7 สุขนิสัย_ไกลโรคหัวใจและไกลมะเร็ง



.
เว็บไซต์ อ.นพ.เกบ เมียคิน ตีพิมพ์เรื่อง 'Habits that prevent heart attacks also prevent cancers'
= "นิสัย (ดีๆ หลายอย่าง) ที่ช่วยป้องกัน (อาการ) โรคหัวใจ (กำเริบ) ช่วยป้องกันมะเร็งได้ด้วย", ผู้เขียนขอมาำเล่าสู่กันฟังครับ
.
สมาคมโรคหัวใจอเมริกา (AHA) ทำการรณรงค์เรื่อง '7 วิถีชีวิตพิชิตโรคหัวใจ (Life's Simple 7 Steps)' เพื่อลดเสี่ยงโรคหัวใจได้แก่
.

.
(1). ออกกำลังอย่างน้อย 30 นาที/วัน > ทำได้ 37.9%
.
(2). ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้น้ำหนักเกิน > ทำได้ 33.2%
.
(3). กินอาหารสุขภาพ > ทำได้ 5.3%
.
(4). ควบคุมโคเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือด > ให้โคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ต่ำกว่า 100 > ทำได้ 36.9%
.

.
(5). ควบคุมความดันเลือดตัวบน (systolic blood pressure) ให้ต่ำกว่า 130 > ทำได้ 41.6%
.
(6). ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำกว่า 100 > ทำได้ 51.8%
.
(7). ไม่สูบบุหรี่ > ทำได้ 71.5%
.

.
การศึกษาใหม่ที่ติดตามกลุ่มตัวอย่าง 13,253 คนไปกว่า 20 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนที่ทำตามคำแนะนำได้ครบ 7 ข้อมีเพียง 2.7%
.
ที่เหลือ 97.3% ทำตัวไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่
.
กลุ่มตัวอย่างทำตัวดีได้มากที่สุดในเรื่องไม่สูบบุหรี่... สอดคล้องกับแนวโน้มที่พบว่า ประเทศที่มีการศึกษาดีขึ้น หรือก้าวไปสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วสำเร็จ มักจะมีคนสูบบุหรี่น้อยลง
.
ข้อที่กลุ่มตัวอย่างทำตัวให้ดีไม่ได้มากที่สุด คือ เรื่องอาหารสุขภาพ
.

.
ข่าวดี คือ คนที่ทำได้ครบ 7 ข้อ ลดเสี่ยงมะเร็งได้ถึง 51%
.
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า หลักการ 7 ข้อนี้ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ดี คือ
.
(1). การออกแรง-ออกกำลัง
.
ออกกำลัง 1 ครั้ง จะช่วยให้กล้ามเนื้อดูดซับน้ำตาลได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ประมาณ 1/2-17 ชั่วโมง
.

.
(2). ภาวะน้ำหนักเกิน
.
ภาวะน้ำหนักเกินทำให้ไขมันเข้าไปสะสมมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณผิวเซลล์ ไปล้อมรอบตัวรับอินซูลิน ทำให้ตัวรับอินซูลินทำงานได้น้อยลง
.
อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยนำน้ำตาลเข้าเซลล์ ลดระดับน้ำตาลในเลือด
.
ถ้าร่างกายขาดอินซูลิน หรือเซลล์ดื้อต่ออินซูลิน... คนเราจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นพักๆ ก่อน โดยเฉพาะหลังอาหารมื้อใหญ่ เช่น งานเลี้่ยง อบรม สัมมนา ดื่มเครื่องดื่มเติมน้ำตาล ฯลฯ เรียกว่า เป็นพวก "ว่าที่เบาหวาน" หรือเป็น "ภาวะก่อนเบาหวาน"
.
นานๆ เข้าก็จะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเต็มตัว
.
ภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มเสี่ยงความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอลสูงได้เช่นกัน
.

.
(3). ไขมันในเลือดหรือโคเลสเตอรอล
.
โคเลสเตอรอล 80% สร้างที่ตับ, 20% มาจากอาหาร
.
ตับจะสร้างโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) เพิ่มขึ้นเมื่อกินอาหารที่ให้กำลังงานสูง กินมากหรือกินเร็ว (กินเร็วทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากกว่ากินช้า), กินเนื้อสัตว์ใหญ่ (red meat) เช่น แพะ แกะ วัว หมู ฯลฯ มาก, กินเครื่องดื่ม-อาหารเติมน้ำตาล
.

.
(4). ความดันเลือดสูง
.
ความดันเลือดสูงเพิ่มเสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหัวใจ ไตเสื่อม-ไตวาย
.
การควบคุมน้ำหนัก กินอาหารสุขภาพ ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ ไม่นั่งนาน รับแสงแดดอ่อนตอนเช้า-เย็นเพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามิน D มีส่วนช่วยป้องกันความดันเลือดสูง
.

.
(5). ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
.
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นทำให้หลอดเลือดฝอยหลายแห่งเสื่อมเร็วขึ้น โดยเฉพาะที่ไต เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานสูงในการดูดน้ำ และเกลือแร่กลับ
.
เนื้อเยื่อบางส่วนของไตมีความดันสารละลาย (osmolarity) สูง ทำให้บอบบางต่อการบาดเจ็บจากน้ำตาลสูง หรือความดันเลือดสูงมากกว่าอวัยวะอื่นๆ
.
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงบางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเหนียว (sorbitol) เกาะหนึบที่เซลล์หลายแห่ง โดยเฉพาะผนังหลอดเลือดฝอยในลูกตา หู หัวใจ สมอง เซลล์ประสาท
.

.
(6). บุหรี่
.
บุหรี่ทำให้หลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย ทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว แก่เร็ว โดยเฉพาะหลอดเลือดจะเสื่อมเร็วมากเป็นพิเศษ รวมทั้งเพิ่มเสี่ยงมะเร็งหลายสิบชนิดด้วย
.

.
(7). อาหารสุขภาพ
.
อาหารสุขภาพเริ่มจากการเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง เปลี่ยนขนมปังขาวเป็นขนมปังสีน้ำตาล (โฮลวีท-เติมรำ), ลดเนื้อ 1/2, เพิ่มผัก ถั่ว (ทั้งถั่วสดหรือถั่วฝัก เช่น ถั่วพู ถั่วฝักยาว ฯลฯ และถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง เต้าหู้ ถั่วงอก ฯลฯ), นัท (nuts = เมล็ดพืชเปลือกแข็ง กระเทาะเปลือก เช่น อัลมอนด์ ฯลฯ), ปลาที่ไม่ผ่านการทอด และเมล็ดพืช เช่น งา ฯลฯ ตามโอกาส
.
คำแนะนำสุขภาพทั่วไป คือ ลดอาหารทอด... อาหารที่ผ่านการต้ม นึ่ง แกง สตูว์ ตุ๋น หรือผัดปลอดภัยกว่าทอด เนื่องจากใช้ความร้อนต่ำกว่าการทอดมาก
.

.
ความร้อนจากการทอดทำให้ไขมัน โปรตีน และกรดนิวคลีอิค (nucleic acids) ซึ่งอยู่ในสารพันธุกรรม (DNA, RNA) เสื่อมสภาพ เกิดเป็นสารข้นเหนียวหนึบอันตรายหลายอย่าง
.
สารเหล่านี้มีชื่อแปลกๆ เช่น สารโพลาร์ สารเอจ (advanced glycation end products / AGEs), สารพีเอเอช (polycyclic aromatic hydrocarbons / PAHs), สารเอชซีเอ (heterocyclic amines / HCAs) ฯลฯ
.
สารชื่อแปลกๆ นี้ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน คือ ทำให้แก่เร็ว แก่เกินวัย และเพิ่มเสี่ยงมะเร็ง
.
อาหารทอดที่อันตรายมากเป็นพิเศษ คือ อาหารทอดน้ำมันท่วม เช่น กล้วยทอด มันทอด ไก่ทอด ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าใช้น้ำมันทอดซ้ำ ทอดนาน หรือเกิดควันระหว่างการทอด
.

.
น้ำมันที่มีจุดเกิดควันต่ำ ไม่ทนความร้อน จะมีอันตรายเพิ่มขึ้นมากจากการทอด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง ฯลฯ (ใช้ผัดได้ แต่ไม่ควรใช้ทอด) เนื่องจากจะเกิดสารโพลาร์สูงกว่าน้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง-ทนความร้อน เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันปาล์ม ฯลฯ
.
น้ำมันปาล์มทนความร้อนสูง แต่มีไขมันอิ่มตัวสูง
.
จึงมีการนำน้ำมันคาโนลามาผสมกับน้ำมันปาล์ม ทำให้ได้น้ำมันผสมที่ทนความร้อนสูง และมีไขมันอิ่มตัวต่ำ คือ น้ำมันเอมเมอรัลด์ (Emerald = หยก)
.
การลดเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ลงสัก 1/2, เปลี่ยนเป็นโปรตีนอย่างอื่น เช่น ถั่ว เต้าหู้ ปลาที่ไม่ผ่านการทอด สัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ฯลฯ ช่วยลดไขมันอิ่มตัว
.

.
การเลือกวิธีปรุงอาหารด้วยการต้ม นึ่ง แกง ตุ๋น สตูว์ปลอดภัยกว่าการผัด และการผัดปลอดภัยกว่าการ "ทอด-ปิ้ง-ย่าง"
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ การปรุงอาหารที่มีน้ำมากช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินจุดเดือดน้ำที่ 100C (องศาเซลเซียส)
.
การปรุงอาหารที่มีน้ำน้อยเพิ่มเสี่ยงอุณหภูมิสูง ซึ่งถ้าสูงเข้าใกล้ช่วง 200-800C จะเกิดสารก่อมะเร็ง และสารเร่งความเสื่อม สารเร่งความแก่
.
สรุปผลจากการศึกษานี้ คือ ถ้าเรารักหัวใจ... ทำตัวให้ดีกับหัวใจแล้ว มีแนวโน้มจะลดเสี่ยงมะเร็งได้ถึง 51% ทีเดียว
.

.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

 > [ Twitter ]

  • Thank Dr.Gabe Mirkin Ezine list > Source: Circulation. March 18, 2013 > http://www.drmirkin.com/public/ezine032413.html
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 1 เมษายน 56. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

หมายเลขบันทึก: 531912เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2013 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท