แนวคิดบรรษัทภิบาลสู่ความยั่งยืน


แนวคิดบรรษัทภิบาล
  ความหมาย

          บรรษัทภิบาลCorporate Governance (CG) (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,
สำนักงานปลัดกระทรวง, สำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา (สปพ.)ม 2551,น.35-41) มาจากคำว่าบรรษัท + อภิ (แปลว่า เฉพาะ ข้างหน้ายิ่ง) + บาล (แปลว่าการปกครอง การรักษา) หมายถึงการกำกับดำแลกิจการให้เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเงื่อนไขของความถูกต้องโปร่งใส การมีจริยธรรมที่ดีโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในกิจการเป็นหลัก

          การกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2549 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจและการประชาสัมพันธ์การดำเนินการเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลในประเทศไทยได้ประกาศเผยแพร่นั้น เป็นการนำข้อพึงปฏิบัติจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี 15
ข้อ  ที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2545มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้เทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการของ
The Organization for Economic Co-Operation and Development (OECD Principles of Corporate Governance ปี 2004) และข้อเสนอแนะของธนาคารโลกจากการเข้าร่วมโครงการ Corparate Governance
Reports on the Observance of Standards and Codes (CG-ROSC) โดยปรับให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียนไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 หมวด ได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย  การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสและความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น
           ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในความเป็นเจ้าของโดยควบคุมบริษัทผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่แทนตนและมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบริษัท
บริษัทจึงควรส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน

หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน ผู้ถือหุ้นทุกราย
            ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร
รวมทั้งผู้ถือหุ้นต่างชาติ ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรม
ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิควรมีโอกาสได้รับการชดเชย

หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
           ผู้มีส่วนได้เสียควรได้รับการดูแลจากบริษัทตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการควรพิจารณาให้มีกระบวนการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างความมั่งคง
ความมั่นคงทางการเงินและความยั่งยืนของกิจการ

หมวดที่4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
          คณะกรรมการควรดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ

หมวดที่ 5 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
          คณะกรรมการมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
คณะกรรมการมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นและเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ

          หลักการกำกับดูแลกิจการทั้ง 5 หมวดนี้ หมวด 1 และหมวด 2 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น ขณะที่หมวด4 และหมวด 5 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ซึ่งผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการมีเพียงหมวดที่ 3ที่กล่าวถึงผู้มีส่วนได้เสียนอกกิจการ ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องหลักกับการดำเนินกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  แนวปฏิบัติตามหลักการในหมวดที่ 3 นี้ผู้มีส่วนได้เสียควรได้รับการดูแลจากบริษัทตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเมื่อพิจารณาที่จุดมุ่งหมายของหลักการดังกล่าว  ก็ยิ่งจำกัดคำว่าเป็นไปเพื่อสร้างความมั่งคั่ง  ความมั่นคงทางการเงินและความยั่งยืนของกิจการ  ในขณะที่เจตนารมณ์ในการดำเนินกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น จะคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้งอีกทั้งการดูแลผู้มีส่วนได้เสียนอกกิจการอย่างมีสมฤทธิภาพนั้นจะต้องเริ่มต้นจากจิตสำนึกที่ต้องการทำด้วยความเต็มใจ  มิใช่แค่เพียงปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

           ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมโดยมีเป้าหมายที่ผู้ถือหุ้นผู้บริหารหรือคณะกรรมการ (คือผู้มีส่วนได้เสียในกิจการ) เป็นตัวตั้ง กิจกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการโดยอ้อม ซึ่งแฝงอยู่กับการกำกับดูแลกิจการภายในให้มีความโปร่งใส  สามารถให้สังคมภายนอกตรวจสอบได้ ในขณะที่  การดำเนินกิจกรรมโดยมีเป้าหมายที่ครอบครัวของพนักงานชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่  (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งขัน และประชาชนทั่วไป เป็นตัวตั้ง (คือผู้มีส่วนได้เสียนอกกิจการ) กิจกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการโดยตรง
ฉะนั้น กิจการใดที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีอยู่แล้ว  ก็มีแนวโน้มที่จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ด้วย

           บรรษัทภิบาลจึงถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่ต้องจัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลผลการปฏิบัติงานของกิจการ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อกิจการพร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มแบะส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง  ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
หรือบรรษัทบริบาล ซึ่งมาจากคำว่า บรรษัท + บริ (แปลว่า ทั้งหมดออกไป โดยรอบ) + บาล หมายถึง
การดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการแต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองบรรษัท
(Corporate Citizen) การมีคุณธรรม  โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน

          บรรษัทบริบาล  จึงเป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอกที่จัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน  การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ  อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการระยะยาว ซึ่งเป็นหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CorporateSocial Responsigility)หรือ (CSR) นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

คอตเลอร์, ฟิลิป, และ ลี, แนนซี่.(2551). บรรษัทภิบาล (ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร) ทำการ     

           กุศลเพื่อภาพลักษณ์องค์กรและการตอบสนองประเด็นทางสังคม. (รมณียฉัตร แก้ว กิริยา, ผู้  

           แปล). กรุงเทพฯ : ยูนิเวอร์แซล พับลิซิ่ง.

จณิน  เอี่ยวสะอาด. (2550). รูปแบบและการสื่อสารดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมของ
           องค์กรธุรกิจไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  สาขาวิชาการจัดการการสื่อสารภาครัฐและเอกชน

           คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จิรภัทร์  จันทร์เรื่องเพ็ญ. (2546). การดำเนินการงานกิจกรรมสาธารณะของบริษัทเทเลคอมเอเชียคอร์เปอร์

           เรชั่นจำกัด (มหาชน). ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการสื่อสารภาครัฐและเอกชน  คณะ     

           วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.





คำสำคัญ (Tags): #บรรษัทภิบาล
หมายเลขบันทึก: 531653เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2013 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2013 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท