เพาะหน่ออ่อน "ศิลปิน" ด้วยการเรียนศิลป์อย่างมีสุนทรียภาพ




เพาะหน่ออ่อน “ศิลปิน” ด้วยการเรียนศิลป์อย่างมีสุนทรียภาพ

ตามมาตรฐานการเรียนรู้ทางศิลปะสาขาทัศนศิลป์ ของนักเรียนในระดับประถมศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ สรุปได้ว่า เด็กระดับประถมตอนต้น ต้องเข้าใจทัศนธาตุพื้นฐาน (รูปทรง รูปร่าง เส้น สี พื้นผิว) จากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและงานทัศนศิลป์ เห็นความสำคัญศิลปะกับชีวิต เข้าใจที่มาของศิลปะท้องถิ่น  มีทักษะพื้นฐานในการใช้วัสดุ อุปกรณ์สร้างงานวาดภาพระบายสี ภาพปะติด งานปั้น งานโครงสร้างเคลื่อนไหวง่ายๆ โดยสื่อความคิด ความรู้สึกออกมาจากเหตุการณ์ เรื่องราวในชีวิตจริง สามารถแสดงเหตุผลและวิธีการปรับปรุงผลงานของตนได้  ส่วนเด็กระดับประถมศึกษาตอนปลาย ก็เน้นทักษะการใช้วัสดุอุปกรณ์ ความรู้ทางทัศนธาตุเพิ่มขึ้น (สี แสง เงา)  สามารถใช้หลักการองค์ประกอบศิลปะ ได้แก่ ขนาด สัดส่วน น้ำหนัก สมดุล แสงเงา มาใช้สร้างงาน ๒ มิติหรือ ๓ มิติได้ เช่น งานสื่อผสม งานวาดภาพระบายสี งานพิมพ์ภาพ งานปั้น เขียนแผนผัง แผนภูมิ ภาพประกอบ วิเคราะห์เปรียบเทียบงานศิลปะที่เกิดจากการใช้วัสดุ อุปกรณ์ วิธีการที่แตกต่างกันได้ เข้าใจองค์ประกอบทางศิลปะ สามารถสื่อความหมายถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก อารมณ์ จินตนาการ ในผลงานและปรับปรุงงานของตน รู้คุณค่าของศิลปะต่อชีวิตและสังคมเข้าใจอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมในงานทัศนศิลป์ของท้องถิ่น

การจัดการเรียนรู้ทางศิลปะให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ดังกล่าว จึงสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

เด็กควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ศิลปะจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม งานทัศนศิลป์ที่มีโอกาสเข้าถึง งานทัศนศิลป์ในท้องถิ่น ครูภูมิปัญญาแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะอื่นๆ เช่น หอศิลป์  พิพิธภัณฑ์ศิลป์ วัด  พระราชวัง  ปราสาทหิน

  เด็กควรได้รับการช่วยเหลือ แนะนำในการเรียนรู้จากสังเกต รับรู้สุนทรียภาพ จนมีความรู้ความเข้าใจ ใน “ทัศนธาตุ” (ส่วนประกอบต่างๆ ของการทำให้เกิดงานศิลปะหรือ Elements of art) ได้แก่  เส้น  รูปร่าง  รูปทรง  พื้นผิว  สี  แสง เงา น้ำหนัก บริเวณว่าง และเข้าใจหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ ได้แก่ เอกภาพ  สมดุล  จุดเด่น  ทิศทาง จังหวะ การเคลื่อนไหว ฯลฯ

  เด็กควรมีทักษะในการใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงาน อย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้งานที่ปราณีตสวยงาม ตรงตามความคิด จินตนาการ เช่น การใช้พู่กัน  การร่างภาพ  วิธีใช้สีชนิดต่างๆ  การผสมสี  การเกลี่ยสี การใช้เทคนิคการสร้างภาพด้วยวิธีการต่างๆ

  เด็กต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความสามารถที่มี สร้างสรรค์ผลงานตามที่ถนัด ด้วยการใช้วัสดุ อุปกรณ์ วิธีการ ที่แตกต่างหลากหลาย และอธิบายผลงานที่เกิดจากกรรมวิธีที่แตกต่างได้ไม่ว่าจะเป็นงานวาดภาพระบายสี งานพิมพ์ งานปะติด  งานโมบาย งานปั้น งานสื่อผสมหรืองานศิลป์สร้างสรรค์  งานวาดภาพประกอบ

  เด็กควรอธิบายผลงานถึงชื่อผลงาน แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ถึงความคิด ความรู้สึก อารมณ์ จินตนาการ ให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างภาคภูมิใจ ด้วยวิธีการที่ตนเองถนัด

เด็กควรได้รับการประเมินผลงานเชิงสร้างสรรค์ มีลักษณะประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ตัดสินความสวยงามตามความคิดผู้ใหญ่ การวิจารณ์ผลงานควรเน้นเรื่องความก้าวหน้า ความสำเร็จ จุดเด่น ต่อยอดการพัฒนาจากเดิม(ผลงานทุกชิ้นของเด็กมีคุณค่าเสมอ) ดังนั้นผู้วิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อน หรือผู้อื่น ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก พึงเข้าใจว่า การวิจารณ์ทางศิลปะสำหรับเด็ก มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ควรเอาความคิดของผู้ใหญ่ไปตัดสินผลงานเด็ก

  เด็กควรแสดงออกถึงความรักในศิลปะ เห็นคุณค่าในการใช้ศิลปะในชีวิตประจำวันเช่น การขีดเขียนซ้ำจนลากเส้นมือเปล่าได้ตรง โค้งมน เป็นทักษะสำคัญในการคัดลายมือ  การวาดภาพแต่ละครั้งใช้เวลานานต้องใช้สมาธิความอดทน การเลือกสี รูปแบบของเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ที่สวยงามเหมาะสม ความพึงพอใจในความประณีตงดงามของลายผ้าไหม ลายกนก งานปูนปั้น ภาพแบบไทยที่สะท้อนความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตามวัด โบราณสถานในท้องถิ่น

  เด็กที่มีแววศิลปิน ควรสนับสนุนให้ส่งผลงานเข้าแข่งขัน เข้าประกวด ทุกโอกาสที่มี หากไม่ติดยึดในผลแพ้หรือชนะเกินไป การแข่งขันจะทำให้เกิดการประเมินตนเอง หากชนะก็คือความภาคภูมิใจ หากแพ้ก็คือ การปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ถึงขีดสูงสุด

  เมื่อวิเคราะห์ได้ประเด็นเช่นนี้  ครูผู้สอนศิลปะก็น่าจะมองเห็นแนวทางออกแบบการสอน และใส่ใจจัดกิจกรรมที่ตอบสนองการเรียนรู้ของเด็ก หากผู้บริหารให้ความสำคัญ ให้การสนับสนุน ก็จะเกิดการขับเคลื่อนให้การเรียนรู้ศิลปะในโรงเรียนเกิดสัมฤทธิ์ผล  ในยุคที่สื่อเทคโนโลยีครอบงำสังคมจนผู้คนพึ่งพาตนเองน้อยลง  จนอ่อนแอต่อปัญหาเช่นนี้  ย่อมเป็นโอกาสของคนที่เข้มแข็งหรือคนที่รักศิลปะ รู้จักใช้ศิลปะในการดำเนินชีวิต  คนที่รับรู้สุนทรียภาพได้ดีย่อมมองโลกในแง่บวก มีสุขภาพจิตที่ดี เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจอ่อนโยน เยือกเย็น มองปัญหาใหญ่เป็นเรื่องเล็กๆ หากการสอนศิลปะช่วยให้เด็กเข้าถึงสุนทรียภาพได้ ก็เท่ากับได้เพาะหน่ออ่อนสู่การเป็นศิลปินในอนาคต หรืออย่างน้อยก็เป็น “มนุษย์” ที่แปลว่า ผู้มีจิตใจสูง นั่นเอง


หมายเลขบันทึก: 531711เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2013 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท