฉบับวันที่ ๑๕ - ๑๗ มี.ค. ๕๖ วิจารณ์ หนังสือ Big Data เขียนโดย Victor Mayer-Schonberger & Kenneth Cukier  ทำให้ผมรู้จัก Morozov เป็นครั้งที่ ๒  และชื่นชมในความเป็นผู้รอบรู้เรื่อง ICT ของเขา

          สาระสำคัญก็คือ บริษัทให้บริการการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต อย่าง กูเกิ้ล มีข้อมูลมหาศาลอยู่ในมือ  และสามารถนำมาหาความหมายเพื่อใช้ทำนายแนวโน้มต่างๆ ได้  ดังที่ Morozov ขึ้นต้นบทความว่า ในปี ๒๕๕๓ Eric Schmidt ซึ่งตอนนั้นเป็น ซีอีโอ ของ กูเกิ้ล กล่าวว่า  ในบริษัทกูเกิ้ล เคยหารือกันว่า ข้อมูลที่มี มีมากพอที่จะนำมาใช้ทำนายหุ้นได้  แต่ก็มองว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  จึงไม่ได้ลงมือทำ

          มิน่า ประเทศจีนจึงไม่ยอมให้ กูเกิ้ล เข้าไปทำธุรกิจโดยไม่ตกลงกันเรื่องการควบคุมข้อมูล

          แม้ กูเกิ้ลจะไม่ทำนายตลาดหุ้น  แต่ก็ได้ทำนายแนวโน้มการระบาดของไข้หวัดใหญ่  และการที่กูเกิ้ลสแกนหนังสือหลายล้านเล่ม นำไปสู่สาขาวิชาที่ชื่อว่า “culturomics”  และเครื่องมือของ กูเกิ้ล ชื่อ Ngram Viewer ช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของความหมายของคำ เช่น ประชาธิปไตย  เสรีภาพ

          ผู้เขียนหนังสือ Big Data ชี้ให้เห็นว่า บริษัทอย่างกูเกิ้ล ที่มีข้อมูลมากมายอยู่ในมือ มีอำนาจมหาศาลที่จะเขย่าโลกในด้านต่างๆ  ได้แก่ ธุรกิจ  วิทยาศาสตร์  บริการสุขภาพ  รัฐบาล  การศึกษา  เศรษฐกิจ  มนุษยธรรม  และด้านอื่นๆของสังคม 

          เขาบอกว่า การใช้ประโยชน์ Big Data มีการทำมาแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙ โดย Commodore Maury โดยตกลงกันให้เรือเดินสมุทรเขียนบอกตำแหน่งเรือและสภาพการเดินเรือใส่ขวดลอยน้ำ  ทำเช่นนี้เป็นระยะๆ  การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเช่นนี้ ช่วยให้เส้นทางการเดินเรือสั้นลงถึงหนึ่งในสาม 

          ผู้เขียนหน้งสือบอกว่า Big Data ช่วยให้เราพุ่งความสนใจไปที่ความสัมพันธ์ หรือการตอบคำถาม what  ไม่ต้องเสียเวลาและยุ่งยากกับการตอบคำถาม why  เพราะ big data มันรวมเอาทุกเหตุผลมาตอบเป็นความสัมพันธ์ มองเห็นลู่ทางไปข้างหน้า

          แต่ Morozov เถียงว่า วิธิคิดเช่นนั้นอาจมีปัญหาในบางกรณี  ยกตัวอย่างโรคอ้วน หากผู้บริหารเชื่อวิธีคิดของผู้เขียนหนังสือ  โดยทราบว่าการแก้ปัญหาโรคอ้วนทำโดยเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ  ก็จะดำเนินการแจก pedometer หรือเครื่องวัดก้าวเดิน  อย่างที่เมืองไทยเราทำกัน โดยระบุว่าเดินให้ได้วันละ ๑๐,๐๐๐ ก้าว  โดยลืมไปว่าไม่มีที่ให้คนเดิน

          ผมอ่านคำวิจารณ์ทั้งหมดแล้ว เถียงว่า การใช้ Big Data ของทั้งโลก  และวิเคราะห์ออกมาเป็นความหมายที่ใช้ได้ทั้งโลก ดูจะหน่อมแน้มไปหน่อย  โลกเราประกอบด้วย subculture มากมาย  ที่มีบริบทแตกต่างกัน  ไม่มีทางที่จะเหมือนแนวโน้มโลกหนึ่งเดียวไปได้


วิจารณ์ พานิช

๑๗ มี.ค. ๕๖

บนเครื่องบิน สายการบิน เอเอ็นเอ จาก โตเกียว กลับกรุงเทพ



หมายเลขบันทึก: 535413เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียนอาจารย์

ขออนุญาตเสริม ต่อจากอาจารย์... หลายประเทศที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ จึงพยายามสร้าง Big Data ผ่านการให้ทุนศึกษาวิจัยในประเทศต่างๆ แน่นนอนว่าลิขสิทธิ์เป็นของประเทศผู้ให้ทุน แค่นี้ปัญหาเรื่อง subculture ก็ลดลง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท