เทคนิคการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก


เทคนิคการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก

-  การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ 

  การจัดสภาพการเรียนรู้หรือห้องฝึกทักษะให้บุคคลออทิสติกมีความสำคัญทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมของเด็กและจะมีผลต่อการเรียนรู้ เช่นพื้นที่ต้องมีความชัดเจนว่า บริเวณใดใช้ทำกิจกรรมอะไรอย่างเช่นถ้าเด็กจะเล่นลูกบอลก็ต้องไปที่สนามหลังบ้าน หรือบริเวณที่จัดไว้ จะไม่สามารถเล่นลูกบอลในห้องครัวได้ เป็นต้น ความชัดเจนตรงนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้มากขึ้นว่าเขาสามารถที่จะทำอะไรได้หรือทำไม่ได้กับบริเวณนั้นๆ  เพราะเด็กออทิสติกขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสถานที่และการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ ครู ผู้ปกครองต้องทราบข้อมูลพื้นฐานของเด็กด้วยว่าประสาทสัมผัสของเด็กอ่อนไหวต่อสิ่งใดเพราะเด็กออทิสติกจะมีปัญหาเรื่องของ sensory หรือประสาทสัมผัส มากไปหรือน้อยไปเช่น ถ้าห้องฝึกของเด็กมีแสงจ้าเกินไปเด็กก็อาจไม่ชอบ ซึ่งอาจจะแก้ไขโดยนำผ้าม่านมาติด  หรือ อาจอยู่ไกล้ถึงขยะที่ส่งกลิ่นรุนแรง เด็กก็จะขาดสมาธิ หรือกลิ่นน้ำหอมของครู ของผู้ปกครอง ถ้าเป็นกลิ่นที่เด็กไม่ชอบก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ การจัดสภาพการเรียนไม่ว่าจะในบ้าน หรือในห้องฝึกต้องคำนึงถึงสิ่งที่สอนให้เด็กว่าถูกสถานที่ ถูกเวลา เพื่อให้รู้จักการปรับตัวต่อสถานที่ต่างๆ

-  สื่อเพื่อเพิ่มความเข้าใจ

การใช้สื่อที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกก็จะเพิ่ม ความเข้าใจให้เด็กให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งลักษณะที่เด่นของการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกคือการเรียนรู้จากภาพ และการที่เด็กมีความจำอันเป็นเลิศ ซึ่งการสื่อสารทางภาพก็เป็นอีกหนึ่งของรูปแบบโปรแกรมที่เป็นที่ยอมรับในการจัดการเรียนการสอนบุคคลออทิสติกในปัจจุบัน( Pecs Program)   เด็กออทิสติกเรียนรู้จากการมอง ได้ดีกว่าการฟัง การใช้ภาพหรือสัญลักษณ์จะช่วยทำให้เด็กออทิสติกมีส่วนร่วมต่อกฎเกณฑ์ ทางสังคมมากขึ้น เช่นภาพของการห้ามรับประทานอาหารในห้องเรียน เมื่อเด็กเห็นก็จะปฎิบัติตามกฎดังกล่าวซึ่งจะช่วยให้เด็กเกิดการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ครู ผู้ปกครอง ต้องสอนให้เข้าใจความหมายของภาพก่อน และเมื่อเด็กจำได้เพียงครั้งเดียวก็จะทำให้เด็กจำได้ตลอดไป 

  - ตารางกิจกรรมประจำวัน

ตารางกิจกรรมประจำวันเป็นอีกรูปแบบหหึ่งในการกำหนดกิจกรรมให้กับเด็กออทิสติกเนื่องจาก การที่เด็กขาดความเข้าใจในการจัดระบบและแบบแผนการดำเนินกิจกรรม  ในแต่ละวันว่าจะต้อง มีกิจกรรมอ่ะไรหรือต้องทำอะไรก่อนหลัง  ตาราง กิจกรรมใช้เพื่อฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้และยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน สอนให้นักเรียนรู้จักพึ่งตนเอง ลดความวิตกกังวล และเป็นการสื่อสารผ่านภาพในอีกรูปแบบหนึ่ง การจัดตารางกิจกรรมที่ดีเด็กออทิสติกต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อตารางกิจกรรม ตารางกิจกรรมต้องอยู่ในสถานที่ที่เห็นได้ชัด  รูปแบบของตารางต้องชัดเจน เข้าใจง่าย  ตารางกิจกรรมต้องสื่อความหมายให้ชัดเจนและต้องเหมาะกับระดับความสามารถของนักเรียนที่จะเข้าใจได้

-  การใช้ระบบงาน

การใช้ระบบงานเพื่อให้เด็กทำตามขั้นตอนนั้นๆได้อย่างถูกต้อง ในบริเวณที่กำหนดชัดเจนที่ระบุไว้ในใบงานหรือในใบกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้เข้าใจ และเรียนรู้ขั้นปฎิบัติต่างๆได้ด้วยตนเอง  ลดการพึ่งพาครูผุ้ปกครองให้น้อยที่สุด การใช้ระบบงานเข้ามาช่วยทำให้เด็กออทิสติกรู้ว่าเมื่อใด งานถึงจะเสร็จเพราะเด็กออทิสติกขาดความเข้าใจเรื่องความคิดรวบยอด ไม่รู้ว่าเมื่อทำกิจกรรมแล้วอย่างไรถึงจะเรียกว่างานเสร็จแล้ว เมื่อเด็กขาดความเข้าใจตรงนี้ก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมอย่างอื่นตามมาเช่น ในวิชาศิลปะถ้าเด็กไม่รู้ว่างานจะสิ้นสุดที่ตรงไหนเด็กก็จะวนเวียนวาดรูปอยู่อย่างนั้นจนทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อไปได้ การใช้ระบบงานนั้น ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้

- งานอะไรที่ครูจะให้นักเรียนทำ

- เนื้องานเป็นอย่างไร ปริมาณของงาน หรือขั้นตอนการทำงาน(โครงสร้างงานเพื่อเพิ่มความเข้าใจ)

- อย่างไรถือจะเรียกว่างานเสร็จ

- เมื่องานนั้นๆเสร็จแล้ว มีอะไรต่อจากนี้บ้าง 

  ยกตัวอย่างเช่น  กิจกรรมการร้อยลูกปัดเพื่อฝึก ประสานสายตาระหว่างมือกับสายตา(งานที่ครูให้นักเรียนทำ)  โดยนักเรียนนำลูกปัดร้อยในเส้นด้าย จำนวนลูกปัด 10 ลูก คละสี (งานเป็นอย่างไร) เมื่อนักเรียนร้อยลูกปัดครบทั้ง 10 ลูกและมัดตอนปลายของด้ายให้ติดกันทั้งสองข้างงาน และนักเรียนนำมาส่งครูที่กล่องส่งงาน (ถือว่างานเสร็จ)   และไปทำกิจกรรมการปั้นดินน้ำมันต่อ เป็นต้น การจัดระบบงานนี้ช่วยให้เด็กออทิสติกเข้าใจถึงรูปแบบการการดำเนินกิจกรรมโดยมีแบบแผนกำหนด และทำให้รู้จักที่จะหยุดกิจกรรมได้เองเพื่อไปสู่กิจกรรมต่อไป

  การจัดโครงสร้างเพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจในกิจกรรม

การจัดโครงนี้นี้จะช่วยเห็นเด็กเกิดความเข้าใจในและง่ายต่อการปฎิบัติกิจกรรม และเมื่อเด็กเกิดความรู้สึกว่างานไม่ง่ายเกินไปก็จะทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติกิจกรรมต่อไป เช่น การนำรูปแบบงานที่เสร็จสิ้นแล้วให้นักเรียนดูและปฎิบัติตาม เช่น ตัวอย่างผลิตภัณฑ์  ให้เด็กนักเรียนดูตัวอย่างงานที่เสร็จแล้วจะทำให้เด็กสามารถทำตามได้ เช่น งานฝีมือ ,การเขียนขั้นตอนการทำงาน การเขียนลำดับขั้นของการทำงานแล้วติดไว้  การจำกัดพื้นที่ เช่นการใช้ เทปกาวตีเส้นบนพื้นเพื่อให้เด็กทราบว่าจะต้องเล่นตรงไหน, แยกอุปกรณ์ และยึดติดวัสดุ วางอุปกรณ์ ไว้เป็นลำดับขั้น

ความชัดเจนของสื่อที่ใช้  ใช้สีเพื่อบอกตำแหน่ง หรือลำดับ ,มีรูปภาพ หรือคำศัพท์ ติดไว้ชัดเจน , มีตัวเลขประกอบ โครงสร้างต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในงานมากขึ้น เกิดแรงจูงใจในการปฎิบัติกิจกรรมให้สำเร็จต่อไป


หมายเลขบันทึก: 532204เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท