วัฒนธรรมการเรียนรู้ดนตรีไทย... ในบริบทพื้นที่ชายขอบอีสาน




วัฒนธรรมการเรียนรู้ดนตรีไทย ในบริบทพื้นที่ชายขอบอีสาน

ท่วงทำนองอันสนุกเร้าใจของพิณ แคน โปงลาง ดนตรีคู่แผ่นดินอีสาน เป็นที่ยอมรับในความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น วงโปงลางในปัจจุบันได้พัฒนาเข้าสู่ยุคความเป็นสากล มีรูปแบบการนำเสนอที่ผสมผสานศิลปะท้องถิ่นไว้ทุกแขนงทั้งทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๐ เป็นต้นมา วงดนตรีโปงลางของนักเรียนมีความโดดเด่นมาก พอๆกับวงดนตรีลูกทุ่ง ส่วนวงดนตรีไทยนั้น แม้จะมีการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในโรงเรียน แต่ก็มีพัฒนาการทักษะฝีมือที่ช้ากว่าวงดนตรีโปงลางโดยเฉพาะนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา  และดูเหมือนว่า แรงจูงใจในการเรียนดนตรีไทยของเด็กๆ กำลังถูกเบียดจากวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลเข้ามาทางสื่อเทคโนโลยีด้วยซ้ำไป  แม้ว่าส่วนกลางมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาคุณธรรมและสร้างจิตสำนึกความเป็นไทยเพื่อพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการปลูกฝัง พัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทยให้มีสำนึกความเป็นไทย  มีสุนทรียภาพทางอารมณ์ ห่างไกลยาเสพติด รักและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมดนตรีไทย ก็เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง การพัฒนาดนตรีไทยในบริบทของชุมชนภาคอีสานยังอยู่ในวงจำกัด สังเกตได้จากจำนวนเขตพื้นที่การศึกษาที่ส่งกิจกรรมดนตรีไทยเข้าประกวดระดับภูมิภาค และผลการแข่งขันระดับประเทศก็ไม่ถึงเหรียญทอง  เป็นรองเด็กจากภาคกลางซึ่งเป็นถิ่นดนตรีไทยมาตลอด

การพัฒนาทักษะดนตรีไทยให้กับเด็ก ต้องอดทน อาศัยเวลาสั่งสม เพราะดนตรีไทยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีแบบแผน ประณีต ความไพเราะของดนตรีไทยอยู่การประสานเสียงอย่างกลมกลืน ผู้เล่นต้องมีทักษะ รู้ระเบียบแบบแผนในการเล่น และต้องเล่นด้วยจิตเป็นสมาธิและมีใจรัก การเรียนรู้ดนตรีไทยของเด็กจึงควรเริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่ดีต่อดนตรีไทย เห็นคุณค่าของดนตรีไทย ครูผู้สอนต้องมีประสบการณ์ เข้าใจกระบวนการสอน รอบรู้ในเรื่องเพลงไทย ดนตรีไทย หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  โรงเรียนและชุมชนต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดหาเครื่องดนตรีไทยที่มีคุณภาพ (ที่มีอยู่ในโรงเรียนส่วนใหญ่ด้อยคุณภาพ) ข้อค้นพบอย่างหนึ่งที่เด็กขาดแรงจูงใจในการเล่นก็คือ เครื่องดนตรีที่เขาเล่นขาดความสวยงาม ด้อยคุณภาพ เล่นไม่ได้มาตรฐาน นี่เอง

กรณีตัวอย่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต ๓ในบริบทชายขอบภาคอีสาน

ภูมิเดิม  วงดนตรีไทยมีการเล่นในลักษณะวงปี่พาทย์ไม้แข็งของชาวบ้านในบางหมู่บ้าน เขตอำเภอจัตุรัส อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอเนินสง่า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ผู้คนมีเชื้อสายชาวโคราช ส่วนบรรเลงในงานบวช งานประเพณีในท้องถิ่น เด็กๆ และครูบางคนได้รับการสืบทอดการเล่นดนตรีไทยจากพ่อหรือเครือญาติ เมื่อโรงเรียนมีเครื่องดนตรีไทยก็ได้อาศัยคนเหล่านี้เป็นครู เป็นแกนนำ กำเนิดเป็นวงดนตรีไทยทั้งวงเครื่องสายผสม วงปี่พาทย์ ของโรงเรียนที่เล่นด้วยใจรัก และเชื่อมโยงเครือข่ายสู่ชุมชน โรงเรียนที่มีลักษณะเช่นนี้ ได้แก่  โรงเรียนบ้านร้านหญ้า บ้านงิ้ว  จัตุรัสวิทยานุกูล  อำเภอจัตุรัส  โรงเรียนชุมชนบ้านเพชร  ชุมชนบ้านชวน บ้านกลอยสามัคคี เสลาประชารัฐ อำเภอบำเหน็จณรงค์ โรงเรียนบ้านโสกคร้อ อำเภอเนินสง่า

  จุดประกาย เมื่อส่วนกลางให้การสนับสนุนงบประมาณ จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ดนตรีไทย จัดโครงการมหกรรมแสดงสมรรถนะทางดนตรีไทยของนักเรียน  โดยเชิญครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น  ได้แก่ ครูประเทือง ชัยสุวรรณ,ครูพิชิต กิจวาท,ครูพินิจ  ชินไธสง ร่วมกับศึกษานิเทศก์ผู้รับผิดชอบกลุ่มสาระศิลปะ และครูแกนนำกว่า ๑๐ คน เป็นทีมวิพากษ์ และเติมเต็มความรู้ทักษะเมื่อบรรเลงจบลง ในครั้งนั้นจัดเต็มเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วยโรงเรียนทั้ง ๒๐ เครือข่าย โดยแต่ละเครือข่ายคัดเลือกนักเรียนมาแสดงดนตรีไทยอย่างน้อย ๑ วงๆละ ๓๐ คน พร้อมครูผู้สอนอย่างน้อย ๕ คน โดยใช้เพลงโหมโรง (ปฐมดุสิต)  และเพลงลาวดวงเดือน เป็นเพลงฝึก ใช้เวลา ๕ วัน มีตัวแทนโรงเรียน ๑๕ เครือข่ายที่มีวงดนตรีไทยเข้าร่วมงานมหกรรม อีก ๕ เครือข่ายถนัดไปทางวงดนตรีโปงลาง เลยขอร่วมเป็นกิจกรรมนาฏศิลป์แทนในวันสุดท้ายในวันแรกการบรรเลงแต่ละวงดำเนินไปอย่างสุดฝีมือ แต่เมื่อครูภูมิปัญญาได้แนะนำข้อบกพร่อง ถึงได้รู้ว่า ที่เล่นกันมานั้นปล่อยกันมาโดยไม่ใส่ใจ ต้องปรับปรุงตั้งแต่การตั้งเสียงเครื่องดนตรี การกำกับจังหวะของฉิ่ง ฉาบขัด ตะโพน ที่ถูกต้อง การบรรเลงที่ให้เสียงใสกังวาน การบรรเลงประกอบเพลงไทยที่ถูกต้อง  ฯลฯ จนมีโรงเรียนที่ลังเล สนใจขอเข้าร่วมเพิ่มเติมในวันที่สองและสาม พอเล่นเข้ากันดี วันสุดท้ายขออาสาสมัครนักเรียน ๒๐๐ คน บรรเลงดนตรีไทยพร้อมกัน ๒๐๐ ชิ้น บนเวทีกลางแจ้ง...เป็นมหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ...ที่ภูมิใจที่สุด การบรรเลงครั้งได้รวมใจถวายพระพร เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓บนเวทียักษ์กลางสนามกีฬากลาง ท่ามกลางความชื่นชมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มาร่วมงานจุดเทียนชัยถวายพระพรเป็นจำนวนมากในวันนั้น จากวันนั้น ดนตรีไทย ก็ได้รับความสนใจจากโรงเรียน มีการฝึกฝนนักเรียนเข้าแข่งขันทักษะดนตรีไทยในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนในระดับเขตพื้นที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมานับสิบโรงเรียน

  ติดตามผล  ศึกษานิเทศก์จัดทีมครูภูมิปัญญาไปนิเทศถึงโรงเรียน ในโรงเรียนที่มีความพร้อม  เพื่อสร้างต้นแบบ สร้างแกนนำ โรงเรียนหลายโรงเรียนได้ปรับปรุงคุณภาพเครื่องดนตรี ปรับปรุงวิธีการบรรเลงรายชิ้น จัดแผนผังการเล่นผสมวงใหม่ เชิญครูภูมิปัญญาในท้องถิ่นเข้ามาร่วมเสวนา จัดเวทีให้นักเรียนมีโอกาสแสดงต่อสาธารณชน เป็นผลให้นักเรียนพัฒนาทักษะการเล่น และมีความสุขกับการเรียนรู้

  สร้างเครือข่าย  หลายโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มเห็นความสำคัญ สนับสนุนทุนซื้อเครื่องดนตรีไทยที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเพิ่มเติม ผู้ปกครองสนับสนุนให้ลูกหลานสนใจเรียนดนตรีไทย  แทนที่จะใช้เวลาว่างอย่างไร้ค่าครูภูมิปัญญาเข้ามาช่วยต่อยอดให้มีมาตรฐานสูงขึ้น เก็บรายละเอียดได้ดีขึ้น ทำให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะฝีมืออย่างรวดเร็ว

ผลที่เกิด ... กิจกรรมเดี่ยวดนตรีไทย (ซอด้วง ซออู้ ระนาดทุ้ม ระนาดเอก ขลุ่ย )  วงดนตรีไทยเครื่องสายผสม ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนระดับภูมิภาคเข้าไปแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติทุกปี ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เป็นต้นมา นักเรียนได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน ...ขยับเป็นเหรียญทอง ...ในปีต่อมา เพราะคู่แข่งเป็นเด็กภาคกลางถิ่นดนตรีไทย ปีนี้เราขยับได้มาเหรียญทองอันดับ ๑ เดี่ยวซอด้วง และซออู้ ...เท่านี้ก็พอใจ 


หมายเลขบันทึก: 531195เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2013 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2013 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท