จิตวิทยาสำหรับการดูแลผู้เรียน


จิตวิทยา........สำหรับการดูแลผู้เรียน

  ครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด เป็นผู้คอยดูแลให้การปลูกฝังอบรม ให้เกิดการพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เป็นคนดี และมีความสุขตามควรแก่อัตภาพ ครูจึงต้องพยายามใช้วิธีการที่หลากหลายในการดูแลผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการตามวัยเต็มตามศักยภาพ หลักจิตวิทยาต่าง ๆ ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรศึกษา ให้ความสำคัญและนำมาใช้ในการดูแลผู้เรียน

1.  ความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นสิ่งที่ครูประจำชั้นควรให้ความสนใจทั้งในการดูแลและในการสอนทั่วไป เช่น

-ด้านความรู้ความสามารถ ครูประจำชั้นควรพิจารณาว่า ปัญหามาจากที่ใดระหว่างระดับสติปัญญาของผู้เรียน หรือวิธีการสอนของครูไม่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน

-ด้านบุคลิกภาพและอารมณ์  ผู้เรียนบางคนมีอารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรง ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนหรือครูได้ จึงเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท

-ด้านสภาพทางร่างกาย  ผู้เรียนบางคนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ มีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจขัดขวางการทำกิจกรรมการเรียนการสอนบางอย่าง บางคนอาจจะมีความพิการทางร่างกาย หรือประสาทสัมผัส อาจส่งผลไปถึงไปถึงปัญหาด้านบุคลิกภาพและอารมณ์ได้

-ด้านวัฒนธรรม  เมื่อมีผู้เรียนที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากผู้เรียนส่วนใหญ่ ครูต้องตระหนักถึงความแตกต่าง และเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้เกิดการรับรู้และพยามยามเข้าใจในความแตกต่างนั้น ป้องกันไม่ให้เกิดการล้อเลียนซึ่งกันและกัน

-ด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ครูต้องให้ความสนใจและหาทางปกครองดูแลความแตกต่างนี้ อย่าให้เกิดการเขม่น การดูถูกดูแคลน และต้องหาทางช่วยเหลือ ส่งเสริมอย่างเหมาะสม

  2.  สัมพันธภาพ  ความสำเร็จในการดูแลชั้นเรียน คือ สัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับผู้เรียน เพราะความใกล้ชิด ความเอาใจใส่ดูแล  เพราะผู้เรียนจะเชื่อฟัง เคารพ และต้องการการยอมรับจากครูสูงมาก ดังนั้นครูประจำชั้นควรจะใช้โอกาสที่ดีนี้ในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นเยาวชนและอนาคตของชาติที่มีคุณภาพ มีคุณค่าต่อสังคมให้มากที่สุด สัมพันธภาพที่ดี เช่น

-การสื่อสาร ครูและผู้เรียนมีความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการตรงกัน

-เจตคติของครูต่อผู้เรียน ครูต้องมีใจกว้างขวาง ไม่มีอคติ หรือลำเอียง ต้องใกล้ชิดและค้นหาสาเหตุแห่งเหตุที่

เกิดขึ้น ให้ความช่วยเหลือ พัฒนา ส่งเสริมแล้วแต่กรณี

-อารมณ์ของครู  ยิ้มแย้มแจ่มใส รักใคร่เอ็นดู ทำให้ผู้เรียนกล้าพูด กล้าคุยและกล้าเปิดเผยตัวเองที่แท้จริง

-การให้การยอมรับ รับฟังความคิดเห็นของทุกคน ทำให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจและให้การยอมรับครู

  3.  การเสริมแรง  ครูประจำชั้นควรให้การเสริมแรงสอดคล้องเหมาะสมกับพฤติกรรม และโอกาส ซึงมีหลากหลายวิธี เช่น คำพูดชมเชย หรือการให้รางวัล ต้องทำอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอคงที่ บางครั้งครูอาจจะละเลย คิดว่าไม่สำคัญ

  การเป็นครูประจำชั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับอาชีพความเป็นครู ครูทุกคนเปรียบเสมือนพ่อ แม่ ของผู้เรียนอีกคนหนึ่งที่ผู้เรียนให้ความไว้วางใจ และรักครู และครูทุกคนก็ต้องการเห็นรอยยิ้มแห่งความสำเร็จแสมอ

โดย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ


คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 534266เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2013 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท