เผยเคล็ดวิชาจัด KM Workshop ขนานแท้ 1


          ล่วงมา 2 วันแล้ว  ถ้าดิฉันยังไม่หาเวลาที่จะบันทึกเรื่องราวนี้ไว้  ไม่นานคงรู้สึกเสียดายและโทษตัวเองที่จำอะไรไม่ได้เพราะมัวผลัดวันประกันพรุ่ง

          ดิฉันรู้สึกประทับใจมากกับการที่ครั้งหนึ่งในชีวิต  ได้เข้าร่วมประชุมครั้งสำคัญระดับมหาวิทยาลัย  “KM Workshop : เพื่อพัฒนางานวิจัยและคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 1” ในวันที่ 2 - 3 ตุลาคม 2549  ณ ทรัพย์ไพรวัลย์ แกรนด์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท พิษณุโลก 

          กำหนดการของการประชุมคราวนี้ ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ : ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร และท่านผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร.เสมอ  ถาน้อย  จัดเตรียมไว้อย่างปราณีต วิจิตรบรรจง ทุก shot ก็ว่าได้

          เช้าของวันจันทร์ที่ 2  เวลา 6.00 น. ดิฉันก้าวขึ้นรถบัสปรับอากาศชั้นหนึ่งของมหาวิทยาลัย ณ ลานจอดรถตึกมิ่งขวัญ  เจ้าหน้าที่งานวิจัยยิ้มต้อนรับอย่างอบอุ่น  แล้วส่งเอกสารลงทะเบียนให้เซ็นถึงที่นั่ง  มอบถุงย่ามที่บรรจุเอกสารประกอบการประชุม หนักซัก 3 กิโล ได้กระมัง  พร้อม Tag  ให้เขียนชื่อกำกับ สำหรับผูกกับย่ามและสัมภาระส่วนตัว  ดังนั้น  ต่อแต่นี้การ search หาเจ้าของที่ขี้ลืมทั้งหลาย จึงไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

          Guide หนุ่มหล่อจากงานวิจัย คุณสาทิตย์ ส่งเสียงตามสายมาว่า  " ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ  การเดินทางมากับรถบัสชั้นหนึ่งคันนี้  ท่านได้รับสิทธิ์พิเศษไม่ต้องลงทะเบียนหน้างานแล้วนะคร๊าบบ... เพราะระบบของเรา  ได้ทำการลงทะเบียนให้ท่านโดยอัตโนมัติแล้ว "

          เสียงเพลงอันไพเราะที่ขับกล่อมพวกเรา ขณะนั่งรถมาตลอดทาง ดิฉันจำไม่ได้แล้วว่า ชื่ออะไร แต่ที่แน่ๆ คือ เป็นเพลงเกี่ยวกับนักวิจัย เกี่ยวกับ สกว. ผู้จัดเปิดทวนให้ฟังซ้ำหลายครั้ง  แต่ก็ OK นะคะ เพราะทั้งเนื้อร้องและเสียงของนักร้องหนุ่มไพเราะมากแถมความหมายก็ดี   เข้าใจว่า ผู้จัดประสงค์จะให้พวกเราจำเนื้อร้องให้ได้ เผื่อจะให้รางวัล "นักร้องนักวิจัย" ตอนคาราโอเกะหลังเลิกประชุม

          พวกเราชาวสหเวชฯ มาร่วมประชุมพร้อมกัน 4 คน นอกจากดิฉัน ก็มี อ.ศุภวิทู  สุขเพ็ง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ใหม่สดซิงๆ แบบว่าเพิ่งรับตำแหน่งวันที่ 2 ต.ค. นี้ ก็ลุยงานแรกเลย  อ.ดร.สุรพล  ตั้งวรสิทธิชัย  ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสหเวชศาสตร์ชุมชน ผู้ซึ่งใฝ่รู้ทั้งงานวิจัยและประกันคุณภาพ  คุณสิริภัสณ์  ศิระนุภาพ  ผู้ประสานงานวิจัย  และคุณสริตา  เจริญทัศน์ ผู้ประสานงานประกันคุณภาพ พร้อมพุงน้อยอุ้ยอ้ายประมาณ 6 เดือน

            พิธีเปิดช่วงเช้า 9.30 น. อาจารย์วิบูลย์ กล่าวนำเล็กน้อยก่อนว่า เนื่องจากเป็น KM Workshop  ดังนั้น ขอให้ท่านอธิการ (รศ.ดร.มณฑล  สงวนเสริมศรี) และท่านนายกสภาฯ  (ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี  ศรีอรุณ) กล่าวรายงานและกล่าวเปิดแบบสดๆ นะครับ  โอ...เปิดฉาก ก็เป็น Kเอ้ม Kเอ็ม  ดิฉันชอบมากค่ะ บรรยากาศที่เป็นกันเองก่อตัวขึ้นทันที ท่านผู้บริหารสูงสุดขององค์กรทั้ง 2 ท่าน ปรับตัวตามสถานการณ์ได้อย่างมืออาชีพ  ในขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนผ่อนคลายและรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมกันทันที

          นอกเหนือจากกรรมการสภามหาวิทยาลัย เช่น พลเอก ดร.ศิริ  ทิวะพันธุ์  ท่านรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ทั้งจากพิษณุโลกและพะเยาทุกท่าน มากันพร้อมหน้าแล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก สกว.  รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. คุณกฤษณ์ธวัช  นพนาคีพงษ์  รองเลขาธิการ สกอ. ดร.สุชาติ  เมืองแก้ว  รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก คุณยงยศ  เมฆอรุณ  ผู้แทนจังหวัดพิษณุโลก ผู้แทนจากภาคเอกชน  ผู้แทนภาคประชาชน (NGO)ตลอดจนนักวิจัยแกนนำ  ผู้แทนนิสิต มาร่วมประชุมด้วยอย่างคับคั่ง ทำให้ห้องประชุมแคบไปถนัดใจ

          และจักรกลสำคัญที่เป็น Knowledge Practitioner ในงานนี้ คือ

  • คณบดี/เทียบเท่า ทุกท่านของ ม.นเรศวร  จำนวน 20 ท่าน
  • รองคณบดีที่ดูแลด้านวิจัยและรองคณบดีที่ดูแลด้านการประกันคุณภาพ จำนวน 36 ท่าน
  • เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านงานวิจัยในระดับคณะวิชา และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษาในระดับคณะ วิชา  จำนวน 36 ท่าน 

          อาจารย์วิบูลย์เกริ่นนำกติกาการประชุมแบบ KM ด้วย Power Point ชุด "พัฒนางานวิจัย" อย่างสั้นที่สุด อ้อ! หะแรก ได้เผยด้วยว่า ที่สามารถจัดงานใหญ่ช่วงต้นปีงบประมาณในยุคปฎิรูปนี้ได้ก็ด้วย ทุนนวัตกรรมบริหารงานวิจัยของสถาบัน จาก สกว.  และเงินรางวัล KM BIO Award 2005 จาก สคส. นั่นเอง

          ต่อจากนั้น เป็นรายการที่คณบดี ทุกคณะวิชานำเสนอผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านวิจัย  และแผนงานในอนาคตของแต่ละคณะเพื่อก้าวไปสู่การเป็นคณะแห่งการวิจัย และมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย คณะวิชาละ 10 นาที  คณบดีทุกคณะได้รับแจ้งในที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยล่วงหน้าแล้วว่า  ต้องทำการบ้านมาส่งในวันนี้  (มีกรรมการคอยจับเวลาพูดด้วย  8 นาที ชูใบเหลือง  10 นาที ชูใบส้ม  15 ชูใบแดง)  และยังมีแบบฟอร์ม Popular vote สำหรับให้ผู้เข้าร่วมประชุมโหวตให้กับ คณะที่นำเสนอผลงานที่เป็น Best Practice ของการบริหารงานวิจัยอีกด้วย

          ดิฉันนำเสนอเป็นคณะที่ 4 ด้วย Power point นี้ (File ขนาดใหญ่เกินกว่าจะ upload ได้)  เมื่อทั้งกลุ่มคณะในภาคเช้าสิ้นสุดการนำเสนอ  พิธีกรก็เปิดช่วงเวลาให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารวิพากษ์ วิจารณ์  และทำนองเดียวกันในตอนท้ายของช่วงบ่าย  การวิพากษ์แบบกัลยาณมิตร ช่วยหมุนเกลียวความรู้  ต่อยอดเรื่องปิ๊ง  หลายเรื่องที่ดิฉันบันทึกไว้ขณะฟังอย่างตั้งใจ  ก็ผู้จัดอีกนั่นแหละ ช่างรอบคอบและรู้ใจ จัดเตรียมแบบฟอร์มไว้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมบันทึกไปฟังไป อย่างเป็นสาระบบ เช่น จำแนกตารางตามคณะ  และกำหนดประเด็นบันทึก ว่า จุดเด่น/ ข้อสังเกต/ ข้อเสนอแนะ ที่ได้ คืออะไร?  เป็นต้น เนี่ยก็ฝึกให้เป็น Note taker งัยค่ะ

          และก่อนที่ อ.ดร. เสมอ จะนำเสนอภาพรวมของมหาวิทยาลัย  ก็มีการรวบรวมคะแนน และประกาศรางวัลคณะวิชาที่เป็นสุดยอด Best Practice ด้านบริหารงานวิจัย  คณะที่ได้รับคะแนนสูงสุด คือ คณะเภสัชศาสตร์ ค่ะ :-)  มีการมอบรางวัล โดยท่านนายกสภาด้วยนะคะ ...

          เรื่องชักยาว ขอต่อตอน 2 นะคะ พักโฆษณาหน่อย....

                   

 

                 

      

           

หมายเลขบันทึก: 53480เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณอาจารย์มาลินีมากเลยครับที่ช่วยถ่ายทอดบรรยากาศของงานนี้ออกมา ตัวผมเองไม่มีเวลาจริง ๆ และอีกอย่างคือเป็นคนจัดงานเองแล้วมาภาคภูมิใจเองหรือชมตัวเองก็ดูไม่ค่อยจะเหมาะด้วย บอกให้ตูนและน้อง ๆ ใน QAU ช่วยกันเขียน แต่ละคนก็เกร็ง เนื่องจากเกรงว่าจะถ่ายทอดออกมาไม่ดีเท่าของจริง อาจารย์มาลินีถ่ายทอดออกมาได้ยอดเยี่ยมมากครับ ขอขอบคุณอีกครั้ง ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมงาน ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งครับ

อาจารย์คะ 

  • ตอนอยู่ในงานตูนคิดถึง Gotoknow มาก อยากรีบมาถ่ายทอด  แต่พอมานั่งจะเขียนจริงๆ เรียบเรียงไม่ถูกเลยค่ะ  เพราะรู้สึกว่ารายละเอียดเยอะมากจริงๆ  พอเห็นบันทึกนี้ของอาจารย์  ดีใจ้ ดีใจค่ะ  อ่านเพลินเลยค่ะ
  • รออ่านตอน 2 ด้วยใจจดจ่อค่ะ :)

    ขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสำหรับบันทึกนี้และบันทึกต่อไปค่ะ (แหะ แหะ)

ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานจัด KM Workshop ครั้งนี้ ถึงจะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ดีใจที่ทำให้ ม.น.จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ด้วยมือของ อ.วิบูลย์ ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท