เข้าใจความผิดปกติของสมอง เพื่อนำมาใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้


ความผิดปกติของสมองกลุ่มนี้เรียกว่า SLD (Specific Learning Disabilities) พบประมาณร้อยละ ๑๐ ของเด็กทั้งหมด เด็กเหล่านี้แตกต่างจากเด็กปัญญาอ่อน คือเด็ก ไอคิว ต่ำกว่า ๗๐ ซึ่งมีร้อยละ ๒ ของเด็กทั้งหมด เด็กกลุ่มแรกไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน สติปัญญาโดยทั่วไปดี แต่มีความผิดปกติในสมองบางส่วน ทำให้เกิดความบกพร่องในการเรียนรู้บางด้าน หากครูเข้าใจและมีวิธีช่วย ก็จะเติบโตเป็นคนปกติได้

เข้าใจความผิดปกติของสมอง เพื่อนำมาใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้

บทความเรื่อง Understanding Neurocognitive Developmental Disorders Can Improve Education for All  ลงพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับScience Education บอกเราว่า ความผิดปกติของสมอง ที่มีผลต่อการเรียนรู้ มีมากกว่าที่คิด  และหากเข้าใจกลไกความผิดปกติของแต่ละประเภท จะช่วยแก้ไขได้ 

ความผิดปกติของสมองกลุ่มนี้เรียกว่า SLD (Specific Learning Disabilities)  พบประมาณร้อยละ ๑๐ ของเด็กทั้งหมด  เด็กเหล่านี้แตกต่างจากเด็กปัญญาอ่อน คือเด็ก ไอคิว ต่ำกว่า ๗๐ ซึ่งมีร้อยละ ๒ ของเด็กทั้งหมด  เด็กกลุ่มแรกไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน  สติปัญญาโดยทั่วไปดี แต่มีความผิดปกติในสมองบางส่วน  ทำให้เกิดความบกพร่องในการเรียนรู้บางด้าน  หากครูเข้าใจและมีวิธีช่วย ก็จะเติบโตเป็นคนปกติได้ 

SLD จำแนกได้เป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่

1.  ผิดปกติในการอ่าน(dyslexia)  พบประมาณ 4-8%  ข้อบกพร่องหลักอยู่ที่การอ่าน  คือการมองเห็นตัวอักษร แล้วเปล่งเสียงของตัวอักษร หรือการผสมคำ ออกมา  และตรวจพบความผิดปกติของสมองส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างการทำความเข้าใจตัวอักษร กับการเปล่งเสียง

2.  ผิดปกติในการคิดเลข(dyscalculia)  พบประมาณ 3.5-6.5%  ข้อบกพร่องอยู่ที่การทำความเข้าใจจำนวน  ซึ่งยังขึ้นกับความสามารถด้านภาษาด้วย   

3.  สมาธิสั้น/อยู่ไม่นิ่ง (attention-deficit / hyperactivity disorder)  พบประมาณ 3-6%  ข้อบกพร่องอยู่ที่หลายส่วน  ได้แก่ ที่พฤติกรรมการมีใจจดจ่อ  การควบคุม และการยับยั้ง  กลุ่มนี้แยกเป็น ๒ กลุ่มย่อย  คือกลุ่มไม่สนใจ กับกลุ่มไม่อยู่นิ่ง

4.  ออทิสซึม (autism spectrum disorder)  พบประมาณ 1%  ข้อบกพร่องอยู่ที่ความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตนเอง กับของผู้อื่น  หรืออาจเรียกว่า เป็นความไม่เข้าใจ theory of mind

5.  บกพร่องด้านภาษาแบบจำเพาะ(specific language impairment)  พบประมาณ 7%  ข้อบกพร่องอยู่ที่ความเข้าใจคำ  ความสัมพันธ์ระหว่างคำ  และการใช้ถ้อยคำ   โดยที่เด็กเหล่านี้สติปัญญาดี ประสาทรับรู้ต่างๆ ดี  และมีคนพูดคุยด้วยตามปกติ  แต่มีความบกพร่องด้านภาษาดังกล่าว

ตัวเลขอุบัติการข้างบนหากบวกกันแล้วจะได้ถึงร้อยละ ๑๔-๒๘  แต่เนื่องจากมีเด็กจำนวนมาก ที่ผิดปกติหลายกลุ่ม  หรือเด็กที่เป็น SLD แบบใดแบบหนึ่ง เมื่อตรวจความผิดปกติด้าน LD อย่างอื่น มักมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กปกติ   ตัวเลขอุบัติการรวมจึงอยู่ที่ร้อยละ ๑๐ เท่านั้น 

เขาบอกว่า ความผิดปกติที่ ๕ กลุ่มนี้ เกิดขึ้นร่วมกันบ่อยดังกล่าวแล้ว  แต่ไม่มีผลให้ความผิดปกติอีกอย่างหนึ่งเลวลงไปอีก  เช่นเด็กคนหนึ่งอาจเป็นทั้ง dyslexia และ dyscalculia  หากตรวจสมองด้านการรับรู้เสียง และการรับรู้ตัวเลข ผมจะไม่เลวกว่าเด็กที่ผิดปกติอย่างเดียว  ในภาษาวิชาการเขาเรียกว่า ไม่มี interaction  

ตารางที่ ๒ ในบทความ ให้นิยามของ SLD แต่ละแบบ  ซึ่งดูแล้วมีความซับซ้อนมาก  ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการตรวจเพื่อวินิจฉัย  หลักการที่สำคัญคือ การตรวจวินิจฉัย SLD แต่ละชนิด ไม่ได้ตรวจแบบวัดไอคิวธรรมดา  แต่ตรวจการอ่าน การคิดเลข และทักษะทางสังคม  โดยมีวิธีตรวจที่จำเพาะ

ความรู้เรื่องกลไกการเกิด SLD ก้าวหน้าอย่างมากมาย  โดยมีความรู้ใน ๔ ระดับ  คือระดับยีน  ระดับตำแหน่งในสมอง  ระดับกระบวนการรับรู้  และระดับการทดสอบพฤติกรรม  พบว่า SLD ชนิดต่างๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนมาก   โดยมีลักษณะความสัมพันธ์กันครบทุกแบบ คือ หลาย - หลาย, หลาย - หนึ่ง,  หนึ่ง - หลาย, และ หนึ่ง - หนึ่ง (ดูรูปที่ ๑ ในบทความ)

SLD มีหลายสาเหตุ  โดยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง  และ SLD ต่างชนิด มีพื้นฐานความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ส่วนหนึ่งร่วมกัน   ความผิดปกติทางพันธุกรรมนี้ เกิดจากความผิดปกติที่หลายยีน

นอกจากนี้ สาเหตุด้านความเครียดของแม่ ก็มีส่วนทำให้เกิด SLD ด้วย

ความรู้เกี่ยวกับความผิดปกติทางสมองนี้ เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น  ยังต้องมีการวิจัยอีกมาก

เขาบอกว่า มีความท้าทายใหญ่ ๒ เรื่อง เกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กที่มีความผิดปกติของสมอง  ให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น คือ

1.  พัฒนาความรู้ความเข้าใจ ว่าความแตกต่างของพัฒนาการสมองในเด็กแต่ละคน มีปฏิสัมพันธ์กับการศึกษาในระบบอย่างไร  ศึกษาว่า กระบวนการเรียนรู้แต่ละแบบ กลไกทางสมองของแต่ละกระบวนการเรียนรู้  และพันธุกรรมเกี่ยวกับกลไกนั้น มีอิทธิพลอย่างไรต่อผลการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน

2.  ปรับการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะต่อเด็กแต่ละคน  เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีลักษณะจำเพาะ ในเรื่องพัฒนาการทางสมอง  ระบบการศึกษาจึงต้องมีความสามารถ ในการตรวจสอบการเรียนรู้ของเด็ก เป็นรายคน ว่าได้สั่งสมความรู้และทักษะต่างๆ ไปได้แค่ไหนแล้ว  และจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้อง กับพัฒนาการนั้น  เทคโนโลยี ไอซีที จะช่วยได้

เพื่อให้บรรลุความท้าทายใหญ่ทั้งสอง  ต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๒ ประการ

·  การวิจัยให้เข้าใจเส้นทางพัฒนาการ ของความผิดปกติทางสมองที่มีผลต่อการเรียนรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มีผลต่อ ความบกพร่องด้านภาษาแบบจำเพาะ  ความผิดปกติในการอ่าน  และความผิดปกติด้านการคำนวณ  ซึ่งเวลานี้กำลังถูกทอดทิ้งในแง่ของการจัดสรรทุนวิจัย (ในสหรัฐอเมริกา)

·  ครู นักจิตวิทยาในโรงเรียน และแพทย์ ต้องได้รับการฝึกให้รู้จักโรค SLD  วินิจฉัยโรคได้  และรู้วิธีจัดรูปแบบการเรียนรู้สำหรับเด็ก SLD แต่ละแบบเป็น

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ NDD.pdf 

วิจารณ์ พานิช

๔พ.ค. ๕๖


หมายเลขบันทึก: 534759เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2013 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2013 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท