คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.)


คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.)

นายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศการสรรหา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) กำหนดขึ้นทะเบียนกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. (ระยะที่ 1 ใน พื้นที่ 32 จังหวัด) ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556

และรับสมัครผู้สมัครคัดเลือกเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำจังหวัด ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2556


กระบวนการสรรหามี 2 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนแรก

จะคัดเลือกคณะกรรมการสรรหาจาก 9 สาขาอาชีพ (9 กลุ่มองค์กร) หรือหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรในจังหวัด ประกอบด้วย สมาคมหรือชมรมครู อาจารย์ หรือสมาคมทางด้านการศึกษา สภาทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย สมาคมหรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ สภาหอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มอาสาสมัคร องค์กรเอกชน องค์กรเกษตรกร สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด

เพื่อมาคัดเลือกกันเองให้เหลือหน่วยงานหรือองค์กรละหนึ่งคน รวม 9 คน เพื่อทำหน้าที่สรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยกำหนดขึ้นทะเบียนกรรมการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เวลา 08.30 - เวลา 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ป.ป.จ. หรือ ที่สำนักงาน ป.ป.ช.ส่วนกลาง หรือ สายด่วน Call Center 1205


ขั้นตอนที่ 2

คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดจะดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครที่มีความเหมาะสมเพื่อเสนอชื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแต่งตั้ง

ทั้งนี้รายชื่อ 32 จังหวัด ที่จะมีการดำเนินการสรรหาในระยะแรก ประกอบด้วย

ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ลำปาง

ภาคกลาง อยุธยา พิษณุโลก นครปฐม ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี

ภาคตะวันออก ชลบุรี จันทบุรี สระแก้ว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ขอนแก่น นครพนม ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี

ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ยะลา เพชรบุรี


และระยะที่ 2 อีก 44 จังหวัด (ที่เหลือ) จะเริ่มกระบวนการสรรหาวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 นี้

++++++++++++++++++++++++++++++++++

สาระสำคัญของกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 [1]

ด้านปราบปราม

1. เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา หรือบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (มาตรา 25/1)

2. เพิ่มรูปแบบการไต่สวน โดยมอบหมายให้พนักงานไต่สวน (มาตรา 26 วรรคสอง และวรรคสาม, มาตรา 45/1)

3. มอบหมายให้พนักงานไต่สวนฟ้องคดีในชั้นศาลได้ (มาตรา 28/2)

4. กรรมการ ป.ป.ช. ไม่จำต้องเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนทุกคดี (มาตรา 45)

5. ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ให้อายุความสะดุดหยุดลง

6. ขยายหลักการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 5 ปี และแม้จะพ้นเกิน 5 ปี คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาไต่สวนได้ (มาตรา 84)

7. คดีที่มีการถอนฟ้อง ทิ้งฟ้อง หรือยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคดี ป.ป.ช. ยกเรื่องนั้นขึ้นพิจารณาได้ (มาตรา 86 (2))

8. เรียกให้ส่งเรื่องที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม ที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ

9. กรณีที่มีการจับผู้ถูกกล่าวหาระหว่างดำเนินคดี ให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวได้ต่อไป ตาม ป.วิ.อาญา (มาตรา 89/1)

10. กรณีพนักงานสอบสวนหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ให้รายงานกรรมการ ป.ป.ช. หรืออาจเรียกสำนวนมาไต่สวนใหม่ได้ (มาตรา 89/1 วรรคสอง)

11. กรรมการอาจส่งพนักงานไต่สวนเข้าร่วมสอบสวนด้วยก็ได้ (มาตรา 89 วรรคสาม)

12. กรรมการ ป.ป.ช. อาจส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการได้ ถ้ากรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยก็ไต่สวนใหม่ได้ (มาตรา 89/2, 89/3)

13. การพิจารณาคดีของศาลให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ถือสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก (มาตรา 98/1)

14. ความผิดในหมวด 9 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ให้ถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม


ด้านตรวจสอบทรัพย์สิน

1. บัญชีทรัพย์สินฯ ของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นเปิดเผยได้เมื่อเจ้าของยินยอม (มาตรา 103/10)

2. การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ใช้อำนาจของคณะกรรมการ ปปง. และคณะกรรมการธุรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (มาตรา 37 วรรคสี่)


ตรวจสอบ ป.ป.ช.

1. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธาน สว.

2. ระเบียบการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีลดน้อยลงกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (มาตรา 43 วรรคสอง)

3. เรื่องที่ ป.ป.ช. ให้ตกไปต้องจัดให้บุคคลทั่วไปเข้าตรวจดูเหตุผลของมติได้

4. ให้เปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ (มาตรา 103/9)

5. ส.ส 1/4 หรือประชาชน 20,000 คน เข้าชื่อร้องต่อประธาน สว. ว่ากรรมการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายหรือพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอย่างร้ายแรง เพื่อให้ สว. มีมติให้พ้นจากตำแหน่งได้ (มาตรา 16)


มาตรการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

1. มาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลตามกฎหมายคุ้มครองพยาน (มาตรา 103/2)

2. จัดให้มีเงินสินบน รางวัลตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ข้อมูล เบาะแสแก่บุคคลตามมาตรา 30 และมาตรา 103/2 (มาตรา 103/3)

3. ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ป.ป.ช. เสนอ ครม. พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและระดับตำแหน่งเป็นกรณีพิเศษ

4. เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้การคุ้มครอง หากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมแล้วถูกกลั่นแกล้ง หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 103/5)

5. มาตรการการกันผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นพยาน (มาตรา 103/6)

6. ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่าย การจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ให้ประชาชนตรวจดู (มาตรา 103/7)

7. ให้คู่สัญญาในหน่วยงานของรัฐแสดงบัญชีรับ – จ่าย ของโครงการต่อกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบ (มาตรา 103/7 วรรคสอง)


กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด

1. จังหวัดละไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน (มาตรา 103/10)

2. คุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัด (มาตรา 103/11)

(1) มีความซื่อสัตย์สุจริต

(2) เป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(3) สัญชาติไทย

(4) อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีบริบูรณ์

(5) รับหรือเคยรับราชการไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า หรือองค์การพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพไม่น้อยกว่า 10 ปี

(6) ไม่วิกลจริต

(7) ไม่ถูกคุมขังโดยหมายศาล

(8) ไม่ติดสารเสพติดให้โทษ

(9) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

(10) ไม่ต้องคำพิพากษาจำคุก เว้นแต่ความผิดโดยประมาท ลหุโทษ หรือหมิ่นประมาท

(11) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ

(12) ไม่เคยต้องคำพิพากษา ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน


คณะกรรมการสรรหา 9 คน (มาตรา 103/12)

(1) สมาคม ชมรมครู อาจารย์ สมาคมด้านการศึกษา

(2) สภาทนายความ หรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย

(3) สมาคม ชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ สภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน

(4) สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด

(5) กลุ่มอาสาสมัคร

(6) องค์กรเอกชน

(7) องค์กรเกษตรกร

(8) สมาคม หรือชมรมสื่อมวลชน

(9) หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด


คัดเลือกแล้วเสนอรายชื่อ 2 เท่า

ผู้สมัคร > คณะกรรมการสรรหา > คณะกรรมการ ป.ป.ช.

กรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี


อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัด (มาตรา 103/18)

"มาตรา 103/18 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดดังนี้

(1) ส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยประสานความร่วมมือกับประชาชนและส่วนราชการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริต โดยดำเนินการเพื่อการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(2) พิจารณาเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(3) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย

กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด มีอำนาจลงนามในหนังสือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ได้"

( *** มาตรา 103/18 แก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2557 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ข้อ 2)

เดิม ป.ป.จ. มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดดังนี้ (ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 59)

1. ส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

2. เสนอมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

3. ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.

4. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ฯลฯ

5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย เว้นแต่การไต่สวนข้อเท็จจริง

หลักเกณฑ์ วิธีการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ของกรรมการ ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด


และตาม ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2557 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ข้อ 3 ให้ชะลอการสรรหา คัดเลือกและแต่งตั้ง ป.ป.จ. ไว้ก่อน

" ข้อ 3 การสรรหา คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นอันใช้ได้ ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น "

+++++++++++++++++++++++++++++

[1] วิโรจน์ ฆ้องวงศ์, นักกฎหมาย ป.ป.ช.ชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. “สาระสำคัญของกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่." , "สรุปสาระสำคัญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่", http://www.nmt.or.th/DocLib5/พรบ.กฎหมาย%20ปปช/240511_3.pdf


อ้างอิง

"สรุปสาระสำคัญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่", http://www.nmt.or.th/DocLib5/พรบ.กฎหมาย%20ปปช/240511_3.pdf


วิโรจน์ ฆ้องวงศ์, นักกฎหมาย ป.ป.ช.ชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. “สาระสำคัญของกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่."


พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๑๔ ก/หน้า ๑/๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒)

http://www.local.moi.go.th/law6.htm


พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๕๐

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๒๒ ก/หน้า ๔/๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐)

http://www.sepo.go.th/mbc/Uploads/Files/1282545524.pdf


พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๒๖ ก/หน้า ๑/๑๘ เมษายน ๒๕๕๔)

http://www.charuaypontorranin.com/images/column_1303257121/Anti corruption Act 2nd Version 2011.pdf


ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗


สำนักข่าวอิศรา, “เริ่มแล้วสรรหา ป.ป.ช.จังหวัด นำร่อง 32 แห่ง 22 เม.ย.นี้." 17 เมษายน 2556.

http://www.isranews.org/ข่าว/item/20617-เริ่มแล้วสรรหา-ป-ป-ช-จังหวัด-นำร่อง-32-แห่ง-22-เม-ย-นี้.html


ไทยพีบีเอสนิวส์, “กรรมการ "ป.ป.ช." ห่วงระบบอุปถัมภ์แทรกแซงการสรรหา "ป.ป.จ."." 28 เมษายน 2556. http://news.thaipbs.or.th/content/กรรมการ-ปปช-ห่วงระบบอุปถัมภ์แทรกแซงการสรรหา-ปปจ


หมายเลขบันทึก: 534213เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2013 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2017 07:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท