สกัดความรู้จากโครงการ "สรอ. ขอความรู้" ทักษะของครูในศตวรรษที่ 21


ดาวน์โหลดฉบับเต็ม ครู.pdf

ทักษะของครูในศตวรรษที่ 21

ผู้ที่ได้ชื่อว่า “ครู” เป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อภารกิจในการพัฒนาเยาวชนของชาติ โดยครูนอกจากจะต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครูแล้ว ครูยังต้องเป็นผู้ทรงความรู้ในเนื้อหาที่ต้องถ่ายทอดสู่ผู้เรียน และครูยังต้องจัดการเรียนการสอนได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูจะต้องพัฒนาศิษย์ให้มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะที่มุ่งพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น ทักษะการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น

เนื่องในโอกาสวันครูในปีใหม่ 2556 นี้ โครงการ สรอ. ขอความรู้ ขอเชิญชวนสมาชิก GotoKnow ร่วมกันบันทึกเพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ในหัวข้อ “ทักษะของครูในศตวรรษที่ 21” เป็นประเด็นที่สิบห้าขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 16-30 มกราคม 2556  ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านบล็อกเป็นจำนวนมาก โดยสามารถรวบรวมและสรุปประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

แนวทางการพัฒนาทักษะครูไทยในศตวรรษที่ 21 

ครูยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะในการเป็นผู้อำนวยความรู้ให้เด็ก แทนที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เหมือนก่อน ได้แก่ 

1) ทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อช่วยให้ศิษย์กำหนดรู้เป้าหมายและคิดได้ด้วยตนเอง          

2) ทักษะที่สอนให้เด็กหาความรู้ได้ด้วยตัวเองและด้วยการลงมือปฏิบัติ 

3) ทักษะในการคัดเลือกความรู้ ตามสภาพแวดล้อมจริง 

4) ทักษะในการสร้างความรู้ ใช้เกณฑ์การทดสอบและตรวจสอบความถูกต้องอย่างไร เพื่อทำให้ศิษย์เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง 

5) ทักษะให้ศิษย์คิดเป็น หรือตกผลึกทางความคิด 

6) ทักษะในการประยุกต์ใช้  

7) ทักษะในการประเมินผล  

8) มีจิตวิญญาณความเป็นครู  

9) ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ครูจึงต้องไม่หยุดนิ่งที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเสมอเพื่อพัฒนาตนเองและเพื่อไว้สั่งสอนศิษย์ 

10) เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง เพราะสังคมที่เปลี่ยนไป หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างไม่เหมือนในอดีต ครูต้องทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง และไตร่ตรองเพื่อนำสิ่งใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต 

11) สร้างกำแพงคุณธรรม อีกประการที่สำคัญไม่แพ้จิตวิญญาณความเป็นครู คือครูต้องเป็นผู้มีคุณธรรม ซึ่งจะเป็นคำสั่งสอนด้วยแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดีเพราะผู้มีคุณธรรมย่อมเป็นผู้เจริญ 

12) โน้มนำความดีแก่ศิษย์ ครูไม่เพียงให้วิชาความรู้เท่านั้น แต่การเป็นที่พึ่งทางใจ สามารถเป็นที่ปรึกษาของลูกศิษย์ ยิ่งหากเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณหรือมโนธรรมด้วยแล้ว ยิ่งทรงคุณค่ามหาศาล  

13) มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity, Creation, Creating, Creative Thinking) เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของครู ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นทักษะที่จำเป็นจะต้องนำไปใช้ ในกระบวนการพัฒนาผู้เรียนในช่วงศตวรรษที่  

14) ครูต้องทำตนให้ศิษย์รัก หนักแน่นในจริยา พัฒนาความรู้ อุตส่าห์สร้างศิษย์ตน อดทนต่อคำหยาบคาย ขยายคำลึกซึ้ง ไม่ดึงศิษย์ไปในทางเสียหาย  และ 

15) บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ โตตามสังคมรอบข้าง รู้จักคำว่า ขอโทษ รู้จักคำว่า ให้อภัย รู้จักคำว่าผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่ ดิฉันอยากให้สังคมไทยกลับมาสู่ความเป็นประเทศแห่งคุณธรรม

ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ส่งเสริมให้ศิษย์มีคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพที่สุจริต เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง 

สถิตของรายการบันทึกทั้งหมดที่ใส่คำสำคัญ  “ครู ”

•จำนวนบันทึกรวม        2,033  รายการ

•จำนวนการอ่านรวม       1,720,364  ครั้ง

•จำนวนการให้ดอกไม้  (ให้ความชอบ) รวม      1,934  ครั้ง

•จำนวนความคิดเห็นรวม      10,140   รายการ 


หมายเลขบันทึก: 535188เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาให้กำลังใจอาจารย์ที่ทุ่มเททำงานอย่างดีค่ะ

น่ายินดีที่บันทึกนี้อาจารย์จันทวรรณได้นำมาเผยแพร่ในช่วงเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2556  เป็นทักษะของครูในยุคนี้จริงๆค่ะ เพราะหลักสูตรก็เริ่มขยับตามทักษะไปด้วย น่ายินดีอย่างยิ่ง ขอบคุณค่ะ

ขออนุญาตเพิ่มเติมจากท่านอาจารย์นิดหนึ่งนะค่ะว่า ทางที่ดีครูในศตวรรษที่ 21 ถ้าเป็นครูที่สามารถปลูกฝังให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ล้างสมองนักเรียนโดยไม่ให้เขาเหล่านั้นรู้จักคำว่าทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ถือว่าเป็นครูสุดยอดอัจฉริยะในรอบศตวรรษเลยก็ว่าได้ค่ะ เน้นย้ำว่า ช่วยกันล้างสมองเด็กไม่ให้รู้จักคำว่าทุจริต คอร์รัปชั่นนะค่ะ 

ขอแสดงความเห็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม  ถ้ากล่าวลอยๆว่าให้นักศึกษามีคุณธรรมจริยธรรม ใครๆก็พูดได้และพูดกันมามาก แต่ควรจะให้ลึกลงอีกหน่อยเช่น

การเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ให้เน้นการพัฒนาให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม  ตามแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ด้านความดีงามของจิตใจ  แสดงความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีน้ำใจต่อกันทั้งในชั้นเรียนและในชีวิตประจำวัน แสดงความรักความเมตตากรุณา ยินดีกับบุคคลอื่นอย่างจริงใจ รู้จักขอโทษและให้อภัยเมื่อเกิดความบกพร่อง

  2. ด้านความแข็งแกร่งของจิตใจ  ควรมีความรับผิดชอบอย่างสูงต่อทุกการกระทำของตน ซื่อสัตย์ ขยัน หมั่นเพียร อดออม อดทนและอดกลั้น ปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสังคมได้อย่างไม่เสื่อมเสียทางจริยธรรม ครองตนอย่างมีวิจารณญาณเหมาะสมตามอัตภาพ สำนึกในคุณค่าของตนเอง ของครอบครัว ของสถาบันและของประเทศชาติแล้วไม่กระทำการใดๆให้ตน ครอบครัว สถาบัน และประเทศเสียหาย  (เรื่อง คอรัปชั่นอยู่ข้อนี้ครับ)

3. ด้านความสงบของจิตใจ  รู้จักทำใจยอมรับความจริง เข้าใจเหตุ-ผล รู้แพ้รู้ชนะ ไม่ซ้ำเติมตนเองและคนอื่น 
ไม่โทษคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม พึ่งตนเองเป็น คิดสร้างความสุขได้โดยไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น  วางเป้าหมายชีวิตอย่างมีสติและมีสุข  เรียนรู้โลก เข้าใจโลกแต่ไม่หลงโลก

ตามที่ ดร.จันทวรรณเสนอมา ว่าเป็นทักษะของครู ๑๕ ข้อดังกล่าว...ผมศึกษาแล้ว เห็นว่าไม่น่าจะใช่ทักษะทั้งหมด).บางข้อเป็น องค์ความรู้ที่ครูต้องมี  บางข้อเป็นทักษะที่ควรมี   บางข้อเป็นกระบวนการที่ควรสร้าง  และบางข้อเป็นคุณลักษณะที่คนเป็นครูควรมีครับ

ข้อมูลที่สรุปออกมานี้เกิดจากการระดมความเห็นใน GotoKnow เพียงช้วงเวลาหนึ่งเท่านั้นค่ะ ดังนั้นข้อมูลจึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ค่ะ 

ยินดีเป็นอย่างยิ่งนะคะที่สมาชิกและผู้สนใจทุกท่านเขียนเสริมต่อยอดออกไปมากกว่านี้ค่ะ 

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท