ชีวิตเพียงพอ ด้วยวิถีพอเพียง


ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ ง่าย ๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้”

  พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ค่อย ๆ ปรากฏชัดเป็นรูปธรรมในชีวิตของผู้เขียนไม่นานมานี้เอง

  สมัยทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนและใช้ชีวิตลำพังตัวคนเดียว แม้จะไม่ฟุ่มเฟือยจนเป็นหนี้สินใคร แต่ผู้เขียนก็ใช้จ่ายเงินทองพอดีแทบทุกเดือน ไม่ค่อยมีเหลือเก็บเพราะต้องซื้อของกินของใช้ทุกอย่าง

  ตอนเริ่มต้นชีวิตครอบครัวที่อำเภออุ้มผาง ผู้เขียนกำลังตั้งครรภ์ นิสัยการใช้เงินซื้อทุกอย่างก็ยังติดตัวมาอยู่ ขณะที่รายรับที่เคยพอดี ลดจำนวนลง แต่ผู้เขียนก็ยังมองไม่เห็นหนทางในการใช้ชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้ จนกระทั่งคลอดบุตรชายและนำมาเลี้ยงที่บ้านปู่กับย่าตั้งแต่ลูกอายุ 2 เดือน

  นับเป็นเวลาปีเศษที่ผู้เขียนเฝ้าสังเกต จนได้เห็นและเข้าใจถึงการใช้ชีวิตที่เพียงพอจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็น ปู่เล็กของลูกชาย อดีตสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง ผู้ใช้ชีวิตวัยเกษียณโดยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปวัน ๆ

  ปู่มองการณ์ไกลไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการ โดยการซื้อที่ดินในหมู่บ้านหนองหลวงซึ่งห่างจากอำเภออุ้มผางไปราว 15 กิโลเมตร นอกจากบ้านหลังเล็ก ๆ ปู่ปลูกพืชผลหลากหลายชนิด ทั้งมะพร้าว มะม่วง ขนุน มะไฟ กะท้อน มะนาว ฯลฯ และขุดบ่อปลาขนาดใหญ่ ปีที่แล้ว ปลาจะละเม็ดของปู่หนักถึงตัวละ 4 กิโลกรัม ในบ่อปลายังมีปลานิล ปลาไน ปลาช่อน ปลาดุก

  ด้วยความที่ปลูกพืชหลายชนิด ผลผลิตจากสวนของปู่จึงมีตลอดปี บางครั้งหลังจากกินเองในครอบครัวยังเหลือพอจะนำไปขาย เช่น มะม่วง มะไฟ ขนุน กะท้อน และมะนาว โดยปู่มักจะขายถูกมาก ๆ

  ฤดูกาลที่มีผลิตผลจากป่า อาทิ หน่อไม้ เห็ดนานาชนิด ไข่มดแดง ปู่เป็นต้องเข้าป่าแทบทุกวันเพื่อเสาะหามาไว้กินเอง ทำให้ไม่ต้องซื้อหาจากคนอื่นให้เปลืองสตางค์ บางคราวหาได้เยอะ กินไม่ทัน ย่าก็ทำการแปรรูป เช่น เห็ดโคน นำมาดองน้ำปลาบรรจุถุง เก็บไว้ในช่องฟรีสขนาดใหญ่ของตู้เย็น สามารถกินได้ข้ามปีเลย หน่อไม้ก็นำมาต้มใส่ถุงแขวนไว้ในห้องครัว กินได้นานหลายเดือน

  ป้าตุ้มทำรีสอร์ทเล็ก ๆ พื้นที่ส่วนที่เหลือจากการปลูกสร้างกระท่อมหรือเรือนพักรับรองแขก ปู่ปลูกต้นกล้วย ต้นพริก และข้าวโพดข้าวเหนียวไว้กิน ช่วงนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยว ลูกชายของผู้เขียนชอบกินข้าวโพดต้มของปู่มาก และได้กินแทบทุกวัน

  ย่าเสย เป็นแม่บ้านที่ไม่เคยหยุดอยู่เฉยแม้แต่วันเดียว ยกเว้นช่วงเช้าของวันพระที่ต้องไปทำบุญที่วัดกับวันที่เกิดอาการเจ็บป่วย ปีที่แล้วย่าปลูกข้าวไร่ที่รีสอร์ทป้าตุ้ม ได้ข้าวพอกินกันทั้งบ้านอยู่นานโข แต่พอคำนวณค่าใช้จ่ายกับค่าแรงแล้วไม่คุ้ม ปีนี้สมาชิกในครอบครัวจึงไม่ยินยอมให้ทำต่อ

  จากการที่เติบโตมาในครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง 10 คน ทำให้ย่าและ พี่ ๆ น้อง ๆ ต้องช่วยกันทำงานมาตลอด  ย่าได้ว่าจ้างให้คนปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ที่บ้านหม่องกวะ ทำเครื่องสีข้าวแบบโบราณที่ใช้แรงงานคนมาไว้ที่บ้าน แล้วนำข้าวไร่ที่ปลูกเองมาสี บางครั้งก็ให้คนงานที่เป็นเด็กสาว ๆ มาช่วย จากนั้นนำไปตำในครกมอง (ครกกระเดื่อง) กลายเป็นข้าวกล้องตำมือที่อุดมด้วยคุณค่าของวิตามิน แถมยังได้สุขภาพดีจากการออกกำลังในการสีข้าวและตำข้าวอีกด้วย

  พื้นดินที่ว่างซึ่งเคยปลูกบ้านของทวด ถูกใช้เป็นแปลงผักสวนครัวและพืชกินได้เต็มบริเวณ เช่น ต้นชะอม ถั่วฝักยาว ฟักทอง กระเพรา โหระพา ตะไคร้ มะเขือเทศ มะกรูด พริกขี้หนู ผักชี ฯลฯ

  ใกล้กับบริเวณที่ใช้ซักผ้า มีพืชสมุนไพร ทั้งพลูกินกับหมาก ชะพลู เหงือกปลาหมอกอใหญ่ ที่สำคัญคือ ต้นผักหวานบ้าน 1 ต้นย่อม ๆ สามารถเก็บกินได้ทุกฤดูกาล ย่าบอกว่า ยิ่งเก็บกิน ยอดจะยิ่งแตกใหม่เรื่อย ๆ แกงเลียงผักหวาน นอกจากจะเป็นอาหารถ้วยโปรดของลูกชาย ผู้เขียนก็ยังชื่นชอบเพราะกินแล้วเรียกน้ำนมได้เยอะทีเดียว

  ช่วงเดือนเศษ ๆ ที่ผ่านมา กล้วยน้ำว้าจากสวนพร้อมใจกันสุกจนกินไม่ทัน มะพร้าวที่บ้านของผู้เขียนก็ร่วงหล่นอยู่เรื่อย ย่ามีภาระในการคิดแปรรูป ทำกล้วยตากที่ใช้วิธีตากกล้วยพอหมาด ๆ 2-3 วัน แล้วนำนึ่ง ทำให้กล้วยเป็นสีแดงน่ากิน และไม่ต้องกังวลว่าตอนตากอาจมีแมลงวันมาตอมจนมีเชื้อโรค กล้วยฉาบทั้งแบบหวานแบบเค็ม กล้วยอบ กล้วยเชื่อม ขนมกล้วยที่ผู้เขียนแอบเรียกว่า banana cake สารพัดเมนูที่พากันสรรหาทำกินและทำแจกญาติพี่น้อง รวมถึงเพื่อนบ้าน

  แม้ย่าจะมีฝีมือในการทำอาหารเพราะมีอาชีพเป็นแม่ครัวเก่าประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง พอเวลาผ่านไป สมาชิกในบ้านทุกคนเริ่มเกิดอาการรับไม่ไหวกับเมนูกล้วย ย่าจึงเกิดความคิดว่าน่าจะลองทำขายดู โดยใช้กล้วยและใบตองจากสวน มะพร้าวจากบ้านผู้เขียน ทำเป็นขนมกล้วยห่อใบตอง ซึ่งมีต้นทุนเพียงแป้งข้าวจ้าวกับน้ำตาล ทำให้สามารถขายถูก ผู้เขียนรับอาสานำขนมกล้วยใส่ตะกร้าไปตระเวนขายในราคา 3 ห่อ 5 บาท ตลาดใหญ่ของผู้เขียนคือบุคลากรในโรงพยาบาล ปรากฏว่า ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ขายอยู่สามสี่วัน รายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท

  อาทิตย์ถัดมา ย่าและผู้เขียนเห็นตรงกันว่า น่าจะมีขนมอย่างอื่นขายพร้อมกับขนมกล้วยเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ย่าเริ่มต้นจากขนมถ้วย ใช้แป้งข้าวเหนียวกับมะพร้าว หยอดใส่ถ้วยแล้วแคะใส่ถาดโฟมห่อแรป ในราคา 3 ถ้วย 5 บาท ขายได้สักระยะ รู้สึกว่าเป็นภาระในการล้างถ้วยจำนวนมาก แถมยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากบรรจุภัณฑ์และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เลยคิดทำขนมอย่างอื่น

  ข้าวต้มหัวหงอกจึงเป็นสมาชิกสินค้าอีกตัวหนึ่งที่ย่าเลือก เพราะทำง่าย อาศัยกล้วยห่อด้วยข้าวเหนียว ทำเป็นลูกโต ๆ ต้มจนสุก นำมาฝานเป็นแว่น คลุกกับมะพร้าว บรรจุถุง ขายในราคาถุงละ 5 บาท

  เมื่อรู้สึกสนุกสนานกับการทำขนมและขายดี ขนมใส่ไส้ถูกใช้เป็นสินค้าสลับสับเปลี่ยน โดยใช้แป้งข้าวเหนียวกับไส้มะพร้าว ขายราคาห่อละ 2 บาท เช่นเดียวกับขนมแตงที่ทำจากแตงไทยผสมแป้งข้าวจ้าว น้ำตาล กะทิ จุดเด่นขนมแตงของย่าอยู่ที่การใช้ที่ขูดขูดแตงไทย แทนที่จะกวนจนเละไปกับแป้ง ทำให้ดูน่ากิน

  บางวันที่ย่าขยันขึ้นมา ก็เพิ่มเมนูอาหารคาว จำพวกห่อหมกแคไก่ ห่อหมกหน่อไม้ ราคาห่อละ 10 บาท บางทีปู่นึกสนุกก็ฝากกะท้อนแช่อิ่มไปขายถุงละ 5 บาท รายได้จากการขายของแต่ละวันราว 200 กว่าบาท คิดเป็นกำไรไม่น้อยกว่า 150 บาทต่อวัน ซึ่งรายรับส่วนนี้ นอกจากนำไปใช้จับจ่ายเป็นค่ากับข้าวกับปลาส่วนกลาง ปู่กับย่ายังเจียดไว้ให้หลานชายหยอดกระปุกทุกวัน

  หลายคนที่เป็นลูกค้า ซึ่งรู้จักกับย่ามาก่อน ให้ข้อเสนอแนะว่า ขายราคาถูกเกินไป แต่ปู่กับย่ารวมทั้งผู้เขียนคิดว่า ดีกว่าปล่อยให้ผลผลิตเน่าเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งหากขายได้กำไรนิดหน่อยและขายได้เรื่อย ๆ น่าจะดีกว่าทำกำไรทีละมาก ๆ แต่ขายได้ไม่นานก็ต้องเลิกไป

  สมาชิกอีกคน คือ ป้าตาล ผู้ผันตัวเองจากการเป็นครู กศน. มาเป็นเกษตรกรเพราะเป็นคนมือเย็น ปลูกต้นอะไรก็เติบโตงอกงามไปหมด ป้าตาลมีสวนที่เพิ่งเริ่มลงต้นไม้ปีนี้ กับบ้านที่รกครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ต้นเงาะให้ผลผลิตมากพอที่ไม่ต้องซื้อกิน มีรสหวานอร่อย แม้ขนาดของผลจะไม่ใหญ่นัก

  ปีที่แล้วกระทะรกหรือเสาวรสที่ปลูกไว้ในบ้าน ดกจนต้องนำมาแปรรูปเป็นน้ำเสาวรส ป้าตาลขายถุงละ 5 บาท ช่วงท้าย ๆ เสาวรสไม่พอ ต้องตระเวนหาซื้อทั่วอำเภออุ้มผาง ป้าตาลจึงปลูกเพิ่มอีกจนเต็มบริเวณหน้าบ้านและเกาะรอบขอบรั้ว ปีนี้คาดหมายว่า  ผลผลิตจะเพียงพอจำหน่ายจนหมดฤดูกาล

  ผู้เขียนรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสร่วมเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวที่ดำรงอยู่ได้ด้วยความพอดี พึ่งพาตนเองแล้วยังเผื่อแผ่ไปยังสังคมรอบข้าง แม้ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องเสาะหาเงินทองมาจับจ่าย แต่ผู้เขียนยังมั่นใจว่า ความเป็นอยู่ของครอบครัวนี้เป็นไปอย่างเพียงพอในระดับหนึ่ง และหากใช้เวลาต่อไปอีกไม่นาน คงจะสามารถเป็นครอบครัวที่พอเพียงได้อย่างสมบูรณ์


คำสำคัญ (Tags): #วิถีพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 532955เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2013 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เอามาให้คนที่ กทม. กินบ้างนะ อยากกิน

สุดยอดแห่งความโชคดีเลยค่ะ น่ารักทั้งครอบครัวเลย อ่านแล้วมีความสุขกับตัวอย่างดีๆ คุณจันทราภา เขียนได้ดีมากเลยนะคะ ขอบคุณมากๆที่เอาชีวิตที่น่าเอาอย่างแบบนี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ทุกดอกนะคะ ขอบคุณคุณโอ๋-อโณ สำหรับความเห็นค่ะ ขนมถ้าย่าทำช่วยอาทิตย์หน้าจะห่อไปฝากอาจารย์แหววนะคะ


ยินดีที่มาเจอพี่แมวที่ G2K ผมอ่านแล้วผมชอบมากเลยพี่ ชอบรรยากาศแบบนี้และผมเองก็อยากอยู่แบบนี้ครับ ผมฝันเอาไว้นะพี่แมว ประโยคหนึ่งที่มันตรงใจผมมากๆก็คือ 

"สมัยทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนและใช้ชีวิตลำพังตัวคนเดียว แม้จะไม่ฟุ่มเฟือยจนเป็นหนี้สินใคร แต่ผู้เขียนก็ใช้จ่ายเงินทองพอดีแทบทุกเดือน ไม่ค่อยมีเหลือเก็บเพราะต้องซื้อของกินของใช้ทุกอย่าง" 

ไอ้ผมเองก็มนุษย์เงินเดือนนี่แหละครับ เฮ้อหาทางลดรายจ่ายแต่ก็หาทางเพิ่มรายได้ ปรากฏว่าทั้ง 2 อย่างทำยากมากในเมืองกรุงพี่แมว คิดถึงพี่แมวเสมอนะครับ .......  ผมมอบเพลงนี้ให้นะครับน่าจะเหมาะกับพี่มากที่สุดจริงๆ "เพลงบ้านกลางไพร" พี่น้องแรงงานไทยที่บอกวิถีตนเองที่บ้านพักคนงานนิวซีแลนด์ 


ยินดีจ๊าดนักเน้อตู่  ลูกหมูเต้นระบำ ถ้ายังทำงานอยู่ในแวดวงนี้ เราคงได้พบปะกัน แน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท