ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

เปิดกรุหนังตะลุงชั้นครู ยลเสน่ห์ของ 'หนังเคล้าน้อย' ที่สร้างความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และมีคติธรรมสอนใจ



credit : อนันต์ ลือประดิษฐ์ กรุงเทพธุรกิจ

'หนังเคล้าน้อย' หรือ เคล้า โรจนเมธากุล ปัจจุบัน อายุ 81 ปี เกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2475 ที่ ต.การะเกด อ.เชียงใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช บิดาชื่อ 'สีชุม' มารดาชื่อ 'เทียน' มีพี่น้อง 8 คน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาจากการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเหนือคลอง จ.กระบี่ สมรสกับนางฉลวย หรือ 'โนราฉลวย' ศิลปินโนราแห่งจังหวัดกระบี่ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เลขที่ 66 หมู่ที่ 6 ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ มีบุตร-ธิดารวมกัน 3 คน

เมื่อเริ่มแรก หนังสีชุมผู้เป็นบิดาและหนังใหม่ หรือปู่ใหม่ เป็นครูหนังฝึกสอนให้เข้าใจศิลปะการแสดงหนัง รวมทั้งติดตามหนังสีชุมเดินทางไปแสดงหนังในท้องถิ่นต่างๆ บางครั้งแสดงหนังแทนบิดา บางครั้งก็ฝึกหัดเพิ่มความชำนาญกับนายหนังคณะต่างๆ เช่น หนังจันทร์แก้ว หนังประทิน และหนังแคล้ว เมื่อมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว หนังสีชุมจึงเชิญหนังจันทร์แก้วผู้อาวุโสทาพิธีครอบมือหนังเคล้าน้อย จากนั้น เริ่มต้นถือฤกษ์ด้วยการแสดงหนังครบสามวัดสามบ้านเป็นปฐม

เคล้า เริ่มแสดงหนังเป็นอาชีพ เมื่อพ.ศ. 2507 และพ.ศ. 2507-2520 มีชื่อเสียงเด่นดังที่สุด มีเจ้าภาพรับการแสดง เดือนละ 20-30 คืน แต่ละเดือนเดินสายไปแสดงยังที่ต่างๆ แทบไม่มีเวลาว่าง หนังเคล้าน้อยมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ นอกจากมีความเป็นเลิศในการขับบทหนัง และการเจรจาหนัง นายเคล้าน้อย ยังเป็นยอดในการเชิดรูปหนัง เคยชนะในการแข่งขันเชิดรูปพระอิศวรทรงโค โดยชนะ หนังพร้อมน้อย (พัทลุง) เมื่อคราวแข่งขันที่กรมประชาสัมพันธ์

เสน่ห์ของหนังเคล้าน้อย คือการเสนอนิยาย ที่สร้างความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และมีคติธรรมสอนใจ โดยเฉพาะเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ มีประมาณ 50 กว่าเรื่อง เช่น กองทัพธรรม กรรมของแม่ กองทัพธรรม กรรมของแม่ พระแสงถวัลย์วงศ์ ราชินีสืบตระกูล มนุษย์มหัศจรรย์ สร้างความประทับใจผู้ชมเสมอมา นอกจากนี้ ยังมีตัวตลกประจำโรง คือสีแก้ว หรืออ้ายแก้วหัวกบ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบ และดึงดูดผู้ชม จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของหนังเคล้าน้อย ด้วยความสามารถในการแสดงหนังตะลุง จึงได้รับรางวัลการแสดงในโอกาสต่างๆ เช่น รางวัลฤๅษีทองคำ รางวัลช้างเผือกงาทอง รางวัลโล่ทองคำ รางวัลถ้วยทองคำ รางวัลเทวาทองคำ เป็นต้น

หนังเคล้าน้อยเป็นที่ยอมรับว่า เป็นหนังตะลุงชั้นครู จึงมีผู้เข้ามาสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก หนังเคล้าน้อยได้ทำการครอบมือลูกศิษย์มาไม่ต่ำกว่า 200 คน ในปี 2555 เคล้า โรจนเมธากุล ได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูสอนดี” จากสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชน (สสค.) และยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พ.ศ. 2555 อีกด้วย


เมื่อเร็วๆ นี้ ศิลปินแห่งชาติเปิดบ้านที่จังหวัดกระบี่ ให้ "จุดประกาย" สัมภาษณ์ ถึงการเปิดแหล่งเรียนรู้ศิลปะหนังตะลุง-มโนราห์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชน ซึ่งนับเป็นความตั้งใจของครูเคล้า เมื่อว่างเว้นจากงานแสดง

"การเรียนรู้ จริงๆ ผมทำอยู่ก่อนแล้ว ทำมาเรื่อยๆ มันมาคล้ายๆกับโครงการครูสอนดี ก็ขอบคุณที่ทางโครงการมาช่วยเสริมมาช่วยหนุนให้ผมดีขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น ตั้งใจน่ะตั้งใจอยู่แล้ว แต่กำลังใจมันพองขึ้น ... คือเราทำไปเรื่อยๆ เราไม่มีกำลังใจเท่าไหร่แต่ตอนนี้ใจมันพอง อยากจะทำอีกเยอะแยะ ... ตัวผมตอนนี้ ไม่ค่อยมีภาระอะไร ทำแต่เรื่องนี้อย่างเดียว ลูกเต้าก็เรียนจบกันไปหมดแล้ว แต่งงานมีเขยมีสะใภ้มีหลาน เมียก็ตายไปแล้วคนหนึ่ง แต่(อีกคน)ยังไม่ต้องพูดถึง (หัวเราะ) ก็ตั้งใจจะทำไปจนกว่าจะทำไม่รอด..."

ตอนที่เริ่มเล่นหนังตะลุง แหล่งเรียนรู้ของครูคงแตกต่างกับยุคนี้มาก ?

ต่างกันมาก ในยุคที่ผมเล่นหนังตะลุง สมัยก่อนมันไม่มีทีวี ไม่มีสื่อมวลชน ไม่มีภาพยนตร์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ดนตรีไม่มี เพราะว่าบ้านเมืองยังไม่เจริญ ประมาณปี 2502, 2503, 2504 ถนนหนทางยังไม่มี แล้วเครื่องไฟก็ยังไม่มี เครื่องขยายเสียง กล้องถ่ายอะไรก็ยังไม่มี เราอาศัยเดินไปเล่นเดินไปตามหมู่บ้านต่างๆ แล้วประชาชนไม่รู้จะดูอะไร จะดูแต่หนังตะลุงหรือโนราเท่านั้น อย่างอื่นไม่ดู

เป็นความบันเทิงที่ทุกคนรู้จัก นอกจากรู้จักแล้วยังสืบทอดมาถึงสมัยนี้ คนปักษ์ใต้บ้านเราส่วนมากจะมี ตัวเองไม่ได้เล่นหนังตะลุง ไม่ได้เล่นมโนราห์ แต่ยังมีครูหมอ คำว่าครูหมอ หมายถึงพ่อแม่ตายายที่นับถือ ยังมีหิ้งมีรำบูชาครู การแสดงพื้นบ้าน ยังนับถือครูหมอเหมือนพระ มีหิ้ง มีรูปมโนราห์ รูปบรรพบุรุษ แล้วยังมีแก้บน บนว่าให้ประสบความสำเร็จ จะเอามโนราห์มาถวาย เอาหนังตะลุงมาเล่นถวายอะไรแบบนี้ เขาเรียกครูหมอ เป็นทั้งครูเป็นทั้งหมอ

ตัวครูเองสืบทอดหนังตะลุงมาจากบรรพบุรุษอยู่แล้ว ?

ใช่ๆ คุณปู่ก็เป็นนายหนังตะลุง มาคุณพ่อก็เล่นจนตาย เล่นจนแก่จนตาย เป็นนายหนังตะลุง ผมก็สายเลือดตรงนี้ มันซึมซับ เล่นจนแก่ 70 แหละ ลูกไม่เอานะ แต่หลานต่อ

สมัยก่อนน่าจะมีหลายคณะ ?

ปักษ์ใต้บ้านเราตอนนั้นมีหลายคณะ มีทุกจังหวัด หนังเก่งมีทุกจังหวัดในภาคใต้ มีตั้งแต่ชุมพร ประจวบ ระนอง กระบี่ ภูเก็ต พังงา แต่ว่ามันดังเฉพาะในจังหวัด เพราะว่าการคมนาคมไม่ถึง เดี๋ยวนี้ ถ้าโด่งดังขึ้นมา จะมีสื่อช่วย ออกวิทยุมั่ง ออกทีวีมั่ง ออกข่าวมั่ง อะไรแบบนี้ ออกอินเทอร์เน็ตมั่งอะไรหลายอย่าง เมื่อก่อนไม่มี อย่างครูนี้ฟังปากต่อปาก คนไปดูแล้วไปพูดต่อ ไปพูดต่อให้คนที่ยังไม่ได้ดู ให้มาดู เวลาไปเล่นใกล้ๆ แล้วก็มาดู มาดูแล้วก็พูดต่อกัน เขาเรียก“ปากต่อปาก” ไม่มีสื่อช่วย


การที่คณะหนึ่งจะโด่งดังขึ้นมาได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา ?

ไม่ธรรมดา ต้องมีพรสวรรค์ คือพรสวรรค์เรื่องใหญ่ ไม่ใช่ว่าคิดจะเล่นหนังตะลุง คิดจะเล่นมโนราห์ แล้วเล่นได้ ไม่ได้ มันต้องมีพรสวรรค์ หนึ่ง-ใจชอบ สอง-อยากเล่น อยากทำ อยากแสดงออก บางคนอยากทำอยากเล่นอยากแสดงออก แต่พอแสดงออกแล้ว มันไม่ได้ดี ก็ถือว่าต้องมีพรสวรรค์ชั้นยอด ถึงจะทำได้ดี

แล้วเรื่องการประชันฝีมือ ?

สมัยก่อนเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนยังประชัน สมัยผมต้องประชันครั้งละ 10 คณะ แต่เรื่องที่ 1 ผมคว้ามาตลอดเลย ประชันโดยวัดจากคนดู ว่าคนดูใครมากกว่ากัน เหมือนเลือกผู้แทน เล่นคนละที่ ถ้า 10 คณะก็ 10 มุม ใช้สนามใหญ่ๆ อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทีนี้คนก็เฮไปเฮมา ใครเล่นเก่ง ... คนดูก็มาก

(การประชันฝีมือที่ประทับใจ) ประมาณปี 2516 ผมไปเล่นที่สนามกีฬาแห่งชาติ ไปประชัน ตอนนั้น วีระกานต์ มุสิกพงศ์ เป็นพิธีกร เอาผมไปประชันกับหนังตะลุงพร้อมน้อย (พร้อม บุญฤทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2546 - เสียชีวิตแล้ว) ในสนามกีฬาแห่งชาติ 2 คืน เพื่อหาเงินช่วยเหลือสมาคมปักษ์ใต้ ไปเล่น 2 วันก็เก็บจากท่านผู้ชมผู้ดูคนละ 20 บาท 2 วันได้ 2 แสนกว่า พวกผมก็ไม่ได้เอาอะไร ให้สมาคม ไปแข่งขันไปประชันกับหนังพร้อมน้อย แล้วพอออกจากสนามกีฬาแห่งชาติ มาแสดงสาธิตที่กรมประชาสัมพันธ์ ตรงใกล้ๆ สนามหลวง คุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ก็เป็นพิธีกร เล่นสาธิตออกวิทยุ เพราะเมื่อก่อนไม่มีทีวี ฟังแต่วิทยุ

เมื่อก่อนคนดูจะรู้ได้อย่างไรว่าเล่นที่ไหน

ส่วนมากเจ้าภาพรับไว้ล่วงหน้า ถ้าสมมติว่าลูกมีงานบวช รับผมไว้แล้วว่าเดือนสิงหาหรือกันยา วันที่เท่านั้นวันที่เท่านี้ งานบวชลูก อะไรก็ว่าไป รับหนังเคล้าน้อยไปเล่น ก็พูดเรื่อยก่อนถึงงาน เจ้าภาพจะพูดอยู่เรื่อย ปากต่อปาก ชาวบ้านเขารู้ แขกที่มางานเขารู้ คือจะต้องจองล่วงหน้า ไม่ใช่รับไปเล่นเลย เพราะผมสมัยที่มีชื่อเสียง ต้องรับล่วงหน้าเป็นปี ไม่งั้นผมไม่มีคิวให้

เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป มีสื่ออื่นมาดึงดูดความสนใจ หนังตะลุงก็เสื่อมความนิยมลง ?

มันทำให้ลดลง คนดูก็ลดลง แล้วก็ชื่อเสียงหนังตะลุง คนไม่ค่อยกล่าวขวัญถึงเท่าไหร่ มันน้อยลง ยิ่งมาถึงยุคนี้ ชักจะน้อยมาก แต่หนังตะลุง มโนราห์มันเก่ง ไอ้คนเก่งๆ มันไม่หมด เขาเรียกว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี มันพยายามพัฒนาในการเล่นการร้องการแสดง ให้ทันกับเหตุการณ์สมัยใหม่ เดี๋ยวนี้คนเฮมาดูอีก อย่างลูกศิษย์ผม หนังน้องเดียว ตาบอด ขอให้เปิดการแสดง คนดูเยอะ 2-3 พัน คนดูเยอะ

ทุกวันนี้ ผมไม่เคยท้อนะ ผมไม่เคยลำบาก แต่คณะอื่นบางทีก็ลำบากมั่ง แต่ผมไม่เคยลำบาก ตั้งแต่เล่นมาจนถึงวันนี้ เรื่องชื่อเสียงยังเหมือนเดิม ไปเล่นที่ไหน คนดูก็ยังมาดูเหมือนเดิม เพียงแต่ว่ามันน้อยลง

นั่นเหตุให้ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย ?

คำร้องไม่เปลี่ยน มาเปลี่ยนตรงคำพูด รูปตัวตลก รูปพระเอกนางเอก อะไรเนี่ย คือหนังตะลุงเดี๋ยวนี้ เขาจะตลกแบบทอล์คโชว์ คล้ายๆ ตลกคาเฟ่นั่นแหละ แต่ใช้มุกไม่เหมือนพวกนั้น เราใช้มุกคนใต้ แต่แนวเล่นคล้ายๆ กัน มันครึกครื้นอยู่เรื่อย หนังตะลุงมันฉลาด เดี๋ยวนี้มันพยายามดึงคนดูไว้ ตลกไว้ คนมาดู ก็ลุกไม่ได้ เดี๋ยวมันมีเรื่องติดต่อ มันตั้งกระทู้ไว้ กระทู้ไว้ ว่ากันไปแก้กันไป มันเก่งเดี๋ยวนี้

บางทีต้องแข่งขันกับช่วงเวลาเดียวกันกับละครโทรทัศน์

มันเหนื่อย แต่ผมตอนนี้ไม่ค่อยไหวแล้ว พวกเด็กๆ หนังเอียดนุ้ยมันเก่ง ยังหนุ่ม พวกนี้เล่นตรงไหนก็ 2-3 พันคน ไม่ได้ว่างเลย หนังเอียดนุ้ย ... (คือคนใต้) ยังนิยม แต่นิยมบางคณะ ไม่ใช่ทั่วไป ไม่ใช่ว่าพอเป็นหนังตะลุงแล้วไปดู ถ้าดูไม่ได้เรื่องก็ไม่ดู

มองอย่างไรในแง่การปะทะสังสรรค์กับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอื่นๆ

เดี๋ยวนี้หมอลำมาจากภาคอีสาน มาเล่นที่ปักษ์ใต้คนดูเยอะนะ เมื่อก่อนไม่มีใครดู ดูไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวนี้คนดูเยอะ

มันอย่างนี้ ภาษาเดี๋ยวนี้ มันสื่อสารกันได้หมด เร็วมาก เพราะอะไรรู้ไหม คนใต้ไปมีแฟนเป็นคนอีสาน ไปได้ผัวอีสาน คนอีสานมาได้เมียปักษ์ใต้ มันเป็นลูกโซ่ ผมมีลูกสาว 1 คน ลูกชาย 1 คน ลูกชายได้เมียคนยโส(ธร) ลูกสาวได้แฟนคนกรุงเทพ มันเป็นลูกโซ่อย่างนี้ ทีนี้ลูกเขยผม มันดูหนังตะลุงได้ทั้งที่มันเป็นคนกรุงเทพ ลูกสะใภ้จากภาคอีสาน มันดูหนังตะลุงเป็น ลูกชายผมดูหมอลำได้ นี่ มันเป็นตรงนี้ เพราะการศึกษามันถึงกัน ไปเล่าไปเรียน ไปพบกันเจอกัน มาแต่งงานกัน ต่อไปไม่ต้องห่วง หนังตะลุงมีสิทธิ์ไปเล่นถึงภาคเหนือ ภาคอีสาน หมอลำลงมาหากินภาคใต้ หมอลำซิ่งมา คนเต็มหมด คณะนกน้อย อุไรพร มา คนดูตั้ง 2-3 แสน ไม่น่าเชื่อ ต่อไปมันเป็นลูกโซ่ ลูกเราจะพูดฝรั่งได้ ทำไมพูดไม่ได้ บางทีลูกสะใภ้ยังเป็นฝรั่งเลย หรือไม่ก็ลูกเขยเป็นฝรั่ง เผลอๆ แม่ยายก็พูดได้

หนังตะลุงมันฉลาดนะ อย่างหนังเอียดนุ้ยกำลังทำอยู่ เวลาไปเล่นกรุงเทพ รูปตลก มันพูดภาษากลาง มันเปลี่ยนเป็นพูดภาษากลาง มันไปเล่นที่ปทุม(ธานี) พูดภาษากลางตลอด ก็ฮาเหมือนกัน ถือเป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนไม่เสียหาย มันอยู่ที่ข้อมูล มันอยู่ที่กระทู้ที่จะพูดออกไป กลางก็ตลกได้ เห็นเขาโต้วาทีไหม ตลกได้ ข้อสำคัญว่าเรามีกระทู้ที่จะไปพูดไหม มีมุกตลกไหม ภาษานี้ไม่ยาก ยิ่งเด็กรุ่นหลัง ภาษานี้ไม่ต้องเป็นห่วง

อะไรเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับศิลปะหนังตะลุง

ถ้าคิดจริงๆ ถ้าคนมีพรสวรรค์ ไม่มีอะไรยาก แต่ถ้าคนไม่มีพรสวรรค์ มันยากไปหมด ถ้าคนมีพรสวรรค์ มีเลือดเนื้อเชื้อไข มีความชอบ มันไม่ยากเลย อย่างผมนี้ ไม่เห็นยากเลย ผมไม่ได้ฝึกเลย ผมนึกอยากจะเล่นหนังตะลุง ผมก็เล่นได้ เพราะมันมีมาแล้วในตัว

เรื่องราวที่เราเล่น อาจจะเขียนขึ้นมาบ้าง โน้ตขึ้นมาบ้าง แต่เรื่องบทกลอนนี้ไม่ต้อง แล้วก็สัมผัสเรียบร้อย เป็นกลอนแปดด้นสดๆ เลย เรื่องอะไรก็ได้ เรามาเป็นกลอนได้หมด แบบนั่งคุยกันกี่คน ถืออะไรว่าได้หมด กินข้าวอาหารกี่อย่างบนโต๊ะ ว่าได้หมด ว่ามาเป็นกลอน แล้วใช้สัมผัสนอกสัมผัสในแล้วได้เรื่องได้ราว

เสน่ห์หนังตะลุงของครู ?

เสน่ห์ของผมมันเป็นหนังตะลุงที่มีสมญานามว่า “เคล้าน้อยเสียงหวาน นิทานดี” คำว่าเสียงหวานนี้คือ เสียงเวลาเล่นหนังตะลุงจะหวานมาก คนฟังเขาบอกว่าเสียงหวาน นิทานดีคือนิทานที่ผมเอามาเล่นส่วนมาก ผมจะร่วมกันเขียนขึ้นมาโดยมีพี่ชายคนหนึ่ง เป็นครูเป็นอาจารย์ แกเก่งในเรื่องนิทาน ก็เอามาประสมประเสเขียนกันสองคน ร่างขึ้นมาเป็นโครงเรื่อง แล้วค่อยๆ ใส่บทใส่ตลกเข้าไปเอามาเล่น แล้วก็มีอาจารย์อยู่ 2-3 คนช่วยกัน ส่วนมากเวลาเขียนเรื่องหนังตะลุง ผมจะไปอยู่ด้วย ... อาจจะได้จากหนังสือที่มีผู้แต่งบ้าง ทมยันตี ใครต่อใครเอามาอ่าน หลวงวิจิตร(วาทการ) เราก็เอามาถอด ตรงที่เราต้องการ แล้วผมอ่านหนังสือพวกนั้นมาก ผมรับประจำเลย “บางกอก” แล้วผมชอบคอลัมน์สีน้ำ สีน้ำเขียนเรื่องต่างประเทศ ผมชอบ อ่านของแก เหมือนเขาพาเราไปเที่ยว

ตอนแรกผมเล่นจักรๆ วงศ์ๆ ครับ แต่มาช่วงหลังนี้ อาจจะเป็นนิทานชีวิตบ้าง คือนิทานชีวิตมันดีอย่างหนึ่ง เราสามารถจะสอดแทรกได้หลายอย่าง เช่น การบ้านการเมืองเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ธรรมะ สุภาษิตอะไรต่างๆ พอมายุคหลัง ผมชอบวิจารณ์สังคม เพราะว่าสังคมปัจจุบัน ไม่เหมือนสังคมเมื่อก่อน แม้แต่การแต่งตัว ก็แปลกๆ ออกไป ผมชอบเอามาพูด แต่มาพูดไม่ได้ให้เขาเสีย ไม่ได้ว่าเขา แต่เอามาพูดให้มันครึกครื้น ให้มันเฮฮา มันตลก เช่นนุ่งสั้นๆ อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)

อนาคตต่อไปของหนังตะลุง

ผมคิดว่า มันจะอยู่ไปเรื่อยๆ อยู่คู่กับปักษ์ใต้ไปตลอด ไม่มีวันตาย ด้วยเหตุอะไรที่ไม่มีวันตาย ก็เด็กรุ่นนี้มันเล่น ผมยกตัวอย่าง ผมไม่ใช่จะโจมตี เด็กรุ่นนี้เข้าวัดไหม ผมกลัววัดจะหมดก่อน มันฟังเทศน์เป็นไหม รุ่นนี้ไม่เป็นหรอก แต่หนังตะลุง มันฟังเป็น แล้วมันเล่นได้นะ แล้วเด็กรุ่นนี้มันสนใจเยอะ หาสักคนไม่มีเข้าวัดนะ ไม่ใช่ผมจะโจมตี แต่เราเปรียบเทียบให้ฟัง...

เราคิดถึงเรื่องนี้ มันจะหมดไป ถ้าผมไม่สืบทอดไม่ต่อยอด ถ้าทุกคนงอมืองอเท้า พวกนายโนรา นายหนังตะลุงทั้งปักษ์ใต้ ไม่คิดต่อยอด หมด อันนี้หมด มันมี 2 ประเด็น หนึ่ง-คนรุ่นก่อนไม่ต่อยอด สอง-เด็กรุ่นนี้ไม่สนใจ หมด แต่ที่ผมว่าไม่หมด เพราะเด็กสนใจ แล้วไอ้คนแก่อย่างพวกเราตั้งหน้าตั้งตาต่อยอดสืบทอดสืบสาน

อย่างหนังเอียดนุ้ย ที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้ว่ามีลูกศิษย์เกือบ 20 กว่าคนแล้ว มันต่อยอดไม่หยุด มันก็ทำ แล้วเหมือนอาจารย์ แล้วผมสอนทุกคนว่า พวกนายทำได้ แล้วต้องสอนคนอื่นต่อนะ แล้วมันเป็นเครือข่ายของอาจารย์เคล้า เครือข่ายของอาจารย์เอียดนุ้ย เครือข่ายหนังประถมของอาจารย์ณรงค์ (จันทร์พุ่ม) หนังที่มันดังๆ อยู่นี้ พูดถึงว่าพวกนายหนังตะลุงยังเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่เหมือนเดิม เว้นแต่ว่าคนดูมันลดลงไปบ้าง เพราะนายหนังบางคน มันไม่ทันยุคทันสมัย บางคณะ ทีนี้บ้านเมืองมันเปลี่ยนเร็วมาก มันเข้ามาทางสื่อ ทางอะไรบ้าง ไม่รู้ทางไหนต่อทางไหน เดี๋ยวนี้เข้ามาทางอินเทอร์เน็ต เข้ามาทางYouTube อะไรก็ไม่รู้ ผมพูดไม่ถูกเยอะ

ทีนี้ กว่าจะดึงเด็กแต่ละกลุ่มมาอยู่ตรงนี้ เราก็ดึงยาก หนักใจเหมือนกัน แต่ที่เราพยายามดึงมา มันดีอย่างเดียวว่า ถ้าเด็กหันมาเล่นหนังตะลุง มาเล่นมโนราห์แล้ว ร้านเกมไม่ไป พวกนี้ว่าง มันจะมาหัดพากย์หนัง ว่างมันจะมาดูกาพย์กลอน มาดูเรื่องหนังตะลุง มารำมโนราห์ อะไรพวกนี้ ผมภูมิใจตรงนี้ ร้านเกมไม่ไปเข้าแล้ว เด็กผู้ชายเด็กวัยรุ่นไม่ได้เอายาเสพติดอะไร เพราะมาสนใจตรงนี้ ทีนี้ถ้ามันมีขึ้นมาทั้งประเทศ บ้านเมืองก็ไม่ต้องห่วงอะไร...

แรกๆ ผมสอนให้พากย์รูปก่อน เชิดรูปก่อน ให้รู้ว่ารูปตัวนี้ มันเชิดอย่างไร และแสดงท่าทางของรูป ตอนที่ว่ารูปตัวนี้มันต้องโกรธ เชิดอย่างไรรูปโกรธ รูปร้องไห้เชิดอย่างไร รูปหัวเราะเชิดอย่างไร มันสำคัญเหมือนกันรูปที่เชิดกับปากที่พากย์ออกไป ให้มันใกล้เคียงกัน หนังตะลุงเขาดูตรงนี้ (มีตัวละครตัวหนึ่งโกรธ อีกตัวหนึ่งขำ อีกตัวร้องไห้ในเวลาพร้อมกัน) เขาเรียกว่าสลับอารมณ์ นายหนังต้องเป็นคนช่างสลับ คือพูดกันตรงๆ นะ มันต้องสวมวิญญาณให้แก่ตัวละคร นายหนังคนเดียว เวลาร้องไห้ก็ต้องสวมบทร้องไห้ให้มัน โกรธก็ต้องสวมวิญญาณโกรธให้ หัวเราะเราก็ต้องคึกคะนองจิตใจ เราต้องขำอยู่ในจิตใจ อะไรแบบนี้ คือรูปหนังตะลุงทุกตัว ต้องสวมวิญญาณให้ จะได้ดี

ถ้านายหนังคณะไหน สวมวิญญาณให้รูปที่เชิดไม่ได้ตามบทตามเรื่องแล้ว เอาดีไม่ได้หรอก.





หมายเลขบันทึก: 532219เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท