แนวทางการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ไปสู่การปฏิบัติในงานราชทัณฑ์ของไทย


                                                                                                                                              นัทธี  จิตสว่าง

ภายหลังที่องค์การสหประชาชาติโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 ได้ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ต่อข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non - Custodial Measures of Women Offenders) หรือ เรียกเพื่อเป็นเกียรติกับประเทศไทยว่า ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ทำให้ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งถึงแม้จะไม่มีฐานะเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับที่ประเทศต่างๆต้องปฏิบัติตามแต่ก็เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ยอมรับกันในระดับสากลและประเทศต่างๆ ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพเพื่อยกระดับมาตรฐานของการราชทัณฑ์ของประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ผลักดันให้เกิดข้อกำหนดกรุงเทพดังกล่าวนี้ จึงต้องแสดงบทบาทในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพให้เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทที่ผลักดันโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประทศไทย (Thailand Institute of Justice) หรือ TIJ ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ควรที่จะเป็นประเทศตัวอย่างในการพยายามในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ โดยผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงยุติธรรม ศาลยุติธรรม สถาบันTIJ และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดังนั้นเพื่อที่จะให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ในงานราชทัณฑ์ของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวตามกรอบในการปฏิบัติ ตามข้อกำหนดกรุงเทพดังต่อไปนี้

 

 

การดำเนินการตามกรอบในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอนโดยเริ่มจากการตรวจสอบปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ ต่อจากนั้นจึงนำไปสู่การสร้างมาตรฐานการปรับปรุงตามข้อกำหนดกรุงเทพ การจัดทำตัวชี้วัด จนถึงการวิจัยประเมินผล เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงาน และเผยแพร่ผลสำเร็จต่อไป ทั้งนี้โดยมีการดำเนินการออกแบบก่อสร้างอาคารเรือนจำและการสรรหาและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องโดยมีดำเนินการไปพร้อมๆกัน

 

การตรวจสอบความสอดคล้องกับกฎหมายภายใน
ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นข้อกำหนดที่ออกมาเป็นข้อมติขององค์การสหประชาชาติซึ่งมีฐานะเป็นเพียง soft law คือ เป็นกฎหมายที่ไม่มีลักษณะเป็นการบังคับ แต่เป็นมาตรฐานที่เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติเพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงของประเทศนั้นๆ เข้าสู่มาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม การที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพสิ่งสำคัญประการแรกคือจะต้องมีการตรวจสอบว่ากฎหมายใประเทศของไทยตลอดจนระเบียบข้อบังคับต่างๆมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าวเพียงใด มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดหรือไม่ที่ยังไม่สมบูรณ์ในการสนับสนุนการให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ถ้ามีความจำเป็นก็ควรจะได้มีการดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อให้ดำเนินการดังกล่าวมีกฎหมายหรือระเบียบรองรับ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการตรวจสอบว่าข้อบังคับใดหรือไม่ที่ขัดแย้งกับข้อกำหนดกรุงเทพ ก็ควรที่จะได้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ เพราะหากข้อกำหนดกรุงเทพมีความสอดคล้องกับกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับในประเทศแล้วก็จะทำให้การมีนโยบายใดๆ ในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่การปฏิบัติจริงสามารถจัดสรรงบประมาณและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพราะเป็นการปฏิบัติที่มีฐานของกฎหมาย
และระเบียบภายในประเทศรองรับ

 

การกำหนดกรอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ
ข้อกำหนดกรุงเทพมีขอบเขตที่สำคัญ 4 ส่วน คือส่วนที่ 1 ข้อกำหนดทั่วไป ส่วนที่ 2 ข้อกำหนดที่ใช้สำหรับผู้ต้องขังมีลักษณะพิเศษ ส่วนที่ 3 มาตรการที่มีใช่การคุมขัง และส่วนที่ 4 การวิจัย การวางแผนการประเมินผลและการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชน  ดังนั้นจึงต้องมีการพิจารณาว่าข้อกำหนดส่วนใดหรือข้อใดเกี่ยวกับงานการราชทัณฑ์บ้าง และจะต้องมีกรอบในการปฏิบัติอย่างไร ส่วนในเป็นเรื่องของเรือนจำและ ทัณฑสถานที่ต้องปฏิบัติ ส่วนใดเป็นเรื่องของหน่วยงานส่วนกลางและส่วนใดเป็นเรื่องของหน่วยงานภายนอกในกระทรวงยุติธรรมหรือหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เช่น ในส่วนที่3 และส่วนที่4 อาจไม่เกี่ยวกับราชทัณฑ์โดยตรงกล่าวคือ มาตรการที่มิใช่การคุมขัง จะเป็นเรื่องของศาลยุติธรรมเป็นหลัก แต่ก็มีบ้างส่วนเกี่ยวข้องกับ เรือนจำเช่น การพักการลงโทษและในส่วนที่ 4 การวิจัยและประเมินผล อาจเป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรม มหาวิทยาลัยหรือกรมราชทัณฑ์ที่เข้ามีส่วนในการศึกษาวิจัยดังกล่าว

สำหรับในส่วนที่ 1 นั้น  มีประเด็นสำคัญที่สามารถแตกออกเป็นประเด็นย่อยๆได้มี 5 เรื่อง กล่าวคือ
1. สภาพแวดล้อมและอาคารสถานที่
2. เรื่องการเยี่ยมญาติ
3. อนามัยแม่และเด็กและหญิงมีครรภ์
4. วินัยและการลงโทษทางวินัย
5. การตรวจค้นตัวผู้ต้องขังหญิง
6. สถานพยาบาลและการรักษาพยาบาล


ในส่วนที่ 2 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจำแนกลักษณะปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงลักษณะพิเศษในแต่ละประเภท เช่น ผู้ต้องขังหญิงที่เป็นชนพื้นเมือง ผู้ต้องขังหญิงที่เป็นชาวต่างชาติ  หรือผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น

ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่าในแต่ละเรื่อง มีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง และ มีประเด็นใดบ้างที่ต้องไปปฏิบัติรวมตลอดจนถึงการจัดทำตัวชี้วัด ซึ่งสามารถใช้ในการประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้

เมื่อได้วางกรอบดังกล่าวแล้วจะต้องส่ง ให้เรือนจำต่างๆ พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องว่ามีเรื่องใดบ้างที่จะต้องปฏิบัติเพิ่มเติมหรือปรับปรุงบ้าง จะต้องใช้งบประมาณหรือบุคลากรเท่าใด เพื่อส่วนกลาง จะได้นำไปพิจารณาวางแผนในการพัฒนาในโอกาสต่อไป

 

จัดทำเรือนจำนำร่องหรือเรือนจำต้นแบบ
การดำเนินการในการจัดทำเรือนจำนำร่องเพื่อให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเรือนจำให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการที่จะทำให้ทุกเรือนจำปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรุงเทพไปพร้อมๆกันในระยะแรกคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องกระจายไปให้ทั่วทุกแห่ง และปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจและความพร้อมของบุคคล นอกจากนี้การจัดทำเรือนจำนำร่องเพื่อให้เป็นเรือนจำต้นแบบ ยังเป็นประโยชน์ในการเป็นแบบอย่างให้เรือนจำพัฒนาตาม โดยส่วนกลางเข้าโดยไปช่วยเหลือและศึกษาวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาเรือนจำไปสู่การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพโดยเป็นแนวทางสำหรับเรือนจำอื่นต่อไปสำหรับประเทศไทยนั้น การจัดทำโครงการเรือนจำนำร่อง หรือเรือนจำต้นแบบนั้น ควรจัดทำในเรือนจำ 3 กลุ่ม กล่าวคือ
1. ทัณฑสถานหญิงซึ่งมีอยู่รวมทั้งหมด  7 แห่ง
2. เรือนจำที่มีแดนหญิง ขนาดใหญ่และสมบูรณ์ ในเรือนจำชาย เช่น เรือนจำกลางจังหวัดระยอง  เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช  เรือนจำจังหวัดอยุธยา
3. เรือนจำที่มีแดนหญิงเล็กๆ อยู่ภายในเรือนจำกลางเก่าๆ หรือเรือนจำจังหวัด เรือนจำอำเภอ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

เหตุที่ต้องมีการแบ่งประเภทเรือนจำดังกล่าวนี้ก็เนื่องจากว่า เรือนจำแต่ละประเภทมีลักษณะ และความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกรุงเทพไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ทัณฑสถานหญิงจะมีความพร้อมมากที่สุด เรือนจำชายทีมีแดนหญิงที่สมบูรณ์มีความพร้อมระดับรองลงมา และเรือนจำชายที่มีแดนหญิงเล็กๆอยู่ด้านหน้าเรือนจำมีความพร้อมน้อยที่สุดและต้องประสบกับปัญหาหลายประการในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพเพราะมีความคับแคบและอาคารสถานที่ไม่เอื้ออำนวยจำเป็นจะต้องได้งบประมาณในการปรับปรุงหลายประการ การพัฒนาแนวทางการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพในเรือนจำทั้งสามประเภทนี้ จึงมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึง จำเป็นที่ต้องมีเลือก เรือนจำจากทั้ง 3 ประเภทนี้มาเป็นเรือนจำนำร่องที่จะพัฒนาเป็นเรือนจำต้นแบบ สำหรับเรือนจำอื่นๆในแต่ละกลุ่มเรือนจำทั้ง 3 ประเภทนี้ได้พัฒนาตาม

 

การประกวดเรือนจำที่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ
การประกวดพัฒนาเรือนจำที่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดกรุงเทพนับเป็นกลยุทธ์ประการหนึ่งในการขับเคลื่อนให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ทั้งนี้โดยมีรางวัล ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อเสียง หรือการศึกษาดูงานต่างประเทศหรืออื่นๆ เป็นสิ่งจูงใจ โดยจะต้องมีการจัดทำตัวชี้วัดขึ้นมาเพื่อให้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปฏิบัติตาม ข้อกำหนดกรุงเทพของเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ ซึ่งตัวชี้วัดนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดในผลการปฏิบัติงานของเรือนจำและทัณฑสถานในภาพรวม ซึ่งต้องจัดทำอยู่แล้วก็ได้ ข้อสำคัญตัวชี้วัดนี้ จะต้องเป็นตัวชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยแยกประเภทของเรือนจำและทัณฑสถานเป็น 3 กลุ่ม คือ ทัณฑสถาน เรือนจำขนาดใหญ่ที่มีแดนหญิงสมบูรณ์ และเรือนจำทั่วไปที่มีแดนหญิงเล็กๆ อยู่ด้านหน้าเรือนจำ แต่กลุ่มควรจะมีตัวชี้วัดแตกต่างกัน

 

การวิจัยประเมินผลและนำการปฏิบัติออกเผยแพร่
การวิจัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมตลอดถึงการประเมินผลการดำเนินงาน ในภาพรวมทั้งหมดในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของราชทัณฑ์ไทยนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการดำเนินการตามข้อกำหนดกรุงเทพที่กำหนดให้มี การวิจัย ประเมินผลเท่านั้นในส่วนที่วิจัยพบปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องก็นำมาปรับปรุงแก้ไข จัดทำแผนงบประมาณ และแผนงานขับเคลื่อนในปีต่อไป สำหรับเรือนจำที่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้ดีหรือทำได้เข้ามาตรฐานก็ควรนำออกเผยแพร่ ทั้งในส่วนของเรือนจำด้วยกันเอง
จะได้ศึกษาตัวอย่าง หรือแบบอย่างของเรือนจำที่ประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็ควรนำออกเผยแพร่ยังต่างประเทศ โดยนำ เสนอในภาพรวมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพของระบบงานราชทัณฑ์ไทยและหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต้องประสานงานในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ

 

การออกแบบก่อสร้างเรือนจำ
การออกแบบก่อสร้างเรือนจำจะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ เพราะหากได้มีการออกแบบเรือนจำที่มีความสมบูรณ์ไว้แต่แรกแล้ว จะทำให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือการออกแบบเรือนจำส่วนใหญ่จะออกแบบโดยผู้ชาย เพื่อให้คุมขังผู้ต้องขังชายเป็นหลักแต่เมื่อจำนวนผู้ต้องขังหญิงมีมากขึ้น จึงทำให้สถาปนิกผู้ออกแบบเรือนจำต้องมาคำนึงถึงลักษณะและความต้องการเฉพาะที่จะใช้ในการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่แตกต่างไปจากผู้ต้องขังชาย ซึ่งทำให้มีการออกแบบเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่มีความแตกต่างออกไปจากเรือนจำชายทั่วไป


ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบเรือนจำหญิงสำหรับผู้ต้องขังหญิงก็คือ บรรยากาศภายในเรือนจำควรมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมข้างนอกเพราะในการคุมขังผู้ต้องขังหญิงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยจะต่ำกว่าเรือนจำชาย นอกจากนี้เรือนจำหญิงหลายแห่งมีการคุมขังผู้ต้องขังหญิงที่ควรควบคุมในลักษณะมั่นคงสูง และความมั่นคงต่ำไว้ในเรือนจำเดียวกัน

สำหรับเรือนจำหญิงที่มีระดับความมั่นคงต่ำ เช่นทัณฑสถานสถานเปิดอาจออกแบบในลักษณะเหมือนกับบ้าน หลายหลังรวมอยู่ในบริเวณเดียวกันกับภายใต้รั้วล้อมรอบ ภายในบ้านจะมีต้องขังหญิงอยู่ประมาณ 5-10 คน อยู่ดูแลจัดระเบียบ ตลอดจนทำความสะอาดกันเอง

แต่สิ่งสำคัญคือการออกแบบเรือนจำหญิง ต้องคำนึงถึงกิจกรรมที่จะแตกต่างกันออกไปเรือนจำชายในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลเด็กติดผู้ต้องขังและสตรีมีครรภ์ การตรวจคันตัวผู้ต้องขังหญิงที่มีความละเอียดอ่อน การดูแลสุขภาพอนามัย หน่วยรักษาพยาบาลและอุปกรณ์เครื่องใช้ของสตรี ห้องอาบน้ำและห้องสุขา ตลอดจนการติดต่อเยี่ยมญาติและบุคคลภายนอก ซึ่งมีการผ่อนปรนที่แตกต่างไปจากผู้ต้องขังชาย นอกจากนี้ในการออกแบบแดนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำชายก็ต้องคำนึงถึงการเพิ่มของจำนวนผู้ต้องขังหญิงซึ่งต้องมีการออกแบบส่วนต่อขยายเพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต และควรให้มีความสมบูรณ์ในแดน เพื่อที่ผู้ต้องขังหญิงไม่ต้องออกไปใช้สถานที่ร่วมกับผู้ต้องขังชาย ยกเว้นในเรียนจำที่ออกแบบในในลักษณะของเรือนจำสหเพศ

 

การสรรหาและพัฒนาบุคลากร
นอกเหนือจากการปรับในเรื่องของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กระบวนการทำงานและโครงสร้างงบประมาณแล้ว การพัฒนาบุคลากรนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและทั่วถึง กล่าวคือการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบจะต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการพัฒนาบุคลากรเริ่มจากการหาความจำเป็นในการฝึกอบรม การพัฒนาหลักสูตรตลอดจนการประเมินผลการฝึกอบรม โดยจะต้องมีการอบรมอย่างต่อเนื่องทั้งระดับความรู้พื้นฐาน และหลักสูตรระดับสูงหรืออบรมขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและอบรมขั้นสูงสำหรับผู้บริหารทั้งนี้จะดำเนินการให้ครอบคลุมถึงบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพทุกฝ่าย รวมถึงบุคลากรอื่นๆในเรือนจำจะต้องมีการทำงานที่ประสานกันด้วย ในหลักสูตรฝึกอบรมควรให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องของความรู้ ทักษะและทัศนคติ ในการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดกรุงเทพนอกจากการฝึกอบรมแล้วการจัดหาและจัดวางบุคลากรให้เหมาะสมกับงานตลอดจนการจัดหาเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน

เรื่องการสรรหาและพัฒนาบุคลากรนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทัศนคติต่อผู้ต้องขังต่อการอบรมแก้ไขและต่อกระแสสิทธิมนุษยชนสากลเพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในเรือนจำมานาน จะมีความคุ้นเคยกับพฤติกรรมของผู้ต้องขังและประกอบกับสภาพการขาดแคลนเครื่องมือในการทำงานจนทำให้ต้องทำงานด้วยความยากลำบาก จะมีทัศนคติในทางลบต่อการผ่อนปรนให้สิทธิของผู้ต้องขัง โดยจะมองผู้ต้องขังในลักษณะเหมารวมไม่แยกแยะระหว่างพวกบัวใต้น้ำ กับบัวในโคลนตม การดำเนินใดๆในการตอบสนองต่อการอนุวัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ ส่วนใหญ่จึงเป็นการดำเนินการการตามหน้าที่เคยปฏิบัติเป็นงานประจำหรือทำตามตัวชี้วัด มากกว่าที่จะดำเนินการ “ด้วยใจ” มุ่งมั่นการพัฒนาให้ผู้ต้องขังกลับสู่สังคม ซึ่งประการหลังนี้เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ดังนั้นการฝึกอบรมจึงต้องมุ่งในการปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องนี้ของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ นอกเหนือจากการให้ความรู้ว่าข้อกำหนดกรุงเทพคืออะไรและมีขอบเขตเนื้อหาอย่างไร

 

สรุป
แนวทางในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่การปฏิบัติในงานราชทัณฑ์ของไทย จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบมีขั้นตอน โดยเริ่มจากสำรวจตรวจสอบความสอดคล้องของข้อกำหนดกรุงเทพกับกฎหมายระเบียบข้อบังคับภายในของไทยก่อนว่ามีความสอดคล้องกันเพียงไร หากมีการขัดกันก็ควรมีการปรับแก้ไข จากนั้นจึงนำไปสู่การวางกรอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพในประเด็นและในข้อต่างๆ โดยแตกออกเป็นตัวชี้วัดเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติและการประเมินผล จากนั้นจึงเป็นเรื่องของปรับปรุง ทั้งในส่วนของเรือนจำเอง และในส่วนของหน่วยงานส่วนกลางที่จะขับเคลื่อน การจัดสรรงบประมาณ การจัดเรือนจำนำร่อง การจัดประกวดและการวิจัยประเมินผลในปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ ก็คือทรัพยากรบุคคลซึ่งต้องจัดวางคนให้เหมาะสม และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องและเป็นกรอบการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความตระหนักในปัญหาของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบการราชทัณฑ์ไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล คือข้อกำหนดของสหประชาชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่เกิดจากการผลักดันของประเทศไทย จนสามารถก้าวไปสู่การยอมรับของสหประชาชาติได้นั้นเอง

----------------------------------------------------

 

หมายเหตุ ภาพประกอบบางส่วนมาจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต

 

หมายเลขบันทึก: 533423เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2013 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2013 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณบันทึกนี้มากนะคะ

และชอบบ้านดินมากค่ะ 

ให้ความรู็สึกอบอุ่นด้านจิตใจดีจังเลย

การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมเลยนะคะ

และการทำงานเพื่อสร้างมาตราฐานที่ดี

และคืนคนดีสู่สังคม

เป็นแนวทางที่ดีมาก ในการทำให้เห็นภาพชัดเจน ตั้งแต่ระดับนโยบาย ลงไปถึงผู้ปฏิบัติ แม้มาอ่าน 5 ปีให้หลังก็ยังใช้ได้อยู่เสมอค่ะ เป็นการใช้ทำความเข้าใจเบื้องต้นต่อ การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ของระบบงานยุติธรรมไทยได้ดี

เป็นแนวทางที่ดีมาก ในการทำให้เห็นภาพชัดเจน ตั้งแต่ระดับนโยบาย ลงไปถึงผู้ปฏิบัติ แม้มาอ่าน 5 ปีให้หลังก็ยังใช้ได้อยู่เสมอค่ะ เป็นการใช้ทำความเข้าใจเบื้องต้นต่อ การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ของระบบงานยุติธรรมไทยได้ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท