การพัฒนาการของธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองในประเทศไทย


             ในแง่บริบทของไทย การสร้างกลไกประชารัฐที่ดีสามารถส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคนในสังคมให้มีความยั่งยืน ซึ่งองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme-UNDP)เป็นแกนนำในการผลักดันความคิดนี้ในระดับสากล โดยสามารถศึกษาจากเอกสารของ UNDP ในเรื่อง Governance for Sustainable Human Development ซึ่งมีการนิยามกลไกประชารัฐไว้อย่างชัดเจนว่ามี 3 ด้าน คือ
- ด้านประชาสังคม (Civil Society) 
- ด้านภาคธุรกิจเอกชน (Private Sector) และ
- ด้านภาครัฐ (State)
            "ประชารัฐที่ดี"หรือ"ธรรมาภิบาล" จึงเป็นกลไกฝังลึกอยู่ภายในที่เชื่อมองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านเข้าด้วยกัน กลไกประชารัฐที่ดีหรือธรรมาภิบาล  จึงเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างองค์ประกอบทั้ง 3 ด้าน ให้ดำรงอยู่อย่างสันติสุขและมีเสถียรภาพ

การพัฒนาการของธรรมาภิบาล บรรษัทภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองในประเทศไทย 

           ปี 2540

           ประเทศไทยให้ความสนใจและตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลอย่างมาก หลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2539 และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปี 2540 เนื่องจากเจตนาของรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นการพัฒนาการเมืองไทยที่สัมพันธ์กับหลักธรรมาภิบาล การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนการตรวจสอบการทำงานของรัฐ โดยประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ( พ.ศ. 2540 – 2544 ) ได้กำหนดแนวคิดในการพัฒนาประชารัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการใช้หลักนิติธรรมในการบริหารรัฐกิจ สนับสนุนให้ทุกภาคการบริหารรัฐกิจและการจัดการการพัฒนาประเทศ สนับสนุนให้เกิดความต่อเนื่องในงานบริหารรัฐกิจและการพัฒนาประเทศทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติ

           ปี2542

           คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542  ( ยกเลิกใช้ระเบียบนี้ปี 2546 )  มีจุดมุ่งหมายในการสร้างกฎเกณฑ์และกลไกที่ดีในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ปรับปรุงระบบการตัดสินใจและการบริหารจัดการทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนให้รวดเร็วชัดเจน และเป็นธรรมขยาย โอกาสของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อร่วมกับภาครัฐในการตัดสินใจและแก้ปัญหาส่วนรวม ขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบและการที่หลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนหรือกิจการที่ตนมีส่วนเสียทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมร่วมกัน ทั้งนี้ ระเบียบ ดังกล่าว มุ่งเน้นให้หน่วยงานของภาครัฐดำเนินงานตามภาระหน้าที่ โดยยึดหลักการพื้นฐาน 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม  หลักคุณธรรม  หลักความโปร่งใส  หลักความมีส่วนรวม  หลักความรับผิดชอบ  และหลักความคุ้มค่า

           ปี 2545

           พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยเฉพาะราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ( ฉบับที่5 ) พ.ศ.2545 มาตรา 3/1 มุ่งเน้นให้มีส่วนราชการใช้วิธีการบ้านเมืองที่ดีมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ โดยบัญญัติให้ ”การบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงเชิงภาคกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภาคกิจและยุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลงาน”  และ  “ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของภารกิจ” และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ( พ.ศ. 2545 – 2549 ) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ ปราศจากทุจริต บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคม

           ปี 2546

          ได้มีการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 และออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ  1.) การบริหารราชการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน  2.) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  3.) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ  4.)ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น  5.) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์  6.) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองตรงตามต้องการและ  7.) มีการประเมินผลการปฏิบัติงานราชการอย่างสม่ำเสมอ

          ปี 2549

          คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบวาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ศรัทธา และไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและหน่วยงานภาคราชการ รวมถึงตัวข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐและการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน คือ  1.) การสร้างผู้นำและองค์การต้นแบบ  2.) การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยม และการพัฒนาข้าราชการ  3.) การให้คำปรึกษา แนะนำ และการจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล  4.) การปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคลให้เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม  5.) การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล  6.) การวัดผลและตรวจสอบด้านจริยธรรม และ 7.) การวางระบบสนับสนุนและปัจจัยพื้นฐานด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล

           ปี2550

           รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 ก็ได้มีการกล่าวถึงหลักธรรมาภิบาลอยู่หลายมาตราเช่น หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 74 กำหนดให้ “บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงานลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิหาสกิจหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมอำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน”

           ปี2552

           ธรรมาภิบาลเริ่มเข้ามามีบทบาทในระดับหน่วยงานจนกระทั่งระดับตัวบุคคลมากขึ้น เห็นได้จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่กำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น อันเป็นที่มาของประมวลจริยธรรมและจรรยาข้าราชการพลเรือน ที่สำนักงานก.พ. ได้จัดทำขึ้น ซึ่งในการประมวลนี้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนทุกตำแหน่งมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปจามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ มีความเป็นกลางทางการเมืองอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล และพระราชบัญญัติฉบับข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2511 มาตรา 78 และมาตรา 79 ซึ่งมุ่งพัฒนาข้าราชการ ให้เป็นข้าราชการที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการได้กำหนดให้ส่วนข้าราชการมีข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการของส่วนข้าราชการเพื่อเป็นมาตรฐานพฤติกรรมอันดีของข้าราชการอีกด้วย  นอกจากนี้แต่ละส่วนราชการจะต้องมีการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดีซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในระดับองค์กร ซึ่งแตกต่างจากประมวลจริยธรรมและจรรยาข้าราชการซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติระดับบุคคล ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกัน และส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในระบบราชการในที่สุด

          โดยทั่วไป ความรับรู้ของนักวิชาการไทยและข้าราชการไทยนั้นมีแตกต่างกัน มีบางส่วนที่เห็นว่าแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่มีมาช้านานแล้วในสังคมไทย แต่มีบางส่วนชี้ว่าแนวความคิดเป็นของใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในชุมชนวิชาการ และขยายไปสู่วงการข้าราชการชาวไทย

เอกสารอ้างอิง

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย . ความเป็นมา ธรรมาภิบาลในองค์กรภาครัฐและเอกชน ).       [Online]. Available] : http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=1219

   [2556, มีนาคม 23].

สมบูรณ์ ศิริประชัย .ประวัติความเป็นมาของคำว่า"ธรรมาภิบาล"และพัฒนาการ . [Online]. Available]

http://www.thaiindexnews.com/2009/11/blog-post_3276.html

หลักธรรมาภิบาล. [Online]. Available : http://www.chumphon.doae.go.th/goodgovern.pdf





หมายเลขบันทึก: 531624เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2013 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2013 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท