จุดกำเนิดธรรมาภิบาลในประเทศไทย


สวัสดีค่ะ  สำหรับวันนี้ขอกล่าวถึงจุดกำเนิดธรรมาภิบาลในประเทศไทยว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร  ขอบคุุณค่ะ

ปี  พ.ศ. 2540
ประเทศไทยมีความตื่นตัวสนใจเรื่องธรรมาภิบาลอย่างมาก  โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี  2539  และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปี2540 เนื่องจากเจตนาของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาการเมืองไทยที่สัมพันธ์กับหลักธรรมาภิบาล  มีปัจจัยสำคัญ  คือ  การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนตลอดจนการตรวจสอบการทำงานของรัฐ  โดยประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8  ( พ.ศ. 2540 - 2544 ) ได้กำหนดแนวคิดในการพัฒนาประชารัฐ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างการใช้หลักนิติธรรมในการบริหารรัฐกิจ  สนับสนุนให้ทุกภาคการบริหารรัฐกิจและการจัดการการพัฒนาประเทศสนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในงานบริหารรัฐกิจและการพัฒนาประเทศ ในด้านนโยบายและการปฏิบัติ

ปี  พ.ศ.2542                                                                                                                            

คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
พ.ศ. 2542  ( ระเบียบดังกล่าวได้ยกเลิกเมื่อปี 2546 ) โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างกฎเกณฑ์และกลไกที่ดีในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  ปรับปรุงระบบการตัดสินใจ  และการบริหารจัดการ  ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนให้ รวดเร็วชัดเจนและเป็นธรรม  ขยายโอกาสของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อร่วมกับภาครัฐในการตัดสินใจและแก้ปัญหาส่วนรวมขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบและการหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนหรือกิจการที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย  ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกัน  ทั้งนี้ ระเบียบฯ ดังกล่าว มุ่งเน้นให้หน่วยงานของภาครัฐดำเนินงานตามภาระหน้าที่โดยยึดหลักการพื้นฐาน  6  ประการ  ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม  หลักความโปร่งใส  หลักความมีส่วนรวม  หลักความรับผิดชอบ  และหลักความคุ้มค่า

ปี  พ.ศ.2545                                                                                                                                 

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ. 2534  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  ( ฉบับที่5 )  พ.ศ.2545  มาตรา 3/1  มุ่งเน้นให้มีส่วนราชการใช้วิธีการบ้านเมืองที่ดีมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการโดยบัญญัติให้ “การบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  ความมีประสิทธิภาพ  ความคุ้มค่าในเชิงเชิงภาคกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภาคกิจและ ยุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลงาน” และ “ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  โดยเฉพาะ อย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของภารกิจ” และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  9 ( พ.ศ. 2545 – 2549)    ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ ปราศจากทุจริต บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคม

ปี  พ.ศ.2546                                                                                                                                   

ได้มีการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี  ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี  พ.ศ. 2542  และออกพระราชกฤษฎีกา  ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี  พ.ศ. 2546  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ  1) การบริหารราชการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน  2)  เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ  4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น  5)มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ 6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองตรงตามต้องการและ  7) มีการประเมินผลการปฏิบัติงานราชการอย่างสม่ำเสมอ

ปี  พ.ศ.2549                                                                                                                                 

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่  19  ธันวาคม 2549  เห็นชอบวาระแห่งชาติด้านจริยธรรม  ธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ  ศรัทธาและไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและหน่วยงานภาคราชการ  รวมถึงตัวข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐและการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน  ทั้งนี้ ประกอบด้วย 7  ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน คือ       1) การสร้างผู้นำและองค์การต้นแบบ  2) การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยม และการพัฒนาข้าราชการ  3) การให้คำปรึกษา แนะนำ และการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม และธรรมาภิบาล 4) การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม  5) การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล  6) การวัดผลและตรวจสอบด้านจริยธรรม  และ 7) การวางระบบสนับสนุนและปัจจัยพื้นฐานด้านจริยธรรมธรรมาภิ

ปี  พ.ศ.2550                                                                                                                                           

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ปี 2550 ก็ได้มีการกล่าวถึงหลักธรรมาภิบาลอยู่หลายมาตรา  เช่น หมวด 4  หน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 74  กำหนดให้ “บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงานลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิหาสกิจหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ  มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็น ไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมอำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน”

ปี  พ.ศ.2552                                                                                                                                       

ธรรมาภิบาลเริ่มเข้ามามีบทบาทในระดับหน่วยงานจนกระทั่งระดับตัวบุคคลมากขึ้น  เห็นได้จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่กำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น  อันเป็นที่มาของประมวลจริยธรรมและจรรยาข้าราชการพลเรือนที่สำนักงาน
ก.พ. ได้จัดทำขึ้น  ซึ่งในการประมวลนี้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนทุกตำแหน่งมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ  มีความเป็นกลางทางการเมืองอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลและพระราชบัญญัติฉบับข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2511 มาตรา 78  และมาตรา 79  ซึ่งมุ่งพัฒนาข้าราชการ ให้เป็นข้าราชการที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรม มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการได้กำหนดให้ส่วนข้าราชการมีข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการของส่วนข้าราชการเพื่อเป็นมาตรฐานพฤติกรรมอันดีของข้าราชการอีกด้วย  นอกจากนี้แต่ละส่วนราชการจะต้องมีการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในระดับองค์กร  ซึ่งแตกต่างจากประมวลจริยธรรมและจรรยาข้าราชการซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติระดับบุคคล  ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกันและส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในระบบราชการในที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมาภิบาล
หมายเลขบันทึก: 532741เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2013 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท