การรู้จักคิดในระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม


คนที่รู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้องย่อมมีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงการมีความสุขที่เอื้อต่อการมีความสุขของผู้อื่นด้วย

20130412212007.pdf
โยนิโสมนสิการ

คนเราทุกคนจะมีความสุขอย่างแท้จริงได้นั้น ต้องมีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม คือ ต้องปฏิบัติถูกต้องต่อชีวิตตนเองต่อผู้อื่น ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทางวัตถุทั่วไป รวมทั้งทางธรรมชาติ ทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ คนที่รู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้องย่อมมีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงการมีความสุขที่เอื้อต่อการมีความสุขของผู้อื่นด้วย[1]<a href="http://www.ebooks.in.th/satja/" target="_blank">
<img src="http://www.ebooks.in.th/images/badges/btn-c2.png" border=0></img>
</a>

อย่างไรก็ตาม มองในแง่หนึ่งก็คือ ในกิจกรรมของชีวิต การกระทำการงานต่างๆ การรู้จักคิดหรือคิดเป็น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในการรู้จักการดำเนินชีวิตเป็นหรือดำเนินชีวิตที่ดีงาม แล้วเราจะมีวิธีคิดอย่างไรล่ะ จึงจะเรียกว่า การรู้จักคิด หรือที่นิยมเรียกกันว่า “คิดเป็น”

การคิดเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนาไปสู่ การแสดงออกทางกายและวาจา ที่เรียกว่าการพูดและการกระทำ และเป็นศูนย์บัญชาการ ซึ่งกำหนดหรือสั่งบังคับให้พูดจาและให้กระทำไปตามที่คิดหมาย ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างระบบทั้งสองนั้น ความคิดเป็นศูนย์กลางโดยเป็นจุดประสาน เชื่อมต่อระหว่างระบบการรับรู้กับระบบการกระทำ กล่าวคือ เมื่อรับรู้เข้ามาโดยทางอายตนะต่างๆ และเก็บรวบรวมประมูลข้อมูลข่าวสารมาคิดปรุงแต่งแล้ว ก็วินิจฉัยสั่งการโดยแสดงออกเป็นการกระทำทางกายหรือทางวาจา หรือพูดจาและการกระทำการต่างๆ ต่อไป ทางพระพุทธศาสนาบัญญัติว่า ความคิดเป็นจุดเริ่มที่จะนาพาให้ชีวิตไปดีหรือไม่ดี เจริญหรือเสื่อม เพราะความคิดก่อให้เกิดการกระทำ ถ้าคิดในเรื่องอะไรบ่อยๆ ปักใจจนกลายเป็นเจตคติแล้ว ไม่แคล้วจะต้องมีพฤติกรรมไปในทำนองนั้น และเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการคิดและกระบวนการพัฒนาปัญญาแบบพุทธต่อไป[2]

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)ได้กล่าวไว้ในหนังสือวิธีคิดตามหลักพุทธธรรมว่า การดำเนินชีวิตนั้น ถ้ามองในแง่หนึ่งก็คือ การดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด หรือนำชีวิตไปให้ล่วงพ้นไปจากสิ่งบีบคั้นติดขัดเพื่อให้ชีวิตของเรานั้นเป็นอยู่ได้ด้วยดี การดำเนินชีวิตที่มองในแง่มุมนี้ อาจพูดได้ว่า ชีวิต ก็คือการแก้ปัญหา การรู้จักคบหา รู้จักการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือการรู้จักพูดจาเสวนา ถ้ามองในแง่ของการที่จะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางวัตถุก็หมายถึง การรู้จักกิน รู้จักใช้ สรุปได้ง่ายๆว่า การดำเนินชีวิตก็คือ การรู้จัก กินเป็น บริโภคใช้สอยเป็น เสวนาเป็น คบหาคนเป็น และแก้ปัญหาเป็น เป็นต้น

การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้ผลดีนั้น ครอบคลุมถึงการปฏิบัติให้ถูกต้องในกิจกรรมที่เป็นส่วนย่อยของชีวิตในแง่ด้านต่างๆมากมายหลายแง่ด้านด้วยกัน โดยสรุปก็คือ

§  ในแง่ของการล่วงพ้นปัญหา ได้แก่ การแก้ปัญหาเป็น

§  ในแง่ของการทำกรรม ได้แก่ คิดเป็น พูดเป็นสื่อสารเป็น และทำเป็นสร้างสรรค์เป็น

§  ในแง่ของการรับรู้ ได้แก่ การดูเป็น ฟังเป็น ดมเป็น ลิ้มรสเป็น สัมผัสเป็น และคิดเป็น

§  ในแง่ของการเสพบริโภค ได้แก่ การกินเป็น ใช้สอยเป็น บริโภคเป็น รวมถึงการรู้จักเสวนาคบหาเป็น

การปฏิบัติให้ถูกต้องในกิจกรรมของชีวิตในแง่ด้านต่างๆ ที่เป็นส่วนย่อยของการดำเนินชีวิตตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น รวมเรียกได้ว่าเป็รน  การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง  หรือเรียกได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตที่ดีงาม  ตามนัยแห่งพุทธธรรม

คิดเป็นแกนกลางของระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

ในบรรดาการปฏิบัติให้ถูกต้องในกิจกรรมของชีวิตในแง่ด้านต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเหล่านี้  การรู้จักคิด  หรือ การคิดเป็น  เป็นองค์ประกอบแกนกลางที่สำคัญยิ่งของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม  ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

๑. ในแง่ของการรับรู้ข้อมูล  ความคิด เป็นจุดศูนย์รวมข่าวสารข้อมูลทั้งหมดจากทวารทั้ง ๖ ไหลมาชุมนุมกัน เป็นที่วินิจฉัยและนำข่าวสารข้อมูลเหล่านั้นไปปรุงแต่งสร้างสรรค์และนำไปใช้การต่างๆ

๒. ในแง่ของระบบการกระทำกรรม ความคิดเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแสดงออกทางกายและวาจา ที่เรียกว่าการพูดและการกระทำและเป็นศูนย์บัญชาการ ซึ่งกำหนดหรือสั่งบังคับให้พูดจาและสั่งให้ทำการไปตามที่คิดหมายหรือเจตนา

๓. ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างระบบทั้งสองนั้น ความคิดเป็นศูนย์กลางโดยเป็นจุดประสานเชื่อมต่อระหว่างระบบการรับรู้กับระบบการทำกรรม กล่าวคือ เมื่อรับรู้เข้ามาโดยทางอายตนะต่างๆ และเก็บรวบรวมประมวลข้อมูลข่าวสารมาคิดปรุงแต่งแล้ว ก็วินิจฉัยสั่งการโดยแสดงออกเป็นการกระทำทางกายหรือวาจา คือพูดจาและทำการต่างๆ ต่อไป

กล่าวได้ว่า การคิดถูกต้อง การรู้จักคิด หรือ คิดเป็น เป็นศูนย์กลางที่บริหารการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะเป็นหัวหน้าที่ชี้นำ นำทางและควบคุมปฏิบัติถูกต้องในแง่อื่นๆ ทั้งหลาย เมื่อคิดเป็นแล้วก็ช่วยให้พูดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น สร้างสรรค์เป็น ช่วยให้ดูเป็น ฟังเป็น กินเป็น ใช้เป็น บริโภคเป็น และคบหาเสวนาเป็น ตลอดไปทุกอย่าง ทุกกิจกรรมของชีวิต คือ ดำเนินชีวิตเป็นนั่นเอง จึงพูดได้ว่า การรู้จักคิด หรือคิดเป็น เป็นตัวนำที่ชักพาหรือเปิดช่องไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องหรือชีวิตที่ดีงามทั้งหมด

ลักษณะสำคัญที่เป็นตัวตัดสินคุณค่าของการรู้จักทำ หรือทำเป็น ก็คือ ความพอดี การรู้จักทำหรือทำอะไรเป็นก็คือ ทำสิ่งนั้นๆ ให้พอเหมาะพอดีที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามที่ต้องการตามวัตถุประสงค์หรือทำแม่นยำ สอดคล้อง ตรงจุด ตรงเป้า ที่จะให้บรรลุจุดหมายอย่างดีที่สุดโดยไม่เกิดผลเสียหายข้างเคียงหรือข้อบกพร่องใดๆ เลย พุทธธรรมถือเอาลักษณะที่ไร้โทษไร้ทุกข์และเหมาะเจาะที่จะให้ถึงจุดหมายนี้เป็นสำคัญจึงใช้คำว่า “พอดี” เป็นคำหลัก ดังนั้น สำหรับคำว่าดำเนินชีวิตเป็น จึงใช้คำว่า ดำเนินชีวิตพอดี หรือดำเนินชีวิตที่ดีงาม คือ ดำเนินชีวิตพอดีที่จะให้บรรลุจุดหมายแห่งความสำเร็จและการเป็นอยู่อย่างมีความสุขที่แท้จริง

  การดำเนินชีวิตพอดี หรือการปฏิบัติพอดีนี้ เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ณัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งมีความหมายเป็นอันเดียวกันกับการดำเนินชีวิตที่ดีงาม กล่าวคือ มรรค หรือ อริยมรรค ที่แปลสืบๆ กันมาว่า มรรคาอันประเสริฐคือ ทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม ล้ำเลิศ ปราศจากพิษภัยไร้โทษนำสู่ความเกษมศานติ์และความสุขที่สมบูรณ์

  พุทธธรรมแสดงหลักการว่า การที่จะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องหรือมีชีวิตที่ดีงามได้นั้น จะต้องมีการฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งได้แก่กระบวนการที่เรียกว่า การศึกษา พูดอย่างสั้นที่สุดว่า มรรคเกิดมีขี้นได้ก็ด้วยสิกขา หรือการศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนด้วยสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การคิดถูกต้อง รู้จักคิด หรือคิดเป็น เป็นตัวนำของชีวิตที่ดีงามหรือมรรค ฉันใด การฝึกฝนพัฒนาความคิดที่ถูกต้องให้รู้จักคิด หรือ คิดเป็น ก็เป็นตัวนำของการศึกษาหรือสิกขา ฉันนั้น

  ในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาตนคือการศึกษาเพื่อให้มีชีวิตที่ดีงามนั้น การฝึกฝนความรู้จักคิด หรือคิดเป็น ซึ่งเป็นตัวนำ จะเป็นปัจจัยชักพาไปสู่ความรู้ความเข้าใจ ความคิดเห็น ตลอดจนความเชื่อถือที่ถูกต้องที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นแกนนำของชีวิตที่ดีงามทั้งหมด และ การพัฒนาสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นแกนนำในกระบวนการของการศึกษานั้นก็คือสาระสำคัญของการพัฒนาปัญญา ที่เป็นแกนกลางของกระบวนการพัฒนาคน ที่เรียกว่าการศึกษานั้นเอง

  การรู้จักคิดหรือคิดเป็นนั้น ประกอบด้วยวิธีคิดต่างๆ หลายอย่างการฝึกฝนพัฒนาความรู้จักคิดหรือคิดเป็น ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตนหรือฝึกฝนพัฒนาบุคคลตามแนวทางของวิธีคิดเหล่านั้นนั่นเอง

คำอื่นๆที่หมายถึงการคิดในพุทธศาสนา

ในพุทธศาสนามีคำที่หมายถึงการคิดหลายคำด้วยกัน ดังต่อไปนี้[3]

๑) ตักกะ (ตกฺก) แปลว่า ความคิด ความดำริ ความวิตก ความตรึก และความตริตรอง ปักใจ แน่วแน่ ฯ

๒) วิตักกะ (วิตกฺก) แปลว่า ความคิด วิตก ดำริ ตรึก ตริตรอง อารมณ์ชื่อว่า วิตักกะ

๓) สังกัปปะ (สํกปฺป วิตกฺกสามตฺถิเยสุ) แปลว่า ความคิด ดำริ มีรูปวิเคราะห์ว่า สงฺกปฺปนฺติ ปราวนฺติ อเนนาติ สงฺกปฺโป ธรรมเป็นเครื่องดำริ ชื่อว่า สังกัปปะ

๔) อูหะ (อูห วิตกฺเก) แปลว่า ความคิด ดำริ มีรูปวิเคราะห์ว่า อูหนฺติ อเนนาติ อูโห ธรรมเครื่องดำริ ชื่อว่า อูหะ ฯ

๕) อัปปนา (อป ปาปุณเน) แปลว่า ความคิด ดำริ มีรูปวิเคราะห์ว่า อปฺเปติ สมฺปยุตฺตธมฺเม ปาเปติ อารมฺมณนฺติ อปฺปนา จิตที่ส่งสัมปยุตธรรมไปสู่อารมณ์ ชื่อว่าอัปปนา

๖) จินตา (จินฺต จินฺตายํ) แปลว่า ความคิด สร้างสรรค์ มีรูปวิเคราะห์ว่า จินฺตตีติ จินฺตา ความคิด ชื่อว่า จินฺตา

๗) จิตตัง แปลว่า ความคิด มีรูปวิเคราะห์ว่า จินฺตนํ จิตฺตํ ความคิด ชื่อว่า จิตตัง

๘) ฌาน (เฌ จินฺตายํ) แปลว่าคิด เพ่งพินิจ มีรูปวิเคราะห์ว่า ฌายเตติ ฌานํ

๙) โยนิโสมนสิการ มาจากคำว่า โยนิโส และมนสิการ โยนิโส มาจาก โยนิ แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง ส่วนมนสิการ หมายถึง การตั้งไว้ในใจ การคำนึงถึง การใส่ใจ การพิจารณา เมื่อรวมเข้าเป็นโยนิโสมนสิการ แปลว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การขยายความหลักธรรม โยนิโสมนสิการ เป็นไปตามกระบวนการแห่งปัญญา[4] ดูรายละเอียดทั้งหมด

<a href="http://www.ebooks.in.th/satja/" target="_blank">
<img src="http://www.ebooks.in.th/images/badges/btn-c2.png" border=0></img>
</a>


[1]พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๙,  (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ธรรมสาร, ๒๕๔๖), หน้า ๓.

[2] พระมหานุกูล มหาวีโร (พรหมขันธ์ ),“วิธีคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๔ ), หน้า๑.

[3]อภิธาน. (บาลี) ๑๕๓, พระมหาสมปอง มุทิโต, คัมภีร์อภิธานวรรณนา, พิมพ์ ครั้งที่ ๒,(กรุงเทพมหานคร : ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง, ๒๕๔๗), หน้า ๒๑๓-๒๓๖.

[4]พระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตโต).  พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ.พิมพ์ครั้งที่ ๖, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘,, หน้า ๖๗๐.

ดูรายละเอียดทั้งหมด

"""""""""""""""""""""""""""""

[2]  พระมหานุกูล มหาวีโร (พรหมขันธ์ ), “วิธีคิดเพื่อบรรเทาอกุศลจิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต.บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๕๔), หน้า ๑.

[3] อภิธาน. (บาลี) ๑๕๓,พระมหาสมปอง มุทิโต, คัมภีร์อภิธานวรรณนา,พิมพ์ ครั้งที่ ๒,(กรุงเทพมหานคร :ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง, ๒๕๔๗), หน้า๒๑๓-๒๓๖.

[4] พระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตโต). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ.พิมพ์ครั้งที่ ๖,โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘,,หน้า ๖๗๐.



หมายเลขบันทึก: 532798เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2013 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2013 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท