ชีวิตที่พอเพียง : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖


ในสมัย ร. ๖ การปรนนิบัติพัดวีพระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของผู้หญิง ที่เรียกกันว่า "นางใน" ตามปรกติของทุกรัชกาล กลับตกแก่มหาดเล็กเด็กชาย ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า "นายใน"

ชีวิตที่พอเพียง  : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖

นี่คือหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ชื่อ นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖ที่เขียนจากผลงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นหนังสือโปรดของผม  ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์  เพื่อรู้เรื่องราวเก่าๆ เอาไว้สอนใจ  และเอาไว้ตีความว่าคนอื่นเขามองเรื่องในประวัติศาสตร์อย่างไร  ผมเป็นคนอ่านประวัติศาสตร์แบบตีความมาตั้งแต่เด็กๆ  คือไม่ได้อ่านเอาไว้เชื่อ แต่อ่านแล้วตีความ  และตอนนี้ผมคิดว่า  หลายเรื่องผมตีความอย่างหนึ่งในสมัยหนุ่มๆ  แต่ตอนนี้ตีความต่างออกไป

แก่แล้ว  อะไรๆ มันเป็นสมมติไปหมด  ไม่มองเป็นสิ่งควรยึดมั่นถือมั่น  คือมองได้หลายมุม

มุมหนึ่งคือศิลปะการเป็นผู้นำ คือพระมหากษัตริย์ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช  ที่หนังสือเล่มนี้เขียนแบบขัดแย้งกันเอง  คือตอนต้นเขียนว่า ร. ขึ้นครองราชย์ในสมัยที่บ้านเมืองมีความมั่นคง  แต่ตอนท้ายกลับเขียนว่าราชบัลลังก์ของ ร. ๖ ไม่มั่นคงตั้งแต่เริ่มรัชกาล (น. ๒๖๗)  ซึ่งผมมองว่าในตำแหน่งเช่นนั้น  ความมั่นคงแบบนอนใจ มองสิ่งต่างๆ ตามใจตนเอง คือความไม่มั่นคง 

คนเป็นผู้นำต้องเข้าใจ และเห็นใจคนอื่น  และในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองเห็น “ภาพใหญ่”

ผมมองว่า ในสมัย ร. ๖ (ซึ่งก็เหมือนยุคนี้) เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน  ที่มีปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมาก   ผู้นำต้อง oversee และสร้าง harmony ระหว่างปัจจัยเหล่านั้น 

เรื่องราวของ “นายใน” ในหนังสือ ช่วยผมก็ได้เข้าใจสภาพสังคมยุควิกตอเรียนในอังกฤษ  และเข้าใจพระสุขภาพพลานามัยของ ร. ๖ ดีขึ้นมาก  น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนที่หน้าท้อง (พระนาภี) ที่เป็นโรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดของพระองค์  ทำให้พระชนมายุสั้น   

ผู้เขียนหนังสืออ่านหนังสืออ้างอิงมากมาย  แต่เป็นเอกสารชั้นรอง คือมักจะเล่าจากความจำของคนที่เกี่ยวข้อง  ผมแปลกใจที่เราไม่มี archive ของพระมหากษัตริย์ให้ค้นคว้าข้อมูลชั้นต้น  แต่วิธีคิดของผมอาจผิดก็ได้ เพราะผู้วิจัยสนใจ “นายใน” เป็นหลัก  ไม่ใช่ ร. ๖ เป็นหลัก   และคล้ายกับว่าต้องการชี้ให้เห็นว่า  สมัย ร. ๖ เป็นยุคที่แตกต่างจากพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ในเรื่องเพศสภาพ  ซึ่งมีผลต่อการเมืองภายในประเทศอย่างมาก   และข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจจะไม่มีใน archive ของพระมหากษัตริย์

เราได้ทราบเรื่องของ “นายใน” ท่านหนึ่ง ที่มีคุณูปการต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง คือ มล. ปิ่น มาลากุล ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำหน้าที่สำคัญตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี เท่านั้น   เขานำภาพของท่านมาขึ้นปกที่เดียว  

เวลาอ่านหนังสือ คำคิยมหรือคำนำ มีความหมายอย่างยิ่งในด้านช่วยให้เราอ่านแตกยิ่งขึ้น  ในหนังสือเล่มนี้ คำนำเสนอทั้งสองช่วยผมมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำนำเสนอของ ดร. ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ชี้ประเด็นที่ผมไม่มีความรู้ได้อย่างลึกซึ้ง  ทำให้ผมได้เห็นว่าในโลกนี้มีความรู้ที่ผมเข้าไม่ถึงอีกมากมายนัก

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่งต่อหลักการเลี้ยงดู ลูกหลานของ “ชนชั้นนำ” คือการฝึก emotional intelligence ตั้งแต่เด็ก  ยิ่งเป็นลูกของคนมีตำแหน่งใหญ่โต ยิ่งต้องฝึกอย่างจริงจัง  มิฉนั้นเด็กจะถูกตามใจจนเหลิง  เป็นข้อด้อยติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ ตลอดชีวิต 

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 532360เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2013 05:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2013 05:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท