Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐเจ้าของดินแดนมักใช้แนวคิดอำนาจนิยมหรือประโยชน์นิยมเสมอในการยอมรับให้สิทธิอาศัยบนดินแดนของตนแก่คนต่างด้าว !!


ข่าว “แม่บ้านฟิลิปปินส์” ในฮ่องกง “แพ้คดี” ไม่ได้"สิทธิพำนักถาวร"

มติชนออนไลน์ วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๑๒.๐๐.๕๐ น.

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364184953&grpid=03&catid&subcatid

ศาลฎีกาฮ่องกงตัดสินไม่ให้สิทธิพำนักถาวรแก่แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ ๒ คน ในการพิจารณาคดีซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่บ้านชาวต่างชาติหลายหมื่นคนในฮ่องกง หลังการต่อสู้ในศาลยืดเยื้อมาถึง ๒ ปี

ศาลฎีกาฮ่องกงประกาศคำพิพากษาดังกล่าวได้รับเสียงเอกฉันท์ ๕ – ๐ เสียง สืบเนื่องจาก น.ส.อีวานเจลีน บานาโอ วาลเลโจส แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ ได้ยื่นฟ้องว่า ข้อกำหนดว่าด้วยการเข้าเมืองซึ่งห้ามคนที่เข้ามาทำงานตำแหน่งแม่บ้านในฮ่องกงได้รับสิทธิพำนักถาวร ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังทำงานที่นี่มาเป็นเวลากว่า ๑๗ ปี โดยบอกว่าการปฏิเสธไม่ให้พวกเธอได้เป็นพลเมืองถาวรเป็นเรื่องขัดต่อกฏหมาย  เพราะกฏหมายข้อหนึ่งชี้ว่า คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสมัครเป็นพลเมืองถาวรได้ ต้องอาศัยอย่างถูกกฏหมายในฮ่องกงไม่น้อยกว่า ๗ ปี

ศาลเห็นพ้องกับทางการฮ่องกงซึ่งมองว่า คนที่ทำงานเป็นแม่บ้านไม่เหมือนกับชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ที่มาอาศัยอยู่ในฮ่องกง ซึ่งหมายความว่าแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์ทั้งสองคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอตั้งถิ่นฐานถาวรหลังจากอาศัยอยู่ในฮ่องกงอย่างน้อย ๗ ปี

รายงานกล่าวว่าคำตัดสินนี้ มีผลต่อคนที่ทำงานเป็นแม่บ้านในฮ่องกงกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คนที่ส่วนใหญ่มาจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ส่วนใหญ่ทำงานที่ฮ่องกงเป็นเวลาหลายปี บางคนมองว่าการห้ามแม่บ้านต่างชาติได้สิทธิพำนักถาวรนั้น เท่ากับการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ ส่วนอีกกลุ่มเกรงว่าการให้สิทธิพำนักถาวรแก่แม่บ้านชาวต่างชาติจะทำให้ครอบครัวของแม่บ้านเหล่านั้นอพยพหลั่งไหลเข้ามาในฮ่องกง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบริการทางสังคมและระบบสาธารณสุข รวมถึงระบบการศึกษา

รัฐบาลฮ่องกงเคยคาดการณ์ว่า มีแม่บ้านต่างชาติราว ๑๒๕,๐๐๐ คน ที่เข้าข่ายมีสิทธิ์พำนักถาวร และหากแต่ละรายมีสามีและบุตร ๒ คน ฮ่องกงจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน แม้นักเรียกร้องจะกล่าวว่า มีเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่ได้สิทธิ์นั้น

แต่ในที่สุดศาลได้พิพากษาว่า แม่บ้านต่างชาติที่มาทำงานในฮ่องกง เมื่อหมดสัญญาจ้างก็จะถูกส่งกลับประเทศ และตั้งแต่แรกทุกคนก็ทราบดีว่าวีซ่าที่ออกให้ เพื่อให้สามารถทำงานในฮ่องกงได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถนำมาสมัครเพื่อเป็นพลเมืองของฮ่องกง เช่น อาชีพอื่นๆ ได้

---------------------------------

คำถามของ  Ratinan Choochaimangkhala  เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/archanwell/posts/165083506982380

---------------------------------

เรียนถามอาจารย์แหววค่ะ

- กรณีนี้หากเป็นกลุ่มพม่า ลาว เขมร ฯลฯ จะขอสิทธิอาศัยถาวร ในประเทศไทยได้ไหมคะ ตามกฎหมายไทย

- ไม่เห็นคำพิพากษาเต็ม ๆ แต่ถ้าตามข่าวนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่คะ ไปเสิร์ชข่าวเรื่องเดียวกันในเว็บอื่น ในข่าวเขียนว่า "Foreigners who work in other professions are eligible for permanent residency after living in Hong Kong for seven years..."

ขอบพระคุณที่ร่วมแสดงความเห็นค่ะ

---------------------------------

คำตอบของอาจารย์แหวว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/archanwell/posts/165083506982380

---------------------------------

คิดว่านะคะ เรื่องนี้มิใช่เรื่องของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้หญิงเหล่านี้ยังมีรัฐมีสัญชาติ กล่าวคือรัฐฟิลิปปินส์ แต่เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของแผ่นดินฮ่องกงในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะมีความกังวลในการเข้ามาของคนต่างด้าวในแผ่นดินฮ่องกงที่ไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะยอมรับคนจำนวนมาก เป็น conflict of interests ซึ่งรัฐเจ้าของดินแดนย่อมจะมีอำนาจอธิปไตยที่จะปฏิเสธการรับรองสถานะ "คนต่างด้าวอยู่ถาวร" ซึ่งพิจารณาแล้วว่า มิใช่ประโยชน์ของตน ย้อนกลับไปดูท่าทีของรัฐไทยภายใต้กฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ก็อาจจะมีท่าที่แบบ "อำนาจนิยม" มากกว่า "มนุษย์นิยม" ประเด็นมิใช่ว่า เป็นคนสัญชาติพม่าลาวกัมพูชาไหม ? แต่เป็นประเด็นว่า รวยไหม ? เคยมีสัญชาติไทยไหม ? เป็นบุตรของหญิงที่มีสัญชาติไทยหรือเคยมีสัญชาติไทยไหม ? ย้อนไปดู มาตรา ๔๐+๔๑, ๔๒, ๔๓ และ ๕๑ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซิคะ ส่วนแนวคิดมนุษย์นิยมต่อคนไร้สัญชาติจะมาจากมาตรา ๑๗ ซึ่งรัฐสภาโยนอำนาจแก่รัฐบาลอันหมายถึง ครม.ที่จะตัดสินใจ ซึ่งรัฐบาลไทยก็มักไม่ค่อยมีแนวคิดมนุษย์นิยมค่ะ พรุ่งนี้ ก็ต้องพูดถึง "อำนาจนิยม VS มนุษย์นิยม" ในห้องเรียนสิทธิมนุษยชนอีกแล้ว พูดมาจะ ๓๐ ปีแล้วนะคะ ...

อีกแนวคิดที่รัฐเจ้าของดินแดนใช้ในการอนุญาตให้สิทธิอาศัย ก็คือ "ประโยชน์นิยม" ค่ะ แนวคิดนี้อาจจะนำหน้า "อำนาจนิยม" และมนุษย์นิยมอาจถูกใช้ในสถานการณ์ที่พิเศษจริงๆ ค่ะ เพราะทรัพยากรย่อมมีจำกัด

---------------------------------

ข้อแลกเปลี่ยนของ  Ratinan Choochaimangkhala  เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/archanwell/posts/165083506982380

---------------------------------

ประโยชน์นิยม คือที่อาจารย์บอกว่า รวยไหม ใช่ไหมคะ เพราะหากรวย ก็จะีมีโอกาสมาใช้เงินในไทยมากขึ้น ไม่เป็นปัญหาไม่เป็นภาระ

ประโยชน์นิยมภาษาอังกฤษ ใช่ utilitarianism ไหมคะ เผื่อจะไปค้นต่อค่ะ

---------------------------------

ข้อแลกเปลี่ยนของอาจารย์แหววเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/archanwell/posts/165083506982380

---------------------------------

โดยหลักกฎหมายการเข้าเมืองสากล การร้องขอสิทธิอาศัยถาวรก็น่าจะเป็นสิทธิของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่การอนุญาตให้สิทธิเข้าเมืองและอาศัยน่าจะเป็นอำนาจดุลพินิจ เว้นแต่กรณีพิเศษ อาทิ การพิจารณาให้สิทธิอาศัยแก่คนต่างด้าวที่หนีภัยความตาย อันนี้ คงต้องใช้มนุษย์นิยม

utilitarianism เป็นศัพท์ปรัชญาค่ะ แต่เรื่องนี้อาจเป็นบรรยายกาศของจิตวิทยาการเมือง ถ้าคิดเป็นภาษาอังกฤษ อ.แหววคิดถึงคำว่า "Individualism" หรือ "Nationalism" หรือ "Statism"

Statism เป็นคำที่ อ.แหววมั่วมาจากภาษาฝรั่งเศสค่ะ L'Etatisme

http://en.wiktionary.org/wiki/%C3%A9tatisme

อ.แหววชอบการสร้างคำใหม่ๆ มากค่ะ


หมายเลขบันทึก: 531349เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2013 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2013 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บันทึกของอาจารย์ทรงคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคมมากเลยนะครับ

ขอชื่นชม สิ่งดีดีที่อาจารย์มอบให้มาสม่ำเสมอนะครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท