มะพร้าว : ว่าด้วยความทรงจำอันง่ายงามของชีวิตในบ้านเกิด


ทุกวันนี้ผู้คนในบ้านเกิดของผมไม่ค่อยได้ขูดมะพร้าวทำกะทิกันเองแล้ว ส่วนใหญ่มักซื้อขายมาจากตลาดด้วยกันทั้งนั้น และผมก็ไม่พึงใจที่จะขบคิดและวิพากษ์ว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพียงแต่สุขใจกับการหวนคิดถึงเรื่องราวชีวิตที่ผมผูกพันอยู่กับ “ต้นมะพร้าว” และ "ลูกมะพร้าว"

(1)


ช่วงเทศกาลที่ผ่านมา  ผมเดินทางกลับบ้านเกิดเฉกเช่นทุกปี  และในทุกๆ ปีผมต้องหาเวลา “ไปวัด” (ไปจังหัน) ให้ได้อย่างน้อย 1 วัน

การไปวัดเช่นนั้นคือกระบวนการหนึ่งของการ “ทบทวนชีวิต” ตัวเอง  ทบทวนเพื่อให้เห็นว่าการเติบโตของตัวเองในวันนี้  หยัดยืนและฝ่าข้ามมาด้วยเหตุผลใดบ้าง  ซึ่งการ “ไปวัด” นั่นแหละคือปัจจัยหนึ่งที่ผมบอกย้ำกับตัวเองว่าเป็นเหตุผลอันสำคัญที่ทำให้ผมเติบใหญ่มาจวบจนปัจจุบัน

ผมชอบบรรยากาศของการไปวัดในยามเช้า  ตอนเรียนประถม  ผมไปวัดเกือบทุกเช้า  บ่อยครั้งต้องปีนต้นมะขามหวานเก็บลูกมาให้คนเฒ่าคนแก่  บ่อยครั้งได้ “ตำหมาก” ให้ยายให้ปู่  บ่อยครั้งได้นวดแข้งนวดขาให้ใครๆ  และที่สำคัญคือได้ฟังเรื่องราวนานาเรื่องจากผู้คน   ซึ่งเรื่องที่ว่านั้น ก็มีทั้งเรื่องสุขเรื่องทุกข์จากระดับบุคคลและระดับชุมชนปนเปกันไปตามสภาวะตรงนั้น  ด้วยเหตุนี้ “ศาลาวัด” จึงเป็นเสมือน “ศาลาประชาคม” หรือแม้แต่ “หอกระจายข่าว” และ “ห้องสมุด”  สำหรับผมเลยทีเดียว





(2)



ล่าสุดในช่วงที่นั่งทานข้าวร่วมกับญาติโยมที่ส่วนใหญ่มักคุ้นกันดี  เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นคุ้นชินกับภาพแห่งผมในสถานะ “เด็กวัด” ได้เป็นอย่างดี  ทั้งผมและผู้คนเหล่านั้นพูดคุยกันอย่างออกรสออกชาติ ผสมผสานกับความหลากรูปและหลากรสของอาหารที่ล้วนแล้วแต่นำพามาจากครัวเรือนและท้องตลาด  แต่นั่นก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าบรรยากาศของการได้ทานข้าวร่วมกัน โสเหล่กัน –

เราล้วนพูดคุยกันหลายเรื่องหลายราว  หากแต่ผมก็ฉุกคิดเกี่ยวกับถ้อยสนทนาเกี่ยวกับเรื่อง “มะพร้าว” เป็นที่สุด

ผมถามชาวบ้านในทำนองว่า  “ทุกวันนี้ในหมู่บ้านของเรา มีต้นมะพร้าวหลงเหลืออยู่เยอะมั๊ย”
ครับ  คำตอบที่ได้รับมาล้วนยืนยันว่า “หลงเหลืออยู่เยอะ...”
ถัดจากนั้นผมถามต่อว่า “เรายังขูดมะพร้าวทำกะทิกันอยู่อีกมั๊ย”
ครับ คำถามที่ได้รับคืนกลับมาล้วนสื่อสารเป็นเสียงเดียวกันคือ “ไม่แล้ว...”

แน่นอนครับ  ทุกวันนี้ผู้คนในบ้านเกิดของผมไม่ค่อยได้ขูดมะพร้าวทำกะทิกันเองแล้ว  ส่วนใหญ่มักซื้อขายมาจากตลาดด้วยกันทั้งนั้น  และผมก็ไม่พึงใจที่จะขบคิดและวิพากษ์ว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เพียงแต่สุขใจกับการหวนคิดถึงเรื่องราวชีวิตที่ผมผูกพันอยู่กับ “ต้นมะพร้าว” และ "ลูกมะพร้าว"   อาทิ 




·  การได้เห็นหมู่นกบินเข้าออกต้นมะพร้าวในเช้ารุ่งและเย็นย่ำ
·  การได้ใช้ทางมะพร้าวเป็นรถลาก
·  การพับนกจากใบมะพร้าว
·  การสานตะกร้าจากทางมะพร้าว
·  การได้ดื่มน้ำมะพร้าวหวานๆ เปรี้ยวๆ
·  การได้กินขนมและอาหารที่ทำมาจากกะทิมะพร้าว
·  การได้เห็นเจ้าจอจากแดนไกลมารับจ้างขึ้นปีนเก็บลูกมะพร้าวแล้วอยู่ไม่นิ่ง เพราะโดนเจ้ามดแดงเจ้าถิ่นบนต้นมะพร้าวรุมกัดอย่างไม่แยแสว่าเจ้าจอจะเจ็บๆ คันๆ สักแค่ไหน
·  การได้ใช้กะลามะพร้าวเป็นของเล่น (วิ่งกะลา)  
ใช้กะลามะพร้าวเป็นกระบวยตักน้ำ  เป็นกระปุกออมสิน
·  ฯลฯ





(3)


นั่นคือความทรงจำอันง่ายงามที่ไม่ซับซ้อนใดๆ  เพราะเป็นห้วงชีวิตในวันวัยที่ยังไม่กร้านโลกเท่าใดนัก  และสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องราวที่ผมได้แตะต้องสัมผัสด้วยตนเองอย่างจริงๆ จังๆ มิใช่ฉาบฉวย  –

แต่จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ผมรู้สึกหวนหาไม่แพ้เรื่องราวอันแสนสนุกข้างต้นก็คือบรรยากาศของการนำพามะพร้าวลูกแก่ๆ จากครัวเรือนต่างๆ ไปสู่การแบ่งปันเพื่อนบ้านในเทศกาลต่างๆ  ทั้งในวิถีแห่ง "บ้าน" และ "วัด" 

ครับ,  ผมคิดถึงบรรยากาศคนหนุ่มสาว  หรือแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในการไปสอยมะพร้าว หรือปีนเก็บลูกมะพร้าวหลังบ้านมา “ผ่า”  (ปลอกเปลือกมะพร้าว)  คิดถึง “กระต่ายขูดมะพร้าว” คิดถึงบรรยากาศ “เกี้ยวสาว” ของหนุ่มชาวบ้านที่ชอบมาช่วยงานและช่วยสาวๆ ได้ขูดมะพร้าวค่อนคืนค่อนวัน  ซึ่งมันเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และรอยยิ้มที่ซ่อนงำความเขินอายไว้อย่างน่ารักและน่าทะนุถนอม ฯลฯ




(4)


(ในหมู่บ้าน) วันนี้  มะพร้าวหลายลูกแห้งตายบนต้น  หลายลูกร่วงหล่นโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ...ภาพและเสียงแห่ง “วัฒนธรรม” ของ "ผู้คน" ที่เกี่ยวโยงและร้อยรัดอยู่กับ “มะพร้าว” ดูแผ่วเบาและจากจางไปอย่างน่าใจหาย  ขณะหนึ่งก็เปลี่ยนหน้าตาของ "วิถี" ที่มีต่อกันไปตามครรลอง-

ครับ ทุกอย่างมีวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงของมันเอง  ขึ้นอยู่กับว่าในความทรงจำของแต่ละคนจะมั่นคงและแจ่มชัดในเรื่องเหล่านั้นแค่ไหน  เช่นเดียวกับการเข้าใจความเปลี่ยนผ่านนั้นหรือไม่ ... หรือผ่านมาแล้วคงอยู่ ..หรือแค่ผ่านมา เพื่อผ่านไปเท่านั้นเอง




สำหรับผมแล้ว การได้หวนคิดถึงเรื่องราวเช่นนี้  ไม่เพียงทำให้ผมเห็นชัดกับสาเหตุของการเติบใหญ่ของตนเองเท่านั้น  แต่กลับยังหนุนเสริมให้ผมมี “พลังชีวิต”  ในวันที่เหลืออยู่อย่างมหัศจรรย์

ท่านละครับ  มีความทรงจำใดกับเรื่อง มะพร้าว หรือลูกมะพร้าวบ้าง ?


คำสำคัญ (Tags): #happy ba#บ้าน#มะพร้าว
หมายเลขบันทึก: 534378เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2013 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เมื่อตอนเด็ก ...มะพร้าวที่หล่นงอก  

แม่จะให้ลูกช่วยกันขูดด้วยกระต่าย (ภาษาใต้ เรียกว่า เหล็กขูด)

เพื่อนำมาทำน้ำมันมะพร้าวเก็บไว้ใช้

มาวันนี้ ก็กำลังจัดเก็บมะพร้าวที่นำมาจากบ้านสวน

ขูดด้วยกระต่าย แล้วเก็บในช่องแช่แข็ง ไว้ใช้ยามที่อยู่บ้านนี้ที่ต้องซื้อมะพร้าว

ขอบคุณนะคะ :)

อาจารย์ช่างเข้าใจ เอามะพร้าวมาเล่าเรื่องเก่าวันวาน ได้อย่างน่าคิดครับ

ขอบคุณครับ

ต้นสูงมากๆๆ ตอนนี้มีน้อยแล้ว

เท่าที่ทราบ พบว่า ชุมชนไหนมีต้นมะพร้าวสูง แสดงว่าตั้งชุมชนนานมากๆๆ

เมื่อตอนเด็กๆบ้านพี่ดาก็มีมะพร้าวหลายต้น ที่ยังคิดถึงไม่ลืมคือ รังนกกระจาบ ที่ทำรังอย่างน่าทึ่งห้อยอยู่ที่ใบมะพร้าวสูงๆ และทำน้ำตาลสดกินเองได้ด้วยบนต้นลูกมะพร้าวเปลือกสีเหลือง  เอ่ยแล้วอยากดื่มมากค่ะ แต่ที่เชียงใหม่พอมีน้ำตาลสดจากต้นตาลให้ดื่มบ้างช่วงนี้กำลังมีขายในตลาด

ฝากให้ชมที่เราจะได้ประโยชน์จากมะพร้าวด้วยนะคะ

http://www.gotoknow.org/blog/kanda01  มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว


 


เมื่อปีก่อน " เมืองมะพร้าว"  อย่างประจวบ ฯ บ้านฉัน เกือบสิ้นชื่อเรื่องมะพร้าวซะแล้ว เพราะเจอเจ้า

หนอนหัวดำกัดกินใบมะพร้าวทำให้ตายยกไร่กันเลยจ้ะ  มาช่วงนี้ค่อยฟื้นคืนชีพได้หน่อย  แต่กว่าจะ

ปลูกมะพร้าวได้โตเท่าเดิมคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีจ้ะ

ขอบคุณบันทึกงดงามนี้ค่ะ

พี่ออกแบบ landscape ค่ะ บ่อยๆ นะคะ ที่ลูกค้าต่างชาติบอกความต้องการอยากได้ต้นมะพร้าว

ดิฉันปลูกแล้วมีลูกทันทีเลยภายในสัปดาห์ (ขุดรากถอนโคนมาทั้งต้นใหญ่ บรรทุกเครนมา) ค่ะ

แต่คุณค่ามันคงต่างกันนะคะ กับต้นไม้ที่เราบรรจงปลูก รดน้ำ พรวนดิน และรอคอยกว่าจะมีลูกให้ชื่นชม ซึ่งมันจะมีความผูกพันและเรื่องราวผสมปนเปมาด้วยน่ะค่ะ


มะพร้าว...เหล่านี้เป็นฝีมือของยายปลูกไว้ จนเราได้มาใช้ประโยชน์
แถบบ้านครูนกจะมีคนมารับซื้อมะพร้าวโดยมีลิงเป็นผู้ปีนเก็บ
สำหรับครูนก...ในวัยเด็กหัดว่ายน้ำในคลองโดยมีทุ่นมะพร้าวค่ะ

   ขอบคุณมากครับ อ.แผ่นดินที่นำมาร้อยเรียง บอกเล่า

แวะมาอ่านบันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ดีๆ ค่ะอาจารย์ สมัยเด็กๆ แม่ก็ใช้ให้ปอกและขูดมะพร้าวเป็นประจำค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท