เทคนิคการเพิ่มผลผลิตการวิจัยด้วยวิธีการบูรณาการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และการวิจัย


เทคนิคการเพิ่มผลผลิตการวิจัยด้วยวิธีการบูรณาการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และการวิจัย

ภารกิจหลักของอาจารย์ในระดับอุดมศึกษานั้นทั้งสอน วิจัย และบริการวิชาการ เป็นภาระงานที่สัวคมคาดหวัง แต่สำหรับการเป็นครูพยาบาลแล้ว เป็นความยากอย่างยิ่งในการสร้างงานวิจัยให้เกิดขึ้นได้แต่ละชิ้นงาน มีเทคนิคหนึ่งที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จคือ การบูรณาการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และการวิจัย ที่เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่สามารถทำได้ไปกับงานทุกภารกิจ อีกทั้งยังถือว่าเป็นการจัดการความรู้ด้วย คือเมื่อพิจารณาขั้นตอนของการจัดการความรู้ จริง ๆ แล้วก็เป็นวิธีการค้นหาความรู้ วิธีการสร้างความรู้ในสิ่งที่ผู้ปฏิบัติไม่รู้มาก่อนนั่นเอง ลองทำความเข้าใจขั้นตอนของการจัดการความรู้ องค์ความรู้ทางการพยาบาล และเทคนิคที่ใช้ ดังนี้ค่ะ

กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) ของ กพร. ประกอบด้วย 7 ขั้นตอนที่เป็นวงจร ดังนี้

1. การบ่งชี้ความรู้ (Knowledge Identification)

2. การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition)

3. การจัดความรู้ให้เป็นระบบ(Knowledge Organization)

4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and Refinement)

5. การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access)

6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing)

7. การเรียนรู้ (Learning)

องค์ความรู้ทางการพยาบาลก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากวิธีการจัดการความรู้
และวิธีการวิจัยแต่อย่างไรที่ต้องใช้ญาณวิทยา (
epistemology)
ในการจัดการความรู้ที่สะท้อนออกมาเป็นระเบียบวิธีการวิทยาทางการวิจัย
(research methodology) ดังนั้นองค์ความรู้ทางการพยาบาลจึงประกอบด้วยทั้ง
ความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge) ที่เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัย
และความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคน (tacit knowledge) ที่เป็นความรู้จากประสบการณ์
ในกระบวนการจัดการความรู้ในส่วนของการสร้าง แสวงหา จัดความรู้ให้เป็นระบบ
ประมวลกลั่นกรองด้วยระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพจึงสามารถดึงความรู้จากตัวคนออกมาให้เห็นเป็น
explicit knowledge ได้ เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาให้กลุ่มเข้าถึง
และแลกเปลี่ยนกันได้อีก สร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ ต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

CARPER (1975) เสนอวิธีการแสวงหาความรู้
(WAYs of KNOWING) ว่าต้องพิจารณาญาณวิทยาของการแสวงหาความรู้ทางการพยาบาล ได้แก่ ความรู้จาก 4 แหล่ง คือ ความรู้ เชิงประจักษ์(Empirics) ความรู้เชิงจริยธรรม (Ethics) ความรู้เชิงสุนทรียะ (Esthetics) และความรู้ในตัวคน (Personal)

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาประเภทขององค์ความรู้จากข้อเสนอของ
Habermas(1981)เสนอว่าองค์ความรู้ต้องให้ประโยชน์กับคนในสังคม จำแนกประเภทของความรู้ว่าประกอบด้วย

(1) ความรู้ที่ให้ประโยชน์เชิงประจักษ์ (empirical-analytical interest) เป็นองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดกฎกติกา เป็นความรู้เชิงเทคนิค (technical knowledge) แต่ความรู้นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางสังคม (social relation) เท่านั้นแต่เป็นไปไม่ได้กับชีวิตในความเป็นจริง

(2)  ความรู้ที่ให้ประโยชน์ด้านการตีความ (hermeneutic-historical interest) เป็นความรู้ที่เกิดจากการตีความได้แก่ การให้ความหมายเชิงประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของมนุษย์ เป็นความรู้ที่ให้ประโยชน์สำหรับการปฏิบัติ (practical knowledge) เหมาะสำหรับนำไปสู่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของการรับรู้ของคนที่ให้ความหมายต่อสังคมโลก

(3) ความรู้ด้านการวิพากษ์เพื่อนำไปสู่เสรีภาพของมนุษย์ (critical-emancipatory interest) คือ เป็นความรู้ที่สนใจการให้ความหมายและทัศนะที่แตกต่างกัน เพื่อการวิพากษ์ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ค่านิยม
และบรรทัดฐานทางสังคม ความรู้นี้จะถูกนำมาเชื่อมต่อกับการผลิตสังคม และวัฒนธรรม เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ เกิดการจัดระเบียบทางสังคมใหม่เพื่อนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ได้ชื่อว่าเป็นความรู้ที่นำไปสู่การปลดปล่อย (emancipatory knowledge) ใช้วิธีการวิภาษวิธีเชิงวิพากษ์ (critical dialectic) ที่ทำให้เกิดความรู้ด้วยความรู้จากการสะท้อนคิดด้วยตนเอง (self-reflexive knowledge) จนนำไปสู่การเกิดอิสรภาพจากการถูกกดขี่ได้

นักการศึกษาทางการพยาบาล Averill และ Clements (2007) เสนอความรู้ทางการพยาบาลไว้ 6 ประเภท
ได้แก่

(1) ความรู้เชิงประจักษ์ (empirical knowledge) เป็นความรู้พื้นฐานของการปฏิบัติงานได้แก่ ความรู้ด้านชีววิทยาการแพทย์ (biomedical knowledge) เช่น ความรู้เรื่อง อุณหภูมิ อัตราการหายใจ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น ความรู้เหล่านี้เป็นหลักฐานที่ดีสำหรับการนำมาปฏิบัติงาน 

(2)  ความรู้เชิงสุนทรียศาสตร์ (aesthetic knowledge) เป็นความรู้ที่ใช้ในการแสดงออก ท่าทาง การวางตัวที่เป็นศิลปะของการแสดงออกเมื่อปฏิบัติการพยาบาล

(3)  ความรู้เชิงจริยธรรม (ethical knowledge) เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในการปฏิบัติการวิเคราะห์ค่านิยม บรรทัดฐาน ศีลธรรมในบุคคลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาล เป็นความรู้ที่แสดงการตัดสินใจให้บริการสุขภาพที่ถือประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นกับผู้รับบริการ
และการเลือกสิ่งที่ดีที่สุด (beneficence) สำหรับผู้รับบริการ

(4) ความรู้ในตัวคน (personal knowledge) เป็นความรู้ของบุคคลที่ให้ความใส่ใจตนเองและผู้อื่นที่เกิดจากความเข้าใจและความไวจากการสื่อสารและการปฏิบัติ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในตนเอง และเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของบุคคล เช่น การมีความไวเชิงวัฒนธรรม (cultural sensitivity) ความรู้ที่คิดเชื่อมต่อได้กับความเชี่ยวชาญเชิงทฤษฎีที่ทำการศึกษาและนำทฤษฎีนั้นมาประยุกต์ใช้ เป็นต้น

(5) ความรู้เชิงการเมืองและสังคม (sociopolitical knowledge) เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ สังคม หรือประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎี และการปฏิบัติ
เป็นความรู้ที่สะท้อนกระบวนการวิพากษ์สังคม กล่าวถึงความยุติธรรมของสังคม และค้นหาการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตัวอย่างเช่น การให้บริการสุขภาพผู้หญิงพิการด้านการเรียนรู้
พิการด้านการได้ยิน (เป็นใบ้) ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ทำหมัน ความรู้ทางพยาบาลต้องวิพากษ์ว่า
ไม่ยุติธรรมต่อผู้หญิง สังคมต้องประณามและจัดระเบียบของสังคมใหม่เพื่อไม่ให้ผู้ชายกระทำต่อหญิง
แทนที่จะให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบทำหมันเอง สังคมต้องรณรงค์ให้ผู้ชายรับผิดชอบการกระทำของตนเอง หรือมีกระบวนการปรับพฤติกรรมของชายให้รับผิดชอบการกระทำของตน

(6) ความรู้ที่ไม่ใช่สิ่งที่เคยรู้มาก่อน (unknowing in knowledge) เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในบริบทของญาณวิทยา ภววิทยา (ontology) ที่เป็นธรรมชาติความจริงที่เป็นสากลของความรู้ทางการพยาบาล ความรู้ที่ไม่ใช่สิ่งที่รู้มาก่อน (unknowing) เป็นความคิด ความเชื่อ ข้อคิดเห็นที่เปิดกว้างที่เปิดกว้าง และเต็มใจรับว่าต้องเรียนรู้ ไม่มีอะไรที่เป็นคำตอบตายตัว เพราะความรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่แน่นอน
และเป็นพลวัตร วิธีการได้มาของความรู้เหล่านี้ต้องการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ไม่รู้มากกว่าการได้คำตอบ
ไม่ควรด่วนสรุปด้วยการตัดความคิดและความรู้ที่มีมาก่อนออกจากการตอบคำถามเพื่อไม่ตอกย้ำสิ่งที่รู้มาก่อนว่าเป็นจริง วิธีการได้มาขององค์ความรู้ประเภทนี้สามารถทำได้โดยการท้าทายความรู้ที่มีอำนาจที่เรียกว่า authoritative knowledge เช่น ความรู้จากการทบทบวนวรรณกรรม ต้องวิพากษ์ หรือถกเถียงเพื่อหาความรู้ และสร้างพลังอำนาจให้กับกลุ่มเพื่อค้นหาความรู้ และต้องคิดเสมอว่าความรู้ที่ได้มาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่มีความแน่นอน ดังนั้นต้องปลูกฝังความคิดของตนเองเพื่อเปิดใจกว้างต่อการเรียนรู้

สำหรับวงจรของการสร้างและการใช้องค์ความรู้ทางการพยาบาลแล้วสามารถนำความรู้จากการวิจัยมาใช้สอน นำไปพิสูจน์ว่าความรู้นั้นใช้ได้จริงหรือไม่จากการให้บริการวิชาการ ด้วยการวิจัย เพื่อค้นหาความรู้ที่ไม่ใช่สิ่งที่เคยรู้มาก่อน (unknowing in knowledge) ดังนั้นจึงมีเทคนิคที่ง่ายมากในการเพิ่มผลผลิตด้านการวิจัยด้วยเทคนิคการบูรณาการการจัดการความรู้การวิจัย การบริการวิชาการ และการจัดการเรียนการสอนไปด้วยกันโดยใช้เทคนิคของการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อค้นหาองค์ความรู้สำหรับการปฏิบัติจากความรู้เชิงประจักษ์ที่พบว่ามีจุดอ่อนในการนำไปใช้ได้จริงสำหรับการปฏิบัติการพยาบาล หรือ องค์ความรู้อื่น ๆ อีกมากที่พยาบาลยังไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านจริยธรรม ด้านสุนทรียะ


รายละเอียดอ่านต่อใน file ค่ะ



 



 



 



 



 



 



 



 


 

หมายเลขบันทึก: 534592เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2013 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท