ผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด


โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างตลาดค้าข้าว และกลไกการแข่งขันในตลาดข้าวไทยอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งในแง่ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย รวมไปถึงผลกระทบต่อภาระงบประมาณของประเทศ และกรอบความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

ผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด

ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่  และ ที่นี่  บัดนี้ผมได้รับรายงานผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเป็นกลาง   จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

“โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างตลาดค้าข้าว และกลไกการแข่งขันในตลาดข้าวไทยอย่างมีนัยสำคัญ  รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง  ทั้งในแง่ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย   รวมไปถึงผลกระทบต่อภาระงบประมาณของประเทศ  และกรอบความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต”

“โครงการรับจำนำข้าว มีผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกและราคาข้าวไทย สูงกว่าประเทศคู่แข่ง  โดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียค่อนข้างมาก  ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าวของไทย หันไปนำเข้าข้าวจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่า  โดยในปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวของไทยปรับลดลง 35% (YoY)  และทำให้ไทยต้องเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๒๐ ปี  สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวในปีนี้  คาดว่ายังคงเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับไทย  เพราะแม้ว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องทะยอยระบายข้าวออกจากสต็อกที่มีอยู่ในมือก็ตาม  แต่ผู้ส่งออกไทยคงต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ  ทั้งจากราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่งมาก  เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า  ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง  รวมทั้งตลาดข้าวซึ่งยังเป็นของผู้ซื้อ  หรือแม้แต่นโยบายของประเทศผู้นำเข้าข้าวหลายประเทศที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศของตนเองมากขึ้น”

“ส่วนในประเด็นด้านภาระงบประมาณ  คงต้องยอมรับว่าโครงการนี้ได้ก่อให้เกิดภาระด้านการคลังที่สูงมาก  ทั้งจากการตั้งราคารับซื้อข้าวจากชาวนาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ดอกเบี้ยเงินกู้  รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ  บริหารจัดการ และการระบายสต็อกข้าว รวมไปถึงความเสี่ยงจากผลขาดทุนที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของข้าว หากไม่สามารถระบายข้าวในสต็อกได้หมดภายใน ๑​ - ๒ ปี  ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2012/13 สำหรับข้าวนาปีและนาปรัง รวม ๔๐๕,๐๐๐ ล้านบาท)  ทั้งนี้ จากการประมาณการเบื้องต้น คาดว่า รัฐบาลจะต้องใช้วงเงินในการดำเนินการโครงการนี้ประมาณ 4.6 – 4.7 แสนล้านบาทต่อปี  ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีผลขาดทุนจากโครงการไม่ต่ำกว่าปีละ ๑.๒ แสนล้านบาท  และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นอีกราว ๑๓% (กรณีที่รัฐไม่สามารถระบายข้าวที่รับจำนำไว้ได้) เป็น ๕๗%  จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ ๔๔%  ซึ่งเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability Framework)  ซึ่งกำหนดไว้ที่ ๖๐%  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในอนาคตได้”

ผมดูทีวีเมื่อวันที่ ๒ เม.ย. ๕๖ เห็น ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร แห่ง ทีดีอาร์ไอ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการขายข้าว  ไม่ใช่ปกปิดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ทำให้การตรวจสอบโดยสังคมทำไม่ได้  จะเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาความโปร่งใส  ทำให้ข้อกล่าวหาว่าโครงการนี้เป็นวิธีถ่ายเงินหลวงเข้าพรรคหรือเข้ากระเป๋า น่าสงสัยว่าจะจริงมากยิ่งขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๔ เม.ย. ๕๖

  


หมายเลขบันทึก: 532109เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2013 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2013 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ ผมอ่านบทความของท่านอาจารย์ และผลการวิจัยเรื่องนี้แล้ว ผมขอเสนอความคิดในเรื่องนี้ว่า การใช้นโยบายเรื่องรับจำนำข้าวของรัฐบาลนี้น่าเป็นห่วงต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศไทยเรามากครับ ประเด็นคือ    1.การทำให้การส่งออกข้าวไทยอยู่ในภาวะตกต่ำ จากปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวไทยมีราคาแพงกว่า ราคาข้าวของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญ  2. ข้าวที่มีอยู่สต๊อก(โกดังเก็บสินค้า) จะเสียหาย เพราะไม่สามารถจำหน่ายออกไปได้  3. กระทบต่องบประมาณของประเทศไทย ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณไปรับจำนำข้าว ที่มีราคาสูงกว่าความเป็นจริงของราคาตลาดโลก 4. ความไม่โปร่งใสในการบริหารเรื่องเงินรับจำนำข้าว  5. กระทบต่อการที่รัฐบาลไม่รับจำนำสินค้าเกษตรอื่น ที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับข้าว เช่น ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง

จากห้าประเด็นที่สำคัญดังกล่าว ผมจึงทำนายเศรษฐกิจข้าวไทยในอนาคต จากผลการวิจัย และจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ว่า ข้าวไทยจะมีผลตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วง ถ้าเราไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน   จะทำให้ประเทศไทยเราเสียตลาดคู่ค้าที่สำคัญไป เสียเงินงบประมาณของแผ่นดินที่สูญไปกับการจำนำข้าวที่มีราคาเกินความเป็นจริง เมื่อเทียบกับราคาตลาดโลก  ความเสียหายจากข้าวที่เก็บไว้ในโกดังข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน  ความเสียหายจากการที่รัฐบาลไม่ให้ความเป็นธรรมกับการรับจำนำสินค้าเกษตรอื่นที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับข้าว  ความเสียหายจากความไม่โปร่งใสของการบริหารเงินในการรับจำนำข้าว 

คนไทยที่รักเมืองไทยเราครับ     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท